ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ศ.อมร จันทรสมบูรณ์ กูรูกฎหมายมหาชนรุ่นใหญ่ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปรียบเทียบนิทานอีสป เรื่อง “ แมวกับหนู” กับการปฎิรูปการเมือง การปฎิรูปประเทศไทย และสมัชชาปฎิรูป อย่างน่าสนใจ ดังนี้
...เราคงจำนิทานอีสป เรื่อง แมวกับหนู ได้ เรื่องแมวกับหนูนี้ ภาษาอังกฤษ เขา เรียกว่า the Bell and the Cat – กระดิ่งกับแมว หรือ บางทีก็เรียกว่า Belling the Cat หรือบางทีก็เรียกว่า the Mice in Council
เรื่องมีอยู่ว่า บรรดาหนูมักจะถูกแมวแอบมาจับไปกินอยู่เสมอ โดยเวลาที่แมวมา พวกหนูไม่รู้ตัวว่าแมวจะมาเมื่อไร หนูจึงไม่สามารถหลบหลีกหรือหนีได้ทัน
"สมัชชาหนู the Mice in Council"
ดังนั้น หัวหน้าหนู ก็เรียกประชุม(หนู) เรียกว่า เป็น "สมัชชาหนู - the Mice in Council " เพื่อให้หนูทุกตัวได้มีส่วนร่วมในการออกความเห็นว่า หนูจะทำอย่างไรดี จึงจะหนีอันตรายจาก เจ้าแมวตัวนี้ได้ ซึ่งวิธีการนี้ ดูคลับคล้ายคลับคลาว่า จะเหมือน ๆ กับ "วิธีการ" ที่รัฐบาลของเราใช้แก้ปัญหาการเมืองของเราอยู่ในขณะนี้
โดยรัฐบาลของเรา ก็ตั้งคณะกรรมการ ( Council ) ขึ้นมาหลายคณะ เพื่อให้ประชาชนได้มีร่วมในการแก้ปัญหา และ แม้แต่รัฐบาลเอง เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ก็ยังอุตส่าห์ จัดโครงการรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ เรียกว่า " 6 วัน 63 ล้านความคิด ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย" และแม้แต่ท่านนายกรัฐมนตรีเอง ก็สละเวลาไปนั่งรับโทรศัพท์ ฟังความเห็นจากประชาชน
ในการสัมมนาหนู บรรดาหนูต่าง ๆ ก็ได้ให้ข้อคิดเห็นกันมาอย่างหลากลายมากมาย และมี เจ้าหนูตัวหนึ่งเสนอ "ความคิด" ขึ้นมาว่า ถ้าเอากระดิ่งไปแขวนคอแมวไว้ แมวมาเมื่อไร เราพวกหนูก็จะรู้ตัวล่วงหน้า และเราก็จะได้หนีทัน
ความคิดนี้ พวกหนูต่างก็ดีใจ และเห็นด้วยกันทุกตัว และต่างยกย่องสรรเสริญ เจ้าหนูตัวที่เสนอความคิดนี้ว่า เป็นหนูที่มีความเป็นอัจฉริยะ ฉลาดที่สุด ที่คิดออกมาได้ แต่ทว่า ในขณะที่บรรดาหนูกำลังดีใจและสรรเสริญเยินยอเจ้าหนูตัวนี้กันยกใหญ่นี้เอง ก็บังเอิญมีหนูตัวหนึ่ง ยกมือ(หาง)ขึ้นและถามขึ้นมาว่า หนูตัวไหน ที่จะเอากระดิ่งไปผูกคอแมว
ความจึงปรากฏว่า คำถามนี้ ไม่มีหนูตัวใด ตอบ และเงียบกันไปทั้ง Council
นิทานเรื่องนี้ สอนอะไรให้เรา : ฝรั่งเขาบอกว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า It is one thing to suggest and another thing to do หรือ It is easy to propose impossible remedies
เราลองเอานิทานเรื่องนี้ มาเป็นอุทาหรณ์ เพื่อเปรียบเทียบดูกับสถานการณ์ของสังคมไทยในขณะนี้ดูบ้าง ว่า the Mice in Council กับ the Thai Elite in Council ของเรา มีความเหมือนกัน หรือ แตกต่างกันอย่างไร
600 ล้าน ปฏิรูปประเทศหรือปฏิรูปการเมือง ได้หรือ
เราคงจำได้ว่า ในปลายเดือนมิถุนายน 2553 หลังเหตุการณ์ สลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม นายกรัฐมนตรีของเรา ได้ ประกาศแผนปรองดอง หรือโรดแมป 5 ประการ เพื่อนำไปสู่ "การปฏิรูปประเทศ" และได้แต่งตั้งคณะกรรมการ council ขึ้นมาหลายคณะ และในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ก็จะมี คณะกรรมการ councils ถึง 3 คณะ คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ , คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป และ คณะกรรมการพิจารณาแนวทางในการแก้รัฐธรรมนูญ
โดยในคณะกรรมการแต่ละชุด มี "ประธาน" ที่เป็นบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากสังคม และรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณไว้ให้ เป็นจำนวน 600 ล้านบาท ใช้เวลา 3 ปี และตามข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์จนถึงขณะนี้ คณะกรรมการ - council ดังกล่าวแต่ละคณะ ก็ได้เรียกประชุมกันมาแล้วหลายครั้ง และ ก็มีข้อเสนอ suggestions ขึ้นมาแล้วหลายประการ
ในที่นี้ เราคงจะไม่พูดถึงประเด็นว่า โรดแมป 5 ประการ เพื่อนำไปสู่ "การปฏิรูปประเทศ" ของรัฐบาลนี้ นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล มีความจริงใจที่จะปฏิรูปประเทศหรือปฏิรูปการเมืองหรือไม่ และเราก็จะไม่พิจารณาว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลควรจะรู้หรือไม่รู้ ว่า วิธีการเหล่านี้ จะทำให้เราปฏิรูปประเทศหรือปฏิรูปการเมือง ได้หรือไม่
เราจะลองมาพิจารณาดูว่า "ชนนั้นนำ" ที่ได้รับมอบหมายจากนักการเมืองให้มีส่วนร่วมในการให้ความเห็น to suggest ในการปฏิรูปประเทศ ว่า the Thai Elite in Council (คณะกรรมการ)ที่รัฐบาลแต่งตั้งมานั้น ได้เสนอความเห็น (one thing to suggest) โดยคณะกรรมการดังกล่าว ได้คิดต่อไปด้วยหรือไม่ ว่า ความเห็นของตนที่เสนอมานั้น จะทำให้เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ได้หรือไม่ อย่างไร ( another thing to do)
จริงอยู่ ขณะนี้ อาจจะเร็วเกินไปที่จะมองเห็นถึงผลงานของคณะกรรมการเหล่านี้ เพราะเพิ่งจะเริ่มต้นของระยะเวลา 3 ปี ที่นายกรัฐมนตรีกำหนดให้คณะกรรมการเหล่านี้ทำหน้าที่เสนอความเห็น to suggest ในการ "ปฏิรูปประเทศ" แต่ผมคิดว่า ข้อเสนอเท่าที่ปรากฏขึ้นในระยะต้นของการทำงานของคณะกรรมการนี้ ก็น่าจะทำให้เราพอมองเห็น “แนวทาง”และ “ความคิด”ในการทำงานของคณะกรรมการเหล่านี้ได้ว่า การทำงานของคณะทำงานอยู่ใน“แนวทาง” ที่จะนำเราไปสู่การปฏิรูปประเทศและการปรองดองได้ หรือไม่
ปลายเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าว “ผลงาน”ของคณะกรรมการ 2 คณะ ที่รัฐบาลตั้งขึ้น คือ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ – คปร. ”และ “คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป”
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ – คปร. ประธานคณะกรรมการฯ)ได้แถลงข่าวว่า " คณะกรรมการฯเห็นควร เสนอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิก พรก. ฉุกเฉินโดยเร็ว ส่วนรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ก็เป็นเรื่องของรัฐบาล แต่อย่างน้อย เราก็ทำหน้าที่ของเราแล้ว ” และ “คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป” ซึ่งกำหนดเรื่องที่จะต้องปฏิรูปไว้ 5-6 เรื่องด้วยกัน (คือ ปฏิรูปสังคม / ปฏิรูปการเมือง / ปฏิรูปกฎหมาย / ปฏิรูปการศึกษา / ฯลฯ)
ประธานคณะกรรมการสมัชชา ก็ได้แถลงข่าวในปลายเดือนกรกฎาคมเช่นเดียวกันว่า คณะกรรมการได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ไว้ 14 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป / คณะกรรมการเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนและสภาผู้นำชุมชนเพื่อการปฏิรูป / คณะกรรมการเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูป / คณะกรรมการเครือข่ายผู้ใช้แรงงานและคนจนเมืองเพื่อการปฏิรูป / และ ฯลฯ
ผมไม่ทราบว่า เมื่อท่านได้อ่านข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว ท่านผู้อ่านจะ มีความเห็นอย่างไร กับข้อเสนอของ คณะกรรมการทั้ง 2 คณะ แต่สำหรับผม คงต้องขออนุญาต ที่จะมีความเห็นที่แตกต่างไปจากท่านคณะกรรมการ ทั้งสอง เพราะผมไม่คิดว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการการทั้งสองจะทำให้มีการปฏิรูปการเมืองหรือการปรองดองได้
ต้องวิเคราะห์ “สาเหตุ”ความแตกแยกเสียก่อน
ผมมีความเห็นว่า ในการที่จะทำการปฏิรูปประเทศนั้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศก็ดี หรือคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปก็ น่าจะต้องเริ่มต้น ด้วยการวิเคราะห์หา “สาเหตุ”ของปัญหา ที่ทำให้คนไทยต้องแตกแยกกัน อันเป็นต้นเหตุของความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปประเทศ เสียก่อน
ผมเคยแสดงความเห็นว่า “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา”(ประเทศเดียวในโลก) ได้เป็นสาเหตุของความเลวร้าย - vice ทั้งหลายที่คนไทยเป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ไม่ว่าท่านคณะกรรมการทั้งสองคณะ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความเห็นของผมก็ตาม ผมก็เห็นว่า การจะแก้ “ปัญหา”ใดๆก็ตาม ก็คงต้องเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์หา “สาเหตุ”ของปัญหาอยู่ดี เพราะมิฉะนั้นแล้ว ถ้าเราไม่ทราบสาเหตุของปัญหาที่ถูกต้องแล้ว เรา ก็คงไม่สามารถกำหนดวิธีการแก้ปัญหา (ให้ตรงกับสาเหตุ)ได้
ผมไม่คิดว่า ข้อเสนอของ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” ที่ทำงานเริ่มต้นด้วยเสนอให้รัฐบาล ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินโดยเร็วนั้น เป็นข้อเสนอที่มีสาระพอ และอยู่ใน “แนวทาง”ที่จะนำไปสู่การ ปฏิรูปประเทศ ; การที่จะประกาศใช้ หรือไม่ประกาศใช้ พรก. ฉุกเฉินในท้องที่ใด เป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็น(เพียง) “ผล”ที่เกิดขึ้นจากความแตกแยกของคนไทย และเป็น “หน้าที่” ของรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบเอง
ข้อเสนอของคณะกรรมการในเรื่องนี้ จึงเป็นข้อเสนอที่แก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ และเป็นการปัญหา ที่ปลายเหตุ ดังนั้น ย่อมไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อันเป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริงของประเทศได้ ภาระหน้าที่ของ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” คือ การเสนอวิธีการ เพื่อการปฏิรูปประเทศ ผมเห็นว่า คณะกรรมการฯน่าจะต้องหาสาเหตุของความแตกแยกของคนไทยให้พบก่อน ก่อนที่จะเสนอข้อเสนอ - to suggest
ทั้งนี้ ไม่ว่าคณะกรรมการจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับสาเหตุของความแตกแยกของคนไทย ตามความเห็นของผมหรือไม่ ก็ตาม
ประเทศไทย จะมี super mouse สักกี่ตัว
และเช่นเดียวกัน ผมก็ไม่คิดว่า วิธีการแก้ปัญหาของ “คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป” ที่เริ่มต้นทำงานด้วยการตั้งสมัชชา – councils อย่างมากมาย ถึง 14 สมัชชา ถ้าหากหนู Mice in one Council แก้ปัญหาแมวไม่ได้ Mice in 14 Councils ก็แก้ปัญหาแมวไม่ได้เช่นกัน เพราะ “หนู”ก็คือหนู สู้แมวไม่ได้อยู่ดี
ผมเคยแสดงความเห็นว่า การแก้ปัญหาการเมืองของประเทศในปัจจุบัน ต้องการ “ความรู้”ในระดับผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ จะต้องรู้ถึง another thing to do ไม่ใช่รู้เพียงแต่ one thing to suggest เท่านั้น และดังนั้น การที่จะแก้ปัญหาด้วยการปฏิรูปประเทศหรือหาทางปรองดอง ก็ต้องหา “สมัชชาของผู้เชี่ยวชาญ” (เท่าที่เราจะมีได้ ) ให้พบเสียก่อน คือ ต้องหา super mouse ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่า ในประเทศไทย จะมี super mouse สักกี่ตัว
ผมเห็นว่า การแก้ปัญหาการปฏิรูปประเทศไม่ได้อยู่ที่ “จำนวน”ของสมัชชา ถ้าเราไม่สามารถหา“สมัชชาของผู้เชี่ยวชาญฯ”ได้ ผมก็คาดหมายว่า สิ่งที่คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป จะได้จากสมัชชาทั้ง 14 สมัชชา ก็คือ ความคิดเห็น (suggestions)ที่หลากหลาย จนจับสาระและเหตุผลไม่ได้ - many things to suggest แต่ผู้เสนอเองอาจไม่รู้ว่าจะทำให้ข้อเสนอของตนนี้ เกิดเป็นจริงขึ้นมาได้อย่างไร - how to do
และในที่สุด “ ความคิดเห็น” ที่รวบรวมได้จากสมัชชา 14 ชุดเหล่านี้ ในอีก 3 ปีข้างหน้า คือ ในปีพ.ศ. 2556 ( พร้อมกับหมดเงินงบประมาณของแผ่นดินไปแล้ว 600 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลให้มาสำหรับ “การซื้อเวลา” เพื่อให้ Eliteของเรา มีอะไรทำ -ให้วุ่น ๆ บ้าง เพื่อที่รัฐบาลจะได้อยู่ในตำแหน่งและแสวงหาประโยชน์ต่อไป ) ก็คงจะเหมือนกับ “ความคิด”ที่รัฐบาลรวบรวมได้ในโครงการของรัฐบาล “ 6 วัน 63 ล้านความคิด”เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ท่านนายกรัฐมนตรีกรุณาไปนั่งรับโทรศัพท์ด้วยตนเอง คือ รัฐบาลจะทำหรือไม่ทำ ก็แล้วแต่รัฐบาลจะ “เลือก” และพร้อม ๆ กับการเลือก ก็คือ การคงอยู่ของ “การคอร์รัปชั่น” และการแสวงหาประโยชน์ของนักการเมืองนายทุน เจ้าของพรรคการเมือง ในระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา – ประเทศเดียวในโลก
ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ถ้าจะเปรียบเทียบความแตกต่าง ระหว่าง the Mice in Council กับ the Thai Elite in Council ผมก็มีความเห็นว่า ในนิทานอิสปนั้น Mice ( in Council) นั้น พวกหนูรู้ว่า “แมว”มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร คือ หนูยังรู้ว่า แมวมี “คอ” พอที่จะสามารถเอากระดิ่งไปผูกห้อยไว้ได้ เพียงแต่พวกหนูหาหนูตัวที่จะยอมตายเพื่อเอากระดิ่งไปผูกคอแมว ไม่ได้ เท่านั้น (เพราะหนูตัวนั้น รู้ตัวว่าต้องตายแน่ ๆ โดยเอากระดิ่งไปผูกคอแมวไม่ได้ )
แต่สำหรับชนชั้นนำของคนไทย - the Thai Elite in Council นั้น ปรากฏว่า คณะกรรมการเหล่านี้ไม่ได้วิเคราะห์หา“สาเหตุ”ของความแตกแยกของคนไทย ว่า เกิดจากอะไร ; ดังนั้น ชนชั้นนำของเราจึงยังไม่รู้จัก “แมว” คือ ไม่รู้ว่า “ระบบสถาบันทางการเมือง - form of government”(แมว) คือ อะไร และ ระบบสถาบันการเมืองของไทย (ระบบเผด็จการโดย พรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา) แตกต่างกับระบบสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญของต่างประเทศทั่วโลก อย่างไร
ด้วยเหตุนี้ the Thai Elite in Council ก็เลยไม่รู้ว่า จะเอา “กระดิ่ง”ไปผูกไว้ที่ส่วนไหน ของแมว คือ ไม่รู้ว่า จะปรับเปลี่ยน rationalize system - ระบบ สถาบันการเมือง ได้อย่างไร
ผู้เขยื้อนภูเขา อยู่ใต้ภูเขา ไม่ได้
ผมคิดว่า ชนชั้นนำ - Elite ที่มี”เจตนาดี” และมีชื่อเสียงเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็น “เงื่อนไข” ที่เพียงพอสำหรับการปฏิรูปประเทศให้คนไทย
ผู้ที่จะปฏิรูปประเทศได้ จะต้องเป็นทั้ง ผู้มี “เจตนาดี” ที่ได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้มี “ความรู้” และมีความรอบรู้ พอที่จะวิเคราะห์ปัญหาและทำความเข้าใจกับคนไทย ตลอดจนสามารถชี้นำคนไทย (ด้วยเหตุด้วยผลและตรรก) ให้ไปสู่ การปฏิรูปประเทศ และ การปฏิรูปการเมือง ได้
ใครก็ตามที่คิดจะ “เขยื้อนภูเขา” ผมไม่คิดว่า ผู้นั้นจะสามารถเขยื้อนภูเขาได้ ถ้าผู้นั้นยังอยู่ใต้ภูเขาหรือถูกภูเขาทับอยู่ และหนูก็คือหนู ไม่ว่าจะเป็นหนูตัวเดียว หรือ หนู in Council ; It is one thing to suggest and another thing to do.
ถ้าเราจะพิจารณาความเป็นมาของรัฐธรรมนูญของเราย้อนหลังไป ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ( ซึ่ง เป็นปีต้นกำเนิดของ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา – parliamentary system”ในประเทศไทย - ประเทศเดียวในโลก) และตลอดเวลาที่ผ่านมา โดยเรามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 เราก็จะพบว่า ผู้ที่อาสาเข้ามา “ปฏิรูปประเทศ”ให้คนไทยในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น นักการเมืองนายทุนที่มาจากการเลือกตั้งก็ดี หรือชนชั้นนำ - Elite ที่ไม่ใช่นักการเมืองก็ดี ก็ดูเหมือนว่า ล้วนเป็น “ บุคคลเดิม ๆ” ที่ได้สร้างระบบนี้ให้คนไทย และรักษาระบบนี้ไว้ เป็นเวลา 17 ปีมาแล้วนั่นเอง
สรุป ก็คือ ผมมีความเห็นว่า ถ้าหาก “ชนชั้นนำ”ของประเทศไทย (นักการเมือง / นักกฎหมายและนักวิชาการ / Elite ที่ไม่ใช่นักการเมือง) ยังอยู่ในสภาพเช่นนี้ ผมก็ไม่คิดว่า ประเทศไทยจะปฏิรูปประเทศ และทำความปรองดองให้เกิดขึ้นได้
“อีสป” เป็นบุคคลในยุคเดียวกับพระพุทธเจ้า และได้เล่านิทาน เรื่อง แมวกับหนูและกระดิ่ง - Belling the Cat เพื่อสอนให้เรารู้จัก “วิธีคิด - It is one thing to suggest and another thing to do”นี้ไว้เมื่อกว่า 2500 ปีมาแล้ว และทั่วโลก ได้ใช้นิทานของอีสปนี้ในการเรียนการสอนเด็ก ๆ กันมาเป็นเวลานาน
สำหรับประเทศไทยเรา กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้จัดให้มีผู้แปลเป็นภาษาง่าย ๆ สำหรับใช้สอน “เด็ก”ในชั้นมูลศึกษาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 แต่บางทีเมื่อเวลาผ่านไปและเราโตขึ้น เราอาจจะลืม ๆ กันไปบ้าง ผมก็เลยขออนุญาตเอานิทานเรื่องแมวกับหนูนี้ มาเล่าเพื่อเตือนความทรงจำของพวกเราอีกครั้งหนึ่ง
( จากบทสรุปของการอภิปราย ว่าด้วย ข้อคิดจากนิทานอีสป เรื่อง “ แมวกับหนู” โดย ศ.อมร จันทรสมบูรณ์ www.pub-law.net )
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น