--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พระเจ้าตากไม่ถูกประหาร

ข่าวสดรายวัน
เก็บเรื่องมาเล่า
ชนา ชลาศัย

พระราชพงศาวดารแทบทุกฉบับระบุตรงกันว่า วันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 หรือวันที่ 6 เม.ย.2325 เป็นวันสวรรคตของพระเจ้าตากสินมหาราช

ยกเว้นจดหมายของบาทหลวงฝรั่งเศสบันทึกว่าเป็นวันที่ 7 เม.ย. และจดหมายเหตุโหรซึ่งยอมรับกันว่ามีความแม่นยำสูง กลับบันทึกว่าเป็นวันพุธ แรม 13 ค่ำ เดือน 5 หรือวันที่ 10 เม.ย.2325

นั้นเป็นตัวอย่างหนึ่งของความคลาดเคลื่อนในการบันทึกประวัติศาสตร์

แต่ก็คงจะสำคัญน้อยกว่าความคลุมเครือที่ว่าพระเจ้าตากสินไม่ได้ถูกประหารชีวิต ทว่าทรงหนีไปผนวชที่จ.นครศรีธรรมราช และสิ้นพระชนม์ที่นั่น

"ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนส.ค.นำเรื่องพระเจ้าตากสินขึ้นปกอีกครั้ง เพื่อแกะรอยตำนานปริศนา "พระเจ้าตากฯ ไม่ถูกประหาร แต่หนีไปเมืองนครฯ" โดย ปรามินทร์ เครือทอง

ตำนานพระเจ้าตากสินไม่ถูกประหารร่ำลือมานานนมนับร้อยๆ ปี ในเชิงข่าวลือ เรื่องซุบซิบ เล่าต่อๆ กันมา กระทั่งแปรรูปตำนานเป็นนวนิยาย

ผู้เปิดประเด็นพระเจ้าตากไม่ได้ถูกประหาร (แต่มี "ตัวตายตัวแทน") เป็นคนแรก คือ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ในหนังสือรวมเรื่องสั้น "ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน" ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ เมื่อปี 2494 ซึ่งในปีเดียวกันนั้น ศ.ศิลป์ พีระศรี กำลังปั้นแบบจำลองอนุสาวรีย์พระเจ้าตากอยู่พอดี

ในประเด็นปริศนานี้ แม้หลวงวิจิตรวาทการจะนำเสนอในรูปแบบเรื่องแต่ง ในแนวสยองขวัญด้วยซ้ำ แต่ก็สร้างความฮือฮาในหมู่นักอ่านเป็นอย่างมาก และกลายเป็น "ความเชื่อ" อีกกระแสจนถึงปัจจุบัน

ยังมีหนังสืออีก 2 เล่มสำคัญที่ตอกย้ำตำนานพระเจ้าตากสินไม่ถูกประหารชีวิต ทั้งในเชิงนวนิยายและเรื่องเล่า

ติดตามอ่านได้ใน "ศิลปวัฒนธรรม" เล่มล่าสุด และเนื้อหาเข้มข้นอีกตอนในเล่มหน้า

***********************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น