ที่มา. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
"วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์" บรรณาธิการอำนวยการ บริษัท เดย์ โพเอทส์ เป็นหนุ่มช่างคิด ช่างฝัน และชอบคิดสร้างสรรค์นอกกรอบอยู่เสมอ
10 ปีที่แล้ว "วงศ์ทนง" และผองเพื่อน สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการธุรกิจนิตยสารเมืองไทย ด้วยการก่อตั้งนิตยสารที่มีเนื้อหา แปลก แหวก และ แนว ... นามว่า a day
มาวันนี้ 10 ผ่านไป a day ไม่ใช่แค่นิตยสารเด็กแนว หรือถือแล้วเท่ อย่างเดียว แต่สามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงในวงการธุรกิจนิตยสาร ได้อย่างไม่อายใคร
ขณะที่สื่อในเครือ เดย์ โพเอทส์ กำลังเติบโตอย่างน่าจับตามอง โดยเฉพาะ a day BULLETIN ที่ชั่วโมงนี้ กลายเป็นฟรีก็อปปี้ยอดนิยมของคนเมืองยุคนี้ไปแล้ว
ไม่นับรวม การผลิตคอนเทนต์สู่สื่อทีวี และ ดิจิทัล มีเดีย อย่างมีนัยยะสำคัญ
อะไร ทำให้ a day อยู่ในวงการธุรกิจนิตยสารมาได้ถึง 10 ปีเต็ม ?
ทิศทางและอนาคตข้างหน้าของ a day และ วงศ์ทนง จะไปทางไหน ?
ชวนคุณผู้อ่านหยุดเม้าท์เรื่อง "ฟิล์ม-แอนนี่" สักครู่ พักสมองเรื่องค่าบาทแข็งลงสักหน่อย หรือ ปลงๆ กับปัญหา 3G ซะบ้าง (ก็ดี)
แล้วนั่งลงจิบชาหรือกาแฟ หรือไม่ก็ซดนำขิงสักถ้วย อ่านแนวคิดนอกกรอบของ "วงศ์ทนง ในวาระฉลองครบรอบ 10 ปี นิตยสาร a day นิตยสารที่ “วงศ์ทนง “ ท้าทายว่า ...ต่อให้มีเงินเท่าไหร่ ก็ลอกเลียนแบบไม่ได้ !
@ อะไรทำให้ a day ยืนหยัดอยู่บนแผงหนังสือมาได้ถึง 10 ปี
สารภาพเลยว่าตอนที่ทำ a day เล่มแรก ผมคิดไม่ออก มองไม่เห็นเลยว่าหนังสือจะมีอายุมาถึง 10 ปี ได้ยังไง ตอนนั้น ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องเงินทุน หรือเรื่องต่างๆ กระทั่งเรื่องตัวตนในวงการหนังสือ เรามันเล็กมาก เราไม่ใช่นายทุนร่ำรวยที่หอบเงินมาทำธุรกิจหนังสือ
ฉะนั้น ไม่นึกฝันหรอกว่าจะอยู่ 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี หรือนานแค่ไหน ฝันที่ไกลที่สุดในตอนนั้นของผมคือ ได้ออก a day สัก 3 เล่ม เฮ้ย ...สุดยอดแล้ว พอใจแล้ว คือ ได้ทำหนังสือแบบที่เราชอบ ตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย ให้คนได้เห็นเราแฮ๊ปปี้แล้วนะ แล้วถ้ามันจะเจ๊ง เราก็คงไม่เสียใจอะไรมากมาย
แต่ในที่สุดก็สามารถยืนหยัด สามารถประกาศตัวตน สามารถปักหลักฐานที่มั่นคงในวงการธุรกิจนิตยสารเมืองไทยได้ เป็นเรื่องที่ดีใจและภาคภูใจด้วย
ผมว่าที่ a day สามารถอยู่ได้ 10 ปี โดยได้รับความนิยมอยู่ องค์ประกอบมาจากเหตุผลหลายๆ อย่าง อย่างแรกผมว่า ตั้งแต่ฉบับแรกเป็นต้นมา หนังสือ a day มันแปลกใหม่ ทั้งด้านการก่อกำเนิด ที่คนอ่านหนังสือและคนทำหนังสือมาร่วมลงขันกัน
แปลกใหม่ในแง่คาแรกเตอร์ เนื้อหา การออกแบบ พูดง่ายๆว่า โพสิชั่นของมัน ไม่เคยมีหนังสือแบบนี้มาก่อนในเมืองไทย ฉะนั้นมันสามารถเซ็ตโพสิชั่นใหม่ของตัวเองขึ้นมาได้ เป็นโพสิชั่นนิตยสารเด็กแนว(หัวเราะ) ซึ่งก่อนหน้านี้ คำว่าเด็กแนวไม่ค่อยมีนะ
คำว่าเด็กแนวมันเกิดมาพร้อมกับ a day เกิดมาพร้อมกับ independent มีเดีย ต่างๆ อ่านแล้วได้สนุก ได้แรงบันดาลใจ ไม่นับเหตุผลยิบย่อยๆ ที่มันมีความเท่อยู่ในตัว มีความเป็น fationnable ถือแล้วเท่ ดูแนว (หัวเราะ) ทั้งหมดประกอบกัน ก็เลยทำให้ a day สามารถยืนหยัดอยู่ได้
@ ในแง่เนื้อหาล่ะ มีกระบวนการคิดและลงมือทำยังไงให้น่าสนใจ
เชื่อมั๊ยว่า a day ตั้งแต่ปีที่ 1 ถึง ปีที่ 10 คอนเทนต์ไม่เคยเปลี่ยนนะ คอนเทนต์ a day ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. เรื่องคน ว่าด้วยคนเก่ง คนดี คนมีของ คนหน้าใหม่ คนมีความสามารถ เรียกว่า somebody 2. คือ เรื่องราวความประทับใจในอดีต เรตโทร และ 3. เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ไอเดีย
นี่คือแกนของ a day ไม่เคยเปลี่ยน ที่เปลี่ยนอาจจะเป็นรายละเอียดยิบย่อย เรื่องคอลัมน์ นักเขียน คอลัมนิสต์ หรือเรื่องดีไซน์ แต่อาจจะเป็นไปได้ว่า a day ก่อนที่มันจะออกมา ผมผ่านการตกตะกอนตัวเองอย่างข้นขลัก รู้เลยว่าชีวิตนี้อยากทำหนังสือแบบไหน แล้วก็มองเห็นมันทะลุปรุโปร่ง ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายว่าหนังสือเล่มนี้ที่มีอยู่ 180 หน้า จะประกอบด้วยอะไรบ้าง ผมชัดเจนกับมันมาก ผมเทที่ผมชอบทั้งหมดลงในหนังสือเล่มนี้ เพราะฉะนั้นมันก็เลยชัดเจนมาก จนเกิดความเป็น original ขึ้นมา เป็น original ที่ข้นเพียว ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้
ผมท้าเลย a day เป็นหนังสือที่ต่อให้คุณมีเงินเท่าไหร่ คุณก็เลียนแบบไม่ได้ เพราะมันทำออกมาด้วยจิตวิญญาณ แบบอาจารย์เฉลิมชัย (โฆสิพิพัฒน์) ทำมาจากด้านลึกของความมุ่งมั่นปรารถนาภายใน แล้วก็ประสบการณ์
@ ในแง่ธุรกิจ a day ถือว่าไปได้ดีโดยตลอดหรือเปล่า
อย่างที่บอก เราเริ่มต้นจากที่ไม่เคยทำธุรกิจหนังสือมาก่อน ความรู้เรื่องธุรกิจจึงมีน้อยมาก แต่โชคดีที่เราและเพื่อนชื่อคุณ นิติพัฒน์ สุขสวย เรามีเซ้นต์ในเรื่องค้าๆ ขายๆ อยู่บ้าง สิ่งที่เหลือนับจากนั้นก็คือ การเรียนรู้ด้วยตัวเอง เราเหมือนคนที่ไม่เคยเป็นพ่อค้าเลย แต่ตัดสินใจเปิดร้านของตัวเองขึ้นมา ด้วยความรู้นิดๆ หน่อยๆ ที่เคยรู้มา จากการทำงานในบริษัทต่างๆ
แต่สิ่งสำคัญที่มันสอนเราทุกๆ วันก็คือ มันสอนให้เราจำเป็นต้องเข้าใจและรู้เรื่องธุรกิจไปในตัว เพราะว่าหนังสือมันอยู่รอดไม่รอดอยู่ที่ธุรกิจจริงๆ คือ โมเดลของธุรกิจนิตยสาร มันไม่ได้ผูกไว้กับยอดจำหน่ายหนังสือเป็นหลัก เหมือนธุรกิจหนังสือของอเมริกาหรือยุโรป ซึ่งรายได้จากการจำหน่าย isssue มันเยอะมากพอที่จะซัพพอร์ตได้
แต่ธุรกิจหนังสือในประเทศไทย ในช่วง 30 ปีให้หลัง ไม่ได้พึ่งรายได้หลักจากตัวหนังสือแล้ว รายได้สำคัญมาจากค่าโฆษณา ฉะนั้น เราต้อง concern ตรงนั้น มากๆ แต่ว่าที่สุดแล้ว เราก็ตอบโจทย์โฆษณา ตอบโจทย์เอเจนซี่ได้ง่ายๆ เลย เขาจะลงโฆษณาในหนังสือที่เขาเชื่อว่าป็อบปูล่า ขายดี ได้รับความนิยม แล้ว a day ก็ทำ จนกระทั่งมีคุณสมบัติตามนั้นได้
ปีแรกที่เราทำอะเดย์ ถ้าจำไม่ผิดบิลลิ่งเราประมาณ 2 ล้าน (หัวเราะ) 4-5 เล่มแรกไม่มีโฆษณาเลย ผมออกไปขายโฆษณาเอง ไปนั่งรอเขา ไม่มีใครซื้อเลย แต่ล่าสุด บริษัทเรามีบิลลิ่ง 100 กว่าล้าน ถ้าเทียบเป็น (บัญญัติตระยาง ) ก็ถือเป็นการเติบโตที่น่าพอใจ
@ เคยสำรวจมั๊ยว่า แฟนๆ ของ a day มีมากขนาดไหน
ปริมาณผมไม่รู้เหมือนกันนะ แต่ถ้าพูดชื่อ a day ไป คนสักล้านคนน่าจะรู้จัก (หัวเราะ) แล้วในจำนวนนั้นสัก 2 แสนคน อาจจะบอกว่าเคยอ่าน a day โว้ย แล้วก็มีสัก 3 หมื่นคนที่ซื้อประจำ เชื่อว่าอย่างนั้นนะ แต่ดูจากฟีดแบ็กต่างๆ ดูที่ผมใช้โซเชียลมีเดีย อยู่ด้วย ก็พอจะบอกว่า มีแฟนๆ a day มากทีเดียว
แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ ผมยอมรับเลยว่า ผมไม่ได้ทำ a day ให้เด็กๆ อ่านนะ เพราะตอนนั้นผมอายุ 30 แล้ว ความสนใจของผม คือ อยากทำหนังสือให้คนทำงานอ่านด้วยซ้ำ คนทำงานต้นๆ เพิ่งจบมหาวิทยาลัย ซึ่งพอออกมา มันก็ใช่จริงๆ คนกลุ่มนี้ก็อ่าน a day แต่ไปๆมาๆ ที่แปลกก็คือ กลุ่มผู้อ่านอายุลดลงเรื่อยๆ
ตอนนี้ผมเจอเด็กมัธยมต้นอ่าน a day ไปจัดงานบุ๊คแฟร์ที่เอสพลานาด เด็กม.3 เขาก็มาขอลายเซ็นต์ผม แต่ถามไปถามมา บอกว่า อ่านตั้งแต่ม.1 แล้ว ผมเข้าใจว่า a day มันกลายเป็นส่วนของ pop culture ไปแล้ว คือ วัฒนธรรมที่ได้รับความนิยม ฉะนั้น อะไรที่มันป็อบ คนก็อยากรู้จัก อยากจะลองใช้ ลองฟัง ลองอ่าน แต่ที่สุดแล้ว ผมว่า เป็นเรื่องดีนะ เวลาเด็กๆ อ่านหนังสือ ดีกว่าไปติดเกม
@ แล้วคิดยังไงกับผลสำรวจเรื่องคนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก
จริงๆ ผมเชื่อว่าผลสำรวจนี้ คงไม่ได้ทำแบบชุ่ยๆ หรอก แต่อาจจะไม่ครอบคลุม และคำถามอาจจะไม่ละเอียดสักเท่าไหร่ โดยส่วนตัวที่คลุกคลีอยู่กับผู้อ่าน ผมเชื่อว่า คนไทยอ่านหนังสือไม่น้อยหรอก โดยเฉพาะคนเมือง อ่านหนังสือเยอะ วัยรุ่นก็อ่านหนังสือไม่น้อย
แต่สิ่งที่น่า concern มากกว่าก็คือ ในจำนวนการอ่านที่ไม่น้อย เขาอ่านอะไรกันอยู่ ผมเชื่อว่า ถ้าประเทศเรามีตัวเลขคนอ่านหนังสือเยอะมาก แต่ประเภทหนังสือที่อ่านเป็นหนังสือที่น้อยสาระ หรือไม่ได้ให้ภูมิปัญญา ความคิดความอ่านสักเท่าไหร่ ออกไปทางหนังสือบันเทิงเริงรมย์ซะมาก ซึ่งผมเกือบจะอยากจัดว่า นั่นไม่ใช่การอ่านด้วยซ้ำ เพราะการอ่านที่ดีในความหมายของผมคือการที่เราสามารถได้ความรู้ ความคิด สติปัญญา รวมถึงจิตใจจากการอ่านนั้นด้วย
@ ขึ้นปีที่ 11 a day จะมีความเคลื่อนไหวอะไรใหม่ๆ ให้คนอ่านหนังสืออย่างไรบ้าง
ความจริง a day เป็นหนังสือที่มีนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลานะ คือ เป็นหนังสือที่มีไดนามิก ไม่ใช่รอให้ 3 ปีปรับปรุง 5 ปี มาเปลี่ยนคอนเทนท์ที ไม่ใช่ a day แต่ละเล่ม ผมอยู่กับมันผมรู้นะว่า ทีมงานกว่าจะทำออกมาแต่ละเล่ม คิดกันหัวแทบแตก ทำเข้มข้นมาก เรียกว่ากว่าจะออกมาได้แต่ละเล่ม เต็มที่ไม่มีผ่อน
ฉะนั้น ใน a day แต่ละเล่ม ด้วยความที่ตัวหนังสือค่อนข้างยืดหยุ่น คือ ไม่ใช่หนังสือผู้หญิง ผู้ชาย หนังสือเด็ก หนังสือรถ หนังสือบ้าน แต่ถ้าดูจริงๆ a day เป็นนิตยสารสารคดีรูปแบบหนึ่งนะ ผมมักจะบอกบก.ผมว่า a day คืออะไรก็ได้ คือง่ายต่อการทำ เปิดกว้างในการใส่จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้
a day สามารถทำเรื่องสนุกๆ อย่างเรื่องท่องเที่ยวก็ได้ ทำเรื่องซีเรียสหน่อยอย่างมุสลิมก็ได้ หรือ สวิงไปทำเรื่องกราฟฟิกดีไซน์ก็ได้ หรือทำเรื่องศาสนาพุทธได้ ฉะนั้น ตัวหนังสือ a day ไม่ต้องปรับอะไร เพราะเราปรับอยู่ทุกเดือน
ผมว่า สิ่งที่เป็นโพสิชั่นของบริษัทต่อไปนับจากปีที่ 10 เนี่ย คือ เราอาจจะวางตัวเองว่า เราไม่ได้ทำนิตยสารอย่างเดียวแล้ว เนื่องจากว่า มีเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมามันแตกสาย มันผุดขึ้นใหม่ๆ มากมาย มีเดียไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือหรือในโทรทัศน์หรือวิทยุแล้ว แต่มันเข้ามาอยู่ในโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต โน๊ตบุ๊ค หรือแม้กระทั่งในนิวมีเดียต่างๆ
ฉะนั้น ผมวางไว้ว่าต่อไป a day อาจไม่ใช่ magazine maker แล้วล่ะ แต่มันคือ content provider คือ ผู้ผลิตคอนเทนต์ ซึ่งสามารถจะไปออกในมีเดียอะไรก็ได้ คือ เราเชื่อว่าเราแข็งแรงเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เรามีคาแร็กเตอร์ มีจุดขายในเรื่องการเป็นบริษัทที่ให้แรงบันดาลใจ ฉะนั้น เราก็ไม่จำกัดตัวเองแค่ในกระดาษอย่างเดียว
เราไปออกอากาศแล้ว คือ รายการ "ดิ ไอดอล คนบันดานใจ" ทางช่อง 9 และเร็วๆ นี้เรากำลังจะเอาคอนเทนต์ของ a day ไปลงในไอแพ็ดซึ่งเราร่วมกับทรูดิจิทัล กำลังพัฒนาอยู่ อีกไม่นานอาจจะได้เห็น ซึ่ง a day น่าจะเป็นหนังสือ เล่มแรกๆ ในเมืองไทยที่คุณอ่านได้จากไอแพ็ด
@ a day จะบุกตะลุยในโซเชียล มีเดีย
ใช่ ผมติดตามวงการสื่อมาตลอด ผมก็สนใจว่าทิศทางหรือรูปแบบสื่อในโลกมันจะเคลื่อนไปทางไหน แล้วเราก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่า นิวมีเดีย และโซเชียลเน็ตเวิร์ก มันมาจริงๆ แล้วนับวันก็ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น เราไม่ใช่แค่ตั้งรับกับมัน แต่ต้องกระโจนเข้าไปร่วมวงด้วย ฉะนั้น สิ่งที่ผมและบริษัทกำลังทำอยู่ก็คือ ให้ความสำคัญกับการ ผลิตคอนเทนท์เพื่อที่จะไปออกในโซเชียลมีเดีย นิวมีเดีย ตอนนี้ เรามีโครงการพัฒนาอยู่หลายๆ อัน ซึ่งน่าจะเป็นก้าวที่สำคัญของ a day
@ แสดงว่าคุณเองก็เสพสื่อเยอะมาก
ผมอ่านหนังสือพิมพ์ครึ่งหนึ่ง (มั้ง) ที่มีอยู่ในเมืองไทย แต่บางทีก็อ่านในเน็ต ผมเล่นทวิตเตอร์ เพราะมีอะไรให้อ่านเยอะ แต่ไม่เล่นเฟซบุ๊ก เพราะผมว่า เฟซบุ๊กมันเหมือนบ้านที่เปิดประตูกว้างไปหน่อย ผมไม่ค่อยชอบรับแขกสักเท่าไหร่ (หัวเราะ) ทวิตเตอร์มันยังเลือกคนได้ แต่ผมดูหนังเยอะมาก เฉลี่ย 2 วันต่อเรื่อง เดือนหนึ่ง ก็ดูสักประมาณ 15 เรื่อง ความคิด ความอ่านดีๆ มันมีอยู่ในหนังเยอะมาก แล้วก็ซื้อนิตยสาร หนังสือเยอะมาก
@ นอกจากโปรเจ็กเรื่องโซเชียลมีเดียแล้ว a day กำละงจะมีโปรเจ็กต์อะไรใหม่ๆ อีกบ้าง
ครบรอบ 10 ปี a day ผมจะทำ a day เล่มพิเศษออกมาชื่อ a day LEGEND เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนไทยที่เป็นตำนาน 25 คน จากทุกวงการ โดยผมเชิญมือดีมาเขียนเรื่องราวคนเหล่านี้หลายคน เช่น คุณวินทร์ เลียววาริณ บินหลา สันกาลาคีรี เวียง วชิระ โตมร ศุภปรีชา จะวางแผงออกเดือนตุลาคมนี้
แล้ววันที่ 10 เดือน 10 จะมีคอนเสิรต์ เป็นตีม LEGEND เหมือนกันที่สกาลา ก็ถือเป็นการเฉลิมฉลอง ครบรอบ 10 ปี แต่ว่า ไมล์สโตน ต่อไปสำหรับผมเอง คือ ผมวางตัวเองไว้ 3 ช่วงว่า 20 ปีแรกของผม จะทำเพื่อครอบครัว ทำหน้าที่ลูก ช่วงที่ 2 คือ ทำหน้าที่เป็นคนทำงาน เป็นผู้นำบริษัท ผู้นำองค์กร เป็นคนทำสื่อ ปกครองคนในองค์กรให้อยู่ได้ สบายดี
ส่วน 20 ปีสุดท้าย ผมอยากจะทำอะไรเพื่อสังคม ผมกำลังจะตั้งมูลนิธิชื่อ a day Foundation ขึ้นมาภายในปีนี้ จะเรียกมันว่า CSR ก็ไม่เชิง คือ ที่ผ่านมาผมสนใจเรื่องนี้มานาน ทั้งในแง่ส่วนตัว ผมก็ทำอยู่เพียงแต่ไม่ได้บอกใคร
ในแง่คน ๆหนึ่ง ผมก็บริจาคให้องค์กรต่างๆ มา 20 กว่าปีแล้ว ผมเชื่อว่าสังคมมันจะดี มันไม่ใช่แค่ใครคนใดคนเดียวทำ มันต้องช่วยกัน เพราะต้องยอมรับว่าปัญหาในสังคมเรามันมีเยอะ
ฉะนั้น ก่อนหน้านี้ เท่าที่ทำได้ ถ้าไม่มีเวลาทำ ผมก็บริจาคให้คนที่เขาทำอยู่แล้วให้เขาทำต่อไป แต่หลังจาก a day มันผ่าน 10 ปี ตอนนี้บริษัทผม เรียกได้ว่าค่อนข้างมั่นคง พูดง่ายๆ ว่า ไม่มีอะไรจะต้องห่วงมาก มีคนดูแลงานในบริษัทอยู่ทุกจุด ในด้านธุรกิจ เราก็เลี้ยงตัวเองได้ ผมเลยอยากเอาเวลา ไปทำอะไรที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเราดูบ้าง
a day Foundation ผมวางรูปแบบไว้เป็น agency ของ volunteer ง่ายๆ เลย คือ ผมคิดว่า คนที่คิดอยากทำอะไรเพื่อคนอื่นมีเยอะนะ แต่เขาไม่รู้จะไปเริ่มต้นที่ไหน กับใคร ฉะนั้น a day Foundation จะเหมือนเป็นเอเจนซีที่ว่า เฮ้ย …คุณสนใจอะไร เป็นคอมมูนิตี้ที่รวบรวมคน แล้วก็ไปคิดโปรเจ็กมา เราเป็นพวกช่างคิดนี่ แล้วคิดคอนเซ็ปที่จะช่วยกลุ่มคนในสังคมได้
อีกอย่างคือ ผมสนใจหลายด้าน ผมไม่ได้เป็นคนที่สนใจสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว หรือสนใจเรื่องเด็ก หรือคนพิการอย่างเดียว ผมว่าปัญหาทุกอย่างต้องได้รับความสนใจ
ฉะนั้น a day Foundation คงจะไปแตะทุกด้าน สนุกดีเหมือนกันนะ ผมฝันว่าผมอยากทำให้การช่วยเหลือคนอื่น หรือการเป็นอาสาสมัคร เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และเท่ในอนาคตเว้ย ต่อไปอาจจะมีคนบอกว่า ฉันเป็น volunteer คิดถึงคนอื่นก่อนที่คิดถึงตัวเองบ้าง รอดูล่ะกัน (หัวเราะ)
@ คุณมักพูดเรื่องความเชื่อ ความฝัน และการใช้ชีวิตบ่อยครั้ง คุณมีวิธีเติมความคิด ความฝัน หรือสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับตัวเองยังไงบ้าง
มันอาจจะเริ่มต้นมาจาก ผมเป็นคนอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้วมั้ง คือ ชอบรู้ไปหมด อยากรู้อยากเห็น ฉะนั้น ผมก็เหมือนกับฝึกฝนตัวเอง ให้มีความสนใจใคร่รู้ในเรื่องราวรอบด้าน เคยมีคนถามผมว่า ในชีวิตสนใจอะไรบ้างมั๊ย
ผมก็ตอบไม่ถูกเหมือนกันนะ เพราะผมสนใจทุกเรื่อง ผมสนใจเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สนใจการเมือง หรือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ผมก็ชอบ เรื่องการออกแบบ แฟชั่น ผมก็สนใจ ผมชอบดูหนัง ชอบฟังเพลง ชอบอ่านหนังสือ เล่นโซเชียลมีเดีย แล้วก็ดูซีรีส์ด้วย (หัวเราะ)
ก็เลยไม่รู้ว่า อะไรคือลำดับในความสนใจของผม ซึ่งผมมาพบภายหลังว่า ลักษณะเช่นนี้มันดีต่อการทำสื่อมวลชน ทำให้เวลาเราจะวิเคราะห์หรือเขียนอะไร หรือวิพากษ์อะไรสักเรื่อง ไม่เขียนแบบติสต์ เขินๆ ผิวๆ แต่เราสามารถเชื่อมโยงความรู้ในสาขาต่างๆ เข้าด้วยกันได้ มันทำให้ความคิดเห็นหรือข้อเขียนของเรามีมิติลึกซึ้ง
ฉะนั้น ผมเติมตัวเองเยอะ เงินเดือนกว่าครึ่งของผมหมดไปกับการซื้อหนังสือ ซื้อหนัง ซื้อเพลง เดินทาง ซึ่งมันเป็นการ educate ตัวเองอยู่ตลอดเวลา ผมเสพสื่อเยอะมาก ผมพบปะพูดคุยกับผู้คนพอสมควร
ทุกวันนี้ ผมมักจะนัดพูดคุยกับคนอยู่เสมอ บางคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ก็ขอคุยด้วยได้มั๊ย กินข้าวก็ได้ (หัวเราะ) ผมเชื่อว่าการ ได้คุยแลกเปลี่ยนกับคนเก่งๆ ในสาขาต่างๆ มันทำให้เราได้ไอเดีย ความรู้ใหม่ๆ ก้าวข้ามไปในพื้นที่ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน
จริงๆ ผมไม่ค่อยเป็นคนออกสังคม(นะ) แต่ผมเจอคนเยอะ คือ ผมไม่ได้ออกสังคมแบบไร้สาระ ไปปาร์ตี้ ถ่ายรูป กลับบ้าน แต่ผมจะนัดคุยกับคน อย่างที่บอก ทั้งนักธุรกิจ นักออกแบบ นักการเมือง ผู้กำกับ นี่จึงเป็นชีวิตในช่วงหลังของผม ผมจึงได้ไอเดีย ความคิด ได้ชีวิตชีวาอยู่ตลอดเวลา
@ แล้วเคยมีอารมณ์หมดไอเดีย คิดสร้างสรรค์อะไรไม่ค่อยบ้างมั๊ย ในช่วง 10 ปีมานี้
ไม่เคยเลยนะ ผมเชื่อว่าความคิดใหม่ๆ มันผลิตได้ตลอด แต่แน่นอนว่า มันจะดีมากถ้าช่วยกันผลิต ไม่ใช่ผลิตแค่คนเดียว a day เป็นทีมเวิร์ก คือคนที่ทำงาน a day ระดับหนึ่งได้ผ่านการคัดสรรค์มาแล้วว่าเป็นพวกช่างคิด ก็เลยช่วยกันคิด เสริมส่ง แตกหน่อ ต่อยอดความคิดได้ ฉะนั้น เรื่องไอเดีย เรื่องความคิดไม่เคยตันเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แล้วก็เชื่อว่ายังคิดได้อีกเรื่อยๆ อย่างสบายๆ ด้วยซ้ำ เพราะเราเป็นพวกสนุกคิดและทำ
ผมว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคหรือความเหนื่อยหนักของผม น่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ เพราะมันเกี่ยวโยงกับหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจของประเทศ หรือแม้กระทั่งเรื่องการตลาดที่เปลี่ยนไป เรื่องโฆษณา เรื่องจีดีพี กระทั่งเรื่องภัยธรรมชาติ ทุกอย่างเกี่ยวข้องหมด
ฉะนั้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ผมต้องบาลานซ์มากๆ คือ การรักษาสมดุลและความแข็งแรงทางธุรกิจของเราให้อยู่ได้ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่สูญเสียตัวตนของคนอยากทำหนังสือดีๆ ไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เหนื่อยเหมือนกัน แต่ก็มันส์ดี
@ ความผูกพันระหว่างคุณกับ a day ดูลึกซึ้งจัง
เคยมีคนถามว่า มีอะไรที่สำคัญในชีวิตผมบ้าง ผมก็ตอบว่า a day ตอบพร้อมๆ กับคำว่าครอบครัวด้วยซ้ำ a day และครอบครัว เพราะว่ามันเป็นความฝันสูงสุดในชีวิตของผมไงครับ คือ ผมอยากทำหนังสือที่ผมสามารถชอบตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย ทำหนังสือจากความคิด ความสนใจ ความเชื่อของผมเอง แบบไม่ประนีประนอมกับใครด้วยนะ แล้วผมก็ทำมันออกมาได้ แบบชอบมัน 100 %
ผมก็เลยรู้สึก อิ่มเอม ปลื้มเปรมใจมาก แล้วก็อาจจะเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตที่ผมเคยทำสำเร็จก็ได้ ฉะนั้น a day คือ ส่วนหนึ่งในชีวิตผม ซึ่งมันแนบแน่นกับชีวิตปกติและชีวิตจริงผมมาก
ผมมักบอกหลายคนว่า ทุกวันนี้ ผมไม่ได้มาทำงาน แต่ผมมาทำชีวิต เนื่องจากว่างานที่ผมทำอยู่เนี่ย ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เป็นสิ่งที่ผมชอบ เพราะชีวิตผมชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนหนังสือ ชอบเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ชอบเจอ ชอบคุยกับคนเก่งๆ ชอบรู้จักคนเจ๋งๆ คนดีๆ แล้วก็ชอบมีความสุขกับเรื่องที่มันรื่นรมย์ ทั้งหมดคือ ผมชอบ ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังทำงาน a day กับผม กลมกลืนกันเป็นเนื้อเดียว แยกกันไม่ได้
@ ทุกวันนี้ชีวิตคุณมีความสุขมั๊ย
ผมแฮ๊ปปี้จะตาย ดูก็รู้ (หัวเราะ) ที่ผมแฮ๊ปปี้ เพราะผมไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองมากไง วันแรกที่ผมทำ a day ผมได้กลับมาเป็นตัวเองอย่างแท้จริงทุกกระเบียดนิ้ว คนที่มันเป็นตัวเอง มันจะสบายใจ มันจะมีความสุข ชีวิตมันจะสมู๊ทมาก ไม่ต้องฝืนเลย ผมถึงบอกไงว่า ผมไม่ใช่แค่ทำหนังสือ หรือ a day แต่ผมทำชีวิตผมด้วย
@ มีอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำอีกบ้าง
ผมอยากไปล่องเรือดูปลาวาฬโผล่มากจากน้ำ ดูในดิสคัฟเวอรี่บ่อย ๆ อยากเดินทาง หรือช่วงนี้ขอขับรถไปต่างจังหวัดสัก 2 อาทิตย์ ผมก็จะบอกบัดดี้ผมว่า (กู)ไปก่อนนะ ฝากดูบริษัทด้วย ผมก็ไปขับรถเที่ยว แต่ผมถือว่าเป็นงานนะ เพราะมันทำให้ผมกลับมามีพลังในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ มีความมุ่งมั่นในการทำงานและใช้ชีวิตต่อไป
@ เหตุการณ์ฝันร้ายเมื่อเดือนเมษา-พฤษภา ในเมืองไทย คุณเป็นยังไงบ้าง
ผมเครียดนะ ก็เหมือนคนไทยจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผลกระทบด้านจิตใจ เราไม่เคยเห็นความขัดแย้งที่รุนแรงขนาดนี้ ผมเกิดไม่ทันตุลา 2516 หรือ 2519 ยังเด็กอยู่ แต่ พฤษภา 2535 อาจจะใกล้เคียงหน่อย เพราะผมไปเดินประท้วงที่ราชดำเนินด้วย
แต่เหตุการณ์ครั้งล่าสุด ก็รู้สึกเป็นทุกข์ แต่ก็อยากให้มันคลี่คลาย แต่เหตุการณ์นี้สำหรับผมดีนะ ไม่รู้เพราะผมเป็นคนมองโลกในแง่ดีหรือเปล่า ผมว่าอย่างน้อยที่สุด มันเปิดเผยบางด้านและบางเรื่องราว ในสังคมที่ถูกซุกซ่อนปกปิดเอาไว้ให้คนในวงกว้างได้รับรู้ ไม่มากก็น้อย
เรื่องราวเหล่านี้ จะเกิดเป็นความเห็นอกเห็นใจกันระหว่างชนชั้นก็ได้ ผมยอมรับว่า ผมได้อานิสงฆ์จากเรื่องนี้พอสมควร เราอาจจะมองคนไทย เพื่อนร่วมชาติในกลุ่มที่เราไม่เคยเหลียวแลเขาเลย ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปก็ได้ ผมว่าดี
@ จำได้ว่า คุณเคยทำหนังสือสัมภาษณ์นายกฯ อภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) เมื่อหลายปีก่อน วันวานกับวันนี้ คุณมองเขาอย่างไรบ้าง
ตอนที่ผมตัดสินใจทำหนังสือสัมภาษณ์คุณอภิสิทธิ์ บอกตรงๆ ว่าตอนนั้น ผมอยากจะเชียร์เขานั่นแหละ แต่ที่มาก็คือ ผมติดตามบทบาทและผลงานเขาในฐานะนักการเมือง ผมว่า เขาเป็นนักการเมืองหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจดี ผมก็เลยอยากทำหนังสือให้เขาสักเล่มหนึ่ง ก็ออกมาเป็น Question Mark
แต่ตอนนั้นเขาก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่วันนี้ที่เป็นนายก ฯ นี่ให้วิพากษ์นายกฯเลยเหรอ (หัวเราะ) โอเค ในฐานะประชาชนที่ไม่เหลืองไม่แดง ผมเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อทั้งเหลืองทั้งแดงว่า ผมเห็นด้วย กับความคิดความอ่านบางอย่างของเสื้อเหลือง
ผมเห็นด้วยกับอุดมการณ์บางอย่างของเสื้อแดง ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการบางอย่างของเสื้อเหลือง ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการบางอย่างของเสื้อแดง ผมมีเหตุผลของผม
ฉะนั้น เมื่อพูดถึงนายกฯในฐานะพลเมืองไทคนหนึ่ง ผมเห็นใจท่าน(นะ) เพราะในสถานการณ์ที่ผ่านมา มันหนักหนามากหลายรูปแบบและรอบด้าน คนที่ประคองตัวเองและรัฐบาล และอาจจะรวมถึงประเทศให้ผ่านวิกฤตมาได้ ผมว่าไม่มากก็น้อยต้องให้ค่าเขาล่ะ
แต่แน่นอนว่า สิ่งที่ท่านทำ ไม่สามารถถูกใจหรือตอบโจทย์คนได้ทั้งหมด เพราะโจทย์ที่เรามีอยู่มันต่างกัน ฉะนั้น คำตอบคำตอบเดียว ไม่สามารถถูกทุกโจทย์หรอก ผมเชื่อว่าท่านกำลังจะตอบโจทย์ให้ครบทุกโจทย์ เพียงแต่ช่วงนี้ จะตอบเรื่องนี้ก่อน อีกช่วงอาจจะตอบโจทย์บางโจทย์ที่มันค้างอยู่ ซึ่งผมจะรอดูว่าโจทย์บางโจทย์ที่มีคนซุกๆ เอาไว้ แล้วยังไม่ได้ตอบ แล้วเมื่อไหร่จะตอบ
แต่ผมอยากเห็นนายกฯเอ่ยปาก ขอโทษได้ จริงๆ ... ขอโทษประชาชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องบางเรื่อง ก็น่าจะขอโทษ ถึงแม้ในแง่กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมจะทำอะไรได้ไม่มาก แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้นำ สามารถทำได้คือ การแสดงความเสียใจและขอโทษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น