ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร ขึ้นเวทีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ก.ย. 2553 อันเป็นวันครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่ออภิปรายทางวิชาการ เรื่องการปฎิรูปกองทัพ หลายประเด็นน่าสนใจ จึงได้ถอดบันทึกเสียง มานำเสนอดังนี้
....เวลาผมเรียนประวัติศาสตร์สงครามผมถูกสอนอย่างหนึ่งว่า เวลามองสงครามลองมองด้านกลับของสงครามแล้วลองตั้งโจทย์ว่า "ถ้า"สมมติมันไม่เกิดบางอย่างแล้วผลของสงครามที่เราเห็นมันจะเกิดอะไร ในทำนองเดียวกัน วันนี้หลังจากที่ผมผ่าน นิสิตปี 1 ช่วง 14 ตุลา 2516 นิสิตปี 4 ช่วง 6 ตุลา 2519 เริ่มเป็นอาจารย์เมื่อปี 2535 เริ่มเห็นวังวนการเมืองไทยแล้วอยากถามว่า "ตอนที่คนประมาณ 5 คนคุยกันที่ปารีส ก่อนปีพ.ศ. 2475 หนึ่งในนั้นคือท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในนั้นคือท่านร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ หนึ่งในนั้นคือร้อยตรีประยูร ภมรมนตรี เคยคุยกันไหมว่าหลังจากยึดอำนาจแล้ว จะเอาอย่างไรกับกองทัพสยาม"
ผมเข้าใจว่าโจทย์ชุดนี้ไม่ได้เริ่ม ผมไม่ต้องการโทษอะไรกับบรรพชนที่เป็นผู้ก่อการของเรา แต่เข้าใจว่าปัญหาใหญ่ตอนนั้นคือจะทำอย่างไรจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสยาม ลองนึกถึงว่าตอนอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ กับร้อยโทแปลก หรือจอมพลป. พิบูลย์สงคราม กลับมากรุงเทพ พร้อมๆกันวันที่เริ่มจะยึดอำนาจ มันมีปัญหาใหญ่ กลุ่มคณะผู้ก่อการไม่มีนายทหารระดับสูง จนกระทั่งเริ่มมาต่อสายกับพันเอกพระยาทรงสุรเดช เริ่มต่อสายกับพันเอกพระยาฤทธิอัคนี รวมถึงทางเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา โดยชั้นยศแล้วก็ประมาณพันเอก จนถึงยุคนี้ก็ไม่ใช่สูง แต่ยุคนั้นสามัญชนสูงสุดก็คือพันเอก เพราะฉะนั้นพอทำเสร็จ จึงรวมเอานายทหารระดับสูงแต่ไม่ใช่เนื้อแท้ของปี 2475
จนกระทั่งสุดท้ายก็มีความพลิกผันทางการเมืองปี 2475 จริงๆ แล้วการขึ้นสู่อำนาจในฐานะ ที่ผมอยากใช้คำว่า ครม.ชุดแรกของคณะผู้ก่อการ 2475 เริ่มที่ธันวาคม 2481 ต้นปี 2482 รัฐบาลจอมพลป.จึงเป็นรัฐบาลชุดแรกที่มีอำนาจจริงๆ หรือเป็นรัฐบาลของคณะราษฎร์ชุดแรก แต่ขณะนั้นถ้าเราสังเกต มันก็ไม่ได้ตอบโจทย์เดิมว่า มีอำนาจแล้วจะเอาอย่างไรกับกองทัพในมิติทางการเมือง
จนกระทั่งวันหนึ่งจอมพลป.ก็นำพาประเทศไทยเข้าสู่เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่องการทำสงคราม พอสงครมจะสงบในปี 2488 แต่ก่อนสงบจอมพลป.แพ้ญัตติในสภา 2 เรื่องคือ ย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ กับ การสร้างพุทธปริมณฑล แพ้ 2 ครั้งติดต่อกันในระยะเวลาสั้นๆก็ออก แต่พอออกก็เป็นช่วงปลายสงคราม แล้วสงครามสงบการจากทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิม่า กับ นางาซากิเมื่อ 6 สิงหาคม และ 9 สิงหาคม 2488 ตอนสงครามสงบปัญหาที่คาราคาซังใหญ่คือ อังกฤษซึ่งเราประกาศสงครามในวันที่ 25 มกราคม 2485 มีคำถามใหญ่ว่าจะยอมรับการประกาศสงครามของเราว่าเป็นโมฆะหรือไม่ แต่ทางสหรัฐฯ ยอม สมมติว่าถ้าสหรัฐไม่ยอมแล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
ไทยจะกลายประเทศที่พ่ายสงคราม แต่โจทย์ที่ใหญ่ที่สุดคือ วันนี้เราไม่ยอมกลับไปดูข้อเรียกร้อง 21 ประการของรัฐบาลอังกฤษข้อแรกคือ "ยุบกองทัพไทย" และอังกฤษจะขอเข้ามาเป็นผู้จัดการกองทัพไทยใหม่ด้วยเงื่อนไขที่สหรัฐฯ พยายามปกป้องเราทุกอย่าง ผมเข้าใจว่าเป็นผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ไม่อย่างนั้นหลังสงครามอังกฤษจะมีอิทธิพลต่อสยามฝ่ายเดียว ก็ใช้วิธีกัน แล้วเราก็รอดผ่านมา
ลองจินตนาการมุมกลับ ของคำว่า "ถ้า" แล้วถ้าตอนนั้นเราอยู่ในฐานะของผู้แพ้สงครามเพราะเราอยู่กับอักษะ นึกอะไรไม่ออกก็นึกถึงโกโบริที่กรุงเทพฯ โกโบริมาตายจากการทิ้งระเบิดที่สถานีบางกอกน้อย นั่นคือตัวอย่าง
ถ้าวันนั้นเราถูกจัดอยู่เป็นผู้แพ้สงคราม เฉกเช่น เยอรมัน และญี่ปุ่น วันนี้การเมืองไทยก็เปลี่ยน แต่เนื่องจากสหรัฐกันไม่ให้อังกฤษกดดันเรามากเกินไป ข้อเรียกร้องข้อที่ 1 ไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่เกิดก็คือการคงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของไทยไว้ให้เหมือนเดิมทุกอย่างเพราะไม่แตะอะไรเลย พอไม่แตะอะไรเลย ปัญหามันหวนคืนคือ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2490 นายทหารนอกราชการกลุ่มหนึ่งบวกกับปีกขวาในเสรีไทย ปีกขวาในสังคมไทย คือเป็นการรวมปีกขวาทั้งกลุ่ม คือสุดท้ายกลุ่มนี้คือกลุ่มของสายพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาต่อมา รวมตัวกันก็ยึดใหม่ รัฐบาลพลเรือนของหลวงธำรงฯ ก็ล้ม พอล้มหลวงธำรงฯ พยายามร้องขอต่อวอชิงตัน ต่อลอนดอน ขอให้สัมพันธมิตรแทรกแซงการทหารที่กรุงเทพฯ เพราะปีกที่ขึ้นสู่อำนาจเป็นปีกอักษะ
ลองจินตนาการว่าถ้าแทรกแซงในตอนนั้น จะเกิดอะไร สัมพันธมิตรก็ไม่แทรกแซง โดยยอมให้จอมพลป.ที่เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดอักษะขึ้นสู่อำนาจ ลองนึกถึงใกล้ชิดขนาดว่าสัญญาไมตรีกับญี่ปุ่นนั้น ลงนามที่วัดพระแก้ว เพราะฉะนั้นความใกล้ชิดขนาดนี้ สัมพันธมิตรยอมให้อดีตผู้นำไทยซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกจับขึ้นศาลอาชญากรสงคราม แล้วคนที่แก้คดีให้กับจอมพลป.ก็คืออาจารย์ปรีดี
ผมคิดว่า มันเห็นได้ว่าไม่ว่าเราคิดอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์อาจไม่ได้เป็นอย่างที่ใจเราคิด ผมไม่ได้อธิบายว่าประวัติศาตร์ซับซ้อน แต่เมื่อประวัติศาสตร์เคลื่อนตัวมันมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามา ดูอย่าง 19 กันยายน 2549 เป็นตัวอย่าง
เกิดคำถามสำหรับคนไทยว่า ทุกวันนี้คิดอย่างไรกับทหาร นักการเมือง เราตอบได้ไม่ง่าย ผมคิดว่าคนไทยไม่รู้สึกลบกับรัฐประหาร ผมอาจเป็นคนที่เติบโตมาจาก 14 ตุลา 2516 ผมอาจเห็นต่างในหลายส่วน แต่ยิ่งนั่งดู ผมว่าคนไทยไม่ค่อยกังวลกับเรื่องรัฐประหาร ผมจำได้ว่าวันที่กลุ่มยังเติร์ก เอารถถังมายิงสถานีวิทยุของพลหนึ่ง คนไทยไปยืนดู อาจารย์ฝรั่งของผมเห็นคนไทยไปยืนดูก็ตกใจ บอกว่าคนไทยนี่กล้านะ
ในอีกมุมหนึ่งลองคิดว่า เราถูกสร้างความรู้สึกว่ารัฐประหารไม่ใช่เรื่องเสียหาย เป็นอะไรที่ผู้คนในสังคมไทยยอมรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรามีวลีว่า "เมื่อการเมืองตัน เราก็ให้ทหารมาเป็นคนช่วยแก้" ตกลงเราจะให้เป็นทหารเทศบาลใช่หรือไม่ ท่อตันก็มาล้างท่อ สักพักหนึ่งพลเรือนพอได้อำนาจเสร็จก็กลับกรมกองซะ แต่ท่อตันเมื่อไรก็มา
การที่เรียกทหารมาล้างท่อ เป็นอาการที่ไม่สิ้นสุดในสังคมไทย สังคมไทยคิดเหมือนนิทานเด็กๆ เรื่อง อลาดิน พอถูตะเกียงยักษ์ก็ออกมาช่วย หรือสังคมไทยคิดความหมายของทหารเหมือนยักษ์ในตะเกียง แต่ปัญหาคือออกแล้วไม่กลับ เพราะอยากตัวใหญ่ ยิ่งออกก็ยิ่งใหญ่ขึ้น ปรากฎการณ์นี้ทำให้เราคิดต่อว่าแล้ววันหนึ่งต้องจัดสังคมไทย จะจัดอย่างไร
คิดว่าบทเรียนใหญ่อยู่ที่ปี 2535 ครั้งนั้น มีความพยายามเยอะที่จะปฎิรูปทั้งกองทัพและการเมือง ผมได้เห็นพอสมควรแต่สังเกตต่อว่าความพยายามหลังปี 35 ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ตอนที่พฤษภา 35 เกิดขึ้น หรือย้อนกลับไปก็ใกล้เคียงกับปัญหา 14 ตุลา ปัญหาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เราพูดทุกเรื่องในทางการเมือง แต่เราพูดเรื่องทหารน้อยมาก งานหลังปี 75 จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ
ก่อนที่สงครามโลกจะสงบทูตอังกฤษเคยเขียนบทความว่า ถ้าจะให้สยามเป็นประชาธิปไตยได้ต้องหาทางจัดการกองทัพสยามให้เรียบร้อย
พอหลัง 2535 ผมว่ามันเป็นอีกครั้งที่เราเห็นบทบาทของทหารกับการออกมามีบทบาททางการเมือง โจทย์ปี 2535 มันมีความพยายามเปิดเวทีมีการพูดถึงเรื่องความอยากเห็นการปฎิรูปกองทัพไทยในทางการเมือง พูดแต่ว่าไม่มีนัยยะอะไรต่อจากนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าพฤษภา 35 เป็นอะไรที่ปล่อยผ่านเลย ผมไม่ได้บอกว่าต้องไปทำอะไรไม่ดีกับกองทัพนะ
เมื่อผ่านเลย สิ่งที่เราเห็นคือ ผมใช้ภาษาว่า เราไม่เคยมีกรอบของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับผู้นำทหาร เราไม่มีในเรื่องที่ใหญ่ที่สุด เราไม่มียุทธศาสตร์ต่อการสร้างกองทัพที่เป็นประชาธิปไตย
ในมุมหนึ่งทำให้เห็นว่าช่วงที่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย มีปัญหาเกิดขึ้นไม่ใช่แค่ไทย แต่เกิดขึ้นทั่วยุโรปใต้ เอเชีย แอฟริกา รวมถึงการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในลาตินอเมริกา แต่ถ้าเราดูตัวแบบในลาติน การยึดอำนาจที่นั่นใหญ่กว่าที่ไทยเยอะ หนักหน่วงมาก แต่วันนี้ถ้าเราลองหวนดูหลังระยะเปลี่ยนผ่านในลาติน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับระยะเปลี่ยนผ่านในสังคมไทยประมาณค.ศ. 1980 วันนี้ในลาตินอเมริกาแทบไม่มีรัฐประหาร
แสดงว่าปีกพลเรือนในลาตินสามารถสร้างขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์ในการทำให้กองทัพเป็นประชาธิปไตยได้มากขึ้น หรือเกิดการจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อเราไม่ทำอะไรเลย ผมอธิบายได้อย่างเดียวว่าหลัง 2535 สังคมอยู่ในความประมาทที่คนที่ทำเรื่องทหารนั้นจะถูกมองว่าเป็นคนที่เชยที่สุด เป็นคนที่เหมือนกับล้าหลังในทางวิชาการ เพราะหลังจาก 2535 ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่ประเด็นทางวิชาการอีกต่อไป
สังคมไทยเชื่อว่ารัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย เพราะถ้าเราดูโครงสร้างทางการเมืองเราแทบไม่ได้จัดโครงสร้างอะไรที่รองรับเลย เมื่อเราไม่ได้จัด วันหนึ่งเราเห็นความแตกแยกหรือการเผชิญหน้าทางการเมืองตั้งแต่ช่วงกลางและปลายปีไล่ขึ้นมา สิ่งที่ตามมาคือเราไม่มีองค์กรที่แก้ไขความขัดแย้งในบ้านตัวเอง เราไม่มีองค์กรที่จะแก้วิกฤติภายใน เมื่อเราแก้วิกฤติไม่ได้ ปัญหาการบริหารจัดการความขัดแย่งเริ่มอิงไม่ได้ สุดท้ายอารมณ์คนก็กลับไปที่เดิมแบบที่เปิดประเด็นว่าคนไม่กลัวการรัฐประหาร ถ้าอย่างนั้นก็ให้ทหารออกมาล้างท่ออีกทีดีไหม
ถ้าเราเชื่อว่าการรัฐประหารเกิดเพื่อป้องกันม็อบชนม็อบที่กรุงเทพฯระหว่างปีกต่อต้านกับปีกสนับสนุนรัฐบาล ตกลงเหตุการณ์นั้นมีจริงไหม หรือเหตุการณ์นั้นมีเพื่อให้เรา "เชื่อ"
เพราะฉะนั้นในมุมแบบนี้เราเห็นอาการสวิง อาการที่ใหญ่ที่สุดลองเปรียบเทียบในปี 35 เราเรียกคน 4 ส่วน คือ ชนชั้นกลาง ปัญญาชน สื่อ องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) เป็นเสมือนแนวหน้าของพลังประชาธิปไตย เกิดอะไรในปี 48-49 ซึ่งบางส่วนในกลุ่มนี้สวิงกลับมาหนุนการรัฐประหาร ทำไมคนบางส่วนของพลังเหล่านี้ในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญปี 2540 ชัดธงสีเขียวอ่อน ทำไมปี 48-49 กลายเป็นชักธงสีเขียวขี้ม้า
อาการแบบนี้มันตอบอย่างเดียวว่า คนในสังคมไทยพร้อมรับการรัฐประหารอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ถึงขั้นไปมอบดอกไม้ ขนม กับทหาร วันนี้ปัญญาชนไทยกลายเป็นปัญญาชนที่อนุรักษ์ที่สุด ถ้ามองในมิติของโลก ไม่มีปัญญาชนประเทศไหนหนุนการรัฐประหารยกเว้นปัญญาชนในไทย เพราะวิกฤติชุดนี้สะท้อนวิกฤติทางปัญญาของสังคมไทย วันนี้ปัญญาชนไม่หาทางออกให้กับคนในบ้าน
แต่วิกฤติชุดนี้ก็สร้างปัญหาตกค้าง ถ้ามองในอดีต รัฐบาลประหารเป็นเครื่องมืออย่างดีของคนชั้นนำและผู้นำทหารใช้เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง โดยหวังว่าจะล้างไพ่ ล้มกระดานแล้วยังหวังว่าการเมืองที่เริ่มต้นใหม่ภายใต้การควบคุมของทหารจะนำเสถียรภาพมา แต่ปรากฎการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารปี 49
ในอดีตพวกเราคุ้นเคยว่าเมื่อเกิดรัฐประหารนักการเมืองหลายคนหิ้วกระเป๋ากลับบ้าน รอการเลือกตั้งแล้วจะลงสนาม แต่หลังปี 2549 นักการเมืองส่วนหนึ่งตัดสินใจเปิดเวทีสู้ รวมถึงการเปิดเวทีสู้ของคนในเมือง ไม่ใช่เพียงแค่คนในกรุงเทพฯเท่านั้น สัญลักษณ์ที่แทนได้คือ เหตุการณ์ที่คุณลุงขับแท็กซี่ขับรถพุ่งชนรถถัง ปรากฎการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นในไทย และสัญญาณที่น่าสนใจคือการต่อต้านรัฐประหารกลายเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชนชั้นล่าง กลับไม่ไปเกิดขึ้นในหมู่ปัญญาชน
ในมุมนี้สิ่งที่ตกค้างคือเมื่อรัฐประหารไม่สามารถสร้างเสถียรภาพได้ กลายเป็นความแตกแยกขนาดใหญ่ ค่าใช้จ่ายที่สังคมไทยต้องใช้ไม่ว่าจะเป็นตุลาการภิวัตน์ องค์กรรัฐอิสระหรือสิ่งต่างๆที่เราเห็นมาจากผลพวงของรัฐประหาร อย่างการขยายตัวของการคอรัปชั่น การขยายบทบาทของทหาร และเรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือกระบวนการเมืองที่เราคาดหวังว่ากระบวนการเมืองแบบการเลือกตั้งจะเป็นพื้นฐานหลักนั้นพังทลายลง แต่ในมุมกลับสิ่งที่เกิดขึ้นกับกองทัพนั้นมาพาปัญหาใหญ่ สังคมแตกแยกเช่นไร หลังรัฐประหาร สังคมในวงพี่ๆน้องๆในวงกองทัพก็แตกแยกเช่นกัน
ส่วนเรื่องที่ตามมาก็คือ วันนี้อาจต้องยอมรับว่ารัฐประหารที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เป็นกลไกของการทำลายสายการบังคับบัญชาในกองทัพทั้งหมด เมื่อสายการบังคับบัญชาในยามปกติถูกทำลายเมื่อรัฐประหารเกิดขึ้น มันสร้างปัญหาใหญ่สืบเนื่องในกองทัพ สิ่งที่ตามมาคือ การเลื่อนยศ การปรับย้านต่างๆไม่มีหลักเกณฑ์ คนที่ทำงานปฎิรูปกองทัพทั่วโลกมีจุดยืนร่วมกันว่าการเคลื่อนย้ายต้องมีหลักตัดสินบนพื้นฐานลักษณะทางวิชาชีพหรือความสามารถทางวิชาชีพ แต่ผลจากการที่สายการบังคับบัญชาถูกทำลายลงจากการรัฐประหาร การเคลื่อนย้ายในกองทัพจึงเปลี่ยน
ในอดีตคนที่ทำข่าวสายทหารจะรู้ว่าการเลื่อนขั้นจะขึ้นอยู่กับ 2 อย่างคือ"รุ่น"และ"เหล่า" แต่วันนี้ รุ่นและเหล่า แตก วันนี้คนที่ทำข่าวอาจเห็นได้ว่าไม่มีใครพูดถึงเหล่า อาจยกเว้นแค่เหล่าม้า ไม่รู้ในอนาคตการสร้างเอกภาพในกองทัพผ่าน"รุ่น"ในกองทัพจะทำได้จริงหรือไม่
ถ้าอย่างนั้นในอนาคตจะทำอย่างไรกับกองทัพไทย ปัญหาใหญ่เชื่อว่าเหลืออยู่ 4 ประการ คือ หนึ่ง การสร้างทหารอาชีพของกองทัพไทยจะทำอย่างไร สอง การปฎิรูปทางกองทัพทั้งในมิติทหารและการเมืองจะดำเนินการอย่างไร สาม การจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหารระหว่างผู้นำกองทัพกับผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำอย่างไร และสี่ ถ้าคิดว่าในอนาคตประเทศต้องเป็นฉันใด จะต้องทำอย่างไรให้กองทัพเป็นประชาธิปไตยเป็นคู่ขนานไป
ประเด็นหลังคือประเด็นที่เขียนมาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 ถ้าต้องการปฎิรูปการเมืองต้องปฎิรูปกองทัพ หรือในทำนองเดียวกันถ้าต้องการปฎิรูปกองทัพต้องปฎิรูปการเมืองคู่ขนานกัน ไม่อย่างนั้นแฝดอิน-จัน คู่นี้ไม่มีวันเกิด ผมคิดว่าการปฎิรูปการเมืองและกองทัพเป็นแฝดสยาม และเป็นแฝดสยามที่ตอนนี้ยังหาหมอผ่าตัดไม่ได้ แล้วยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทิ้งค้างไว้
ปัญหาในอนาคตเหลืออย่างเดียว สิ่งที่เราพูดกันนี้จะเกิดได้หรือไม่ ความหวังวันนี้ เราอยากเห็นกองทัพมีความก้าวหน้า มีสมรรถนะที่ดีขึ้น แต่วันนี้เราตอบไม่ได้ ซื้อ จีที 200 ก็ไม่รู้ว่าข้างในเป็นอะไร วันนี้สังเกตว่าเรื่องเงียบเลย ผมทวงถามความรับผิดชอบเพราะ เจ้าหน้าที่สนามที่ต้องทำงานเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ถ้าเครื่องมือเหล่านี้ใช้ไม่ได้จริง ใครจะรับผิดชอบ ผมทวงถามความรับผิดชอบทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ต้องรับผิดชอบทั้งคู่
เรือเหาะที่ไม่เหาะจะเอาอย่างไร สับดาห์ก่อน ช่อง 9 ถ่าย 100 กว่ารูที่เรือเหาะ ถ่ายได้ยอดมาก ตกลงจะเอาอย่างไร รถถังยูเครนสั่งซื้อเปลี่ยนเครื่องยนต์ คำถามคือ ในความหมายของสัญญา การเปลี่ยนเครื่องเท่ากับเปลี่ยนสาระสำคัญของสัญญาหรือไม่ ถ้าเราซื้อรถเบนซ์แล้วเปลี่ยนเป็นเครื่องญี่ปุ่นแล้วคุณจะยอมไหม
เพราะฉะนั้นประเด็นพวกนี้ เป็นโจทย์ในอนาคต ประเด็นวันนี้เป็นเรื่องขายฝัน ว่าวันหน้าคาดหวังว่าอยากเห็นการเมืองมีการปฎิรูป อยากเห็นประชาธิปไตยเดิน สื่อต้องมีส่วนสำคัญต่อการคิดเรื่องการปฎิรูปกองทัพ ถ้าดูจากต่างประเทศผมคิดว่าบทเรียนการปฎิรูปในต่างยุโรปเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจเพราะเป็นการเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน
ลองคิดง่ายๆอย่างวันที่รวมชาติเยอรมัน จะปฎิรูปกองทัพเยอรมันอย่างไร เพราะคุณเอากองทัพของเยอรมันที่เป็นของโลกตะวันตกที่เป็นโลกทุนนิยม กับกองทัพเยอรมันตะวันออกที่เป็นสังคมนิยมมารวมกันแล้วปฎิรูปได้ มันเป็นโจทย์ใหญ่ ถ้าคิดแบบนี้จะตอบโจทย์ทหารแตงโม กับทหารฟักทองได้เพราะทหารเยอรมันตะวันตกกับตะวันออก อยู่กันคนละอุดมการณ์ แต่สุดท้ายต้องแต่งเครื่องแบบของกองทัพ และถืออาวุธภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเยอรมัน
โจทย์พวกนี้คิดว่าเป้นโจทย์ใหญ่และยาว เราพลาดครั้งหนึ่งในปี 2535 เราปล่อยให้หลุด แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องไม่ทำอะไรไม่ดีกับทหาร แต่คิดว่าเราพลาดโอกาสของการปฎิรูปประเทศขนาดใหญ่ ไม่ใช่แค่พลาดการปฎิรูปกองทัพไทยเท่านั้น แต่เราพลาดที่เราไม่ได้ทำอะไรกับระบบการเมืองไทย เรามีความคาดหวังว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่สวยหรู ถือธงสีเขียวอ่อน พอวันหนึ่งไม่ชอบก็ถือธงสีเขียวขี้ม้า ออกมาเรียกร้อง
คนเดิมที่เรียกร้องให้เรารับรองรัฐธรรมนูญ 40 พอถึงรัฐประหารครั้งหลังกลับกลายเป็นคนชุดเเดียวกันในปี 2549 ที่เรียกร้องให้เรารับรองการรัฐประหาร ถ้าแบบนี้สังคมไทยต้องคิดกันยาวๆแล้ว แต่ปัญหาทั้งหมดอย่าโทษใคร ต้องโทษอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดอย่าไปโทษทหาร กองทัพบกก็ไม่น่ากลัว เพราะสุดท้ายเราทำการปฎิรูปทั้งระบบได้จริง ปัญหาที่เราพูดมาไม่หมดแต่จะลดความน่ากลัวลง ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดวันนี้ปัญญาชนในมหาวิทยาลัยไทยเหลืองจนไม่มีวิธีคิดอะไรอื่นเหลือ
วันนี้เราพูดสุภาษิตเก่าว่า เผาบ้านไล่หนู วันนี้บ้านก็ไหม้ หนูก็จับไม่ได้ ก้าวก็ไม่พ้นทักษิณ แล้วตกลงเหลืออะไรกับอนาคตของพวกเราทุกคน วันนี้บทเรียนใหญ่จะเอาอย่างไรกับอนาคตของตัวเราเองในทางการเมือง
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
----------------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น