--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

อย่ากดดันแบงก์ชาติให้ต้อง 'ปะ ชุน แปะกอเอี๊ยะ'

ประชาชาติธุรกิจ

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตอบคำถามประเด็นร้อนเรื่องค่าเงินบาทแบบตรงไปตรงมาในงานสัมมนาวิชาการประจำปี ธปท.เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา โดยเป็นคำถามนอกรอบที่เขียนขึ้นไปถามบนเวที เป็นคำถามโดนใจหลายคน คือ นโยบายเกี่ยวกับการปรับอัตรา ดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ธปท.จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไรที่เป็นรูปธรรม และถ้าจะให้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นในอนาคต ต้องให้ธุรกิจทุกเซ็กเตอร์เข้มแข็งก่อนไหม และควรจะทำแบบจีนไหมที่ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เศรษฐกิจโตต่อเนื่อง

"เรื่องค่าเงินจริง ๆ จะบอกว่า เราไม่ช่วยก็ไม่ได้ มาตรการช่วยเหลือจริง ๆ จะบอกให้รอภาคธุรกิจเข้มแข็งทุกภาคแล้วให้ปล่อยค่าเงินเคลื่อนไหวเสรี จริง ๆ เราไม่ได้ปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวเสรี หากดูงบดุลของ ธปท.ปีที่แล้วจะเห็นว่าทุนสำรองเพิ่มขึ้นถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7-8 แสนล้านบาท นั่นคือวิธีที่เราพยายามช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้"

นายไพบูลย์ชี้ว่า ถ้าเราไปดูตัวเลขจริง ๆ ความผันผวนของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักในภูมิภาค ค่าเงินบาทมีความผันผวนน้อยที่สุดอยู่ที่ 3% ต่อปี เราได้บอกกับประชาชน บอกกับตลาด บอกกับภาคธุรกิจตลอดว่า นโยบายของเราคือการดูแลความผันผวนไม่ให้มากจนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราอยากจะไปช่วยเซ็กเตอร์ใดเซ็กเตอร์หนึ่ง นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของเรา

"ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย เราไม่สามารถมีเป้าหมายทั้งระดับราคาและอัตราแลกเปลี่ยนไปพร้อม ๆ กัน ขอโทษที่โลกแบน เพราะนั่นคือข้อเท็จจริง และ ก็คงจะต้องเป็นอย่างนั้นต่อไป"

นอกจากนี้ นายไพบูลย์ยังระบุว่าจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายถ้าเราถูกแรงกดดันจากความผันผวนของตลาดระยะสั้น ความเคลื่อนไหวทุนระยะสั้นมาจี้ให้เราต้องดำเนินมาตรการเพื่อรักษาปะ ชุน แปะกอเอี๊ยะ แล้วไม่ได้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจและธุรกิจมีการปรับตัว

"ถ้าทำมาตรการไม่ควรเป็นมาตรการที่ป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น แต่เราพยายามทำให้การเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงิน" นายไพบูลย์กล่าว

ด้านนายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ระบุถึงแนวนโยบายการเงินของ ธปท.ว่า จะให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.นโยบายการเงินมีเป้าหมายดูแลอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ ช่วงต่อไปการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะให้ความสำคัญกับเสถียรภาพราคาเป็นเป้าหมายหลัก 2.ดูแลให้การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทไม่ผันผวนมาก และไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจมากเกินไป และ 3.จะดูแลความสมดุลของเงินไหลเข้า-ออก

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น