ประชาชาติธุรกิจ
ส่วนต่างดอกเบี้ย (สเปรด) และค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ เป็นประเด็นที่ถูกยกมาถกเถียงทุกยุคทุกสมัย แต่น่าสังเกตว่าการวางกรอบพื้นที่ทางการเงิน (Financial Landscape) ซึ่งเป็นยุทธ ศาสตร์ของประเทศ กลับมีการพูดถึงน้อย
การกล่าวถึงความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการเงินไทยของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีตผู้ว่าการ ธปท. เมื่อไม่นานมานี้อาจเป็นการจุดประเด็นที่น่าสนใจ ให้ทั้งรัฐบาล ธปท. ธนาคารพาณิชย์ ต้องหันกลับมามองแนวทางการวาง Landscape ระบบการเงินของประเทศว่า ภายใต้สิ่งแวดล้อมปัจจุบันเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่ รองรับการแข่งขันจากคู่แข่งภายนอก ไปพร้อมกับสามารถให้บริการประชาชนในประเทศได้เพียงใด
"ธนาคารไทยเล็กเกินไปและโมเดลการทำธุรกิจเน้นเฉพาะธุรกิจหลัก ทำให้เป็นห่วงว่าจะเติบโตแข่งขันสู้ธนาคารต่างชาติได้อย่างไร อย่างสเปนมีธนาคารใหญ่เพียงแห่งเดียว แต่ทำธุรกิจหลากหลาย และยังมุ่ง แข่งขันออกไปตั้งสาขาในต่างประเทศ ขณะที่ อาเซียนก็มีธนาคารซีไอเอ็มบีของมาเลเซียที่ใหญ่และออกไปตั้งสาขาทุกประเทศในภูมิภาค แตกต่างจากธนาคารไทยที่เล็กเกินไป ไม่สามารถจ้างคนเก่ง ๆ มาวิเคราะห์ และดูแลลูกค้าเฉพาะด้านได้ นอกจากนี้ธนาคารไทยยังแข่งขันกันเปิดตู้เอทีเอ็มมากกว่าจะแข่งขันเปิดสาขาในต่างประเทศ"
ความเห็นของ ม.ร.ว.จัตุมงคลคงไม่ได้เกิดจากการมองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้น การกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเห็นว่าต้องตื่นตัวกับประเด็นนี้เริ่มชัดขึ้น หลังเชิญผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์มาแลกเปลี่ยนความเห็น เช่น การพบกับ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ
อย่างไรก็ตามความสามารถในการทำกำไรที่ดีต่อเนื่อง แม้ต้องรับมือกับเกณฑ์กำกับที่เข้มงวดของ ธปท. อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เรื่อง Landscape ของระบบการเงินไทย ยังไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะถูกหยิบยกขึ้นเป็น "ประเด็นฮอต" ในขณะนี้
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มธนาคารพาณิชย์รายงานผลดำเนินงานอย่างแข็งแกร่งโดยปี 2548 เป็นปีที่ระบบธนาคารมีกำไรสุทธิสูงสุด 107,000 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรจากดำเนินงาน 143,000 ล้านบาท ปีถัดมาแม้กำไรสุทธิจะลดลง อยู่ที่ 65,000 ล้านบาท แต่การลดลงทั้ง 2 ปี เกิดจากรายการพิเศษ "สำรองหนี้" ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ IAS39 ซึ่งหากไม่รวมรายการพิเศษข้างต้น กำไรจากการ ดำเนินงานของทั้ง 2 ปีอยู่ที่ 156,000 ล้านบาท และ 157,000 ล้านบาท ตามลำดับ
โดยปี 2551 และ 2552 ซึ่งหมดภาระรายการพิเศษ แต่ต้องเผชิญกับปัญหาการเมืองและวิกฤตการเงินโลก จะพบว่ากำไรสุทธิของทั้ง 2 ปียังทรงตัวอยู่ระดับสูงคือ 99,000 ล้านบาท และปี 2552 ที่ 92,000 ล้านบาท ขณะที่กำไรจากดำเนินงานสูงขึ้นที่ 196,000 ล้านบาท และ 185,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามการเติบโตข้างต้นอยู่ภายใต้กรอบการพัฒนาที่ได้รับการปกป้องจากการแข่งขันจากภายนอก ประเด็นคำถามที่ต้องตั้งต่อไปคือ แผนพัฒนาสถาบันการเงิน (Master Plan) ฉบับที่ 2 สอดรับกับ Landscape ทางการเงินที่กำลังเปลี่ยนแปลง ขยายวงกว้างออกไปสู่ขอบเขตที่กว้างกว่าการเงินระดับประเทศเพียงใด โดยเฉพาะภายใต้สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่กำลังรวมตัวกันสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายคือการเป็นระบบเศรษฐกิจหนึ่งเดียว
แต่หากพิจารณาประเด็นในมาสเตอร์แพลน ฉบับที่ 2 ที่จะดำเนินการในปี"53-57 พบว่าให้น้ำหนักที่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเป็นรายธนาคาร รวมถึงเพิ่มการแข่งขันโดยเพิ่มผู้เล่นในตลาด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการการเงิน อย่างไรก็ตามเพียงช่วงเริ่มต้นก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า มาสเตอร์แพลนฉบับที่ 2 อาจไม่ราบรื่นเช่นฉบับแรก
แหล่งข่าวจากวงการธนาคารกล่าวว่า แม้ ธปท.มีแนวทางลดต้นทุนเพื่อสนับสนุนให้ควบรวม แต่เชื่อว่าเกิดขึ้นยาก เพราะธนาคารใหญ่มีอำนาจต่อรองสูง ซึ่งธุรกิจธนาคารพาณิชย์ก็จะได้รับการปกป้องต่อไป
"การควบรวมของธนชาตกับนครหลวงไทย เป็นตัวอย่างแรกที่เป็นการรวมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ได้เกิดจากธนาคารมีปัญหา ซึ่งต้องรอติดตามว่าจะสามารถขึ้นเป็นธนาคารขนาดกลางและเพิ่มการแข่งขันในระบบตามแผน ธปท.เพียงใด แต่วิธีคิดของ ธปท.ในอดีตจะแปลกตรงที่ถ้าไม่มีปัญหาเขาไม่ให้ควบรวม แต่ถึงตอนนี้จะให้ควบรวมเพื่อเพิ่มความสามารถแข่งขัน มันเกิดขึ้นยากแล้ว แบงก์ที่รัฐถือหุ้นอยู่หลายแห่งแทนที่จะรวมกันให้ใหญ่ขึ้น แต่กลับไปขายให้ต่างชาติหมด"
นอกจากความเป็นไปได้ยากที่จะเกิดการควบรวมเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง การขาดยุทธศาสตร์ด้านการเงินระดับประเทศ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คนในวงการเริ่มกังวล โดยเฉพาะภายใต้การเปิดการค้าเสรีภูมิภาคอาเซียน (AFTA) ที่ในที่สุดภาคการเงินจะต้องขยายขอบเขตธุรกิจออกไปให้บริการในภูมิภาค
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปัจจุบันแผนพัฒนาระบบการเงินของไทยกับเพื่อนบ้านค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น สิงคโปร์ที่จัดระเบียบสถาบันการเงินมานาน ประกาศให้สถาบันการเงินรวมกันให้เหลือไม่กี่แห่ง และกำหนดเกณฑ์ว่ารายได้ของแต่ละแห่ง 50% ต้องมาจากต่างประเทศ โดยมาเลเซียก็เริ่มพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน แต่แนวทางของไทยกลับมุ่งไปที่การสร้างความแข็งแกร่งเหมือนยิ่งทำให้ธนาคารมีขนาดเล็กลง
"ประเด็นที่ต้องชัดคือจะให้ธนาคารพาณิชย์เป็นธุรกิจที่ต้องได้รับการปกป้องของประเทศหรือไม่ ถ้าไม่ใช่และต้องเปิดเสรี ก็ต้องมีการวาง Landscape ให้ชัดว่าระบบการเงินไทยจะเป็นอย่างไร" นายอภิศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
*******************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น