ชนวนบานปลายโครงการสัมปทาน "ลานจอดรถสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ" ในยุค "นิรันดร์ ธีรนาถสิน" นั่งเป็นผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." ถูก นายปิยะพันธุ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ขอมติที่ประชุมบอร์ด 6 กันยายน 2553 ย้ายฟ้าผ่าออกจากพื้นที่ข้ามฝั่งไปประจำดอนเมือง
1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับ "นางดวงใจ คอนดี" รองผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ ถูกแขวนเป็นผู้เชี่ยวชาญพร้อม ๆ กัน
ช่วงรอถึงวันย้ายออกจากสุวรรณภูมิ "ผอ.นิรันดร์" ถูกมรสุมกระหน่ำโดนกรรมการ บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด เจ้าของสัมปทานลานจอดรถสุวรรณภูมิอาคารเอและบีพื้นที่ 1.6 แสนตารางเมตร รุมฟ้องแบบแยกกันตีแบ่งเป็น 2 ขั้ว
ขั้วแรก โดยนายธนกฤต เจตกิตติโชค 1 ในกรรมการ ฟ้องร้องทั้งหมด 3 คดี คือ คดีที่ 1 ฟ้องนายนิรันดร์ ธีรนาถสิน ด้วยวิธีทำหนังสือร้องเรียนส่งถึงปลัดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อ 29 สิงหาคม 2553 ขอให้ลงโทษนายนิรันดร์ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ในเหตุการณ์ที่ปล่อยให้นายธรรศน์ พจนประพันธ์ และพวกรวม 10 คน บุกรุกขึ้นไปค้นสำนักงานบริษัท ปาร์คกิ้งฯ ตอนกลางคืนวันที่ 30 เมษายน 2553
คดีที่ 2 นายธนกฤตได้แจ้งความดำเนินคดีหุ้นส่วนคือนายธรรศและพวก ที่ศาลแพ่ง เรื่องละเมิดและเรียกค่าเสียหาย 52 ล้านบาท
คดีที่ 3 ฟ้องพ่วงนายนิรันดร์เข้าไปด้วย กรณีเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ทำหนังสือไปยังธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ ในฐานะผู้ค้ำประกันเงินโครงการลานจอดรถสุวรรณภูมิให้โอนเงินจากบัญชีธนาคารเลขที่ ๕๓-๕๒-๐๐๐๘-๐ จ่ายชำระเป็นเงินรายได้รายเดือนแก่ ทอท.รวม 66,928,310.83 บาท เนื่องจากตั้งแต่บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด รับสัมปทานเก็บเงินสดค่าลานจอดรถจากลูกค้าและสมาชิก เริ่ม 30 เมษายน 2553 จนถึงปัจจุบัน ไม่เคยโอนรายได้ดังกล่าวให้ ทอท.ตามข้อตกลงสัญญา และเงินดังกล่าวก็เก็บเฉพาะเมษายน-กรกฎาคม 2553 เท่านั้น ยังคงค้างจ่ายอยู่อีกเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้
ขั้วสอง โดยนายธรรศ พจนประพันธ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นกรรมการหลักที่มีอำนาจลงนามธุรกรรมทั้งหมด ให้บริษัท กฎหมายอรุณอัมรินทร์ จำกัด ยื่นหนังสือเมื่อ 23 สิงหาคม 2553 ถึงนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.อ้างถึงหนังสือที่นายธรรศ พจนประพันธ์ ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2553 เรื่องขอให้ ทอท.คืนเงินทดรองจ่ายจำนวน 20,167,731.54 บาท (ยี่สิบล้านหนึ่งแสนหกหมื่นเจ็ดพันเจ็ดร้อยสามสิบเอ็ดบาทห้าสิบสี่สตางค์) นับจากวันที่ความแจ้งแล้วภายใน 7 วัน แต่ ทอท.กลับไม่ชำระคืน หากพ้นกำหนดนายธรรศจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
เงินจำนวนกว่า 20 ล้านบาทนี้ มีรายงานว่านายธรรศสั่งจ่ายเช็คในนามส่วนตัวสำรองให้ ทอท.ช่วงแรกที่ลงนามสัญญาสัมปทานและยังไม่ได้มีความขัดแย้งกับกรรมการในบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด พอขัดแย้งกันจึงขอคืนจาก ทอท.เพราะถือตามกฎหมายเช็คสั่งจ่ายต้องทำในนามบริษัทเท่านั้น ทอท.จึงจะรับโอนเข้าบัญชีได้
สัญญาสัมปทานโครงการลานจอดรถสุวรรณภูมิ ที่ทำเมื่อ 30 เมษายน 2553-31 มีนาคม 2558 ระยะเวลา 5 ปี ระหว่าง ทอท.กับบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ระบุ ผู้รับสัมปทานจะต้องวางหลักประกันสัญญาประกอบการเป็นจำนวนเงิน 6 เท่าของค่าตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนของปีที่ 1 ซึ่งขั้นต่ำเสนอราคาไว้ 15.5 ล้านบาท/เดือน+ค่าสมาชิก 4-5 ล้านบาท/เดือน (รวมเฉลี่ย 20 ล้านบาท/เดือน) และวางหลักประกันสัญญาเช่าพื้นที่ประกอบการเป็นจำนวนเงิน 4 เท่าของค่าเช่ารายเดือน (เฉลี่ย 4.8 ล้านบาท/เดือน) ประการหลักจะต้องโอนเงินรายได้ตามจริงให้ ทอท.
ทุกวันที่ 7 ของเดือนนับตั้งแต่วันทำสัญญา โดยผ่านระบบติดตั้งอุปกรณ์อัตโนมัติที่ตรวจสอบได้ถึงการจัดเก็บเงินรายได้แต่ละวัน 8 แสนบาท-1 ล้านบาท
แต่ข้อตกลงทั้งหมดนี้ บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาแม้แต่ข้อเดียว โดยเฉพาะเครื่องมือในการตรวจสอบการเก็บเงินแต่ละวันคืออุปกรณ์อัตโนมัติเชื่อมต่อระบบกับ ทอท.เอกชนเข้าบริหารต่อเนื่องมา 5 เดือน ได้รับการยืนยันจากพนักงานและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายว่าทุกวันนี้ก็ระบบที่ตกลงกันไว้ในพื้นที่ 1.6 แสนตารางเมตร ยังไม่ได้ติดตั้งสักจุด
เรื่องสำคัญที่สุดคือ "รายได้" จากสัมปทานพื้นที่ลานจอดรถ ตามปกติ ทอท.เคยทำเองสามารถจัดเก็บค่าบริการจากลูกค้าทั่วไปได้วันละ 8 แสนบาท-
1 ล้านบาท และรายได้ประจำจากลูกค้าสมาชิกกลุ่มพนักงานสายการบินและสำนักงานต่าง ๆ ในสุวรรณภูมิอีกเดือนละ 4-5 ล้านบาท ทอท.เคยมีรายได้เฉลี่ยจากลานจอดรถ 30 ล้านบาท/เดือน
กรณีหาก ทอท.บริหารลานจอดเองตลอด 6 เดือนนี้ จะมีรายได้กว่า 180 ล้านบาท แต่ผลจากให้สัมปทาน บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด กลับกลายเป็นต้องเผชิญ "ความเสี่ยง" อย่างรุนแรง ต้องหาวิธีหักจากเงินค้ำประกันธนาคารกสิกรไทยมาได้บางส่วนเพียง 66 ล้านบาทแล้ว
นายนิรันดร์ ธีรนาถสิน ผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ นำข้อตกลงสัญญามาอธิบาย โดยขอให้บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด หลังถูกหักเงินค้ำประกันธนาคารไปเกินครึ่งแล้ว ต้องนำเงินไปใส่ในบัญชีที่ถูกหักให้ครบจำนวนตามสัญญา คือ ค่าประกันการประกอบการ 6 เท่าของรายได้แต่ละเดือน ประมาณ 120 ล้านบาท กับค่าเช่าเป็นเงินจำนวน 4 เท่าของแต่ละเดือน 19.2 ล้านบาท ตั้งแต่แจ้งไว้ ณ วันที่ 21 กรกฎาคมมาจนถึงขณะนี้ คู่สัญญากลับไม่ได้ให้ความร่วมมือใด ๆ และ/หรือ อยู่ระหว่างกระทำผิดเงื่อนไขสัญญา
แต่สถานการณ์ตอนนี้ ทอท.กลับพลาดท่าเป็นรองทุกรูปแบบเมื่อถูกเอกชนเล่นแง่แบ่งขั้วกันตีโอบล้อม โดยไม่ต้องจ่ายรายได้รายเดือนตามสัญญารวมกว่า 180 ล้านบาท และยังสามารถขอการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายทำธุรกิจเก็บเงินสดจากลูกค้าต่อไปเรื่อย ๆ แถมขอเงินทดลองจ่ายคืนอีก
20 ล้านบาท เอกชนมีแต่ได้ ส่วน ทอท.เสียทุกอย่าง
ที่มา.ประชาชาตธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น