เข็นมาตรการคุมเงินทุนตลาดบอนด์
นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 เป็น ต้นมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวด เร็วจากระดับ 32.214 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.53 มาอยู่ที่ระดับ 30.748 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.53 หรือแข็งค่าขึ้นราว 4.8% ภาย ในระยะเวลาเพียง 1 เดือนเศษ หรือหากย้อนไปตั้งแต่ต้นปี 53 พบว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วกว่า 8.0%
ปัญหาค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งขึ้นต่อเนื่องทำให้ผลักดันมาตรการลดแรงกดดันค่าเงินบาทโดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการดูแลปัญหาการแข็งค่ามาใช้ ประกอบ ด้วย 1.อนุญาตให้นิติบุคคล ลงทุน หรือให้กู้ยืมแก่บริษัทแม่ และกิจการในเครือในต่างประเทศได้ไม่จำกัดจำนวน จากเดิมที่ให้ลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ไม่จำกัด แต่ให้กู้ยืมได้ไม่เกิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และ ให้กู้ยืมแต่บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ 200 ล้านเหรียญต่อปี
2.การเปิดให้นำเงินไปซื้ออสังหาฯในต่างประเทศได้มากขึ้น จากเดิม 5 ล้าน เหรียญต่อปี เพิ่มเป็น 10 ล้านเหรียญฯ ต่อปี 3.การเปิดให้นำเงินไปให้บริษัทในต่างประเทศที่ไม่ใช่บริษัทในเครือกู้ยืมได้สะดวกขึ้น จากเดิมต้องขออนุญาตเป็นรายกรณีเปลี่ยนเป็นให้กู้ได้ไม่เกิน 50 ล้าน เหรียญต่อปี โดยไม่ต้องขออนุญาตก่อน และ 4.เปิดให้ฝากเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศเพิ่มเป็น 5 แสนเหรียญทั้งที่เป็นนิติบุคคลและบุคคล ธรรมดา
ขณะเดียวกัน ธปท.ยืนยันว่ามาตรการเดิมที่ธปท.ใช้ดำเนินการอยู่นั้นยังเพียงพอที่จะดูแลการไหลเข้ามายังตลาดตราสารหนี้ โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรการ อื่นเพิ่มเติม
“บุญทักษ์ หวังเจริญ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) กล่าวให้ความเห็นถึงกรณีที่ธปท.อาจจะออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ว่า มาตรการดังกล่าวอาจเป็นการควบคุมสภาพคล่องของเงินทุนที่เข้ามา ดังนั้น ธปท.จึงต้องประเมินให้ครอบคลุม เนื่อง จากอาจส่งผลกระทบในหลายด้าน
อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า ธปท.จะสามารถดูแลประเด็นต่างๆ ได้ ส่วนกรณีค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น ย่อมส่งผลกระทบ ต่อการส่งออกโดยเฉพาะในภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี แต่อย่างไรก็ตามในกลุ่มธุรกิจหลักในด้านการส่งออกของไทยโดยเฉพาะยานยนต์เชื่อว่าจะยังมีประสิทธิภาพที่สามารถแข่งขันได้
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายออกมาเสนอแนวทางให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า (20 ต.ค.) เพื่อควบคุมการแข็งค่าของเงินบาทนั้น “บุญทักษ์” บอกว่า ถือเป็นโจทย์ที่ยากต่อการประเมินของ กนง. ซึ่งต้องควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันต้องสามารถสร้างความสมดุลให้เงินทุนไหลเข้าเพื่อป้องกันการแข็งค่าของค่าเงินบาทมากจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยในเรื่องค่าเงินบาท ส่งผลให้ปริมาณลูกค้าที่มาทำเทรดไฟแนนซ์ของธนาคารเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็นเท่าตัว โดยในปีก่อนมีปริมาณอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นปัจจุบันที่ 5 แสนล้านบาท โดยปริมาณ ที่เพิ่มขึ้นนั้นจะนำมาซึ่งรายได้จากอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคาร
“บุญทักษ์” ยังมองถึงทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังว่า อาจไม่สามารถขยายตัวได้เทียบเท่าครึ่งปีแรก เนื่องจากมีปัจจัยจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาท แต่อย่างไรก็ดีภาพรวมการขยายตัวของจีดีพีทั้งปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 7% โดยในส่วนของภาคธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังมีการฟื้นตัว ที่ดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก เพราะธนาคารมีความพร้อมในการดูแลลูกค้าที่ดีขึ้น
ขณะที่ “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ระบุว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นมีผลใน 2 ด้าน ทั้งในส่วนของผู้นำเข้าและผู้ส่งออก แต่ที่ผ่านมายังพบว่าผู้ส่งออกยังสามารถดำเนินการค้าได้อยู่ และนักท่องเที่ยวก็ยังเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
ส่วนมาตรการลดแรงกดดันค่าเงินบาทนั้น นักลงทุนก็อาจนำเงินไหลออกไปบ้าง แต่ควรที่จะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกมากกว่า อีกทั้งการแข็งค่านั้นเกิดขึ้นสอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ภาคการเงินและการคลังต้องร่วมมือกันหามาตรการที่พอจะทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้
“อย่างไรก็ตาม แบงก์ไม่ลงไปเล่นค่าเงิน แค่รับมาแล้วส่งต่อไปตามลูกค้า อำนวยความสะดวกอยู่ส่วนกลาง นี่คือในส่วนของเคแบงก์ ซึ่งแต่ละแบงก์ก็มี นโยบายที่ต่างกัน ของเราไม่มีนโยบายเก็งกำไร ลูกค้าก็อยู่ที่ว่าเขายืนในฝั่งไหน คนที่ซื้อของในประเทศแล้วส่งออกรับเงินเป็นดอลลาร์ก็แย่หน่อย คนสั่งนำเข้าก็ได้เปรียบเป็นของธรรมดา” นายบัณฑูร กล่าว
ขณะที่ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวถึงแนวโน้มการออกมาตรการควบคุมเงินทุนในตลาดตราสารหนี้ว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะการออกมาตรการใดๆออกมาอาจมีผลข้างเคียงต่อการลงทุน ดังจะเห็นได้จากในอดีต ดังนั้นควรพิจารณาอย่างรอบคอบด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการใช้อัตราดอกเบี้ยมาเป็นเครื่องมือช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทตามที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้อง อาจไม่ได้ช่วยมากนัก แต่มองว่าควรใช้ประโยชน์จากค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น มานำเข้า เครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตดีกว่า
ส่วน 5 มาตรการของ ธปท.และกระทรวงการคลังที่ออกมา เพื่อลดแรงกดดันเงินบาทนั้น เป็นการดำเนินมาตรการต่อเนื่องจากเดิม ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่เป็นการขยายเพดานการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้นแม้อาจไม่ได้ช่วยให้ค่าเงินบาทลดการแข็งค่าลงมากนัก
“ถือว่ายังดีกว่าที่ไม่มีมาตรการใดออกมาดูแลจากทางภาครัฐเลย เพราะมองว่าแนวโน้มค่าเงินบาทจะยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่ดี ทำให้เงินทุนไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง”
ด้านน.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้จัดการฝ่ายวิจัยการเงินการธนาคาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า โอกาสที่กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า (20 ต.ค.) เริ่มมีน้อยลง จากที่ก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยฯ เชื่อว่า การประชุม กนง.ครั้งหน้ามีโอกาสมากกว่า 50% ที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
กล่าวได้ว่า การแข็งค่าของเงินบาทนอกจากจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเมื่อเทียบ กับคู่แข่งแล้ว ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประกอบการของผู้ส่งออก ก็อยู่ที่ภาครัฐจะเข้ามาดำเนินการอย่าไร โดยมีบทเรียนในอดีตถึงการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมาแล้ว
ที่มา.สยามธุรกิจ
******************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น