--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชานิยม : รัฐสวัสดิการอยู่ที่ประชาชนได้ประโยชน์

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น จัดเสวนาหัวข้อ "รัฐสวัสดิการเหมือนหรือแตกต่างจากประชานิยมอย่างไร"
ผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการหอการค้าไทย, นายกฤษฎา อุทยานิน ที่ปรึกษาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และนายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า รัฐสวัสดิการไม่ได้มาจากพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนคำว่า "ประชานิยม" นั้น คงมาจากช่วงที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาบริหารประเทศเศรษฐกิจเกิดวิกฤติ จำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มีปัญหากำลังซื้อหาย ตลาดต่างประเทศซบเซา ประกอบกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 จัดทำไปเสร็จแล้ว มีงบประมาณเหลืออยู่เฉพาะงบกลางปีเพิ่มเติม 1 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้ฟื้นกำลังซื้อและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อเพิ่มกำลังซื้อในระยะสั้น เช่น โครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท และลดรายจ่ายด้านการศึกษาเพื่อช่วยประชาชนกว่า 12 ล้านคน จึงเป็นตัวจุดประกายให้เกิดคำว่า "ประชานิยม"

"ตอนนั้นรัฐบาลไม่ได้มองว่าประชานิยมหรือไม่ประชานิยม คิดแต่เพียงว่าจะแก้ปัญหาเฉพาะ เพื่อฟื้นกำลังซื้อให้เร็วที่สุด วงจรเศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนมากที่สุด ทำให้มีการจ้างงาน ท้ายสุดคือ ลดความเหลื่อมล้ำคนจนกับคนรวย สถานการณ์ช่วงนั้นไม่เหมือนรัฐบาลชุดก่อน หากทำช้าจะมีปัญหาว่างานตามมาอีกมาก ซึ่งประเมินว่าอาจถึง 2 ล้านคนด้วยซ้ำ แต่มีนโยบายนี้มีผู้ว่างงานเพียง 1% หรือแสนกว่าคนเท่านั้น"

นายกอร์ปศักดิ์ มองว่าช่องว่างทางสังคมมีมานานแล้ว ถูกนำมาเป็นประเด็นไปเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ได้รับการแก้ไขน้อยมาก การแก้ไขที่ชะงัด คือต้องทำให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคงและมากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรต้องทำนาแล้วไม่ขาดทุน และการลดรายจ่ายของประชาชน จึงถูกมองว่าพยายามทำตัวเป็นรัฐสวัสดิการ จริงๆ แล้วเป็นสังคมสวัสดิการมากกว่า เช่น ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี ไม่เกิน 90 หน่วย มีผู้ได้ประโยชน์ถึง 10 ล้านครอบครัว หรือ 30 ล้านคน หรือเรียนฟรี รัฐบาลต้องการให้คนส่วนใหญ่มีภาระค่าใช้จ่ายลดลง

"นโยบายเฟส 2 ต่อไปจะไม่ใช่การให้เงินโดยตรง แต่เป็นการให้เงินสมทบ เช่น การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการต่างๆ เพราะอยากให้เป็นสังคมที่ช่วยตัวเองได้ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า"

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะเดินถูกทาง แต่ผลที่ออกมา คนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ยังจนต่อไป คนรวยที่เป็นส่วนน้อยก็ยังรวยเหมือนเดิม แล้วจะช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ของประเทศได้อย่างไร

ถ้าต้องการเห็นผลต่างออกไป ก็ต้องกล้าทำสิ่งที่คิดนอกกรอบ เช่น ให้กรมสรรพากรเก็บภาษี 20-25% ของจีดีพี คงทำไม่ได้ เพราะโครงสร้างภาษีเก็บจากมนุษย์เงินเดือน 5 ล้านคน แต่สังคมไทยยังมีคนรวยกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้กินเงินเดือน และไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นถ้าต้องการเม็ดเงินมาใช้ประโยชน์สูงสุด ก็ต้องเก็บภาษีคนรวย เป็นภาษีใช้จ่ายซื้อของฟุ่มเฟือย หรือการอุปโภคบริโภค

"คนเล่นหุ้น ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ได้รับยกเว้นภาษี บางคนขายหุ้นได้ 3-4 พันล้านไม่ต้องเสียภาษี โดยเฉพาะเจ้าของบริษัทที่นำหุ้นออกมาขายได้กำไรจำนวนมาก แต่เราไม่เคยมองจุดนี้ หรือให้เอกชนสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน ตั้งแต่ราคา 2-3 ดอลลาร์ จนราคาน้ำมันขึ้นมาหลายสิบดอลล์ แต่รัฐไม่ได้ประโยชน์ จึงน่าจะถึงเวลาที่ต้องมองภาษีจากรายได้ส้มหล่น หรือ Wind Fall Tax หากไม่เริ่มคิดตอนนี้ ในอนาคตไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ฐานะการคลังก็อยู่ไม่ได้ การผลักดันภาษีที่ดินออกมาก่อนจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี"

ขณะที่ นายอำพน มองว่ารัฐบาลชุดก่อนดำเนินนโยบายประชานิยม เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหาหนักกว่าวิกฤติปี 2540 จึงมองไปที่ปัญหาระยะยาว เช่น แก้ปัญหาหนี้สิน สานต่อกองทุนหมู่บ้าน จ่ายเบี้ยยังชีพคนชรา ประชาชนได้ประโยชน์ไม่ว่าจะเรียกนโยบายอะไร รัฐบาลชุดนี้พยายามเดินสายกลางเพื่อให้เกิดความสมดุล เช่น เปลี่ยนการจำนำข้าวมาเป็นประกันรายได้ เพื่อนำไปสู่หลักพื้นฐานคือให้เกษตรกรพอมี พอกินและอยู่ได้

"การจ่ายเบี้ยคนชรา 500 บาทใน กทม.อาจจะมองว่าน้อย แต่ต่างจังหวัดมีความหมายมาก เห็นด้วยให้รัฐอุดหนุนไปตลอดชีพ เพราะเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐาน ที่ประชาชนควรได้รับ เช่นเดียวกับการดูแลสุขภาพ รัฐยังใช้เงินมุ่งไปที่รักษามากกว่าป้องกัน ในอนาคตควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม"

นายอำพน เห็นด้วยว่าการกระจายรายได้ ยังมีปัญหาอยู่มาก สวนทางกับการเติบโตเศรษฐกิจที่จีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 4.9 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2543 เป็นเกือบ 10 ล้านล้านบาทในปีนี้ แต่รายได้ต่อหัวของคนอีสานกลับลดลง ขณะที่คน กทม.มีรายได้เพิ่มขึ้น การลงทุนไม่สมดุลสะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้ดูไส้ในของการเติบโต

ทั้งนี้ความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างเศรษฐกิจเห็นได้จาก เราทำแค่เรื่องเติบโตอย่างมั่นคง แต่ลืมมองการสูญเสียมลภาวะเป็นพิษ สูญเสียทางสังคม เกิดปัญหาสังคมรุนแรง แต่ความจริงเราต้องให้เศรษฐกิจโตอย่างสมดุล (Balance Grow) ต้องปฏิรูปภาษี ปรับการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ ต้องเติบโตอย่างมีคุณภาพ (Includsion Grow) แม้จะโตเพียง 3-4% แต่ช่วยชนชั้นกลางมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่ม

"วันนี้หัวใจสำคัญ คือถ้าไม่สร้างความเป็นธรรม แรงเสียดทานในสังคมจะเกิดขึ้น สามารถปลุกระดมได้ง่าย เราต้องให้ความหวังว่ากำลังจะเดินไปตามแนวทางนี้"

เอกชนแนะเพิ่มประสิทธิภาพ ใช้งบบริหาร'รัฐสวัสดิการ'

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า นโยบายให้ฟรี ใครก็ชอบ แต่สิ่งสำคัญรัฐบาลต้องมีเป้าหมายชัดว่า ต้องการให้ประเทศเดินไปทางไหน เพราะประชานิยมกับรัฐสวัสดิการไม่เหมือนกัน คำว่าประชานิยมเหมือนลัทธิ ในอดีตเคยมี แต่ทำไม่สำเร็จ เราจึงต้องจัดระเบียบสังคมให้อยู่ระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยมก่อน ตอนนี้จะเห็นว่ามีการใช้ปนกันจนสับสน หากเทียบกับประเทศนอร์เวย์หรือประเทศอื่นในยุโรป มีระบบรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง แต่ประเทศไทยคงต้องดูว่าจะทำระดับใด เพราะเป็นเรื่องที่มีต้นทุน แต่นโยบายนี้มีข้อดีคือ คนจนได้ประโยชน์

"หลายนโยบายเป็นเรื่องที่ดี ต้องทำ แต่ต้องมีขั้นมีตอน ภาคเอกชนพร้อมสนับสนุน เพราะยังไงเราต้องจ่ายภาษีอยู่แล้ว อยากให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้เอกชนจะมีต้นทุนสูงขึ้น ก็ไม่มีปัญหา เพียงแต่ขอให้การจัดการของภาครัฐมีประสิทธิภาพ ขณะนี้มองว่า ยังเป็นปัญหาที่น่าห่วง"

นายพรศิลป์มองว่า ระบบทุนนิยมทำให้เกิดช่องว่างของคนรวยและคนจน ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ปัญหาอยู่ที่การกระจายรายได้ ภาครัฐต้องคิดว่าจะทำยังไงให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ผ่านกลไกภาษี ที่ผ่านมาไทยมีปัญหาแม้จะมีเครื่องมือ แต่ติดขัดที่การปฏิบัติ ถ้าไม่แก้จะยิ่งมีปัญหา เอกชนต้องการเห็นการใช้เงินไม่รั่วไหล และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้โครงสร้างสังคมเปลี่ยนทำให้ประเทศเก่งขึ้นและยั่งยืน

แม้บางครั้งจะมีประชานิยมปนบ้างก็ไม่แปลก เพราะทุกรัฐบาลก็ใช้ผสมกับรัฐสวัสดิการอยู่แล้ว ขึ้นอยู่ที่ต้นทุนดำเนินนโยบายมากกว่า ที่น่ากลัวคือ มองว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องธรรมดา จะเป็นบ่อเกิดคำว่า "ดับเบิลสแตนดาร์ด"

นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน พร้อมสนับสนุนปรับปรุงคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะประชานิยมหรือไม่ประชานิยม แต่ขอให้เป็นสิ่งที่ดีกับประชาชน ขณะที่ภาคเอกชนต้องแข่งขันกันเองและทั่วโลก ถ้าคุณภาพชีวิตคนในองค์กรสามารถรักษาคุณภาพการผลิตไว้ได้ รัฐบาลจะทำอะไรเอกชนก็ต้องไว้ใจ เพราะเลือกให้เข้ามาบริหารประเทศ แต่ขอให้ทำงานรัดกุม รอบคอบ ไม่รั่วไหลและใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การศึกษาถือว่าต้องพิจารณาลงไปถึงบุคลากร เพราะขณะนี้ถือว่าระดับอาชีวะ มีความรู้ต่ำกว่าเกณฑ์มาก หรือ จบปริญญาตรีบางครั้งก็ยังทำงานไม่เป็น

"รัฐสวัสดิการเป็นปัจจัยพื้นฐานที่รัฐบาลทุกประเทศต้องสนองความต้องการประชาชน แต่ละประเทศจะต่างกัน หากมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ก็มักถูกต่อต้าน รัฐบาลจึงต้องทนต่อแรงเสียดทานให้ได้ เช่น ภาษีที่ดินที่จะออกมา อยากเชียร์ให้เปลี่ยนแปลง"

นายกฤษฎา อุทยานิน ที่ปรึกษา สศค. กล่าวถึงคำนิยามของ "รัฐสวัสดิการ" ว่าหมายถึงการดูแลตั้งแต่ก่อนเกิดจนถึงเสียชีวิต เป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานและช่วยเหลือยามตกยาก แม้ปราชญ์ชุมชนจะมองต่างออกไป แต่หลักการไม่ต่างกัน ส่วน "ประชานิยม" อยู่ที่การมอง ถ้ามองในแง่ผู้ให้ เมื่อให้แล้วต้องได้คะแนนนิยมกลับมา ถ้ามองในแง่ผู้รับ ถ้าไม่รับก็ไม่ได้คะแนนนิยม

ส่วนหลักคิดของ สศค.มองว่าต้องดูแลทุกคนไม่ใช่ความผิดที่เกิดมาจน ต้องดูที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้ว่าขณะนี้การเก็บภาษีเพิ่มจะทำได้ยาก ปัจจุบันเก็บภาษีได้เพียง 17% ของจีดีพี จึงต้องเน้นเพิ่มขีดความสามารถของชุมชน และภาคเอกชนมากกว่า

"ภาครัฐพยายามลดช่องว่างทางสังคมให้ได้ โดยมุ่งไปที่กลุ่มคนรากหญ้าหรือฐานราก ซึ่งเป็นกลุ่มคนจน แต่จริงๆ แล้วหมายรวมไปถึงคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ให้อยู่ด้วยความสงบสุขมากกว่า นำไปสู่การผลักดันกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชน 20-30 ล้านคน มีเงินไว้ใช้หลังเกษียณ โดยรัฐจ่ายเงินสมทบปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเพียง 2% ของงบประมาณถือว่าคุ้มค่า"

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น