ประชาชาติธุรกิจ
รายงานพิเศษ
สารพัดพายุ-มรสุมและม่านฝน กำลังพัดโหมเข้าใส่ตึกไทยคู่ฟ้า ทั้งปัญหาเกม-กับดักการเมืองและการผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ จากพรรคร่วมรัฐบาล
ทั้งฤดูกาลเปลี่ยนผ่าน ปัญหาแนวรบที่ชายแดนด้านกัมพูชา
ทั้งแนวร่วม ที่พลิกผันกลายเป็นแนวรบ จากพรรคภูมิใจไทย
ทั้งวาระ-ภาระแห่งมิตร ที่แปลงร่างจากพันธมิตร ไปเป็นพรรคการเมืองใหม่
สารพัดปัจจัยภายนอก พุ่งเข้าใส่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" จนบางครั้งแทบถอดใจ
ในห้องประชุมคณะกุนซือ 5 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทุกเช้าวันศุกร์ จึงมีวาระ "เพื่อเป็นกำลังใจ" มากกว่าวาระเพื่อพิจารณา
เมื่อข้าราชการเสิร์ฟข้าวต้มกุ้ง หรือข้าวต้มหมู พร้อมปาท่องโก๋ ซ้ำไปซ้ำมา จำเจ วนเวียนนานนับปี จึงไม่มีที่ปรึกษา คนใด ใส่ใจกับอาหารประกอบการประชุมตรงหน้า
ทั้ง คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่รับผิดชอบงานด้านสังคม การแก้ปัญหาผู้ด้อยโอกาส องค์กรชุมชน สิทธิเด็ก สตรี คนชรา
ทั้ง นายสาวิตต์ โพธิวิหค ที่ให้คำแนะนำด้านเศรษฐกิจมหภาค วิเคราะห์ดัชนีเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ และงานนโยบายพลังงาน
ทั้ง นายกนก วงษ์ตระหง่าน ที่มีการบ้านเรื่องทิศทางการศึกษา-สาธารณสุข แรงงาน และไอซีที พร้อมนำเสนอ
หรือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่รับหน้าเสื่อเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการไทยเข้มแข็ง
เฉพาะอย่างยิ่ง นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ที่มีดีกรีหัวหน้าสำนักงานทนายความ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่รับภาระแห่งคดี ยุบพรรค และหัวข้อกฎหมาย แทบไม่มีใครเห็นเขาปรากฏตัวที่อื่น นอกจากในตึก ไทยคู่ฟ้าและที่ศาลรัฐธรรมนูญ
Think Tank 1 ใน 5 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เล่าหลังโต๊ะอาหารเช้าวันศุกร์ จากตึกไทยคู่ฟ้า ว่า "วงประชุม 5 ที่ปรึกษา กับนายกรัฐมนตรี ไม่ได้คุยเอามติ แต่คุยเอาความเห็น หาประเด็น"
ยกเว้นวาระของคุณหญิงสุพัตรา และวาระของนายอภิรักษ์ ที่มี "เนื้อหา" นำเสนอ เพื่อนำไปปฏิบัติ
"วาระของท่านบัณฑิต เรื่องในรัฐบาลแทบไม่มี ถึงมีก็น้อย เพราะท่านรับภาระที่ใหญ่หลวงกว่านั้น พรรคเราอยู่มาตั้ง 64 ปี ต้องสู้เต็มที่" 1 ใน 5 กุนซือเล่าบรรยากาศวงประชุม
ครั้งหนึ่ง หลังกลับจากกองบัญชาการกรมทหารราบ 11 วงประชุม-ถกเรื่องปัญหาความแตกแยกในสังคมการเมือง
มีการปุจฉาว่า : หลังเหตุการณ์ "พฤษภา 53" มีคนมองว่า เราอยู่รักษาอำนาจ
คณะที่ปรึกษาบอกกับนายกรัฐมนตรีว่า : แต่เราทำหน้าที่ สิ่งที่นายกรัฐมนตรีทำ มีเหตุ มีผล ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
นายกรัฐมนตรีปรารภว่า : ผมไม่ท้อ ไม่ยึดติดกับตำแหน่ง พร้อมออก แต่การอยู่ในตำแหน่ง ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
ครั้งหนึ่ง วงประชุมถกเรื่องเศรษฐกิจและเครื่องมือในการแก้ปัญหาหนี้
วาระมีอยู่ว่า : ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกฯ ต้องการสางหนี้นอกระบบ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับผิดชอบ แต่ โดนสกัดจาก ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กับ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่า : ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ หาก รมว.คลังจะส่งให้กฤษฎีกาตีความ ก็ต้องรอ เพราะเป็นเรื่องอำนาจหน้าที่ สุดท้ายเรื่องก็ต้องวนกลับมา แล้วค่อยดำเนินการ
นายสาวิตต์สรุปความเห็นว่า : ที่สุดแล้วก็ต้องทำ แต่ระหว่างที่ทำมีปัญหาข้อกฎหมาย ก็ทำให้ครบขั้นตอน จะได้เดินหน้าได้โดยไม่ต้องติดขัดปัญหาระหว่างดำเนินการ
ครั้งหนึ่ง ช่วงท้ายการประชุม หลังถ้วยกาแฟและปาท่องโก๋ จากตลาดนางเลิ้ง เสิร์ฟเป็นรายการสุดท้ายของมื้อเช้า
เข้าสู่วาระที่ว่าด้วยเรื่อง : ปัญหาความแตกแยกในสังคมไทยและการวิเคราะห์สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
ข้อวิเคราะห์ของทีมที่ปรึกษา เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า : ปัญหาความแตกแยกขณะนี้ ถูกแกนนำใส่โปรแกรมให้กับผู้ชุมนุมว่าเป็นเรื่องอุดมการณ์ ซึ่งเป็นอันตราย เกิดความแตกแยกร้าวลึกถึงชุมชน-ชนบท ครอบครัว จะแก้ยากกว่าความแตกแยกเรื่องผลประโยชน์
"ขณะนี้ดูเหมือนทุกอย่างสงบนิ่ง เหมือนแผลสด ๆ หลังเหตุการณ์ พฤษภา 53 แต่หลังจากนี้ ตามธรรมชาติพายุใหญ่จะก่อตัวอย่างเงียบ ๆ แล้วจะถล่มซ้ำเข้ามา หลังจากลมสงบได้ไม่นาน"
"คาดว่าประมาณปลาย ๆ ปี หรือปลายเดือนตุลาคม ก็จะเห็นลมพายุใหญ่อีกครั้ง คราวนี้อาจจะเปลี่ยนรูปแบบการชุมนุม ที่น่าจะเพิ่มดีกรีความอันตราย...น่ากลัวกว่าเดิม"
จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากเหตุการณ์ "พฤษภา 53" ทั้งองคาพยพของรัฐบาลขับเคลื่อนไปสู่กระบวนการปรองดอง และตั้งกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง
มีการรวบรวม-ติดต่อ เชื่อมประสานกับปัญญาชน อดีตผู้นำทางการเมืองทั้งสายเหลือง สายแดง ไว้อย่างหลวม ๆ
และมีการนำเค้าโครงนโยบาย-มาตรการ "สังคมสวัสดิการ" ที่มีเข็มมุ่งไปที่ "การให้แบบถึงมือ-ฟรี-เป็นรูปธรรม-จ่ายจริง-รับจริง" เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย
ทางหนึ่งเพื่อซื้อใจคนทุกชนชั้น
ทางหนึ่งเพื่อประคองสถานการณ์ไปจนถึงวันเลือกตั้ง
ทางหนึ่งเพื่อจัดตั้งคะแนนนิยมล่วงหน้า
ผลพวงของความพยายามและข้อวิเคราะห์ของ "อภิสิทธิ์" และ 5 อรหันต์ อาจยังไม่ออกดอกออกผล กับชนชั้น รากหญ้า-สีแดง
แต่นักธุรกิจในเมือง เปิดหน้าเผยโฉม-แสดงความคิดเห็น ตอบรับสังคมสวัสดิการ และเค้าโครงการปฏิรูปประเทศ ผ่านมติเห็นชอบของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน
นายธนินท์ เจียรวนนท์ จากสำนักธุรกิจใหญ่-ค่าย ซี.พี. เคยบอกว่า "อภิสิทธิ์" ไม่จำเป็นต้องเก่ง แต่ต้องรู้จักการใช้ กฎเกณฑ์ กล้าใช้ "กุนซือ-ที่ปรึกษา" ที่มีความสามารถ
เจ้าสัว ซี.พี.แนะแนวการตั้ง "กุนซือ" ว่า ควรตั้งเป็น 3 ทีม ทีมแรก ทีมช่วย นายกรัฐมนตรีวิเคราะห์นโยบาย
และทีมที่สอง หาคนเก่งเข้ามาช่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ
ท้ายที่สุด ต้องมีทีมเศรษฐกิจอีกหนึ่งทีม ที่เป็นนักธุรกิจซึ่งต้องรู้จริง
จึงปรากฏ องค์คณะที่ปรึกษา 5 อรหันต์ การเมืองในตึกไทยคู่ฟ้า
กินเงินเดือนอัตราอย่างต่ำ 70,000 บาท คุณสมบัติ เป็นผู้มีความรอบรู้ มีไหวพริบ ปฏิภาณ การหักเล่ห์เพทุบาย ชิงเหลี่ยม รู้เล่ห์ทันคน
วรรณกรรม "สามก๊ก" บอกความสำเร็จของขุนพลเกิดขึ้นได้เพราะ "กุนซือ" ชื่อ "ขงเบ้ง" ฉันใด
การตั้งรับมรสุมการเมือง-วิกฤตพายุแดง ของนายกรัฐมนตรี "อภิสิทธิ์" ในตึกไทยคู่ฟ้า และการขยายอาณาจักร ประชาธิปัตย์-จะก้าวผ่านมรสุมการเมือง-ไปสู่การชนะเลือกตั้งได้ ก็อาจเป็นเพราะ "กุนซือ" ฉันนั้น
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น