--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

บอร์ดการท่าฯถกด่วน ล้มสัมปทาน"สุวรรณภูมิสแควร์"ของบ.แป้งร่ำฯ

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

บอร์ด ทอท.เปิดประชุมด่วนจี๋จันทร์ 6 ก.ย.นี้ ถกแผนล้มสัมปทานโครงการ "สุวรรณภูมิสแควร์" ของบริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด เป็นโมฆะ จ่อเอาผิดบิ๊ก ทอท. "เสรีรัตน์ ประสุตานนท์" ใช้อำนาจขัดระเบียบจะอ้างเข้าใจผิดคงไม่ได้ เพราะกฎของบริษัทสัญญาเกิน 10 ปี ต้องเสนอบอร์ดพิจารณา แถมในเอกสารลงนาม 18-19 ส.ค. 53 มีรายงานบันทึกเสร็จสรรพระบุการให้เช่าลานจอดรถระยะยาวมีข้อจำกัด

นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 6 กันยายนนี้ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการ ทอท.ด่วนในวาระพิเศษเพื่อลงมติล้มเลิกสัมปทานโครงการ "สุวรรณภูมิสแควร์" ซึ่งเป็นการกระทำที่ท้าทายอำนาจบอร์ดอย่างรุนแรง เมื่อนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะกรรมการพิจารณาราย ลงนามอนุมัติให้ บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด เข้ามารับผิดชอบบริหารพื้นที่ลานจอดรถระยะยาว (long term parking) 62,380.50 ตารางเมตร เป็นเวลา 15 ปี เป็นโครงการขนาดใหญ่แถมเกินอำนาจของฝ่ายบริหารจะทำได้ แต่กลับไม่เสนอให้บอร์ดอนุมัติ

กรณีนี้ถือเป็นการความผิดร้ายแรงและอาจส่งผลเสียหายแก่บริษัทได้ ถึงแม้นายเสรีรัตน์จะนำทีมบริหารที่เกี่ยวข้องมาอธิบายด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553 อ้างที่ทำไปทั้งหมดเป็นความเข้าใจผิด คิดว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจดำเนินการเองทั้งหมด ก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่ถูกต้อง ผู้นำต้องรู้และแม่นยำเรื่องระเบียบปฏิบัติทางกฎหมาย

ดังนั้นการประชุมบอร์ดด่วนนัดพิเศษครั้งนี้จะต้องหารือกับกรรมการทุกคนถึงมาตรการลงโทษฝ่ายบริหาร เพราะที่ผ่านมาบอร์ดกำหนดกติกาชัดเจนทุกเรื่อง แต่หลังจากเกิดกรณีแอบอนุมัติให้สัมปทานโครงการสุวรรณภูมิสแควร์ กรรมการจึงเริ่มเกิดความไม่มั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่และประธานคณะกรรมการพิจารณารายได้ อย่างไรก็คงต้องขอมติเพื่อปลดก็เป็นไปได้ รวมถึงการยกเลิกข้อตกลงทุกอย่างเกี่ยวกับโครงการสุวรรณภูมิสแควร์

"ในการประชุมบอร์ดด่วนวาระพิเศษต้องหารือ 3 เรื่องแรก ย้ำอย่างหนักแน่นให้ทุกฝ่ายยึดมั่นการรักษาผลประโยชน์องค์กรเต็มที่ เรื่องที่ 2 คณะกรรมการพิจารณารายได้ชุดนี้จะต้องตอบคำถามบอร์ดอย่างละเอียดชัดเจนถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ไม่เสนอบอร์ด เรื่องที่ 3 ความเหมาะสมในการพัฒนาที่ดินในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ บริเวณติดกับพื้นที่ที่มีแผนอนาคตอีก 10-15 ปี จะใช้สร้างทางวิ่งที่ 4 (runway 4) นั้นได้คำนึงถึงผลลัพธ์ความยุ่งยากที่จะตามมาหรือไม่

"ผมมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้คณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.ทำหนังสือชี้แจงประธานบอร์ดและกรรมการทุกคนอย่างละเอียดหลายประเด็นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การให้สัมปทานแป้งร่ำ รีเทล ซึ่งเป็นบริษัทโนเนม มีทุนจดทะเบียนแค่ 1 ล้านบาท รับผิดชอบการลงทุน 450 ล้านบาท ยาวถึง 15 ปีนั้น ประเด็นแรก ก่อนตัดสินใจอนุมัติสัมปทานโครงการได้ทำการศึกษาผลดีผลเสียหรือเปล่า ประเด็นที่ 2 รายได้ที่ ทอท.ควรจะได้รับสอดคล้องกับความเป็นจริงขนาดไหน ประเด็นที่ 3 เหตุใดจึงทำผิดระเบียบ ทอท. ซึ่งระบุอำนาจฝ่ายบริหารอนุมัติสัมปทานโครงการได้ไม่เกิน 5 ปี ถ้าเกินจากนี้ไปจะต้องเสนอบอร์ดเห็นชอบ"

นายปิยะพันธ์กล่าวว่า ถ้าหากบริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด ขู่จะฟ้องร้องโดยอ้างได้รับจดหมายแจ้งเป็นผู้ได้รับเลือกโดยวิธีพิเศษทำสัมปทานโครงการสุวรรณภูมิสแควร์ แต่บอร์ดมายกเลิกนั้น อธิบายได้เลยว่านิติกรรมครั้งนี้เป็นโมฆะตั้งแต่ต้น เพราะผู้อนุมัติทำผิดระเบียบและไม่มีอำนาจ ดังนั้นหากต้องการค่าเสียหายใด ๆ ก็ให้ไปฟ้องดำเนินคดีกับนายเสรีรัตน์เอาเอง

"ประชาชาติธุรกิจ" ตรวจสอบเอกสารของคณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.อ้างอิงฉบับ ทสภ.ที่ 15705/53 ซึ่งมีลายเซ็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.ลงนาม เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2553 จากนั้นก็ส่งรายละเอียดทั้งหมดต่อตามเอกสารระบุที่ ทอท.7060/2553 วันที่ 19 สิงหาคม 2553 แจ้งผลการพิจารณาขอเช่าพื้นที่ลานจอดรถระยะยาว เพื่อดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในสุวรรณภูมิ เป็นหนังสือทำถึง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด โดยอ้างถึงหนังสือ บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด เลขที่ นอ.85/53 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2553 พร้อมกับสิ่งที่ส่งมากับหนังสือฉบับดังกล่าวคือ รายละเอียดเอกสารหลักฐานประกอบการทำสัญญาจำนวน 2 แผ่น และส่วนท้ายมีลายเซ็นนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ลงนามในฐานะกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.

รายละเอียดทั้งหมดในเอกสารระบุเลขที่ออกทั้งฉบับวันที่ 18 และ 19 สิงหาคม 2553 นั้น ลำดับเหตุการณ์โดยหยิบยกเหตุการณ์เอกชนที่เข้ามาเกี่ยวพันกับการยื่นขอเช่าพื้นที่ในสุวรรณภูมิ 3 บริษัท คือ ห้างหุ้นส่วนบางนาอุปกรณ์ กับสหกรณ์บริการวิสาหกิจชุมชนหนองปรือ จ.สมุทรปราการ ยื่นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552 ขอเช่าพื้นที่หลังลานจอดรถสาธารณะ (แท็กซี่) 6,000 ตารางเมตร ทำ Community Mall สัญญา 5 ปี ต่อมา บริษัท คอน-พลัส พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด (ซึ่งตรวจจากกรมทะเบียนธุรกิจการค้าไม่พบการจดทะเบียน) ยื่นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2552 ขอเช่าที่ดินด้านหลังลานจอดรถแท็กซี่ติดกับรั้วอาคาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด 6,360 ตารางเมตร เพื่อทำศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจร

กระทั่งมาถึงวันลงนามอนุมัติสัมปทานสุวรรณภูมิสแควร์ ในลานจอดรถระยะยาวสุวรรณภูมิ 15 ปี ถึงได้มีการแจ้งเปลี่ยนชื่อจาก บริษัท คอน-พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เป็น บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นคนเดียวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดบางนาอุปกรณ์ ประการสำคัญในเอกสารอ้างอิงฉบับวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ระบุชัดเจนไว้ตอนหนึ่งว่า การใช้ลานจอดรถระยะยาวสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาธุรกิจนั้นมีข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ไม่เกิน 10 ปี แต่การประชุมของคณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท. ที่สุวรรณภูมิ ครั้งที่ 11/2553 วันที่ 16 สิงหาคม 2553 กลับลงมติขัดแย้งระเบียบดังกล่าว โดยระบุว่าโครงการของบริษัท แป้งร่ำ รีเทล มีความน่าสนใจ ส่วนลานจอดรถก็มีผู้ใช้บริการน้อย ดังนั้นจึงมีมติอนุมัติให้สัมปทานเอกชนรายนี้เป็นเวลา 15 ปี ซึ่งตรงกันข้ามกับที่ฝ่ายบริหารใช้เป็นเหตุผลอ้างกับนายปิยะพันธ์ว่าเป็นการเข้าใจผิดเรื่องมีอำนาจอนุมัติเอง

*************************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น