มติชนออนไลน์
คณะกรรมการฝ่ายเสวนาวิชาการ วันรพีประจำปี 2553 จัดงานเสวนาทางวิชาการเนื่องในวันรพี เรื่อง "ผู้แทนฯ...แทนใคร ? " ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนภาพและชี้ให้เห็นถึงสาเหตุแห่งปัญหาที่แท้จริงของระบบผู้แทนราษฎรในประเทศไทย และเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้ผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนของปวงชนโดยแท้จริงตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย โดยในงานมีปาฐกถาพิเศษเรื่อง " ผู้แทนราษฎรไทย ในหัวใจประชาชน" โดยนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ ร้อยตำรวจโทเชาวริน ลัทธศักดิ์สิริ, นายบุญยอด สุขถิ่นไทย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวนฤมิตรกุล
นายชวน หลีกภัย กล่าวในการปาฐกถาพิเศษว่า อยากให้กำลังใจกับคนเรียนกฎหมายเผื่อต้องไปเป็นนักการเมือง เราไม่อยากได้คนที่ไม่รู้จะทำอะไรก็ไปเล่นการเมือง แต่อยากได้คนที่มุ่งมั่นจริงๆ เพราะความตั้งใจจะทำให้คนเตรียมตัวเพื่อเป็นมืออาชีพในเรื่องนั้นๆ หากไม่ได้ตั้งใจไปทำงานจริงส่วนรวมก็เสียหาย ฉะนั้น งานทุกงานต้องการมืออาชีพ นักการเมืองที่ดีก็เป็นนักการเมืองอาชีพ ไม่ใช่เห็นว่ามาดูแลธุรกิจตัวเอง มีงบประมาณออกเท่าไร นั่นแหละที่ทำให้วงการเมืองเสียหาย
วันนี้ บ้านเมืองมีปัญหาก็ชี้ไปที่นักการเมือง สมัยก่อนนั้นมีคนบอกพวกส.ส.คือพวกกินจอบกินเสียบ ซึ่งก็มีมูลเหมือนกันเพราะส.ส.สมัยก่อนก็แจกจอบ ส่งข้าวสาร ข่าวเหล่านี้เป็นข่าวไม่ดี ไม่เป็นมงคลกับคนที่จะเป็นนักการเมือง คำที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับผมคำหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ "บ้านเมืองมีทั้งคนดีและไม่ดี ไม่มีใครสามารถทำให้ทุกคนดีหมด การทำให้บ้านเมืองเป็นปกติสุขคือต้องส่งเสริมให้คนดีปกครองคนไม่ดี" ทุกวงการมีคนดีและไม่ดี เช่นเดียวกับวงการการเมือง
ในระบบของเรานี้ไม่มีทางหนีการมีผู้แทนฯได้ เราจะปฎิเสธการเลือกตัวแทนไม่ได้ เพียงแต่กระบวนการเลือกจะทำอย่างไรให้เป็นไปโดยราบรื่น ชอบธรรม และถูกต้อง หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองไป 78 ปีเศษๆ ระยะเวลาชั่วอายุคนยาวนานพอจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
หลัง 2475 การเมืองในปัจจุบันนี้เป็นวิวัฒนาการที่เห็นได้ชัดเจนว่าเปลี่ยนแปลงไป ประชาชนเข้าใจประชาธิปไตย แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้กระจายไปยังด้านเศรษฐกิจ และสังคมด้วย สมัยนั้นผมเข้ากรุงเทพฯมาเรียนมหาวิทยาลัย แต่สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปเพราะเรามีมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดคุณภาพดี เรามีสถาบันการศึกษา แต่ที่เพิ่งเปลี่ยนเมื่อ10 ปีคือการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น การกระจายที่เราเคยเห็นว่ากระจุกอยู่ที่เดียวมันเริ่มไปออกที่ตำบล การกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ผมพูดว่าการกระจายต้องกระจาย 3 สิ่งคือ รายได้, โอกาส และอำนาจ
สิ่งที่เลวร้ายที่มากับการเปลี่ยนแปลงคือ ท่ามกลางสิ่งดีมีการประพฤติไม่ชอบ การทุจริตโกงกิน ในสภา เชื่อว่า พวกมีพวกที่มาจากซื้อเสียงมากกว่าครึ่ง แต่ไม่กล้าพูดว่าค่อน ซึ่งเมื่อ40 ปีที่แล้วไม่มีคำว่าซื้อเสียงอาจมีแต่คำว่าลูกรัง เพราะชนบทไม่เจริญ ใครก็ขอลูกรัง ขอถนนลูกรัง แต่ชนิดเหมาครอบครัวละ 5000 ผมไม่เคยได้ยิน
ผมคิดว่าสิทธิของผู้แทนฯมากขึ้น จากเดิมรัฐธรรมนูญ (รธน.) 2511 เขียนชัดว่าห้ามส.ส.เป็นรัฐมนตรี คนที่จะสมัครเป็นผู้แทนจึงมีคนตั้งใจจริง "จริงๆแล้วเราคิดอะไรในการมาเป็นผู้แทนการเมือง" อันนี้คือตัวที่ทำให้เป็นปัญหา แต่ความเปลี่ยนแปลงทางบวกคือคนที่มีการศึกษามากขึ้นเข้ามา แม้ว่าจะมีคนที่เพิ่งจบการศึกษาระหว่างอยู่ในตำแหน่งก็ตาม ซึ่งต้องเตือนว่าอย่าเอาเปรียบประชาชน อย่าใช้เวลาเอาเปรียบประชาชน
ที่มาของคนจากระบบที่ผิด มาด้วยความไม่ถูกต้อง งานที่ทำไปในสภาก็เป็นเหมือนที่มาของคนนั้น เงื่อนไขที่มาจากการซื้อเสียงก็กลายเป็นเงื่อนไขการโกงกิน ตรงนี้ทำให้ภาพเสียหาย และจะทำให้เป็นตัวถ่วงทำให้คนรุ่นใหม่ท้อแท้ไม่อยากเข้ามาในวงการ เหมือนที่กลัวคนเก่งไม่เป็นหมอ เพราะถ้าคนเก่งกลัวถูกฟ้องเราจะมีปัญหาทางด้านแพทย์ ข่าวนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้มีผล หากหาข้อยุติไม่ได้อาจทำให้คนทั่วไปเกิดกลัว แต่ในที่นี้อยากให้น้องๆมองภาพการเมืองเป็นเชิงบวก ความชั่วร้ายส่วนใหญ่จะเป็นเชิงบุคคลมากกว่า
บ้านเมืองที่รู้จักสิทธิ เราต้องสอนหน้าที่ควบไปเสมอ เราต้องสอนเรื่องกฎเกณฑ์เคารพหน้าที่ มีตัวอย่างหลายเรื่องอย่างในภาคใต้เรียกได้ว่าน้องๆอิรักเลย ปัญหาทั้งหมดมาจากการที่เราไม่เคารพกฎบ้านเมืองเราไม่ทำนอกกฎ วันหนึ่งเมื่อผู้บริหารไม่เคารพกฎแต่ใช้ความรู้สึก ความเชื่อว่าปัญหาต้องแก้ด้วยวิธีนี้ ไม่ใช้กฎ ใช้วิธีคนร้ายมีเท่านี้ ต้องกำจัดให้ได้วันละเท่านี้ 3 เดือนจบ รัฐบาลจะใช้วิธีการฆ่าให้หมดนั่นเป็นที่มาที่ก่อให้เกิดปัญหาบานปลายผลจากตรงนี้คือปัญหาปัจจุบัน กลุ่มมุสลิมก็ก่อตัวขึ้น เดี๋ยวนี้เพียงชั่วเวลาไม่นานสามารถเจาะถนนยัดระเบิดได้ ผมลองสังเกตว่าทุกอาชีพตายหมดแล้ว เหลืออาชีพเดียวที่ยังไม่ตายคือ "หมอ"
วันนี้ทั้งพุทธ มุสลิมสูญเสียหมด การไม่แก้ปัญหาด้วยหลักนิติธรรมทำให้เกิดปัญหา แม้ว่าดูเป็นไปไม่ได้แต่เป็นไปแล้ว ผมรับรองว่าคำพูดที่บอกว่าคนที่เคร่งกฎหมายอาจไม่ได้แก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ผมรับรองว่ามันไม่ทำให้บ้านเมืองถอยหลัง อยากให้รุ่นหลังยึดมั่น ไม่ท้อถอย แม้ว่าบ้านเมืองเจริญขึ้น แต่ความทุจจิรตก็ตามมา คนที่เคารพกฎจะไม่โกง เพราะจะติดกับกติกา ความถูกต้อง
สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้นักกฎหมายหวั่นไหว มีความรุนแรงที่ข่มขู่ ขู่ว่าจะเผาบ้าน ถ้าไม่ยุบปชป. เรายังต้องเชื่อว่าฟ้าถล่มดินทลายก็ต้องประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมแม้ว่าจะล้าหลัง แต่ต้องยึด ผมคิดว่าคำพูดที่ว่าปล่อยคนผิดสิบคน ยังดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์คนเดียว ยังเป็นคำพูดที่ถูกต้องอยู่ ถึงอย่างไรก็ขอให้นักกฎหมายยึดมั่นอยู่
ในฐานะผู้แทนฯขอพูดเพียงว่าเมื่อเรารักที่จะทำหน้าที่ด้านนี้ ก็ตั้งใจทำให้ดีที่สุด แต่หน้าที่ผู้แทนไม่ได้มีแค่ตามกฎหมาย แต่มีหน้าที่นอกกฎหมายก็พอๆกัน เราจะบอกว่าไม่ไปงานศพก็ไม่ได้ คนไทยมีสิ่งเหล่านี้ท่ามกลางสิ่งเลวร้าย ลึกๆเรามีสิ่งดีๆ ยังห่วงใยกัน พ่อแม่ลูกก็ยังดูแลกัน สิ่งเหล่านี้ไม่ควรที่จะให้สูยหายไปกับโลกสมัยใหม่ สิ่งที่ดีงานก็ไม่ต้องเปลี่ยน เก็บรักษาไว้ และต้องพัฒนาไปมากกว่านี้ และส่วนหนึ่งของผู้แทนฯจะเป็นส่วนที่สำคัญในสังคม
ความเป็นผู้แทนฯกับกฎหมายต้องอยู่คู่กัน เราเป็นตัวแทนประชาชนต้องมีหน้าที่ออกกฎหมายบังคับประชาชน เขาจะเห็นด้วยหรือไม่ เราคือปากเสียงของเขา การปกครองด้วยระบบแบบนี้การคานอำนาจต้องให้เกิดความสมดุล ที่เราเป็นตอนนี้ยังไม่สมดุล
***************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น