--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

เรื่องเล่าจากเรือนจำ “คลองเปรมฯ” – บันทึก 2 วันของการเข้าเยี่ยม “นักโทษการเมือง” [ตอนที่ 1]

สัณหณัฐ นกเล็ก
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

เรื่องเล่าต่อจากนี้ เป็นบันทึก 2 วันในการเยี่ยมนักโทษการเมืองซึ่งไม่ค่อยจะราบรื่นเท่าไร เพราะมีปัญหาในการเยี่ยม เนื่องจากกฎระเบียบบางประการของเรือนจำ และความคิดทางการเมืองที่แตกต่างของเจ้าหน้าที่เรือนจำเอง

***************************************

วันแรกของการเข้าเยี่ยมนักโทษการเมือง คือวันที่ 6 กันยายน 2553 ผมนัดพบกับทนายอานนท์ นำภา จากศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ในตอนเช้าราว 9 โมงครึ่ง ที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพ หรือรู้ที่คนทั่วไปจักกันดีว่า “เรือนจำคลองเปรมฯ”

ความจริงวันนี้เป็นวันแรกที่ผมนัดกับทนายอานนท์ เพื่อเข้าไปเยี่ยมนักโทษการเมือง 2 คน ที่โดนคดีละเมิด พรก.ฉุกเฉิน พอถึงเรือนจำผมก็ได้เจอกับทนายอานนท์และคณะ รวมกับล่ามแปลภาษามือแล้ว เรามีทั้งหมด 7 คน

ผมไปในฐานะตัวแทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) ที่กำลังมีโครงการช่วยเหลือนักโทษการเมืองที่เป็นนักศึกษา ตอนนี้เมื่ออยู่กับพร้อมหน้า ผมค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้เยี่ยมนักโทษการเมืองอย่างที่ตั้งความประสงค์ไว้ แต่เมื่อเดินถึงห้องสำหรับให้ทนายยื่นเรื่องเข้าเยี่ยมนักโทษ ก็พบปัญหา คือหลังจากทนายอานนท์ยื่นเอกสารที่ได้เตรียมมาเรียบร้อยแล้ว ผู้ดูแลตอบปฏิเสธแล้วแจ้งว่า

“คุณต้องไปขออนุญาตจากผู้อำนวยการก่อน ว่าจะเอาล่ามเข้ามาในนี้”

หลังจากนั้นเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ พวกเราจึงไปติดต่อขอเข้าพบกับผู้อำนวยการเรือนจำ เมื่อพบ ทนายอานนท์ได้แจ้งต่อผู้อำนวยการเรือนจำว่า

“เจ้าหน้าที่ตรงห้องที่ให้ทนายเยี่ยมนักโทษ บอกให้ผมมาขออนุญาตท่านเพื่อเยี่ยมนักโทษการเมือง 2 คน มีหนึ่งคนในนี้เป็นใบ้ จำเป็นต้องใช้ภาษามือ เลยจะขออนุญาตนำล่ามเข้าไปด้วย”

“ใครเป็นล่ามบ้าง?” ผู้อำนวยการฯ ถาม

ทนายอานนท์ชี้ไปที่ล่ามสองคน “สองคนนี้ครับ สองคนนี้เป็นทนาย”

ผู้อำนวยการถามต่ออีกด้วยการชี้มาที่ผม แล้วถามคนนั้นเป็นใคร

“เสมียนทำหน้าที่บันทึกครับ”

ผู้อำนวยการพยักหน้าและบอกกับพวกเราว่า “ออกไปก่อนนะ เดี๋ยวผมจะแจ้งให้ทราบ เข้ามาอีกที”

********************************************

เราได้แต่รอข้างนอกสักประมาณ 30 นาทีได้ ระหว่างนี้ก็ได้พบปะพูดคุยกับคนที่มาเยี่ยมแกนนำเสื้อแดง จากนั้นจึงมีเจ้าหน้าที่มาเรียกให้เข้าไปพบผู้อำนวยการ ตอนนี้ผมก็รู้สึกตื่นเต้นเหมือนลุ้นหวยว่าจะได้เข้าไปเยี่ยมหรือไม่ แต่คำตอบก็คือ “เราอนุญาตให้ล่ามเข้าไปได้คนเดียว อีกคนหนึ่งต้องรอข้างนอก ส่วนเสมียนก็ต้องรอข้างนอกเช่นกัน เพราะทนายเข้าไปตั้ง 3 คนแล้ว”

“เราจำเป็นจะต้องเอาล่ามเข้าไป 2 คน เพราะอีกคนเป็นใบ้เหมือนกัน บางคำเขาจะเข้าใจมากกว่าอีกคนทีพูดได้ ซึ่งเข้าใจภาษาใบ้ดี แต่ไม่สามารถสื่อสารบางคำได้” (คือเราไม่สามารถขาดได้ทั้ง 2 คน) “นอกจากนี้การมีนักโทษ 2 คน จึงทำให้ต้องนำเสมียนเข้าไปจดบันทึกด้วย” ทนายอานนท์ตอบผู้อำนวยการฯ

คำตอบที่เราได้จากผู้อำนวยการฯ ก็คือ “ไม่ได้ เดี๋ยวมีการส่งเสียงดังแล้วจะไปรบกวนคนอื่น เข้าไปเยอะอย่างนี้คนอื่นเขามาขอบ้างอย่างนี้มันไม่ได้”

สรุปก็คือผมไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมนักโทษการเมืองพร้อมกับทีมของ ศปช. ได้ จึงออกมาเดินข้างนอกด้วยความผิดหวัง ระหว่างนั้นก็พบกับกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งกำลังจะเข้าไปเยี่ยมแกนนำ ผมคิดว่าไหนๆก็มาแล้วอย่าให้เสียเที่ยวเลย ก็เลยขอไปเยี่ยมแกนนำด้วยอีกหนึ่งคน ซึ่งการเยี่ยมแกนนำไม่ค่อยลำบากเท่าไร ปรากฎว่านักโทษการเมืองที่ไม่ใช่แกนนำดูจะลำบากกว่านักโทษทั่วไประดับเดียวกันเสียอีก เมื่อไปถึงห้องสำหรับขออนุญาตเข้าเยี่ยม เราก็ต้องกรอกรายละเอียดในเอกสารเพื่อยื่นคำร้อง จากนั้นเขาจะให้บัตรเยี่ยม นปช. มารอสักพักตามเวลาเยี่ยมที่กำหนดไว้

**************************************

พอถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่เรียกเข้าไปเยี่ยม ผมก็รู้สึกตื่นเต้นขึ้นอีกครั้งเนื่องจากเป็นครั้งแรกของการเยี่ยมนักโทษการเมืองในชีวิตนี้ เมื่อเข้าไปถึงได้เห็นรอยยิ้มของแกนนำและของคนเสื้อแดงที่โต้ตอบกัน นับว่าเป็นภาพที่สวยงามอันหนึ่ง เวลาที่เราเห็นคนเหล่านี้มีความสุข แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในสถานที่ซึ่งน่าจะทุกข์ที่สุดแห่งหนึ่งก็ตาม

นักโทษการเมืองคนแรกที่ผมเข้าเยี่ยมเป็นการ์ด นปช. ชื่อ อำนาจ อินตโชติ อายุ 54 ปี เป็นข้าราชการทหาร และคนที่แนะนำให้ผมรู้จักคุณอำนาจ คือ ดร.ประแสง มงคลศิริ หลังจากแนะนำตัวเอง แล้วก็ยิ้มตอบคุณอำนาจไป เขาก็เริ่มเกริ่นก่อนเลยว่า “ติดคุกมันไม่สบายหรอก โดนยัดข้อหาก่อการร้ายให้หมดทุกอย่างเสียงานเสียทุกอย่าง ความเป็นอยู่ก็ต้องเป็นแบบนักโทษ กฎหมายอะไรใช้หมายเรียก ศอฉ. มาก่อน จากนั้นก็ออกหมายจับข้อหาผู้ก่อการร้ายให้ทีหลัง ผมรักชาติฝากบอกถึงทุกคนที่เป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต้องช่วยกันต่อสู้ ถ้าเผด็จการครองเมืองจะเป็นเรื่องใหญ่ ผมเรียกร้องประชาธิปไตยกลับโดนข้อหาก่อการร้าย เมียผมก็มาเยี่ยมบ่อยไม่ได้ เพราะวันธรรมดาต้องทำงานวันหยุดเขาก็ไม่ให้เยี่ยม ลูกผมเองอยู่ปีสี่ต้องหาเงินส่งลูกเรียน และไม่นานผมก็จะถูกปลดแล้วด้วย เสียหายหมดทุกอย่างทั้งครอบครัว ถามว่ามันคุ้มไหม ถ้าได้ประชาธิปไตยมันก็คุ้ม”

ต่อมา ดร.ประแสงก็แนะนำให้ผมคุยกับ หมอเหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. อีกหนึ่งคน พอ ดร. ประแสงแนะนำว่าผมเป็นตัวแทนมาจาก สนนท. สีหน้าหมอเหวงก็ยิ้มแย้มขึ้นมากและคำแรกที่เขาพูดขึ้นก็คือ “ดีมาก ดีมาก คุณต้องให้นักศึกษาออกมาเยอะๆ นะคุณ คุณเป็นเยาวชนเป็นอนาคตของชาติ เรียกร้องประชาธิปไตยคุณต้องต่อสู้แบบสันติวิธีนะ ถ้าแบบอื่นเราแพ้เลย ดีมาก ดีมาก”

ผมถามหมอเหวงต่อว่า ความเป็นอยู่ในนี้เป็นอย่างไรบ้าง เขาก็ตอบกลับมาว่า

“สบายดี ข้างในเจ้าหน้าที่ดี พวกเราเองก็ผูกมิตรกับเพื่อนนักโทษด้วยกันได้ดี” หมอเหวงพูดต่ออีกว่า “เราไม่ควรทำลายอิสรภาพ ถ้าคุณได้ดูข่าวเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม DSI เป็นคนบอกเองว่า ไม่รู้เลยว่าใครเป็นคนทำและจะมากล่าวหาว่าเราเป็นผู้ก่อการร้ายได้อย่างไร” ต่อจากนั้นหมอเหวงก็ได้ร้องเพลงที่เขาแต่งไว้ ให้ผมฟัง 2 เพลง เพลงที่แต่งสมบูรณ์แล้วชื่อ “สู้ต่อไป” ซึ่งหมอเหวงบอกว่าเป็นเพลงมาร์ช หลังจากนั้นเวลาใกล้หมดแล้ว ผมก็เลยลุกออกมาเพื่อให้ อ.ธิดา เข้าไปคุยกับหมอเหวงต่อเพื่อล่ำลา หลังจากนั้นภาพอันน่าประทับใจอีกภาพหนึ่งก็เกิดขึ้น นั่นคือการโบกมือลาด้วยความยิ้มแย้ม ระหว่างมวลชนและแกนนำของพวกเขา

ที่มา.Siam Intelligence
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น