--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ยุติธรรมกำมะลอ

“และแล้วก็ต้องมาตอกย้ำกันแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเรื่องของคำว่าสองมาตรฐานที่ผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเลือกปฏิบัติ คนเก็บขยะที่ไปเก็บเอาซีดีที่เขาทิ้งแล้วมาวางขายกลับถูกจับตั้งข้อหา และศาลพิจารณาว่ามีความผิดจริง ต้องถูกปรับเงินเป็นแสนๆ ถ้าไม่มีเงินจ่าย คนเก็บขยะรายนี้จะต้องติดคุกติดตะราง จะต้องถูกจองจำ”

พระพยอม กัลยาโณ ให้ความเห็นในคอลัมน์ “สำนัก (ข่าว) พระพยอม” กรณีนายสุรัตน์ มณีนพรัตนสุดา พนักงานเก็บขยะ ถูกศาลพิพากษาปรับ 133,400 บาท ฐานเป็นผู้ประกอบการจำหน่าย ให้เช่าภาพยนตร์ฯโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ พ.ศ. 2551 ซึ่งหลายฝ่ายตำหนิเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าน่าจะใช้วิจารณญาณในการจับ เพราะเอาซีดีเก่าที่เก็บจากขยะไปวางกับพื้นขายเพื่อหารายได้พิเศษ ซึ่งขณะนี้สภาทนายความได้หารือหนทางช่วยเหลือแล้ว

นอกจากนี้พระพยอมยังเปรียบเทียบถึงคดีที่ผู้ชุมนุมม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตั้งใจขับรถไล่ชน ร.ต.ท.เกรียงไกร กิ่งสามี ที่ทำหน้าที่ในเหตุการณ์สลายม็อบพันธมิตรฯในขณะนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่กลับไม่ติดคุก เพราะศาลรอลงอาญา ทั้งไม่ถูกปรับและจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับตำรวจที่ถูกรถชน แม้แต่โทรศัพท์เพื่อถามไถ่หรือกล่าวคำขอโทษก็ไม่มี

“ก็ไม่รู้จะอยู่กันอย่างไรแล้วเมื่อกฎหมายเป็นแบบนี้ ผู้ที่มีอำนาจคิดอยากจะสั่งหนักสั่งเบากับใคร กับพวกไหนก็สามารถทำได้ อย่างนี้ถือว่าน่าอเนจอนาถใจจริงๆ เพราะทุกวันนี้เป็นอย่างนี้กันมากขึ้น อย่างนี้จะไปกันได้สักกี่น้ำ สำหรับประเทศไทย เมื่อไรถึงจะหายใจโล่ง ถึงจะพ้นเหตุแห่งความวิกฤตศรัทธาของผู้ที่มี หน้าที่บังคับใช้กฎหมาย”

ความเห็นของพระพยอมดังกล่าวกับปัญหา 2 มาตรฐานจึงไม่ต่างจากประชาชนหลายสิบล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน หลายสิบคนที่ก่อนหน้านี้ถูกสั่งจำคุก 6 เดือนบ้าง 1 ปีบ้าง เพียงเพราะฝ่า ฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศเคอร์ฟิว หรือกรณีแค่คนขับรถเข้าไปในเขตราชประสงค์เพื่อส่งอาหารให้คนเสื้อแดงในการชุมนุมก็ยังถูกตัดสินให้จำคุก รวมถึงกรณีนายศักระพี พรหมชาติ พราหมณ์ นปช. ที่ทำพิธีเทเลือดและเขียนอักขระสาปแช่งคณะรัฐบาล ก็ถูกศาลอาญาจังหวัดสกลนครสั่งจำคุก 8 เดือนไม่รอลงอาญา ข้อหากีดขวางทางจราจร และชุมนุมหรือมั่วสุมหรือกระทำการอันใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยระหว่างการชุมนุมที่สกลนครเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2553

โคตร 2 มาตรฐาน

ปัญหา 2 มาตรฐานจึงไม่ได้มีเฉพาะทางการเมือง แต่วันนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ยิ่งเห็นชัดเจน แม้ในอดีตจะมีการใช้อำนาจรัฐข่มเหงรังแกประชาชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะประชาชนที่ยากจนและห่างไกลความเจริญ แต่ก็ยังไม่รุนแรงและชั่วร้ายเท่ากับเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่ใช้อำนาจรัฐภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฆ่าประชาชนถึง 91 ศพ และบาดเจ็บ พิการ เกือบ 2,000 คน โดยไม่มีความผิดใดๆ

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สั่งการในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุด ก็ไม่เคยกล่าวคำ “ขอโทษ” กับประชาชนเช่นกัน ตรงข้ามกลับใช้อำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุก เฉินกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เพื่อพยายามสร้างความชอบธรรมและกลบเกลื่อนคำสั่งที่ทำให้ประชาชนต้องตายและบาดเจ็บมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จนมีภาพการ์ตูนล้อเลียนว่า “คนสั่งลอยหน้า...คนฆ่าลอยนวล” แต่ดูเหมือนจะไม่มีผลอะไรกับมาตรฐานใหม่ของสังคมไทยยุคปัจจุบัน

คำว่า “2 มาตรฐาน” จึงกลายเป็นมาตรฐานของการ เมืองและสังคมไทยที่ไม่ใช่เรื่องของคนจนกับคนรวย แต่เป็นการใช้อำนาจจากกฎหมายเผด็จการ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือกระบวนการยุติธรรมโดยองค์กรอิสระต่างๆทำลายฝ่ายตรงข้ามหรืออีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่ความแตกแยกในทางความคิด แต่กลายเป็นความเกลียดชังที่แบ่งขั้วแบ่งฝ่ายและพร้อมจะ “ฆ่า” อีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเลือดเย็น

ทั้งที่การเลือกปฏิบัติหรือ 2 มาตรฐานนั้น รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ระบุในมาตรา 30 วรรคสาม ไว้ว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางด้านเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้”

นอกจากนี้ในมาตรา 9 (1) พ.ร.บ.การจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ก็กำหนดให้การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง (อ่านเพิ่มเติมรายงาน “สองมาตรฐาน” หน้า 6)

วิกฤตองค์กรอิสระ

วันนี้แม้แต่ฝ่ายตุลาการก็ยังถูกตั้งคำถามเรื่องของความยุติธรรม อย่างกรณีตุลาการภิวัฒน์ โดยเฉพาะศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากกับการวินิจฉัยคดีต่างๆ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกพ้อง

ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบันก็ถูกโจมตีว่ามาโดยไม่ชอบธรรม เพราะทั้ง ป.ป.ช. และ กกต. ชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ไม่ใช่การสรรหาตามรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะ กกต. ชุดปัจจุบันที่แม้จะมีการสรรหาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แต่ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเพราะเกิดรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ก่อน แต่ คปค. กลับใช้อำนาจแต่งตั้ง กกต. ชุดนี้ให้มีวาระอยู่ยาวถึง 8 ปี

ทั้ง ป.ป.ช. และ กกต. นอกจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การวินิจฉัยหลายครั้งยังถูกมองว่าเลือกปฏิบัติหรือเลือกข้างอีกด้วย เช่นเดียวกับคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ คปค. ตั้งขึ้นเพื่อเป็นคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณโดยเฉพาะ และมีการกล่าวหามาก มายหลายคดี ซึ่งหลายคดีนั้นศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด ขณะที่อีกหลายคดีแทบไม่มีความคืบหน้า

เช่นเดียวกับกรณีตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ที่มีปัญหาในขณะนี้ก็เพราะประกาศอัปยศของ คปค. และรัฐธรรมนูญปี 2550

องค์กรอิสระต่างๆจึงถูกตั้งคำถามว่าควรจะมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ถ้ามีอยู่จะต้องแก้ไขกระบวนการสรรหาและเรื่องของอำนาจหน้าที่หรือไม่ เพราะองค์กรอิสระขณะนี้มีอำนาจเหนือทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ แต่กลับไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุล หรือแม้แต่การแสดงบัญชีทรัพย์สินของกรรมการเพื่อแสดงความโปร่งใส

การทำงานขององค์กรอิสระต่างๆจึงถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองวิกฤต เพราะคำว่า “2 มาตรฐาน” จนวันนี้ก็ยังมีคำถามและข้อกังขามากมายเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมที่ส่งผลถึงความยุติธรรมและความชอบธรรม รวมทั้งการครอบงำองค์กรอิสระของฝ่ายการเมืองที่ทำให้เกิดการบิดเบือนทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มผู้มีอำนาจ

รัฏฐาธิปัตย์

โดยเฉพาะอำนาจจากการรัฐประหารที่ถูกประณามว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่สังคมไทยกลับยอมรับนับถือ แต่อย่างน้อยก็ยังมีตุลาการของประชาชนที่กล้าประกาศอย่างชัดเจนว่าการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์คือ นายกีรติ กาญจนรินทร์ 1 ใน 9 ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่แสดงคำวินิจฉัยส่วนตัวในฐานะเสียงข้างน้อย ไม่เห็นด้วยในคดีคำพิพากษาที่ อม.9/2552 ที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช ถูกกล่าวหาว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่พิพากษาให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่านายยงยุทธเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษกำหนด 1 ปี โดยนายกีรติให้เหตุผลว่า

“หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ

ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ นานาอารยประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้นเมื่อกาละและเทศะในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ศาลจึงไม่อาจที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์”

กวาดล้างและขังยาว

ปัญหา 2 มาตรฐานยิ่งเห็นชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบระหว่างคดีของกลุ่ม นปช. กับกลุ่มพันธมิตรฯซึ่งถูกตั้งข้อหา “ผู้ก่อการร้าย” เช่นกันคือยึดสนามบิน จากคดีที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ 240 คดี ปรากฏว่าวันนี้แทบไม่มีความคืบหน้าเลยทั้งที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี โดยเฉพาะคดี 79 แกนนำพันธมิตรฯซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายและข้อหาอื่นๆรวมกว่า 10 คดี จากกรณีบุกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองเมื่อปี 2551 ยังเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนโดยไม่มีการจับกุมใดๆ

ตรงข้ามกับแกนนำเสื้อแดง 26 คน ที่วันนี้อัยการสูงสุดสั่งฟ้องแล้ว ทั้งที่พนักงานสอบสวนไม่มีการสอบสวนปากคำจำเลยแม้แต่ปากเดียว ขณะที่คดีของกลุ่มพันธมิตรฯกลับมีการสอบสวนพยานจำเลยนับพันปาก และหากนับวันที่ถูกฝากขังก็จะครบกำหนด 84 วันในวันที่ 7 กันยายนนี้ และมีแนวโน้มที่จะถูกขังยาวตลอดการพิจารณาคดี ซึ่งอาจยืดเยื้อยาวนานเป็นสิบๆปีก็ได้ เนื่องจากศาลไม่ให้ประกันเพราะเห็นว่าเป็นคดีที่มีโทษสูงและกลัวผู้ต้องหาหลบหนี

ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงมีถึง 260 คดี แบ่งออกเป็นก่อการร้าย ขู่เข็ญเจ้าหน้าที่รัฐ ทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ และการกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์

นอกจากนี้ยังมีคดีขบวนการล้มสถาบันที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อ้างการสืบสวนในทางลับ ซึ่งคดีนี้นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในแผนผังล้มสถาบันของ ศอฉ. ได้ฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศอฉ. จำเลยที่ 2 และ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาต่อศาลอาญากรณี ศอฉ. แถลงข่าวและแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชน ซึ่งมีชื่อนายสุธาชัยปรากฏอยู่ด้วย

คนสั่งฆ่าดำเนินคดีคนถูกฆ่า?

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง จึงประกาศจะต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนเสื้อแดงจนถึงที่สุด และกล่าวหาว่าอธิบดีดีเอสไอและนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ศอฉ. มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะมีส่วนร่วมในการสั่งฆ่าประชาชน แต่กลับมาเป็นผู้ดำเนินคดี ถ้าเป็นเช่นนี้คดีก็จะพลิกจากขาวเป็นดำ ดำเป็นขาว เอาความตายที่เกิดขึ้น 91 ศพมาบอกว่าคนเสื้อแดงฆ่ากันเอง การสรุปแบบนี้นายจุลสิงห์ยังมีความเป็นคนอยู่หรือไม่

“ที่ผ่านมาในการสอบสวน ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 149 และ 150 ที่พนักงานสอบสวนจะต้องชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตทีละศพ แต่นายจุลสิงห์ไม่ได้ กระทำตามที่ประมวลกฎหมายอาญากำหนด เพราะจะต้องมีการชันสูตรทีละศพว่าผู้ตายเสียชีวิตจากสาเหตุอะไร หากการตายที่เกิดจากกระสุนต้องระบุว่าเป็นกระสุนชนิดใด วิถีกระสุนเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพทั้ง 91 ศพ และแจ้งไปยังศาลถึงสาเหตุการตาย และศาลจะไต่สวนต่อว่าใครเป็นคนทำ ดังนั้น ที่อัยการสูงสุดละเลยเรื่องนี้เพราะเป็นส่วนหนึ่งของฆาตกรที่สั่งฆ่าประชาชนใช่หรือไม่ การกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงฆ่ากันเองจึงเป็นการกระทำที่ชั่วช้าที่สุด ร่วมมือกับดีเอสไอไม่ปฏิบัติตามวิธีพิจารณาคดีอาญา”

ยุติธรรมกำมะลอ

ปัญหา 2 มาตรฐานในสังคมไทยวันนี้จึงไม่ใช่แค่เห็นชัดเจนทะลุจอเหมือนหนัง 3 มิติเท่านั้น แต่โคตรชัดและจับต้องได้ยิ่งกว่าหนัง 4 มิติเสียอีก คือไม่ใช่แค่ภาพที่ชัดเสียยิ่งกว่าชัด แต่ยังโชยกลิ่นออกมาอย่างน่าสะอิดสะเอียน

เพราะกระบวนการยุติธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระหรือหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าดีเอสไอ ฝ่ายอัยการ ก็ไม่ต่างกับ ศอฉ. ที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นยิ่งกว่าดาบกายสิทธิ์ที่ให้ฆ่าคนได้โดยไม่มีความผิด จึงไม่แปลกที่จะมีการประณามเรื่องความอยุติธรรมและเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากประชาคมโลก

แม้ผู้มีอำนาจจะตะแบงว่าทุกคดีต้องไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่ศาลยุติธรรม ซึ่งศาลก็ต้องพิจารณาและวินิจฉัยไปตามพยานและหลักฐาน

แต่ก็มีคำถามว่าหากพยาน และหลักฐานที่ได้มานั้นเกิดจากขบวนการต่างๆภายใต้อำนาจเผด็จการหรือเยี่ยงโจรที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ชอบธรรมแล้ว

ศาลก็ต้องตัดสินไปตามพยานและหลักฐาน ผลออกมาอย่างไร ผู้ต้องหาก็ต้องยอมรับและต้องเคารพคำตัดสินของศาล

แต่เหยื่อของความอยุติธรรมคือผู้บริสุทธิ์ที่กลายเป็นคนผิดที่อาจไม่ใช่แค่คำอุทานว่า “ซวยจริงๆ” เท่านั้น แต่อาจหมายถึงการถูกประหารชีวิตอีกด้วย

การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมจึงมีแค่การฟ้องกลับหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรอิสระต่างๆ แม้จะรู้ดีว่าการฟ้องร้องไม่สามารถเอาผิดหรือคดีสิ้นสุดด้วยความเป็นธรรมได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการฟ้องตัวเองของหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรอิสระ ว่าสังคมไทยไม่ใช่มีแค่วงจรอุบาทว์ที่ฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่าเท่านั้น แต่ยังสร้างทายาทอสุรกายอีกด้วย

รัฐและองค์กรอิสระต่างๆจึงต้องเป็นคนตอบเองว่าทำไมสังคมไทยจึงเกิด 2 มาตรฐาน ซึ่งไม่ใช่รู้ได้จากสามัญสำนึกเท่านั้น แต่เรียกว่าเห็นโคตรชัดเจนทะลุจอยิ่งกว่าหนัง 3 มิติเสียอีก

ทุกคำตัดสินจากทุกองค์กรแห่งความยุติธรรมจึงเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพของความยุติธรรมว่าเป็นยุติธรรมที่ “ยุติด้วยความเป็นธรรม” หรือ “ยุติแล้วซึ่งความเป็นธรรม”

นี่คือความจริงของสังคม 2 มาตรฐานบน “ศาลาโกหก” ที่เต็มไปด้วย “ยุติธรรมกำมะลอ”...!!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 273 วันที่ 21-27 สิงหาคม พ.ศ. 2553 หน้า 8 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น