โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน
ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนั้นพูดกันมาโดยตลอด แต่ไม่มีรัฐบาลใดสามารถแก้ไข นับวันยิ่งมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างด้านรายได้ ช่องว่างทางการเมือง หรือช่องว่างทางชนชั้น
ล่าสุดการสัมมนาวิชาการประจำปีในหัวข้อ “ยกเครื่องเศรษฐกิจการคลัง ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม” ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ปัญหาการกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำในสังคมนับจากปี 2535 ถือว่าแตกต่างกันสูงมาก หากดูในแง่รายได้ของคนรวย 20% แรก แต่มีเม็ดเงินรายได้สูงถึง 54% ของรายได้ของประเทศ ขณะที่คนจน 20% สุดท้ายของประเทศมีรายได้รวมกันเพียง 4.8% ของรายได้รวม
ขณะที่ฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากรพบว่ามีผู้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเพียง 9 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 64 ล้านคน ในจำนวนที่ยื่นแบบเสียภาษีมีผู้เสียภาษีจริงเพียง 2.3 ล้านคน อีกประมาณ 7 ล้านคนไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีต่างๆที่มีจำนวนมาก และในผู้เสียภาษีจริงนั้นมีเพียง 60,000 คนเท่านั้นที่ต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุด 37% สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ามีการกระจุกตัวของรายได้ในกลุ่มคนรวยเพียงไม่กี่คน และเพียงไม่กี่คนที่เลี้ยงคนทั้งประเทศเช่นกัน
นอกจากนี้การจัดอันดับการกระจายรายได้ของไทยอยู่ในอันดับที่ 50 ของโลก สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมยังมีมาก รวมทั้งความเหลื่อมล้ำด้านโครงสร้างภาษี โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตที่ไม่เป็นธรรมสูงมาก ทั้งยังมีอุปสรรคในข้อกฎหมายและการตีความต่างๆ
สอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2535 การกระจายรายได้ของประเทศไทยแย่มากขึ้น โดยประชาชน 50-60% ทำงานนอกระบบ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงและมีรายได้ไม่แน่นอน การกระจายการถือครองที่ดินกระจุกอยู่กับคนส่วนน้อย คือ 10% ของคนทั้งประเทศเป็นผู้ถือครองที่ดินมากว่า 100 ไร่ ส่วนที่เหลือ 90% เป็นผู้ถือครองที่ดินน้อยกว่าหรือ 1 ไร่เท่านั้น
เช่นเดียวกับตัวชี้วัดความมั่งคั่งจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า 42% ของเงินฝาก 70,000 บัญชี มีเงินมากกว่า 10 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.09% ของจำนวนบัญชีทั้งหมดในประเทศไทย หรือเท่ากับ 42% ของเงินฝากทั้งหมดมีคนเพียง 35,000 คนเป็นเจ้าของ ส่วนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯระหว่างปี 2538-2547 พบว่า 11 ตระกูลเท่านั้นที่ผลัดกันเป็นเจ้าของหุ้นที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก
นี่คือความจริงที่สังคมไทยไม่ยอมรับคำว่า “ไพร่-อำมาตย์” เหมือนความอยุติธรรมหรือ 2 มาตรฐานที่อยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการที่ฆ่าประชาชนโดยไม่มีความผิด
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น