--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

การเมืองเรื่อง "ทูตลับ"

โดย.ประชา บูรพาวิถี

แทบไม่น่าเชื่อว่ากรณี"วิคเตอร์ บูท" จะทำให้เราได้ย้อนวันวาน"ยุคสงครามเย็น"และราชอาณาจักรไทยก็ตกอยู่ในหว่างเขาควาย"วอชิงตัน-เครมลิน"อีกครั้ง

บังเอิญว่า รัฐบาลนักเลือกตั้ง พ.ศ.นี้ ไม่ยอมเก็บรับบทเรียนอดีตมาใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ดันปล่อย "วอลล์เปเปอร์" ทำตัวเป็น "สายลับสะเหล่อ" เข้าไปพูดคุยกับ "สายลับมืออาชีพ"

เรื่องมันจึงเอวัง..ด้วยฝีมือ "คอลัมนิสต์ผู้ลื่นไหล" และวอลล์เปเปอร์ ก็คือวอลล์เปเปอร์ (ฮา)

กล่าวสำหรับการเมืองเรื่องสงครามเย็น อยากแนะให้ชมรายการ 'ชีพจรโลก' ทางช่อง 9 สุทธิชัย หยุ่น ได้พูดคุยกับ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่เบื้องหลังการเจรจาฟื้นความสัมพันธ์ไทยกับจีนเมื่อ 35 ปีก่อน

ตอนแรกออกอากาศไปแล้วเมื่ออังคารที่ 31 สิงหาคม และยังมีตอนที่สอง จะออกอากาศอังคารที่ 7 กันยายน 2553 สงครามเย็น หมายถึงสงครามระหว่าง "โลกเสรี" กับ "โลกคอมมิวนิสต์" แต่ในความเป็นจริง พ.ศ.ที่ "ทูตลับ" ชื่อ

"อานันท์" แหวกม่านไม้ไผ่สีแดงเข้าไปเจรจากับตัวแทนรัฐบาลจีน มันมี "มิติแห่งมหาอำนาจ" ซ้อนทับอยู่

คือโลกเสรี มีสหรัฐอเมริกา เป็นพี่ใหญ่เพียงผู้เดียว แต่ฝ่ายโลกคอมมิวนิสต์ ดันแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอำนาจคือ "ปักกิ่ง" กับ "เครมลิน"

หรือ "พรรคคอมมิวนิสต์จีน" (พคจ.) กับ "พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต" (พคซ.)

3 มหาอำนาจ ต่างเล่นเกมการเมืองระหว่างประเทศ ชิงความเป็นใหญ่ในทุกภูมิภาคของโลก

สหรัฐนำ "ลัทธิประชาธิปไตยเสรีนิยม" ออกไปเร่ขาย ฝ่ายปักกิ่งสร้างแบรนด์ "ลัทธิเหมา" ต่อยอดลัทธิมาร์กซ์-เลนิน และฝ่ายเครมลินก็ขายทั้งมาร์กซ์ ทั้งเลนิน ยกเว้นสตาลิน

ในภูมิภาคแหลมทอง ชัดเจนว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง) พรรคคอมมิวนิสต์พม่า และพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ยึดแนวทางปฏิวัติลัทธิเหมา

ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และพรรคประชาชนลาว เดินตามแนวปฏิวัติลัทธิเลนิน!

เมื่อ "วอชิงตัน" เล่นเกมดึง "ปักกิ่ง" มาเป็นแนวร่วมเพื่อคานอำนาจ "เครมลิน" จึงเปิดโอกาสให้รัฐบาลไทย ได้มีส่วนร่วมในกระดานหมากรุกเกมใหม่

เมื่อประธานเหมา เจ๋อ ตุง เปิดทำเนียบประชาชน ต้อนรับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ปี 2518 และเริ่มต้นเปิดศักราชความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนครั้งใหม่

ปีถัดมา "เครมลิน" อ่านเกมนี้ออก จึงให้พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (พคว.) เชื้อเชิญ มิตร สมานันท์ เลขาธิการ พคท.มาเยือนฮานอย

"เลอหย่วน" เลขาธิการ พคว. ได้ยื่นข้อเสนอจะช่วย "ปลดปล่อยภาคเหนือตอนบนและภาคอีสาน" ให้ พคท.ได้ก่อตั้ง "รัฐไทยใหม่" ขึ้นโดยเร็ววัน แต่เลขาธิการ พคท.ไม่ตอบ ขอเวลาตัดสินใจ

ขณะที่ พคท.ยังงึกๆ งักๆ ไม่ให้คำตอบเสียที พคว.ไม่รอช้า ยกกำลังทหารเข้า "ยึดพนมเปญ" ไล่เขมรแดงออกไปอยู่ป่า และสถาปนาอำนาจรัฐใหม่ "เขมรเฮงสำริน" ปลายปี 2521

ต้นปี 2522 พคท.จึงส่ง "ทูต" 2 คนคือ ประสิทธิ์ ตะเพียนทอง และ พ.ท.พโยม จุลานนท์ ไปให้คำตอบแก่ตัวแทน พคว.ที่กรุงเวียงจันทน์ ซึ่ง พคท.ปฏิเสธข้อเสนอจากฮานอย

ผลพวงแห่งการปฏิเสธ "ความหวังดี" ของฮานอย ทำให้ทั้งพรรคเวียดนาม และพรรคลาว ตัดสัมพันธ์พรรคไทย
อีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างจีนกับไทย ในยุคสมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ยิ่งแนบแน่นทั้ง "บนดิน" และ "ใต้ดิน"

เมื่อ "วอชิงตัน" จับมือ "ปักกิ่ง" ใช้แดนดินของ "ไทย" เป็นทางผ่านในการขนอาวุธยุทธปัจจัยช่วย "เขมร 3" (เขมรแดง-เขมรสีหนุ-เขมรซอนซาน) สู้รบกับ "เขมรเฮงสำริน" ที่เป็นตัวแทนของ "ฮานอย" และ "เครมลิน"

ท้ายที่สุด พคท.ผู้ยืนหยัดจะ "พึ่งตนเอง" ก็ไปไม่รอด เมื่อพรรคจีนตัดสัมพันธ์ โดยอ้างถึง "ยุทธศาสตร์ต่อต้านมหาอำนาจลัทธิแก้โซเวียต"

ป่าแตก! พรรคล่ม! แต่น่าเสียดายที่ "ผู้อาวุโส พคท." ยังไม่ยอมตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาตัวเอง!

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น