โดย : ทศพร โชคชัยผล
การปลุกกระแสชาตินิยมในสังคมไทยยุคใหม่ เป็น"ชาตินิยมโลกาภิวัฒน์" ตั้งแต่ขบวนการต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณ จนถึงกรณีเขาพระวิหาร
นักวิชาการบางท่านเตือนว่าการปลุกกระแสชาตินิยม จากกรณีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเขาพระวิหาร จะนำไปสู่ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาอย่าง"ร้าวลึก" และหากความขัดแย้งยังดำรงต่อไป ก็ยิ่งยากมากขึ้นในการ"เยียวยา"ความรู้สึกแบบเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน
อันที่จริง นักชาตินิยมที่ปลุกกระแสประเด็นเขาพระวิหาร ก็ไม่ได้กังวลนักกับความสัมพันธ์กับประเทศกัมพูชา ที่เรียกติดปากว่า"เขมร" เพราะพวกเขาไม่ได้มองคนเขมรอยู่ในสายตาอยู่แล้ว อย่างน้อยพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของสำนึกประวัติศาสตร์แบบ"ไทยๆ"ที่มักมองเพื่อนบ้านตัวเองมีสถานะต่ำต้อยกว่า โดยเฉพาะกัมพูชาด้วยแล้ว พวกเขามักจะมองว่าเป็นประเทศที่ไว้ใจไม่ได้ มีประวัติศาสตร์ตามสำนึกของคนไทยว่าเป็น"จอมหักหลัง"
บางคนคลั่งชาติมากหน่อย ถึงขนาดต้องการให้กองทัพไทยบุกยึดเขาพระวิหารเสียเลยให้สิ้นเรื่องสิ้นราว
ไม่ว่าประเด็นเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเขาพระวิหารจะลงเอยอย่างไร แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ "กระแสชาตินิยมยุคใหม่"ของคนไทยที่เกิดขึ้นในช่วง 5-10 ที่ผ่านมา มีปัจจัยหลายประการที่มีความแตกต่างจากชาตินิยมยุคเก่า เช่น ยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่บรรดานักประวัติศาสตร์จะหยิบเป็นตัวอย่างอันน่ารังเกียจเสมอเมื่อกล่าวถึงอันตรายของชาตินิยม รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า "มรดกจอมพล ป."
"ชาตินิยมยุคใหม่"ในที่นี้ หมายถึงปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของผู้คนที่หยิบเอาประเด็นความเป็น"ชาติ"ของคนไทย ขึ้นมาใช้ในยุคใหม่ และยุคใหม่ที่กล่าวในที่นี้ หมายถึงยุคที่สังคมไทยเผชิญกับ"โลกาภิวัตน์"ในยุคของทุนสื่อสารและการเงินในระดับโลก ซึ่งเป็นลักษณะ"โลกาภิวัฒน์"ในยุคหลัง ที่เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนและข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว อันเนื่องจากการปฏิวัติเทคโนโลยี"ข้อมูลข่าวสาร"ครั้งสำคัญ
กระแสชาตินิยมในยุคใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ขอตั้งเป็นข้อสังเกต ดังนี้
1. กระแสชาตินิยมในสังคมไทยขณะนี้ บางคนว่าเป็น"พวกเสื้อเหลือง" แต่เราก็พบเห็น"เสื้อแดง"เขาเอามาเคลื่อนไหวเช่นกัน แต่ความรู้สึกชาตินิยมที่เกิดขึ้นในกรณีเขาพระวิหาร ถือเป็น"ความต่อเนื่อง"ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ขบวนการเสื้อเหลืองที่ต่อต้านรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และประเด็นเขาพระวิหารก็ถกหยิบยกมาใช้เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาโจมตีว่า"ขายชาติ"
2. "ชาตินิยม"ในขบวนการเสื้อเหลือง(ล่าสุดเป็นพรรคการเมืองใหม่)มีแง่มุมที่น่าสนใจ คือ ไม่ได้มีการรื้อฟื้น"วัฒนธรรมแห่งชาติ" หรือ การกลับมาไปหาอดีตของชาติ แต่เป็นเรื่อง"ประโยชน์"ที่จับต้องได้ ดังนั้นคนที่ถูกกล่าวหาว่า"ขายชาติ" "ไม่รักชาติ" มักจะเป็นคนที่ทำธุรกิจหรือมีความเกี่ยวพันเชิงธุรกิจกับบริษัทข้ามชาติ (แต่ไม่ใช่ทุกกรณี) ซึ่งกระแสชาตินิยมนับตั้งแต่ขบวนการเสื้อเหลืองเป็นต้นมา เป็นเรื่องของ"ผลประโยชน์ของชาติ"
เรามักจะได้ยินคำว่า"ผลประโยชน์ของชาติ"มากกว่าเรื่อง"ชนชาติ" "เชื้อชาติ"
3. ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ชาตินิยมในขบวนการเสื้อเหลืองที่เกี่ยวกับเรื่อง"ผลประโยชน์ของชาติ" เนื่องจากคนที่ถูกจัดกลุ่มว่าเป็นเสื้อเหลืองตามผลวิจัยต่างๆที่ออกมา ระบุว่าเป็นคนระดับล่างปานกลาง-สูง ในแง่ของรายได้ทางเศรษฐกิจ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความ"ไว"ต่อเหตุการณ์และข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นกระแสพัฒนาของกระบวนการโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นอย่าง"รวดเร็ว"ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับคนกลุ่มนี้ (ซึ่งกระทบถึงคนระดับล่างด้วย)
มีคำหนึ่งในการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองตั้งแต่เริ่มต้นและ"จับใจ"กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมคือ "เราต่อสู้เพื่อลูกหลาน เพื่อให้มีที่ยืน" ซึ่งเป็นคำที่เปรียบเทียบกับคนที่กำลังต่อสู้ด้วยในขณะนี้ว่า"ขายชาติ" "ไม่รักชาติ" และขบวนการของคนกลุ่มนี้ทำให้เกิด"ชาตินิยมใหม่" ที่ชูประเด็น"ผลประโยชน์ของชาติ"
4. ขบวนการชาตินิยมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศมีหลายระดับ และมีปัจจัยมากมายที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของผู้คนในสังคม ในครั้งหนึ่ง สังคมไทยเผชิญกับภัยคุกคามจากต่างชาติ และต้องการสร้าง"ชาติ"ให้ทัดเทียมอารยประเทศ อย่างเช่นสมัยจอมพล ป. แต่ในสมัยใหม่ มีการเคลื่อนไหวโดยใช้"อัตลักษณ์" หรือศาสนา
แต่กรณีของไทยสมัยใหม่ ปัจจัยที่ผลักดันมาจากกระบวนการโลกาภิวัฒน์ ที่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ในดินแดน จึงมีการหยิบเอา"ผลประโยชน์ของชาติ"ขึ้นมาต่อสู้ แม้แต่กรณีของเขาพระวิหาร ก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติเป็นประเด็นหลัก ส่วนเรื่องเสียดินแดนเป็น"ประเด็นรอง"ที่มาสนับสนุนประเด็นแรก
เราจะเห็นว่าการโต้แย้งประเด็นเขาพระวิหาร ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง"ผลประโยชน์ของชาติ" จึงมีข้อเสนอของนักชาตินิยมไทยว่า"ต้องพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน" บางคนคิดไปไกลเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับเรื่องแหล่งก๊าซ-น้ำมันในอ่าวไทย
ที่กล่าวมานี้ เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับขบวนการชาตินิยม"ใหม่"ที่กำลังก่อตัวขึ้นในสังคมไทย เป็นชาตินิยมแบบ"ทางโลก" ที่มุ่งไปที่"ผลประโยชน์"เป็นเรื่องหลัก เนื่องจากเป็นชาตินิยมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและกระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ถือว่ามีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างมาก และไม่ใช่แค่"เกมการเมือง"ของกลุ่มการเมืองเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความคิดความรู้สึกของคนที่ร่วมขบวนการจริงๆด้วย
แน่นอนว่าผลประโยชน์ของชาติเป็นเรื่องสำคัญและต้องเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ที่กำลังเป็นห่วงก็คือกระแสชาติเหมือน"ดาบสองคม" ด้านหนึ่ง ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของคนและสร้างพลังในการผลักดันร่วมกันได้อย่างไร้ขีดจำกัด แต่อีกด้านหนึ่งก็น่ากังวลไม่น้อย เพราะชาตินิยมทุกประเภท มักมี"อารมณ์ความรู้สึก" อยู่เหนือ"เหตุผล" ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่น่ากลัว
หวังว่า"ชาตินิยมใหม่"ของคนไทยที่กำลังเกิดขึ้น จะเป็นพลังด้านบวกและเป็นชาตินิยมอย่างมี"เหตุผล" เพื่อสร้างสังคมที่ดีร่วมกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น