--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สัมพันธ์"ไทย-เขมร"รอวันปะทุ

ข่าวสดรายวัน
รายงานพิเศษ

สัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาที่มีปัญหาอึมครึมมานาน สดใสขึ้นทันตา ถึงขนาดต่างฝ่ายต่างส่งทูตกลับไปประจำในประเทศนั้นๆ

หลังจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศลาออกจากการเป็นที่ปรึกษา ทั้งที่ปรึกษาส่วนตัวของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ

จุดเริ่มต้นปมขัดแย้ง มาจากเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร และการบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบตัวปราสาท ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2505 แต่ถูกจุดกระแสโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อ เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช

เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ

ท่าทีของสมเด็จฮุนเซน ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ต่อกรณีการไล่ล่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นเพื่อนรัก จนเกิดการกระทบกระทั่งตอบโต้กันไปมา

ก่อนที่สัมพันธ์จะสะบั้นลงเมื่อสมเด็จฮุนเซน แต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวและที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา ไม่สนใจคำขอของรัฐบาลไทยที่ให้ส่งตัว พ.ต.ท. ทักษิณ กลับมาดำเนินคดีในไทย

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ตอบโต้ทางการทูต ด้วยการสั่งนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัคร ราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ เดินทางกลับประเทศภายใน 24 ชั่วโมง โดยให้เหตุผลว่าการกระทำของผู้นำกัมพูชาเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรมของไทย และไม่คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน

จึงขอตัดความสัมพันธ์ทางการทูต และทบทวนพันธกรณี ฐานใช้ความสัมพันธ์และผลประโยชน์ส่วนบุคคลอยู่เหนือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

โดยทางกัมพูชาก็สั่งทูตกลับประเทศเช่นกัน ส่งผลให้บรรยากาศของ 2 ประเทศคุกรุ่นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ล่าสุด จากกรณีที่รัฐบาลไทยคัดค้านกัมพูชาในการยื่นเรื่องต่อยูเนสโก ขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯที่นัดชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา กดดันรัฐบาลให้ชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยการจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2543

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อุณหภูมิร้อนฉ่าขึ้น คือคำประกาศของนายอภิสิทธิ์ บนเวทีพันธมิตรฯ ว่าจะใช้มาตรการด้านการทูตกับการทหารกับกัมพูชา

นำมาซึ่งประเด็นที่ทำให้สมเด็จฮุนเซน นำไปฟ้องสห ประชาชาติ(ยูเอ็น) เรียกร้องให้ยูเอ็นและประชาคมอาเซียนเข้ามาเป็นตัวกลางแก้ปัญหาข้อพิพาท

ความขัดแย้งเริ่มบานปลายหนัก มีการตรึงกำลังบริเวณพื้นที่ทับซ้อน รวมทั้งมีการจับกุมตัวคนไทยที่ล่วงล้ำเข้าไปภายในพื้นที่

กระทั่งมีจดหมายฉบับหนึ่งที่ส่งตรงถึงนายอภิสิทธิ์ โดยระบุว่ามาจากที่ปรึกษาสมเด็จพระนโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์แห่งกัมพูชา แสดงความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกับไทยอย่างสันติ แต่ขณะเดียวกัน ขอให้ไทยเคารพในสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสเมื่อกว่า 100 ปีก่อน เกี่ยวพรมแดนของสองประเทศ

ตามติดด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษากัมพูชาของพ.ต.ท.ทักษิณ โดยอ้างว่าไม่มีเวลาเนื่องจากต้องทำธุรกิจในหลายประเทศ และไม่ต้องการให้ประเด็นตำแหน่งที่ปรึกษา มาเป็นปมขัดแย้งให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างสองประเทศ

ท่ามกลางเสียงขานรับของหน่วยงานด้านความมั่นคง หรือแม้แต่กระทรวงการต่างประเทศว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ

พร้อมๆ กับการเตรียมการเจรจาหาทางออกร่วมกันระหว่างนายกฯอภิสิทธิ์ และนายกฯฮุนเซน กรณีข้อพิพาทในพื้นที่ปราสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน ก่อนเวทีการประชุมสุดยอดเอเชียยุโรป (อาเซม) ที่ประเทศเบลเยียม ในเดือนต.ค.นี้

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาที่พลิกจากหลังมือเป็นหน้ามือครั้งนี้ ในส่วนของนักวิชาการ โดย นางสีดา สอนศรี อาจารย์รัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า เขมรต้องการแชร์ว่าอยากอยู่ในอาเซียน

ดิฉันคิดว่ากระทรวงการต่างประเทศและระดับรัฐบาลเองน่าจะได้เจรจากันแล้ว จึงทำให้ดูความสัมพันธ์ออกมาดีขึ้น

ที่สำคัญอีกหน่อยจะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่ประเทศเวียดนาม ถือเป็นตัวแปรสำคัญให้ทุกอย่างดูอ่อนลง เพราะเวียดนามไปลงทุนในกัมพูชาและลาวมาก เวียดนามน่าจะมีการสื่ออะไร ทั้งเรื่องการค้าระหว่างประเทศ และเรื่องอื่นๆ

ผู้นำ 3 ประเทศ เวียดนาม กัมพูชา และลาวถือว่ามีความใกล้ชิดกันมาก เวียดนามกับกัมพูชาน่าจะมีการพูดคุยกัน อีกทั้งประเทศในอาเซียนอย่างไรก็ต้องช่วยกันพัฒนาอาเซียน 2019 และ 2020 ไทยกับกัมพูชาก็ยังต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันทั้งสองประเทศ

เวียดนามน่าจะช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย ช่วยทำให้ความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาดีขึ้น ส่วนประเด็นพ.ต.ท.ทักษิณลดบทบาทในเขมรลง ก็อาจทำให้กัมพูชามีท่าทีเปลี่ยนไป มีส่วนทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงไป ทางเขมรเองก็ต้องดูลู่ทางเหมือนกัน

ส่วนปัญหาการอ้างสิทธิในเขตแดน น่าจะปล่อยไว้ก่อน เหมือนกรณีซาบา ที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ต่างอ้างสิทธิทำให้ไม่มีการพัฒนาในพื้นที่ พอมาสมัยนางอาคิโน พยายามไม่พูดเรื่องซาบา เพื่อให้เกิดการพัฒนาโดยรวมก่อน

ไทยกับกัมพูชาน่าจะเป็นลักษณะนี้ อาจจะหยุดหรือลดกระแสความขัดแย้งที่คาราคาซังไปก่อน หรือในอนาคตอาจมีปะทุขึ้นมาอีกก็เป็นอีกเรื่อง แต่ในช่วงใกล้ประชุมก็อาจมีการลดกระแส ซึ่งต่างคนน่าจะเห็นแก่ส่วนรวม ยึดประโยชน์ส่วนใหญ่เพื่อให้เกิดการพัฒนาในภูมิภาคอาเซียน

ขณะที่ นายสุริชัย หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า จากการที่ทางการไทยส่งทูตกลับไปประจำการที่กัมพูชา แล้วนั้น ถือว่าความสัมพันธ์มีแนวโน้มที่ดี

แต่กรณีปัญหาเรื่องปราสาทพระวิหาร เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องใจเย็นๆ เพราะเราเป็นประเทศที่ใหญ่กว่ากัมพูชา หากใจร้อนแล้วรบชนะกัมพูชา ประเทศไทยจะเป็นหัวเน่าทันที ไม่มีประเทศอื่นคบด้วย เพราะเป็นประเทศใหญ่แต่ไปรังแกประเทศเล็กกว่า ขณะที่กัมพูชาจะได้รับความสงสารจากประ เทศอื่น

ส่วนตัวมองว่า การลาออกจากที่ปรึกษาของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯนั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมาเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออก ทำให้เห็นว่า ทั้งไทยและกัมพูชาอยากคืนดีกัน ถือเป็นเรื่องเชิงบวก

ทางที่ดี ประเทศไทยเราควรใจ เย็นๆ ในการแก้ไขปัญหา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้น ผู้แทนไทยและกัมพูชาต้องคุยกัน ต้องร่วมมือกันในด้านการท่องเที่ยว กรณีปราสาทพระวิหารควรใช้ประโยชน์ร่วมกัน หากใจ ร้อนจะมีแต่เสียกับเสีย

***************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น