--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กี่มาตรฐาน

โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน

กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพวกรวม 79 คน รับทราบข้อกล่าวหาบุกรุกสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองกับพนักงานสอบสวน ซึ่งถูกดำเนินคดีทั้งหมด 12 ข้อหา โดยข้อหาที่ร้ายแรงที่สุดคือก่อการร้ายและซ่องโจร แต่ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรส่งมาให้พนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน จากนั้นทั้งหมดก็เดินทางกลับโดยไม่ต้องยื่นประกันตัว เนื่องจากพนักงานสอบสวนอ้างเข้าพบตามหมายเรียก แต่นายสนธิและพวกก็ประกาศจะฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ดูแลคดีนี้จนถึงที่สุด

อย่างไรก็ตาม กรณีการปล่อยตัวพันธมิตรฯทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทันทีว่าเป็นการปฏิบัติ 2 มาตรฐานหรือไม่ เพราะกรณีแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ซึ่งถูกกล่าวหาเป็นผู้ก่อการร้ายและเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนเช่นกัน กลับไม่ได้รับการประกันตัวและถูกคุมขังจนถึงทุกวันนี้

ที่สำคัญแม้แต่การชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” 91 ศพ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับผิดชอบจนขณะนี้ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ แต่กลับนำไปให้อัยการประกอบสำนวนส่งศาลชั้นต้นเพื่อไต่สวนและอัยการสูงสุดก็สั่งฟ้องโดยไม่ปฏิบัติตามวิธีพิจารณาความอาญานั้น ก็มีคำถามเช่นกันว่าเป็นการให้ความเป็นธรรมหรือไม่

ยิ่งย้อนกลับไปถึงการยึดสนามบินสุวรรณภูมิของพันธมิตรฯ นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2551 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ระบุว่า สร้างความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยคาดว่าทำให้มีผู้โดยสารนานาชาติ 700,000 คนต้องได้รับผลกระทบและสร้างความเสียหายมากถึง 200,000 ล้านบาท จากการท่องเที่ยว ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ

ขณะที่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยระบุว่า ทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถเดินทางเข้าออกจากสนามบินสุวรรณภูมิได้ 110,000 คนต่อวัน เที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกไม่สามารถขึ้นลงได้ 700 เที่ยวต่อวัน

ที่สำคัญ กว่าที่กลุ่มพันธมิตรฯจะเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกก็ใช้เวลายาวนานถึงกว่า 600 วัน แถมยังได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องยื่นประกันใดๆอีก

ดังนั้น เมื่อพิจารณาคดีของพันธมิตรฯกับคดีของแกนนำ นปช. หากนำคดีมาเปรียบเทียบกันโดยให้นักกฎหมายหรือผู้ที่ไม่ใช่นักกฎหมายใช้ดุลยพินิจว่า การดำเนินการของพนักงานสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ดีเอสไอ หรือกระบวนการยุติธรรมต่างๆที่ผ่านมา มีความยุติธรรมและเสมอภาคแตกต่างกันอย่างไร คนทั้งแผ่นดินก็รู้ดีว่ากระบวนการยุติธรรมวันนี้มีกี่มาตรฐาน

**********************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น