--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พระวิหาร-ชายแดน-ปืนและบังเกอร์ สงคราม-ชีวิตจริงจากปากคนศรีสะเกษ

ประชาชาติธุรกิจ

บทสัมภาษณ์

ทุกหย่อมหญ้ามีการหารือ-ถกถาม กระแส "เขาพระวิหาร"

ทุกฝ่าย ทุกขบวน ได้เสนอทางออก ทางแยก ระหว่างไทย-กัมพูชา

ทั้งคนที่กรุงเทพฯ-ทั้งคนในฝรั่งเศส ถึงกรรมการมรดกโลก ต่างชี้ทางออก

ทุกฝ่ายมีเอกสาร หลักฐาน ประวัติศาสตร์ ประกอบการพิจารณา

ฟังจากปากคนในพื้นที่ริมขอบปราสาทพระวิหาร ย่านชายแดน จ.ศรีสะเกษ ในฐานะ ส.ส. เพื่อไทยและกรรมาธิการต่างประเทศ "ธเนศ เครือรัตน์" เสนอทางออก

- กรณีปราสาทพระวิหารคนในพื้นที่มีกระแสชาตินิยมหรือไม่

คนศรีสะเกษก็รักแผ่นดินกันทุกคน แต่เรื่องปราสาทพระวิหารมีการตัดสินมาตั้ง 40 กว่าปีมาแล้ว ศาลก็ตัดสินไปแล้ว ในเมื่อศาลตัดสินไปแล้ว ก็ผ่านมาแล้ว แต่ทำยังไงจะให้เราใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทำยังไงจะมีการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์จังหวัด

- ความทรงจำในท้องถิ่นมีความขัดแย้ง อยากเอาคืนปราสาทหรือไม่

ไม่มีความคิดอย่างนั้น เพราะเมื่อก่อนประชาชนที่จะไปเที่ยวปราสาทเขาพระวิหารก็มาขึ้นที่ฝั่งไทย แล้วมีการเก็บเงิน ค่าผ่านทางขึ้นไป โดยในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณก็มีการเก็บค่าผ่านทางขึ้นไปแล้วเอาเงินมาแบ่งกับฝ่ายกัมพูชา

ผมคิดว่าคนศรีสะเกษต้องการเห็นภาพแบบนั้นมากกว่าการถือปืนเอาบังเกอร์มาตั้ง ผมบอกตรง ๆ ประชาชนบริเวณชายแดนไม่ว่าไทยหรือกัมพูชาเขาก็ไปมาหาสู่เป็นพี่น้องกัน มีญาติอยู่ฝ่ายกัมพูชา เราไม่มีความรู้สึกว่าเป็นศัตรูกัน

สิ่งที่อยากจะบอกไป ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มไหน ก็ไม่อยากให้ไปเคลื่อนไหวบริเวณชายแดน เพราะอาจจะมีการปะทะตามมา นำมาสู่การเสียชีวิตอย่างมโหฬารของคนในพื้นที่

กลายเป็นว่าคนที่อื่นมาทำให้คนท้องถิ่นเดือดร้อน เวลามีการปะทะกันก็เป็นชาวบ้านที่เจ็บ ไม่ใช่การปะทะระหว่างคนเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง และประชาชนแถวนั้นก็มีคนพิการเยอะอยู่แล้วเพราะเหยียบกับระเบิด ระหว่างทำไร่ทำนาก็เจอระเบิดบ้าง บางคนก็พิการกันอยู่ ไม่ต้องการสงครามอีก เกลียดสงครามไปเลย เขาก็เข็ดหลาบกับสงคราม

- ในฐานะเป็น ส.ส.ศรีสะเกษและเป็นกรรมาธิการการต่างประเทศได้เสนออะไรไปกรณีปราสาทพระวิหาร

ได้มีมติของคณะกรรมาธิการไปแล้วว่า จะให้ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาและแก้ปัญหากรณีปราสาทพระวิหารและกรณีพื้นที่ทับซ้อน หรืออาจจะตั้งกรรมการขึ้นมา โดยให้มีอายุยาวไปจนถึง ปีหน้า ไม่ว่าสภาจะหมดวาระลงเมื่อไหร่ เพราะว่าปีหน้าเป็นปีที่จะต้องมีรัฐบาลใหม่เข้ามารับช่วงต่อ ซึ่งอาจจะเป็นรัฐบาลไหน ก็ยังตอบไม่ได้

ถ้าเป็นกรรมการชุดที่ทางรัฐบาลหรือ นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นมาคิดว่าจะสูญเสียความเป็นกลาง จึงอยากได้คณะกรรมการที่เป็นกลางประกอบจากหลายส่วน เช่น ส.ส. ส.ว. กรรมการสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ หรือผู้ที่อยู่ในคณะกรรมการเจบีซี หรือผู้เชี่ยวชาญกรมแผนที่ทหาร

คนศรีสะเกษอยากให้เปิดจะได้มีคน ต่างชาติมา หรือนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมปราสาทพระวิหาร

- ขณะที่ในกรุงเทพฯมีความคิดแบบชาตินิยมแต่ในพื้นที่ศรีสะเกษบรรยากาศเป็นอีกแบบ

ผมไม่อยากให้รัฐบาลมาโหนกระแสชาตินิยมตอนนี้ ผมเข้าใจว่าขณะนี้กำลังโหนกระแสชาตินิยมอยู่ คือผมอยากให้คิดถึงหลักของความเป็นจริงแล้วมาหา วิถีทางออกว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเหมือนที่เคยเป็นมา

คนในพื้นที่ไม่ใช่ว่าเขาไม่รักประเทศไทย แต่เขาเห็นว่าศาลได้ตัดสินไปแล้ว ทำอย่างไรที่จะมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ในส่วนพื้นที่ทับซ้อน การปักหลักเขตแดนก็ต้องว่ากันไป เป็นเรื่องเทคนิค อันนี้เราไม่ยอมอยู่แล้ว แต่ผมคิดว่าทางที่ดีที่สุดตอนนี้คือต้องเจรจา แต่สำคัญว่าเขาจะยอมเจรจากับเราหรือเปล่า เราต้องคุยกัน แต่ถ้าเราใช้ลัทธิคลั่งชาติบอกว่า ถ้ารุกล้ำอธิปไตยแล้วจะใช้กำลังทหาร ผมคิดว่าวิธีการแบบนี้รังแต่จะเกิดสงคราม

- มิติความสัมพันธ์ทางการค้าชายแดน เป็นอย่างไรบ้าง

ในช่วงเหตุการณ์ปกติ ก็มีการค้า โดยเฉพาะที่ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ เป็นจุดผ่านแดนถาวร มีการค้าบริเวณชายแดน ปีหนึ่งนับพันล้าน ก็เกรงว่าจะกระทบ และส่วนตัวได้ยินข่าวว่า จ.สระแก้ว เริ่มมีผลกระทบการค้าและความสัมพันธ์แล้ว

ในปี 2551-2552 เฉพาะช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ช่องเดียวปีหนึ่งมีการค้าร่วมพันล้าน แตˆ็คงต้องลดลง เพราะการเข้าออกลำบากขึ้น เพราะอยู่ถัดไปจากปราสาทพระวิหารไป 1 อำเภอ - จากข้อขัดแย้งบริเวณปราสาทพระวิหารจุดเดียว

ตอนนี้กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศไปแล้ว ไม่ใช่จุดเล็ก ๆ จุดนั้นไปแล้ว ทางกัมพูชาเองก็สร้างกระแสชาตินิยมในส่วนกัมพูชาเอง ของเราก็มาโหนกระแสชาตินิยม ผมก็คิดว่าไม่ใช่ทางแก้ปัญหา และทางกัมพูชาก็เอาเจ้าหน้าที่ยูเนสโกเข้ามาดูใน พื้นที่หลายครั้งแล้ว ส่วนยูเอ็นก็เข้ามาแล้ว

- มีการสร้างถนนของทางกัมพูชาในบริเวณนั้น

ในเอ็มโอยูปี 2543 ข้อ 5 ห้ามเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศในบริเวณนั้น ผมเคยถามกระทรวงการต่างประเทศกรณีการสร้างถนนของฝ่ายกัมพูชา ได้รับคำตอบว่า กระทรวงการต่างประเทศจะประท้วงไปเรื่อย ๆ พอประท้วงกัมพูชาก็หยุดสร้าง แป๊บหนึ่ง แล้วเขาก็สร้างต่อ จนไป ๆ มา ๆ ถนนเสร็จไป 2 สาย ขึ้นมาถึงปราสาทพระวิหารได้

กระทรวงการต่างประเทศหรือฝ่ายความมั่นคงมีวิธีการอย่างอื่นไหม เพราะตอนนี้มีวัด มีถนน จะไปทำสงครามก็ลำบากแล้ว ทำสงครามได้ ถ้ารัฐบาลยอมรับความสูญเสียที่จะตามมา

- ทางออกที่เป็นไปได้ในสายตาคนพื้นที่คืออะไร

มีทางออกเดียวคือเจรจา สร้างความสัมพันธ์ที่ดี ส่งนักการทูต ส่งเอกอัครราชทูตเรากลับไปก่อน สร้างความสัมพันธ์ ให้เป็นระดับปกติก่อน แล้วอย่างอื่นค่อยว่าทีหลัง โดยส่วนตัวไม่คิดว่าการสร้างสงครามจะแก้ปัญหา

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น