จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
ลอนดอน : บีบีซีอ้างความเห็นนักการเมืองและนักวิชาการไทยหลังวิกฤตพฤษภาฯผ่านไป 3 เดือน “ไกรศักดิ์” ระบุมาตรการทางกฎหมายช่วยระงับความรุนแรงที่กลุ่มคนเสื้อแดงก่อขึ้น “ฐิตินันท์” ชี้แม้สถานการณ์สงบลงแต่ที่จริงยังคุกรุ่นอยู่ ด้าน ”สุขุมพันธุ์” ยืนยันรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องให้ “ทักษิณ” เข้ามาร่วมเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้ง
สำนักข่าวบีบีซีโดยวอดีน อิงแลนด์ เขียนบทความชื่อ Divided Thailand seeks elusive “normalcy“ (ประเทศไทยที่แตกแยกพยายามหวนคืนสู่สภาวะปรกติ ซึ่งเป็นไปได้ยาก) วิเคราะห์สถานการณ์ในประเทศไทยหลังจากเหตุการณ์รุนแรงจากการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า มองแวบแรกดูเหมือน “สภาวะปรกติ” ได้กลับคืนสู่กรุงเทพฯอีกครั้งหนึ่งแล้ว การจราจรติดขัดเหมือนเดิม ศูนย์การค้าคึกคัก และข้อความที่แสดงถึงความเป็นสยามเมืองยิ้มยังปรากฏอยู่
รัฐบาลไทยกำลังดำเนินภารกิจ สภากำลังอภิปรายร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เป็นการให้รางวัลแก่พันธมิตรในรัฐบาลผสมและกองทัพ และยังมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือคนยากจน
แต่ 3 เดือนหลังจากที่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลยุติลงด้วยการที่ฝ่ายทหารเข้าปราบปรามผู้ประท้วงจนมีผู้เสียชีวิต 91 คน มีบางคนวิจารณ์ว่า “การหลอกหลวงครั้งใหญ่” กำลังดำเนินอยู่
มองอย่างผิวเผินความเป็นปรกติที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พยายามจะให้เกิดขึ้นดูเหมือนมาถึงแล้ว มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นหลายคณะที่นำโดยบุคคลชั้นนำในสังคมไทยเพื่อค้นหาความจริงและสร้างความปรองดอง ขณะที่แกนนำผู้ประท้วง 17 คนที่ถูกเรียกว่า ”กลุ่มคนเสื้อแดง” ถูกตั้งข้อหาว่าก่อการร้าย
“ผมคิดว่าการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายทำให้เราสามารถระงับความรุนแรงที่กลุ่มคนเสื้อแดงได้ก่อขึ้น และการใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินก็ช่วยสกัดกั้นแรงกระตุ้นที่จะนำไปสู่ความรุนแรง” นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวและว่า “การสร้างความสมานฉันท์ดำเนินไปค่อนข้างช้า ไม่ว่าในกลุ่มคนเสื้อแดงหรือผู้ที่จงรักภักดีต่ออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กลุ่มสุดขั้ว กลุ่มสังคมนิยมแบบเฟเบียน กลุ่มสาธารณรัฐ และนักวิชาการฝ่ายซ้ายซึ่งยากที่จะเอื้อมถึง”
นายไกรศักดิ์กล่าวว่า อยากเห็นกระบวนการทางกฎหมายขับเคลื่อนให้เร็วกว่านี้เพื่อสร้างความยุติธรรม และว่ารัฐบาลยังไม่มีแผนจัดการเลือกตั้งจนกว่าจะถึงเวลา ซึ่งคาดว่าจะเป็นเดือนธันวาคมปีหน้า
แต่การที่รัฐบาลอ้างว่าพยายามทำให้สถานการณ์คืนสู่สภาวะปรกติเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่ รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกว่า “การหลอกลวงครั้งใหญ่” โดยกล่าวว่า “แม้สถานการณ์ดูสงบลงแต่ที่จริงยังคุกรุ่นอยู่” และว่าคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์เป็นเพียง “เครื่องมือซื้อเวลา” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการประนีประนอมอย่างแท้จริง
ยิ่งกว่านั้น รศ.ดร.ฐิตินันท์เชื่อว่ารัฐบาลกำลังปราบปรามไม่ใช่สร้างความสมานฉันท์ โดยกล่าวว่า การที่รัฐบาลนำงบประมาณไปใช้สร้างความนิยมในด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งก็ใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อกำราบฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล แต่ที่จริงรัฐบาลน่าจะใช้ทางเลือกอื่นๆด้วยเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาของประเทศ
ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยแตกแยกอย่างหนัก โดยวิกฤตการณ์ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤษภาคมมีลักษณะเฉพาะ ไม่เหมือนกับวิกฤตการณ์เมื่อ 1992 ปี 1976 หรือปี 1973 ความแตกแยกครั้งนี้หยั่งลึกมาก วิกฤตการณ์ครั้งก่อนๆเป็นเรื่องการเมืองแท้ๆ แต่ครั้งนี้ส่งผลกระทบไปทุกระดับของสังคม
“สำหรับผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมทางการเมืองกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผมคิดว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายมาก ทุกสิ่งทุกอย่างจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาและฟื้นฟู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวพร้อมทั้งยืนยันว่า รัฐบาลต้องเข้าใจว่าจำเป็นที่จะต้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามาร่วมในการเจรจาใดๆก็ตามเพื่อยุติความขัดแย้ง และสิ่งที่ยากที่สุดคือการสร้างความเข้าใจว่า นี่คือรัฐบาลของชาติ ไม่ใช่รัฐบาลของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ทิ้งท้ายว่า มีหลายประเด็นที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงได้หยิบยกขึ้นมาพูด โดยเรื่องเหล่านี้จะต้องได้รับการพิจารณาไม่ใช้ปล่อยทิ้งไป
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น