ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ย้อนหลังไป 4 เดือนที่แล้ว ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ ว่า “ผมไม่คิดว่าศาลฎีกา จะรับครับ ยกทิ้งเลย แล้วก็ยึดทรัพย์กันไป” อะไรคือเบื้องหลังความเชื่อและหลักเหตุผลของนักกฎหมายหนุ่ม ลองพิจารณาดู ...
วันที่ 11 ส.ค. ที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา มีมติไม่รับอุทธรณ์คดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบครัว และพวก จำนวน 46,373,687,454.70 บาท ด้วยคะแนนเสียง 103 ต่อ 4 เสียง
ทั้งนี้ 103 เสียงไม่รับอุทธรณ์ มีจำนวน 4 เสียงที่ให้รับอุทธรณ์ และมีผู้พิพากษา 12 คน งดออกเสียง
สาเหตุที่ 103 เสียงไม่รับอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่า ประเด็นที่ ทนายพ.ต.ท.ทักษิณยื่นอุทธรณ์มาจำนวน 5 ประเด็นนั้นไม่มีหลักฐานใหม่แต่อย่างใด
ย้อนหลังไป 4 เดือนที่แล้ว ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่คิดว่าศาลฎีกา จะรับครับ ยกทิ้งเลย แล้วก็ยึดทรัพย์กันไป”
ถ้าเป็นหมอดู ดร. วรเจตน์ น่าจะทำนายอนาคต และชะตากรรมของ”ทักษิณและพวก” ล่วงหน้าได้อย่างถูกต้อง แต่ดร. วรเจตน์ ไม่ใช่หมอดู แต่เขาเป็นนักกฎหมายมหาชน เพียงไม่กี่คนในประเทศนี้ที่กล้าเขียนบทความทางวิชาการ ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดียึดทรัพย์ คดีประวัติศาสตร์
เมื่ออ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดียึดทรัพย์ จะพบว่า ในสำนวนของศาลรับฟังน้ำหนักพยานปาก ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) อย่างเต็ม ๆ ดังปรากฏในคำพิพากษาหลายตอน ขณะที่ ดร. วรเจตน์ โต้เหตุผลของ ดร.สมเกียรติ ในทุกประเด็น ผ่าน บทสัมภาษณ์ในประชาชาติธุรกิจและผ่านจอทีวีมาแล้ว
ก่อนที่เหตุผลของเสียงข้างน้อยจะเลือนหายไปในอากาศ ก่อนที่คนจะลืมว่า ประเด็นในคดียึดทรัพย์ คดีประวัติศาสตร์ ถกเถียงกันเรื่องอะไร ขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ฉบับที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน มานำเสนอให้ท่านผู้อ่าน ดังนี้
ดู เหมือนว่า คนจะฟังเหตุผลของดร.สมเกียรติ มากกว่า ดร.วรเจตน์ ?
จริงๆ แล้ว อาจารย์สมเกียรติกับผม รู้จักกันครับ และผมคิดว่าดีนะ ที่ได้พูดกันในทางเนื้อหา อันนี้ผมชอบ ดีกว่ามาป้ายว่าผมเป็นพวกทักษิณ อย่างนั้นย่างนี้ อันนี้น่าเบื่อ แต่การเอาเนื้อหามาโต้ ทำให้เกิดการถกเถียงกันทางปัญญา ว่าตกตกลงเรื่องเป็นอย่างไร ใครถูกใครผิด ประชาชนก็ต้องคิดเอา ผมคิดว่าสักระยะหนึ่งคนจะตัดสินได้
ที่ผ่านมา มีคนว่าผมอยู่เรื่อยว่าต่อต้านการรัฐประหาร แต่ทำไมไม่ไปดูเนื้อหาว่าทักษิณผิดหรือไม่ผิด ผมก็เลยคิดว่าคราวนี้ก็มาดูเนื้อหากันจริงๆ เพราะเป็นเหตุที่ใช้อ้างในการทำรัฐประหารด้วย ว่ามีการทุจริตกัน ผมก็เลยเน้นไปที่เรื่องข้อกล่าวหา 5 ข้อ ของคตส. ว่าในทางเนื้อหาของเรื่อง เมื่อตรวจสอบจากเกณฑ์กฏหมายแล้วเป็นยังไง
เมื่อผมตรวจสอบแล้ว และเห็นว่าเขาไม่ผิด มันก็ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องอื่น แต่เรื่องซุกหุ้น ก็มีคนอยากรู้ว่าผมคิดยังไง อาจารย์วรเจตน์บอกสิว่าซุกหุ้นหรือไม่
ผมเรียนว่า ถ้าพูดจากในคดี จะได้ตัดปัญหา เพราะคนก็มองว่าช่วยทักษิณมั๊ย คืออ่านจากข้อเท็จจริงในคดี ผมคิดว่าถ้าฟังยุติตามที่ศาลชี้ ฟังได้ว่าคุณทักษิณ คงครองไว้ซึ่งหุ้น
แต่ถามว่าทำไมถึง จากข้อเท็จจริงในเชิงคดี เพราะประเด็นเรื่องซุกหุ้นต่างจากอีก 5 ประเด็น คือประเด็นเรื่องหุ้นเป็นประเด็นที่วางอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงเป็นหลัก ไม่มีประเด็นข้อกฏหมาย เป็นประเด็นที่สืบจากฐานข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ แต่ปัญหาคือ ในเชิงเอกสาร ผมไม่เห็นทั้งหมด อ่านจากคำพิพากษาในคดีที่ศาลสรุป รวมทั้งความเห็นส่วนตน ทำให้เห็นได้ว่า ยังคงครองไว้ซึ่งหุ้น แต่ถ้าเห็นเอกสารทั้งหมด เห็นข้อต่อสู้ทั้งมวล อันนี้ผมไม่รู้ เพราะเป็นข้อเท็จจริง
แต่ใน 5 ประเด็นเป็นประเด็นข้อกฏหมาย คือข้อเท็จจริง อย่างผมกับอ.สมเกียรติ ไม่ได้เถียงกันในข้อเท็จจริงเลยนะ เพียงแต่การตีความข้อเท็จจริง และการตีความข้อกฏหมายไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ประเด็นเรื่องซุกหุ้นจึงต่างกันตรงนี้ ผมถึงบอกว่า เรื่องซุกหุ้นถ้าเอาที่ศาลชี้ เนื่องจากมันอยู่บนฐานข้อเท็จจริงๆ ว่าความเป็นจริงหุ้นอยู่กับใครอย่างไรถ้าอ่านจากคำพากษา ก็คงมองได้เหมือนกันว่าคุณทักษิณยังคงครองไว้ซึ่งหุ้น คือ ไม่ได้มีการขายออกไปจริง
แต่ปัญหาเรื่องหุ้นมีมากไปกว่านั้น ไม่ใช่เฉพาะในทางคดีนี้ ในอนาคตข้างหน้า สมมุติว่าคุณเป็นรัฐมนตรี แล้วคุณโอนหุ้นให้ลูก ปัญหาก็คือว่า ถ้ามีคนมาบอกว่าหุ้นยังไม่โอนไป มันจะต้องสืบกันมากว่าข้อเท็จจริงเป็นยังไง ในทางคดีโอนไปแล้ว แต่ว่าลูกมาปรึกษาว่าจะขายไม่ขาย มีคนมาติดต่อคุณว่าจะขายยังไง คุณจะเป็นนายหน้าให้กับลูกหรือไม่ ได้หรือไม่ แล้วถ้าทำอย่างนั้น ยังถือหุ้นอยู่กับคุณมั๊ย
มันจะมีประเด็นอย่างนี้เถียงกันได้มากเลย แล้วมันมีปัญหาเรื่องความมั่นคงแน่นอนของนิติฐานะ เพราะว่าพ่อกับลูกมันใกล้กันมาก
ประเด็นอีกอันก็คือ สมมุติว่า ไม่มีการขายหุ้นคุณทักษิณให้ลูก แต่ยกให้ แล้วยังไง กรรมสิทธิ์ที่แท้จริงเป็นของใคร คือเกณฑ์ที่มันจะใช้ตรงนี้ คือปกติ เรื่องเกณฑ์กรรมสิทธิ์เราใช้เกณฑ์ ทางทะเบียนเป็นสำคัญ คือเกณฑ์ทางรูปแบบ แต่เรื่องนี้บังเอิญ มันอยู่ในรัฐธรรมนูญ ศาลมองในทางเนื้อหาด้วยว่าจริงๆ อำนาจ ในการตัดสินใจอยู่กับใคร ซึ่งผมบอกว่า เมื่อฟังจากศาลพอมองได้อยู่ว่า คุณทักษิณยังคงครองไว้ซึ่งหุ้น แต่ในทางรูปแบบไม่ใช่ เขาบอกว่าเขาขายไปแล้ว ในทางทะเบียนไม่ใช่ของเขา แต่เป็นของลูก
ฉะนั้น ถ้าผมจะบอกว่าประเด็นเรื่องนี้ มันจึงเป็นประเด็นซึ่ง จะต้องเห็นข้อเท็จจริงทั้งหมดจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องข้อกฏหมายแล้ว แต่มันเป็นการตีว่าในทางความเป็นจริง หุ้นเป็นของใครกันแน่
แต่หลายคนมองว่า เรื่องนี้เราตีความหรือวินิจฉัยว่าคุณทักษิณครองไว้ซึ่งหุ้น ก็จะไปบอกเลยว่าเขาทุจริต หรือเป็นเรื่องที่มีการกระทำโดยเอื้อประโยชน์ ซึ่งมันไม่ใช่ มันไม่ออโตเมติก
ทีนี้หลายคนไม่เข้าใจว่า ประเด็นที่ถือครองไว้ซึ่งหุ้น ผลทางกฏหมายมันคือ พ้นจากตำแหน่งหรือเป็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ก็คือ จะถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี เพราะยื่นทรัพย์สินเป็นเท็จ แต่คำถามคือ เราอาจต้องวางเกณฑ์นิดนึงว่า ในอนาคตคนจะขายหุ้นให้ลูกเขาควรทำยังไง ระบบกฏหมายถึงจะเชื่อว่าเขาขายแล้ว
คือ ระบบจะต้องเรียกร้องจากคนขนาดไหน ถึงจะเชื่อว่าเขาขายแล้ว แล้วเราก็ต้องไม่ลืมว่าเป็นเรื่องทางการเมือง มันจะไปพันกับกระแสทางการเมืองอย่างมาก กระแสการเมืองที่ไปทางนั้นทางนี้ จะส่งผลต่อการวินิจฉัยด้วยของศาลด้วย เคสนี้ศาลบอกว่า ในทางข้อเท็จจริงศาลเห็นว่ามันไม่ควรเอามาใช้ เพราะมันจะทำให้กระทบความมั่นคงแน่นอน โดยทางรูปแบบมันขายไปแล้ว ศาลก็บอกว่าหุ้นขายไปแล้ว ในทางเนื้อหา ดูแล้วมีพิรุธเรื่องการโอน เรื่องการทำตั๋วสัญญาใช้เงิน มันเหมือนกับไม่ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจริงๆ
@ แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่คุณทักษิณเองถือหุ้นเองหรือถือโดยผ่านลูกก็ตาม โดย แต่วันที่คุณทักษิณนั่งเป็นนายกฯ อยู่หัวโต๊ะที่ประชุมครม. แล้วมีเรื่องใน 5 โครงการนี้เข้าครม. คุณทักษิณรู้ทั้งรู้ว่ามีหุ้นตรงนี้ มันก็ดูจะไม่ถูกต้องนัก เพราะโครงการที่ตัวเองมีส่วนได้เสียเข้าสู่ครม.
อันนี้ต้องแยกครับ มันมีปัญหาเรื่องความเหมาะสม ในตำแหน่งกับความไม่ชอบด้วยกฏหมาย 2 เรื่องนี้มันไม่ใช่อันเดียวกัน เราอาจจะวิจารณ์เรื่องความเหมาะสมในตำแหน่งได้ แต่เรื่องความชอบด้วยกฏหมายนั้น มันเป็นอีกอันหนึ่ง
แล้วจริงๆ ใน 5 กรณีนี้ ถ้าเราพูดกันจากรูปธรรม มันพูดลอยๆ ไม่ได้ ใน 5 กรณีนี้ถ้าพูดกันถึงที่สุด การตัดสินใจของคุณทักษิณมีส่วนแต่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น มีเรื่องเดียวคือ ตอนออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิต เท่านั้นครับ เรื่องเดียวเอง แต่คุณทักษิณเป็นหนึ่งในบรรดารัฐมนตรีหลาย ๆคน
ส่วนเรื่องอื่นๆ อีก 4 เรื่อง ประเด็นเรื่องของพรีเพด ประเด็นโรมมิ่ง ประเด็นเรื่องดาวเทียมไอพีสตาร์ ทั้ง 3 เรื่องนี้ไม่ใช่คุณทักษิณ แล้วไม่ใช่เรื่องครม.
เรื่องพรีเพดกับเรื่องโรมมิ่งเป็นเรื่อของทศท. เรื่องดาวเทียมไอพีสตาร์ ก็เป็นเรื่องรัฐมนตรีไอซีที เรื่องเงินกู้พม่าเป็นเรื่องที่ธนาคารเป็นคนให้กู้ เพียงแต่ว่าคุณทักษิณเป็นคนริเริ่ม หรือคณะรัฐมนตรีนั้นมีมติอนุมัติในเบื้องต้น แต่ไม่ได้เป็นการตัดสินใจในทางเด็ดขาด ไม่เหมือนกับเรื่องพระราชกำหนดสรรพสามิต ฉะนั้นต้องแยก 5 เรื่องนี้
และนี่จะเป็นปัญหาเรื่องคอล สเตชั่น เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลต่อไป ซึ่งหลายคนยังไม่ได้พูด และเหมารวมว่าเป็นการกระทำของคุณทักษิณหมด ซึ่งในทางความรู้สึก คุณอาจรู้สึกได้ว่าคุณทักษิณครอบงำคณะรัฐมนตรี แต่ในทางกฏหมาย นี่เป็นการยึดทรัพย์นะครับ ต้องชัด
กรณีที่มีคนตั้งคำถามกับผมเรื่องหุ้น ในด้านหนึ่ง ในที่สุดถ้าเราเห็นว่าการกระทำนั้น มันไม่เอื้อ เรื่องซุกหุ้นหรือไม่ซุกหุ้นก็ไม่มีความหมาย มันก็คือไม่ผิด ประเด็นคือ ยึดทรัพย์ไม่ได้ แต่ถ้าบอกว่าผิดแบบ ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ก็เป็นเรื่องบัญชีเป็นเท็จ
@ ทราบว่า อาจารย์อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการในคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน มีข้อสังเกตอะไรบ้างครับ
มีอันหนึ่งที่เห็นก็คือ ตอนที่มันมีการลงมติ ประเด็นเรื่องว่าคุณทักษิณยังคงครองไว้ซึ่งหุ้น หรือไม่ มัน 9 ต่อ 0 พอมาถึงประเด็นว่ามีการเอื้อประโยชน์ทั้ง5 กรณี หรือไม่ มันคือ 8 ต่อ 1 แล้วพอยึดหรือไม่ยึดคือ 7 ต่อ 2 คือยึดหมดหรือยึดบางส่วน
กรณี 8 ต่อ 1 มันน่าสนใจว่า ผมไปอ่านคำพิพากษาส่วนตน คือตอนลงมติว่าเอื้อหรือไม่เอื้อ เป็นการลงมติพร้อมกัน มันเลยเป็น 8-1 ไม่ได้แยกทีละเรื่อง ปรากฏว่าภาษีสรรพสามิต มีคนที่เห็นว่าเรื่องภาษีสรรพสามิต ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ สองคนครับ
ท่านหนึ่งก็คือม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ส่วนอีกท่านคือท่าน พงศ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ ประเด็นนี้ท่านเห็นว่าไม่เอ แต่ประเด็นอื่นท่านเห็นว่าเอื้อหมด ท่านเลยจัดอยู่ในฝ่ายข้างมาก เพราะไม่ได้ลงแยก
@ อาจารย์เห็นแย้งอาจารย์สมเกียรติ ประเด็นไหนบ้างครับ
เรื่องแรกคือประเด็นภาษีสรรพสามิตมีเถียงกันว่า ตกลงกีดกันหรือไม่กีดกัน เรื่องนี้ เป็นประเด็นที่ผมสัมภาษณ์พาดพิงอาจารย์สมเกียรติ ซึ่งไปเป็นพยานในคดี แล้วเข้าใจว่าเป็นพยานปากสุดท้าย ผมมีข้อสังเกตว่า มันมีคนที่เห็นว่าไม่กีดกันเหมือนกัน แต่ว่าเวลาอ่านคำพิพากษา แม้แต่ความเห็นส่วนตนของผู้พิพากษา เสียงข้างมาก ปรากฏว่าไม่ได้มีการให้เหตุผลของฝ่ายที่เห็นว่าไม่กีดกันในคดี ว่าทำไมถึงเห็นว่าไม่กีดกัน
คือมีการเขียนนิดเดียวเอง แล้วบางท่าน ไม่ได้เขียนทุกท่านด้วย มีสืบพยาน ผมเข้าใจว่าอย่างดร. กมลชัย รัตนสกาววงศ์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกทช. เห็นว่าไม่กีดกัน แต่ประเด็นที่ว่าอาจารย์กมลชัยเห็นว่าไม่กีดกัน ไม่มีการสืบ
ผมไม่รู้ว่าฝ่ายทนายคุณทักษิณ ได้อ้างนักวิชาการที่เป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ท่านอื่นหรือเปล่า ที่เห็นว่าเรื่องนี้ไม่กีดกัน อันนี้ไม่ทราบได้ แต่เห็นว่าไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญ อื่นๆ มาคาน หรือชี้ว่าทำไมไม่กีดกัน
ประเด็นหนึ่งที่อาจารย์สมเกียรติพาดพิง บอกว่า คณาจารย์พูดถึงเรื่องจุดคุ้มทุน โดยที่ไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ และไม่มีตัวเลขอะไรเลย ผมเรียนว่า เวลาที่เราวิเคราะห์คำพิพากษา เราวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงในคดี ผมก็อ่านข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษา แล้ววิเคราะห์ไปจากนี้ จริงๆ ที่วิเคราะห์บอกว่า การมีภาษีสรรพสามิตมันไม่ทำให้ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการรายใหม่ มีต้นทุนในการประกอบกิจการสูง กว่าจุดคุ้มทุนจนเข้าตลาดไม่ได้นั้น อันนี้หมายถึงว่าอ่านจากคำพิพากษานั่นเอง
หมายถึง คำพิพากษาไม่ได้มีอะไร ถ้าศาลจะบอกว่ามันกีดกัน ศาลคงต้องชี้ให้เห็นแล้วว่า มันมีต้นทุนยังไงของรายใหม่ที่มันสูง จนถึงเข้าตลาดไม่ได้ คือคณาจารย์ทั้ง 5 ไม่ได้เห็นครับ จึงบอกว่าเรื่องนี้มันจึง จากคำพิพากษาเองไม่ได้บอก เราถึงบอกว่า เมื่อเราดูจาก ตัวที่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น เฉยๆ มันยังไม่พอว่าเป็นการกีดกัน อันนี้คือประเด็นหลัก แล้วข้อเท็จจริงในคดีไม่มีด้วยว่าต้นทุนของผู้ประกอบการรายใหม่มันสูง จนถึงขนาดว่ามันเข้าตลาดไม่ได้ ในคดี
ฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ ถ้าศาลบอกว่ากีดกันก็ต้องคำนวณ เหมือนที่อาจารย์สมเกียรติบอกว่าต้นทุนเป็นยังไงบ้าง แต่ประเด็นหลักของผมเวลาเราพูดเรื่องต้นทุนมันเถียงกันได้เยอะ แต่ประเด็นที่มันมีการพูดกันก็คือว่า ในคำพิพากษา ศาลแสดงให้เห็นแต่เพียงว่า ผู้ประกอบการรายใหม่ จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น เท่านั้นเอง
สรุปง่ายๆ ก็คือว่า รายเดิมคือเอไอเอส จะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ 25% ถ้าจะมีรายใหม่เข้าสู่ตลาด เขาจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับรัฐ 6.5 % ทีนี้เมื่อมีภาษีสรรพสามิตอีก 10 % จึงกลายเป็น 16.5 %
คำถามก็คือ ถ้าเราไม่ดูต้นทุนตัวอื่น ดูแต่เฉพาะส่วนที่ต้องจ่ายให้กับรัฐที่เป็นภาษี ส่วนแบ่งรายได้เทียบกัน ถามว่า 16.5 มันมากกว่า 25 ตรงไหน
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติว่า คุณประกอบกิจการอย่างหนึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเดิม จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรืออะไรกับรัฐ 25 % ผมจะเขาสู่ตลาด ยังไม่มีฐานลูกค้า รัฐบอกว่ากลัวผมแข่งไม่ได้ เก็บผมถูกๆ มองในมุมกลับ(นะ ) มันแฟร์กับคุณหรือเปล่า ถ้าคุณต้องจ่าย 25% ผมจ่าย 5% ทำไมไม่จ่าย 25 เหมือนกัน ผมถึงบอกว่า 16.5 ยังไงมันก็ยังน้อยกว่า
ก็มีการโต้แย้งกันว่า อาจารย์สมเกียรติบอกว่า รายเก่าเข้าตลาดมาก่อนมีฐานลูกค้ามาก แล้วยิ่งลูกค้าเยอะ การถึงจุดที่ได้กำไรมันเป็นเร็วขึ้น มากขึ้น เรื่องนี้ผมเรียนว่า การเข้าตลาดก่อนของรายเก่า มันหมายความว่าเขาแบกรับความเสี่ยงทางธุรกิจไปก่อน ไม่ได้หมายความว่าเขาจะประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เขาเข้าตลาดก่อน แบกรับความเสี่ยงทางธุรกิจไปก่อน
อีกอย่างก็คือ รายเก่าที่เขาทำสัญญาสัมปทานกับรัฐ เขาทำสัญญาสัมปทานแบบ BTO (Build, Transfer, Operate) ซึ่งก็คือ เขาเป็นคนที่ลงทุนเรื่องโครงข่าย ก็คือเขาลงทุนด้วยเงินของเขาเอง โอนให้กับรัฐวิสาหกิจ แล้วก็ประกอบกิจการ เงินลงทุนนี้จำนวนมากนะครับ เพราะว่ารัฐไม่ต้องการลงทุนเอง
รายใหม่ในการเข้าสู่ตลาดไม่ต้องลงทุนส่วนนี้ แล้วถ้าเกิดรายใหม่จะลงทุนตามระบบอันใหม่ ที่เป็นระบบใบอนุญาติ ไม่ใช่ระบบสัญญาณ เขาได้กรรมสิทธิ์ในสิ่งที่เขาลงทุน ขณะที่รายเก่าต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้กับรัฐ แล้วถามว่าตรงนี้ไม่คิดหรือ
ผมไม่แปลกใจเลยว่าบรรดาผู้พิพากษาที่ตัดสินเรื่องนี้ ข้างน้อยข้างหนึ่งคือม.ล. ฤทธิเทพ เป็นท่านท่านเดียวที่พูดถึงประเด็น BTO ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก เพราะมันจะทำให้เห็นว่า รายเก่าในการเขาเข้ายังไง มีต้นทุนการประกอบการยังไง ซึ่งตรงนี้ต้องคิด ซึ่งแน่นอนเข้าก่อนมันก็เป็นธรรมดา มันมีข้อดีข้อเสีย ต้องชั่งน้ำหนักกัน
ปัญหาก็คือว่า มีคนบอกว่าการที่รัฐบาล ออกอันนี้ 10% เพิ่มขึ้นเลย 10% คำถามก็คือ ภาระภาษีเพิ่มขึ้น แต่ถามว่าเพิ่มแล้วที่สุดมันทำให้แข่งไม่ได้หรือเปล่า หรือทำให้เขาไม่มีมูลเหตุจูงใจในการเข้าสู่ตลาดมั๊ย นี่คือประเด็น ซึ่งต้องพรูฟกันว่ามันเป็นการกีดกันยังไง
ท่านก็บอกว่า ตัวพิกัดภาษีมันเลื่อนไปได้ แต่มันยังไม่เกิด แต่ก็มีคนบอกว่ามีคนไม่กล้าลงทุน เพราะเขาก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลขึ้นยังไง เราต้องเข้าใจว่า เวลารัฐบาลจะทำพวกนี้ มันจะต้องดูสภาพตลาดต่างๆ เขาก็บอกว่า วันดีคืนดีคุณทักษิณ ก็ขึ้นภาษีสรรพสามิต ไป 30 ,40% อันนี้คือการคาดเดาแล้ว
ซึ่งแน่นอน อาจจะมีคนบอกว่า คนประกอบธุรกิจเขาอาจจะคาดเดาได้ แต่มันคือการคาดเดา แล้วถ้าเกิดไปอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญรวมทั้งในทางความเป็นจริงด้วย เราจะเห็นได้ว่า ที่เขาทำภาษีสรรพสามิตขึ้นมา เขาต้องการแก้ปัญหาเรื่อง การแปรสัญญาณสัมปทาน ซึ่งมันทำไม่สำเร็จตั้งแต่ปี 2537 ทำมาหลายรัฐบาลแล้วมันทำไม่ได้ แล้วถึงเวลานั้นมีการแปรรูปไปแล้วจากองค์การโทรศัพท์ไปเป็นทีโอที แล้วก็การสื่อสารไปเป็นบริษัทกสท. แล้วต่อไปเอาเข้าตลาด
พอเอาเข้าตลาด มันไปขายหุ้น ในขณะที่ 2 หน่วยได้เงินสัมปทานจากเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ กินเงินสัมปทานมา ต่อไปถ้าไปขายหุ้น เอกชนที่เป็นผู้ถือหุ้น ก็จะได้เงินส่วนแบ่งสัมปทาน ซึ่งไม่ถูกต้อง เขาจึงหาวิธีเอาเงินเข้าคลังโดยตรง ซึ่งเขาก็ตัด 10% เข้าคลังโดยตรง ซึ่งทำให้รัฐได้ประโยชน์โดยตรง
ทีนี้มีคนบอกว่า การออกพรก.สรรพสามิต ไม่ต้องการเก็บภาษีจริงๆ หรอก เพราะว่าออกมา บอกว่า เก็บ 10% แต่จริงๆ ไม่ได้เก็บ เอา 10% ออกไปหักจากค่าสัมปทาน คือ เอไอเอสต้องจ่าย 25% ให้กับทีโอที ก็บอกว่า 10 % ที่เป็นภาษีสรรพสามิต ให้เอาไปหักออกได้จากค่าสัมปทาน ก็คือจ่ายให้กับทีโอที 15 % แล้วจ่ายเข้าคลัง 10% ในความเป็นจริงคือรัฐไม่ได้ภาษี เพราะว่าจะเก็บ แต่เอาตรงนี้ไปหักออกจากส่วนที่เอกชนต้องจ่ายกับรัฐอยู่แล้ว ฟังดูเหมือนว่า แต่เราต้องอธิบายแบบนี้ว่ามาตรการทางภาษี มันเป็นมาตรการที่รัฐใช้แก้ปัญหาการแปรสัญญาณสัมปทาน เป็นมารตรการที่รัฐทำขึ้นเพื่อให้ได้ความมั่นคง ในแง่ของเงินที่จะเข้าคลังโดยตรง
ถ้าเกิดรัฐจะเก็บเงินจริง ๆ ก็เท่ากับว่า เอไอเอสจ่าย 25 % ที่เป็นค่าสัมปทานให้กับทีโอที แล้วยังต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตอีก 10 % ถามว่าภาระไปอยู่กับใครครับ เขาผลักตรงนี้ไปให้ผู้บริโภคก็คือพวกเรา
การที่เอา 10% ไปหัก จึงไม่ทำให้เกิดภาระกับผู้บริโภค เขามีเหตุผลอธิบาย ผมถึงบอกว่า ผมดูทั้งหมดแล้วมันอธิบายทางกฏหมาย มันมีลอว์จิกของมันอธิบายได้ ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้
@ มุมมองอาจารย์วรเจตน์กับอาจารย์สมเกียรติเป็นมุมมองจากกรอบแว่นตาต่างสีหรือเปล่า
ผมไม่แน่ใจ(ครับ) ผมไม่รู้ว่านักเศรษฐศาสตร์เขาคิดยังไง เพราะบังเอิญมีอาจารย์สมเกียรติพูดอยู่ท่านเดียว อาจจะต้องไปถามนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นว่าเขาจะคิดแบบผมบ้างมั๊ย ซึ่งผมเชื่อว่ามีแน่นอน แล้วผมพยายามสำรวจ ตรวจสอบตรรกะของผมดู ผมก็ยังไม่พบว่ามันบกพร่องนะ ในแง่นี้ เพราะมันมีเหตุผลอธิบาย
แล้วมองในทางกลับกัน ถ้าภาษีที่มันเพิ่มขึ้น อาจจะมีผลในการสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันก็ได้ เพราะมันทำให้เราต้องคำนวณดูว่า ถ้าสมมุติว่ารายเดิมมีภาระส่วนแบ่งรายได้สูงมาก รายใหม่น้อยมาก รายเดิมก็อาจจะเสียเปรียบได้ แม้ว่ารายเดิมจะมีฐานลูกค้าอยู่ แต่ถ้ารายใหม่เข้าตลาดมา มันมีส่งผลที่ต้องจ่ายตรงนี้น้อยมาก เพราะดั๊มราคาได้ เข้ามาแข่ง ซึ่งเขาบอกว่าโอเคให้รายใหม่แข่งได้ แต่ว่า ช่องว่างที่ห่างมากเกินไป บางทีมันอาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ กันก็ได้
อีกอันที่ต้องแย้งอาจารย์สมเกียรติก็คือ ผมบอกว่ามันไม่ได้มีการกีดกัน มีคนบอกว่าไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาด แล้วผมบอกว่า ที่มันไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาด เป็นเพราะว่ามันมีปัญหาเรื่องการออกใบอนุญาติของกทช. คือ อาจารย์สมเกียรติบอกว่า ผมไม่ได้พูดถึงความเห็นกฤษฎีกา ที่กทช.เคยถามว่า สามารถจัดสรรคลื่นได้มั๊ย แล้วกฤษฎีกาก็บอกว่า จัดสรรได้ อาจารย์ก็เลยบอกว่า ที่ผมบอกว่า กทช.มีปัญหาว่ามีอำนาจออกใบอนุญาติหรือเปล่า แล้วทำให้มีรายใหม่เข้าสู่ตลาด จริงๆ จริงๆ ไม่ใช่ครับ อาจารย์สมเกียรติเข้าใจตรงนี้คลาดเคลื่อน
คืออย่างนี้ การที่รายใหม่เข้าสู่ตลาด เอาเข้ามาแข่งกับเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ หลังจากที่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้ว รายใหม่เวลาเข้าสู่ตลาด เขาเข้าสู่ตลาดในระบบใบอนุญาติ คือต้องออกใบอนุญาติจากกทช.
ทีนี้มันมี้ปัญหาว่า กทช. มันตั้งขึ้นมาได้ แต่กสช.ตั้งไม่ได้ พอตั้งกสช.ไม่ได้ มันก็ไม่มีคณะกรรมการร่วม มาจัดทำแผนแม่บทคลื่นความถี่ ก็เลยมีปัญหาเถียงกันว่าตกลง ในขณะที่ไม่มีกสช. กทช.จะมีอำนาจในการจัดสรรคลื่นหรือเปล่า
ความเห็นส่วนตัวผม ผมเห็นว่ากทช.มีอำนาจ แต่ว่าก่อนหน้านั้น มันมีปัญหาเถียงกันเรื่องอำนาจของกทช. ว่ามีหรือไม่มี แล้วจนกระทั่งถึงปี 2549 สังเกตปีนะครับ ที่อาจารย์สมเกียรติอ้างกฤษฎีกา ผมจะบอกว่า ปี 2549 กทช. ถามกฤษฎีกาว่าตัวเองมีอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่หรือเปล่า
กฤษฎีกาตอบเมื่อเดือนสิงหาคม เดือนเดียวก่อนการรัฐประหารว่า กทช.สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้ แต่มีเงื่อนไขว่ามันทำในลักษณะซึ่ง ทำไปที่จำเป็น แต่ทำได้ ถ้าเกิดว่ายังไม่มีกทช. ให้จัดสรรไปได้ ความเห็นนี้เกิดขึ้นปี 2549 ตอบคำถามในตัว อาจารย์สมเกียรติว่าแปลว่าอะไร เรื่องนี้ กฤษฎีกาตอบสิงหา 2549 แปลว่า แปลว่ามันมีความไม่แน่ใจในอำนาจกทช.มาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งเรื่องนี้เถียงกันมาตั้งแต่ปี 2546 ยิ่งสนับสนุนความเห็นผม ที่อาจารย์สมเกียรติอ้าง เพราะว่าเขาไม่แน่ใจอำนาจ แล้วถามปี 2549 เรื่องเสร็จ ที่ 386/2549
อีกอันหนึ่งก็คือ ประเด็นเรื่องผู้ประกอบการเดิมตามกำหนดสัมปทานมีสิทธิ์ ดีกว่าผู้ประกอบการ ตามระบบใบอนุญาติ เพราะว่าของเก่าทำสัญญา ของใหม่เป็นใบอนุญาติ โอเค ถูกว่ารายเดิมมีสิทธิ์ผูกขาด แต่ว่าต้องโอนกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินให้กับรัฐนะ แล้วเวลาในการกระกอบกิจการ ใกล้จะหมด เหลือไม่กี่ปี จ่ายค่าสัมปทานแพง 15, 20, 25, 30 หรือ 20 แล้วแต่ แต่รายใหม่แม้ไม่มีสิทธิ์ผูกขาดเป็นผู้รับใบอนุญาติ แต่ว่าเป็นเจ้าของโครงข่ายได้ แล้วถ้าเกิดเข้าสู่ตลาด เป็นระยะเวลายาว อันนี้อาจจะต้องเปรียบเทียบกันนิดนึง
อีกอันที่อาจารย์สมเกียรติแย้งก็คือ ที่ผมบอกว่า ไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาดเลย ที่จริงมีบริษัทหนึ่งคือไทยโมบาย อาจารย์สมเกียรติบอกว่าผมผิด 2 อัน ทั้งประเด็น ข้อเท็จจริงและตรรกะ ผมอธิบายได้ว่า ไทยโมบายไม่ใช่รายใหม่แท้จริงครับ คือ ไทยโมบายเป็นกิจการร่วมค้าที่เกิดขึ้นจากทีโอทีกับกสท. โทรคมนาคมตั้งขึ้นมาให้ทำ อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ตอนนี้เลิกไปแล้ว แล้วไทยโมบายก็ไม่ได้ใบอนุญาตินะครับเพราะว่าใช้สิทธ์ ของทีโอที กสท. นี่แหละทำ เขาจึงไม่ใช่รายใหม่
รายใหม่จริงๆ ไม่มี แล้วไทยโมบายเข้ามาในตลาด ได้เปรียบ คลื่นคุณก็ไม่ต้องจ่าย คือมันเป็นหน่วยที่ 2 องค์กรนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อทำ ฉะนั้นไม่ใช่รายใหม่ แบรนด์อาจจะดูใหม่ แต่ไม่ใช่รายใหม่ในความหมายที่เราพูดกัน ว่าคุณเข้ามา แล้วไปอนุญาติเข้ามา เอาเงินลงทุนเข้ามาลงทุนรายใหม่ ไม่ใช่ แต่วันนี้ไทยโมบายเลิกไปแล้ว ก็เลยมีคนบอกว่านี่ไงเป็นเพราะภาษีสรรพสามิต 10 % ผมบอกว่าไม่ใช่ ไปสรุปแบบนั้นไม่ได้ ไปดูสิครับว่าทำไม ไทยโมบายถึงเลิก
ฉะนั้น อย่าไปสมมุติว่าอันนี้เป็นเพราะ 10 % แล้วอีกอย่างก็คือ อาจจะตลกมากเหมือนกัน ถ้าเกิดจะบอกว่า ไทยโมบาย เป็นกิจการร่วมค้าของทีโอทีกับกสท ซึ่งทีโอที กับ กสท. กระทรวงการคลังถือหุ้น 100 % แล้วมันจะกีดกันยังไง คือตัวรัฐกีดกันไทยโมบาย ซึ่งที่สุดจ่ายไป 10 % เข้าไปก็ไปเข้าตัวเอง ก็ส่งกลับมาได้ คงพูดยากมั้งง ฉะนั้น 10% ไม่น่าจะเป็นประเด็น เพราะกระทรวงการคลังกีดกันตัวเองไม่ได้
ส่วนที่บอกว่า ไม่เห็นว่ามีรายใหม่เข้ามา ไม่ได้แปลว่ารายใหม่ยื่นความประสงค์เข้าตลาด อันนี้ ผมคิดว่ามันเป็นความผิดพลาดทางตรรกะไม่ได้ เพราะว่าปกติในทางธุรกิจ ถ้ามันมีประเด็น มีคนมุ่งประสงค์ ต้องการธุรกิจอย่างนี้จริงๆ มันต้องแสดงตัวว่า เขามีความมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่ตลาดนะ แล้วก็ตอนนี้ภาษี 10 % มันเป็นอุปสรรค ทำให้เขาเข้าสู่ตลาดไม่ได้ แต่ในช่วงที่ผ่านมามันไม่มี มันไม่เห็นความประสงค์ของคน ที่จะเข้าประกอบการ คือ บางทีอาจจะพูดได้ว่ามีคนอยากเข้าสู่ตลาด ผมถามว่าใครล่ะ
ประเด็นสำคัญอีกอันหนึ่งที่ถามว่า แล้วจะเข้าสู่ตลาดเข้าได้มั๊ย ผมจะบอกว่ามันมีปัญหาทางเทคนิคเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องคลื่น ในคลื่น 2 จี ที่ใช้ย่านความถี่ เป็นคลื่น 2 จี มันถูกใช้ไปหมดแล้ว มันมีคลื่นที่เรียกว่าคลื่นฟันหลออยู่ อาจจะเป็นบางช่วง มันใช้การไม่ได้
โดยสภาพ ถ้าออกใบอนุญาติให้กับรายใหม่ มันต้องเรียกคลื่นกลับมาทั้งหมด แล้วมาจัดสรรใหม่ ซึ่งมันจะยุ่งยากมาก เพราะไปกระทบกับสัญญาสัมปทาน ฉะนั้น ประเด็นเรื่องคลื่นก็เป็นปัญหาทางเทคนิกอีกอันหนึ่ง ฉะนั้น การที่ไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาด มันด้วยเหตุปัจจัยอย่างอื่น
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น