--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

"ธาริต"สั่งไม่ฟ้องคดีซุกหุ้นภาคสอง "พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน" หลุดบ่วง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องคดีซุกหุ้นภาคสอง "พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน" หลุดบ่วงกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรณีจำหน่ายและโอนหุ้นชินคอร์ปให้บริษัทแอมเพิลริชฯ "ธาริต" ระบุคดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 ให้ดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์ ในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 246 และมาตรา 247 กรณีจำหน่ายและโอนหุ้นชินคอร์ปให้กับบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสเมนต์ จำกัด ว่าเป็นการรายงานเท็จ หรือรายงานไม่ถูกต้องต่อ ก.ล.ต.

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน มีมติรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ อย่างไรก็ตามล่าสุดนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมาตนได้สั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์ ในคดีการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นการกระทำการหรือละเว้นการกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการตามมาตรา 246 และ 247 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือคดีซุกหุ้นภาค 2

เนื่องจากผู้ต้องหาที่ 1 (พ.ต.ท.ทักษิณ) และผู้ต้องหาที่ 2 (คุณหญิงพจมาน) ได้จำหน่ายและโอนหุ้นชินฯทั้งหมดให้กับบุคคลในครอบครัวดังกล่าวนั้นเป็นการถือครองหุ้นแทนผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งหุ้นเพิ่มทุนของหุ้นชินฯของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่มีการชำระค่าหุ้นโดยผู้ต้องหาที่ 2 และหุ้นชินฯที่ผู้ต้องหาที่ 1 โอนให้กับบริษัทแอมเพิลริชก็เป็นจำนวนหุ้นที่ถือครองแทนผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 ด้วย

สำหรับการรายงานตามแบบ 246-2 ของผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ว่ามีหุ้นชินฯเหลือศูนย์หุ้นนั้น เป็นความเท็จหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่มีการจำหน่ายหุ้นชินฯให้บุคคลในครอบครัวหรือนิติบุคคลแต่อย่างใด จึงถือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง จำนวนทุกร้อยละ 5 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการนั้น

ผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ต้องรายงานตามแบบ 246-2 ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ตามมาตรา 246 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตามตัวบทกฎหมายดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการรายงานเท็จหรือรายงานไม่ถูกต้องต่อสำนักงาน ก.ล.ต.เป็นความผิด

ดังนั้นการกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 และ 2 ยังรับฟังไม่ได้ว่ากระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ถึงแม้จะรับฟังว่าการกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 และ 2 เป็นการรายงานตามแบบ 246-2 ที่เป็นเท็จต่อสำนักงาน ก.ล.ต. แต่ก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องได้ กล่าวคือผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 ได้มีการแก้ไขรายงานแบบที่มีการรายงานเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2543 ถึง 3 ครั้งด้วยกัน

นายธาริตกล่าวว่า การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 และ 2 จึงไม่เป็นความผิดฐานไม่รายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการใดในลักษณะที่ทำให้ตนหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ในกิจการนั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลง เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนทุกร้อยละ 5 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการนั้น ไม่ว่าจะมีการลงทะเบียน การโอนหลักทรัพย์นั้นหรือไม่ และไม่ว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของหลักทรัพย์นั้นจะมีจำนวนเท่าใดในแต่ละครั้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ทุกครั้งที่ได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ภายในวันทำการถัดจากวันที่ได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการนั้น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 246 ทางคดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง จึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 ตามข้อกล่าวหา และตัวบทกฎหมายดังกล่าว

"คดีนี้มีพนักงานสอบสวน 10 คน โดยมี พ.ต.อ.ณรัตน์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน โดยเห็นชอบตามพนักงานสอบสวนทั้ง 10 คน อย่างเป็นเอกฉันท์ และอัยการที่ปรึกษามีความเห็นพ้องด้วย ผมก็เห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 และ 2 แต่หลังจากนี้ต้องส่งให้อัยการต่อไปว่าจะเห็นด้วยหรือไม่" อธิบดีดีเอสไอกล่าว

สำหรับคดีซุกหุ้นภาค 2 เกิดขึ้นในช่วงปี 2542-2543 โดยนอมินีที่ถูกเชิดเปลี่ยนจากคนรับใช้มาเป็นทายาทและเครือญาติ กับบริษัทที่ตั้งขึ้นในชื่อบริษัท แอมเพิลริช อินเวสเมนต์ จำกัด โดยพฤติกรรมการซุกหุ้นภาค 2 พ.ต.ท.ทักษิณถูกกล่าวหาว่า ซุกหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ คือมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ห้ามรัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และมาตรา 100 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

คดีซุกหุ้นภาค 2 เคยถูกกลุ่มวุฒิสมาชิกยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ช่วงต้นปี 2549 แต่ศาลไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าฟ้องครอบคลุม กระทั่งกลายเป็นข่าวใหญ่และกลายเป็นจุดจบทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ หลังการขายหุ้นชินคอร์ปฯให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก สิงคโปร์ มูลค่า 73,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549

*************************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น