--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ปชป.-พท.แย่ง (เสียง) สางหนี้คนจน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ

หัวข้อหลักที่ฝ่ายค้านเดินสายหาเสียง คือ "การแก้หนี้"

หัวข้อหลักในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ระหว่างชนชั้น คนรวยคนจน คือ "การแก้หนี้"

เพราะโจทย์-ปัญหา-ความต้องการของคนเป็นหนี้ คือ ต้องการปลดแอกจากมูลหนี้

ข้อเท็จจริงคือ ขณะนี้มีคนเป็นหนี้ "นอกระบบ" ถึง 1.6 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มขยับขึ้น 20% ทุกปี

ส่วนหนี้ "ในระบบ" ที่กระทรวงการคลัง-กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพมีอีกไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้าน

ทั้งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง "ดร.สุชาติ ธาดาดำรงเวช" และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง "กรณ์ จาติกวณิช" ต่างนำเสนอ "ตัวเลขหนี้" เป็นธงในการหาเสียง

ฝ่าย "ดร.สุชาติ" ทีมเศรษฐกิจของเพื่อไทย จัดทำโมเดลหนี้ และคาดการณ์หนี้ในอนาคตไว้ว่า ขณะนี้ปี 2553 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะทั้งสิ้น 4.54 ล้านล้านบาท ขณะที่ประเทศมีรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) รวม 9.7 ล้านล้านบาท ประชาชนมีหนี้ต่อหัวประมาณคนละ 70,000 บาท ทำให้อัตราหนี้สาธารณะต่อ จีดีพีสูงถึง 46%

ตัวเลขของฝ่ายค้านคาดการณ์ว่า ในปี 2557 ประเทศจะมีหนี้ 6.83 ล้านล้านบาท ในขณะที่ตัวเลขจีดีพี 12.36 ล้านล้านบาท สัดส่วนหนี้ 55.23% ต่อจีดีพี และประชาชนจะมีหนี้ต่อหัวประมาณ 100,892 บาท

นโยบายสางหนี้ของเพื่อไทย คือ ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ และพักหนี้-ปรับโครงสร้างหนี้

ตัวเลขและนโยบาย "สางหนี้" ของ รัฐบาลประชาธิปัตย์ทั้งใน-นอกระบบ คือ ย้ายหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์รวม 8 แห่ง

การช่วยเหลือจะให้น้ำหนักเป็นพิเศษกับกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยมีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือตาม "กระบวนการยุติธรรม" ด้วย

สำหรับกลุ่มลูกหนี้ในระบบที่ถูกฟ้องร้องในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา 1.2 แสนรายทั่วประเทศ และบางรายถูกเจ้าหนี้ฟ้องศาลโดยใช้สัญญาเงินกู้ระบุมูลหนี้สูงกว่ามูลหนี้จริงถึง 200-500% กระทรวงยุติธรรมจะช่วยเหลือตามหลักการ "ประชาธิปัตย์"

ด้วยการให้คำปรึกษากฎหมาย เช่น ให้ลูกหนี้รวมตัวกันต่อสู้คดี เป็นต้นควบคู่ไปกับการตรวจสอบบัญชี การเงิน ไกล่เกลี่ยเพื่อลดหนี้ และดำเนินคดีกับเจ้าหนี้ที่กระทำผิดโดยใช้มาตรการด้านภาษีและกฎหมายฟอกเงิน

ส่วนกลุ่มที่ถูกยึดทรัพย์บังคับคดี และที่ถูกพิพากษาล้มละลาย รัฐบาลคาดว่าจะช่วยลดจำนวนหนี้ที่ถูกฟ้องร้องจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 50,000-100,000 ล้านบาท

ยังมีกลุ่มที่ถูกบังคับคดีและถูกพิพากษาให้ล้มละลาย จากข้อมูลการขึ้นทะเบียน พบว่าขณะนี้มีลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างถูกบังคับคดี 2.3 แสนคดี จำนวนทุนทรัพย์ 3.4 แสนล้านบาท และคดีล้มละลาย 6.3 หมื่นคดี จำนวนทุนทรัพย์ 3.8 แสนล้านบาท

รวมแล้วมีลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างถูกบังคับคดีและอยู่ในคดีล้มละลาย 2.93 แสนคดี ทุนทรัพย์ 7.2 แสนล้านบาท แต่หากรวมลูกหนี้ที่ถูกฟ้องร้องและอยู่ระหว่างตั้งเรื่องอีกจำนวนมาก จำนวนทุนทรัพย์น่าจะสูงถึง 800,000-1,000,000 ล้านบาท

ส่วน "หนี้นอกระบบ" ฝ่ายรัฐบาลมีตัวเลขที่ลงทะเบียนไว้กับกระทรวงการคลังมีทั้งหมด 1,194,710 ราย มูลหนี้รวม 122,794,319 บาท มีเจ้าหนี้นอกระบบทั้งสิ้นประมาณ 4.9 พันราย

ในจำนวนนี้มีทั้งเจ้าหนี้รายใหญ่-รายย่อยเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และทุนนอกระบบที่เจ้าหนี้เป็นนักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น แต่มักดำเนินการในลักษณะเป็น ตัวแทน หรือนอมินีให้กับนายทุนหรือนักการเมือง

ในจำนวนลูกหนี้ 1,194,710 ราย มูลหนี้รวม 122,794,319 บาท เป็นลูกหนี้ที่กระทรวงมหาดไทยรับมาดำเนินการเข้าสู่กระบวนการเจรจามูลหนี้ตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท รวม 756,073 ราย มูลหนี้ 91,713,236,606 บาท

มีรายงานว่าธนาคาร-สถาบันการเงิน อนุมัติสินเชื่อและดำเนินการโอนเงินให้แล้ว 28,946 ราย ธนาคารพิจารณา สินเชื่อแต่ลูกหนี้ไม่สามารถหาหลักประกันได้ 8,288 ราย ธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อ 7,195 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณา 509,840 ราย

มหกรรม-ตัวเลขหนี้ยังเป็นยาหอมที่ทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาลใช้เป็น "เบี้ย" หาเสียงได้อีกหลายสมัย

****************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น