--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความอยุติธรรม

โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน มอบหมายให้ทนายความไปพบอัยการสูงสุดเพื่อร้องขอความเป็นธรรมกรณีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยื่นหนังสือให้อัยการเร่งรัดสั่งคดีกับแกนนำ นปช. ซึ่งจะครบอำนาจฝากขังตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 84 วัน ในวันที่ 7 กันยายนนั้น อาจจะฟ้องให้ดำเนินคดีการแทรกแซงอัยการสูงสุด

และในสัปดาห์หน้าจะตั้งกระทู้ถามนายพีระพันธุ์ในเรื่องนี้เช่นกัน รวมถึงกรณีจุดที่มีการยิง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ที่มีข่าวว่าอยู่บริเวณโรงแรมของแม่ยายนายพีระพันธุ์ ทั้งยังมีข่าวการใช้งบราชการลับผ่านกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปยังอัยการบางคนเพื่อให้เร่งดำเนินคดีกับแกนนำ นปช. ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีรัฐมนตรีคนใดมีพฤติกรรมเช่นนี้

กรณีนายพีระพันธุ์มีหนังสือไปยังอัยการเพื่อเร่งรัดคดีแกนนำ นปช. ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็ยากที่จะปฏิเสธได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรและน่าตำหนิอย่างยิ่ง ส่วนจะมีผลต่อการฟ้องแกนนำ นปช. หรือไม่นั้น ฝ่ายอัยการเองก็ต้องอึดอัดใจ เพราะอัยการเป็นหน่วยงานอิสระเช่นเดียวกับศาล

แม้แต่ดีเอสไอซึ่งมีฐานะเป็นพนักงานสอบสวน หากยังอยู่ภายใต้การกำกับของฝ่ายการเมืองก็ยากจะพ้นข้อครหาเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ เหมือนการทำงานของดีเอสไอขณะนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส ขณะที่อธิบดีดีเอสไอยังก็เป็นกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีบทบาทสำคัญในการกล่าวหาและจับกุมคนเสื้อแดง

เรื่องของกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นประเด็นหรือปัญหาสำคัญของบ้านเมือง ซึ่งที่ผ่านมากรณีตุลาการภิวัฒน์ก็เป็นบทเรียนให้เห็นแล้วว่ามีผลต่อความเชื่อถือและศรัทธาอย่างไรกับองค์กรตุลาการ ซึ่งถือเป็นองค์กรสุดสุดท้ายองค์กรเดียวที่ประชาชนจะพึ่งพา

ขณะที่กระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นไม่ว่าตำรวจและอัยการก็ถูกครหาเรื่องความยุติธรรมและเลือกปฏิบัติ เช่นเดียวกับองค์กรอิสระต่างๆที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในวิกฤตของบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฯลฯ

เพราะวันนี้วิกฤตที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นความหายนะของบ้านเมืองอย่างยิ่งแล้ว แต่หากประชาชนยังพึ่งไม่ได้แม้แต่สถาบันตุลาการก็ถือว่าวงการยุติธรรมไทยย่อยยับและอัปรีย์ถึงที่สุดแล้ว

**********************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น