จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
“จารุวรรณ” ไม่ขอปฏิบัติตามความเห็นของกฤษฎีกาที่ให้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. เพราะไม่แน่ใจถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากไม่มีอำนาจตีความประเด็นที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระ แถมตัวประธานคณะที่พิจารณายังไม่ชอบกันเป็นการส่วนตัว ยืนยันไม่ยึดติดกับตำแหน่ง แต่หากจะให้ออกต้องเอาพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งมาแสดง เลขาฯกฤษฎีกาแนะอย่าดื้อเพราะถ้ามีคนเอาเรื่องไปฟ้องศาลต้องรับผิดชอบ “มาร์ค” ระบุรัฐบาลจะเดินหน้าสรรหาผู้ว่าการคนใหม่ทันที
ตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ที่มีปัญหามานานมีความชัดเจนขึ้นแล้ว เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าคุณหญิงจารุวรรณได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. ไปแล้ว
คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ตามประกาศคณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 29 ระบุว่าให้ผู้ว่าการ สตง. ดำรงตำแหน่งถึงวันที่ 30 ก.ย. 2550 จากนั้นให้มีการสรรหาใหม่ภายใน 90 วัน โดยในระหว่างการสรรหาผู้ว่าการ สตง. คนใหม่ให้อยู่ในตำแหน่งพลางต่อไปได้ ดังนั้น คุณหญิงจารุวรรณจึงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อย่างมากแค่ 90 วัน
เตือนต้องรับผิดชอบเป็นคดีที่ศาล
อย่างไรก็ตาม สตง. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ผลการวินิจฉัยของกฤษฎีกามีผลผูกพันเฉพาะหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ คุณหญิงจารุวรรณจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยหรือไม่ก็เป็นสิทธิ แต่อยากเตือนว่าหากยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปแล้วมีคนเอาเรื่องไปฟ้องศาล ศาลเกิดเห็นด้วยกับแนวทางของกฤษฎีกาคุณหญิงจารุวรรณก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ
ทุกหน่วยงานต้องรับฟังกฤษฎีกา
“ปรกติทุกหน่วยงานจะรับฟังความเห็นของกฤษฎีกา และกรณีนี้หากเป็นตนก็จะไม่อยู่ในตำแหน่งต่อไป อย่างไรก็ตาม หากคุณหญิงจารุวรรณยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาการผู้ว่าการ สตง. สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ เพราะถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเนื่องจากเกิดปัญหาอำนาจทับซ้อน” คุณพรทิพย์กล่าวและว่า การปฏิบัติงานช่วงที่ผ่านมาของคุณหญิงจารุวรรณไม่ถือว่าเป็นโมฆะ เพราะกฎหมายระบุว่าหากมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติสิ่งที่ลงนามปฏิบัติมาก็ถือว่ายังใช้ได้
ด้านคุณหญิงจารุวรรณให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง ที่ยังอยู่เพราะว่ามีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจน
“จารุวรรณ” อยากให้ชัดเจนก่อน
“ตอนอายุครบ 65 ปีก็เก็บข้าวของเตรียมกลับบ้านแล้ว เตรียมงานเลี้ยงอำลาไว้แล้ว แต่มีผู้รู้ทางกฎหมายมาเตือนว่าให้คิดให้ดี เพราะเขาเห็นว่ายังไม่พ้นตำแหน่งก็ทำให้เราลังเล” คุณหญิงจารุวรรณกล่าวและว่า ในประกาศ คปค. ฉบับที่ 12 เขียนไว้ชัดเจนว่า ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2549 หลังปฏิวัติให้ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน แล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2549 เปลี่ยนเป็นประกาศฉบับที่ 29 บอกว่าให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้นคือดิฉัน ให้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และให้มีการสรรหาภายใน 90 วัน และวรรคสุดท้ายของประกาศนี้ระบุว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้น ซึ่งก็คือตัวดิฉันเอง ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน ก็เป็นอันที่วินิจฉัยชี้ขาดได้ โดยเฉพาะมาตรา 5 ของกฎหมาย สตง. ให้อำนาจผู้รักษาการกฎหมายคือประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพราะฉะนั้นก็ต้องดูว่าที่ถูกนั้นเป็นอย่างไรเพราะไม่อยากเสี่ยงผิด บังเอิญเป็นช่วงเดียวกันกับที่ที่ปรึกษากฎหมายของประธานวุฒิสภาพิจารณาเรื่องนี้แล้วเขาสรุปว่าต้องอยู่ต่อก็เลยอยู่ต่อ และเมื่ออยู่ต่อก็ต้องทำงาน หากไม่ทำก็เป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่
สงสัยกฤษฎีกาดันทุรังตีความ
คุณหญิงจารุวรรณกล่าวอีกว่า กฤษฎีกานี่มาแปลกมาก บอกให้พ้นตำแหน่งทั้งที่ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ไม่รู้ว่าทำไมต้องชี้ขาดออกมาให้ได้
“ขอคัดค้านคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธาน ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ แต่เพราะอะไรไม่ทราบท่านไม่ค่อยชอบเราเท่าไร เราทำเรื่องขอถอนการหารือตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา แต่ไม่รู้ทำไมยังต้องเดินหน้าวินิจฉัยเรื่องนี้ ทั้งที่ตามระเบียบของกฤษฎีกาจะไม่รับข้อหารือขององค์กรอิสระ อย่างเมื่อปี 2548 ก็มีปัญหาใน คตง. ที่มีรักษาการท่านหนึ่งส่งเรื่องไปให้ตีความ กฤษฎีกาตอบกลับมาว่าไม่รับหารือ ผลที่ออกมาจึงไม่รู้ว่าถูกหรือไม่” คุณหญิงจารุวรรณกล่าวและว่า จะไม่เอาความเห็นของกฤษฎีกาและที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภามาผูกพัน และไม่ทราบว่าคำตอบสุดท้ายของเรื่องนี้จะอยู่ที่ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวก็อยากให้เกิดความชัดเจน
ต้องมีพระบรมราชโองการจึงจะออก
“ไม่ต้องการอะไรที่ไม่ถูกต้อง ถ้าจะให้ไปอย่างเดียวที่เทิดทูนอยู่เสมอคือไปเอาพระบรมราชโองการมา ไม่ยึดติด เก็บของแล้วด้วย แต่ขอไปอย่างถูกต้อง” คุณหญิงจารุวรรณกล่าว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องยึดถือตามความคิดเห็นของกฤษฎีกาที่ต้องเร่งสรรหาคนใหม่ ระหว่างนี้เรื่องการบริหารจัดการสำนักงานให้รักษาการผู้ว่าการ สตง. ทำไปพลางก่อนได้ แต่ไม่มีอำนาจทำงานในส่วนของอำนาจหน้าที่ผู้ว่าการ สตง. ที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ
ส.ว. เฉ่งรัฐบาลแทรกแซง สตง.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรยืมมือกฤษฎีกาแทรกแซงการทำงานของ สตง. เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนจะได้ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้
“ผมข้องใจว่ากฤษฎีกาคณะที่ 1 ที่มีนายมีชัยเป็นประธานเห็นว่าคุณหญิงจารุวรรณต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะประกาศ คปค. ให้สรรหาผู้ดำรงตำแหน่งใหม่ภายใน 90 วัน เลยอยากจะถามว่าตอนนั้นนายมีชัยเป็นประธาน สนช. อยู่ทำไมถึงไม่สรรหาผู้ว่าการ สตง. คนใหม่ตามประกาศของ คปค. ผลการตีความที่ออกมาก็มีประเด็นขัดแย้งกันเองในหลายเรื่อง ดังนั้น คณะกรรมาธิการจะตรวจสอบการทำหน้าที่ของกฤษฎีกาคณะของนายมีชัยว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ เพราะทั้งในข้อกฎหมายและในระเบียบของกฤษฎีกาจะไม่รับวินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ คณะกรรมาธิการจะเรียกเลขาธิการกฤษฎีกามาชี้แจงเรื่องนี้ และจะเชิญนายพิศิษฐ์มาชี้แจงกรณีออกหนังสือเวียนให้พนักงาน สตง. ยึดแนวทางปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาด้วย เพราะได้แอบอ้างลงลายมือชื่อในฐานะรักษาการผู้ว่าการ สตง. ถือว่าขัดกับหลักธรรมาภิบาล เนื่องจากผู้ว่าการ สตง. ตัวจริงยังไม่พ้นตำแหน่ง”
ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ปกป้องเพราะต้องการตอบแทนบุญคุณที่ได้รับการเสนอชื่อจาก สตง. ให้เป็น ส.ว. หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า การจะได้รับเลือกเป็น ส.ว. หรือไม่อยู่ที่ดุลยพินิจของกรรมการสรรหา 7 คน ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครเป็นผู้เสนอรายชื่อมา ยืนยันว่าเรื่องนี้ทำงานตามหน้าที่
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น