มติชนออนไลน์
โดย ประสงค์ วิสุทธิ์
ติดตามข่าว"ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์"รายหนึ่งเรียกสิบบนในการพิจารณาพิพากษาคดีต่างๆหลายคดีใน"มติชนออนไลน์"ที่นำเสนอย่างต่อเนื่องมาเกือบ10 ตอนแล้ว เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การกระทำผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรมของผู้พิพากษารายหนึ่งธรรมดาเท่านั้น
แต่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง และมีกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวพันในขบวนการนี้มากพอสมควร
จากการร้องเรียนต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.)และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงจนกระทั่งนำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์รายนี้พบว่า มีพฤติการณ์ฉันท์ชู้สาวกับหญิงที่มีสามีแล้ว และยังอาศัยหญิงรายนี้เป็นตัวกลางในการเรียกร้องสินบนใในคดีต่างๆหลายคดีเป็นเงินเกือบ 100 ล้านบาท อาทิ
1. มีการเรียกสินบนเป็นเงิน 70 ล้านบาทในการพิจารณาคดีบริษัทจดทะเบียนในตฃาดหฃักมรัพย์แห่งหนึ่งที่กลุ่มผู้บริหารบริษัท ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในการยักยอกทรัพย์หรือไซ่ฟ่อนเงินของบริษัทและเกี่ยวพันกับตระกูลอดีตรัฐมนตรี ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งยกฟ้อง
ในคดีนี้ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์รายดังกล่าวให้ใช้หญิงคนสนิทไปติดต่อเรียกรับเงินสิบบน 70 ล้านบาทจากคนในตระกูลอดีตรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัท เพื่อจะได้ตัดสินให้ยกฟ้องคดีนี้ ตามศาลชั้นต้น
ในเบื้องต้นมีการจ่ายเงินสด 20 ล้านบาท ที่เหลือโอนหุ้นบริษัทผลิตอาหารกระป๋องให้มีมูลค่าอีก 50 ล้านบาท
2.คดีการประกันตัว เจ้าของบริษัทที่เปิดขึ้นบังหน้าเป็นจำเลยในคดี"แชร์ข้าวสาร"ซึ่งเป็นความตาม พ.ร.บ. การกู้เงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน มีการเรียกเงินสินบน 2 ล้านบาท หลังจากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วจำเลยได้ซื้อรถยนต์ Benz รุ่น S 280 ปี 2002 ในราคา2.1 ล้านบาท ที่เหลืออีก 1.5 ล้านบาทบาท จัดไฟแนนซ์ให้อีกด้วย
3.เรียกสินบน 3.5 ล้านบาทในการสั่งอนุญาตการปล่อยชั่วคราวชาวต่างประเทศรายหนึ่ง โดย ทนายความหญิงของจำเลยได้ยื่นคำร้องประกอบการขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลอาญาและศาลอุทธรณ์มาหลายครั้งแล้วแต่ไม่ได้รับการอนุญาต ทนายความจึงติดต่อผ่านหญิงคนสนิท ตกลงเรื่องเงินสินบน 3.5 ล้านบาท
มีการทำเป็นสัญญาว่าจ้างว่าจะดำเนินการให้มีการประกันตัวระหว่างญาติของหญิงคนสนิทกับทนายความของจำเลยชาวต่างประเทศ โดยทนายความหญิงกับญาติของหญิงคนสนิทของผู้พิพากษา นำเงินตามข้อตกลงดังกล่าวไปเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขา เซ็นทรัล ลาดพร้าว ร่วมกัน หมายเลขบัญชี 157-217895-3 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 เป็นเงินจำนวน 3.5 ล้านบาท
ต่อมายังทำสัญญาว่าในการในการจัดหาทนายเป็นเงิน 9.2 ล้านบาท เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2552 และชำระเงินให้หญิงคนสนิท ไปแล้ว 4 ล้านบาท คงเหลืออีก 5.2 ล้านบาท
4. เรียกรับเงินวิ่งเต้นให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดจำนวน 7 ล้านบาท โดยใช้หลักฐานใบรับรองแพทย์ปลอมจากโรงพยาบาลราชฑัณฑ์ว่าผู้ต้องหามีอาการป่วยหนักจนถึงขั้นจะต้องได้รับการรักษาผ่าตัดดวงตา นำไปอ้างต่อชั้นศาลฎีกาจนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
จากคำร้องเรียนยังมีอีกหลายคดีที่มีการวิ่งเต้นจนได้รับการประกันตัว รวมถึงมีการใช้อิทธิพลจนผู้พิพากษารายหนึ่งในศาลจังหวัดตลิ่งชันพลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวชั่วข้ามคืน
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ก.ต.จึงไม่ควรแค่สอบวินัยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์รายนี้เท่านั้น แต่ควรดำเนินคดีอาญาควบคู่กันไปด้วย(อาจส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปรราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือตำรวจแล้วแต่กรณี)เพราะจากหลักฐานเบื้องต้นแล้ว บางคดีมีมูลเพียงพออยู่แล้ว เช่น คดีการให้ประกันตัวชาวต่างประเทศมีการทำสัญญาประหลาดๆและบัญชีธนาคารซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดี รวมทั้งการปลอมแปลงใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ที่ยื่นต่อศาลฎีกาอันเป็นความผิดหลายกระทง
นอกจากนั้นแล้ว ทาาง ก.ต.ควรตรวจสอบย้อนหลังว่า มีคดีใดบ้างที่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์รายนี้เป็นผู้ตัดสินหรือมีคำสั่ง เพื่อดูว่า การพิจารณาคดีเป็นไปโดยชอบหรือไม่ ตั้งแต่กระบวนการจ่ายคดีให้พิจารณา กระบวนการพิจารณา จนกระทั่งคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมายหรือดุลพินิจโดยชอบหรือไม่
การตรวจสอบคดีย้อนหลังมีวัตถุประสงค์2 ประการสำคัญคือ
หนึ่ง เพื่อดูว่า มีคนในกระบวนการยุติธรรมรายใด มีส่วนพัวพันในการกระทำผิดหรือไม่
สอง เพื่อเยียวยาผู้ที่อาจได้รับความเสียหายจากการตัดสินคดีที่ไม่เป็นไปโดยชอบและไม่เป็นธรรม
ที่สำคัญคือ หลังจากกระบวนการสอบสวนเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ต้องเปิดเผยผลสอบสวนดังกล่าวเหมือนการเปิดเผยคำพิพากษาเพื่อให้สาธารณะเห็นว่า การสอบสวนเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาซึ่งเป็นการดำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของระบบศาลยุติธรรม
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น