ภายใต้สภาวะการกดดัน ห้ามส่งเสียง ห้ามรวมกลุ่ม ห้ามถือป้าย หรือเรียกว่าห้ามประท้วงชุมนุมใดๆทั้งสิ้น การต่อสู้ของกลุ่มที่ถูกกดทับด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากฝ่าฝืนจะถูกจับเขาซังเตได้ง่ายๆ อย่างไรก็ตามยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ออกมาเย้ยฟ้าท้าดินหาทางดิ้นออกจากกรอบที่ขีดล้อมไว้ทั่วบ้านทั่วเมือง
ความพยายามของคนหนึ่งคนขยายเป็นกลุ่มเล็กๆกระจายกันไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์จากจุดเล็กๆเริ่มจากการผูกผ้าแดงที่เสาป้ายราชประสงค์ การตะโกนบอกที่นี่มีคนตาย การชูป้ายเราเห็นคนตาย กลายเป็นสิ่งต้องห้ามถูกเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มคน "วันอาทิตย์แดง" เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน มีการจัดงาน โครงการศิลปะสู่อิสรภาพ ครั้งที่ 1 "คน ตาย ตึก และพรก.ฉุกเฉิน" มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาประจำการรอบพื้นที่อนุสรณ์สถาน
ในงานนี้มีเวทีเสวนา "สามัญชนเปลี่ยนโลก / วิถีแนวนอน การเคลื่อนไหวของแกนนอน" โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นแนวทางการต่อสู้ให้สิ่งที่ต้องการสื่อสารปรากฎต่อสาธารณะทั้งทางตรงทางอ้อม ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ลดทอนอำนาจ และตีแผ่ความเป็นจริงให้สังคมได้รับรู้ โดยยึดแนวทางการสู้แบบระนาบหวังจะให้ทุกคนเคลื่อนไหวได้เองหากวันหนึ่งแกนนำนำถูก"เด็ด"ไปเพื่อไม่ให้ท้ายขบวนหยุดนิ่ง
ในกระบวนการต่อสู้เชิงลักษณ์เพื่อให้สังคมรู้จักตั้งคำถาม เริ่มจาก "ภควดี" ไม่มีนามสกุล อธิบายถึง การเปลี่ยนแปลงตามวีถีแนวนอน หมายถึง สิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่อิงกันมาตั้งแต่ในอดีตสังคมที่มีผู้นำแล้วมีมวลชนเป็นฐาน เปลี่ยนเป็นวิถีแบบระนาบ ต้องอาศัยการจัดตั้งจากคนที่มีความคิดอิสระเริ่มจากกลุ่มคนเล็กๆสร้างเป็นเครือข่ายคิดกระบวนการเพื่อแสวงหาฉันทามติโดยใช้วิธีส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมแบบโต๊ะกลมไม่ใช่แบบผู้นำเดี่ยว
จากหนังสือ"สามัญชนเปลี่ยนโลก" ของ ภควดี เขียนอธิบายเรื่องวิถีระนาบพอสรุปได้ว่า การจัดตั้งแนวระนาบมีความเชื่อมโยงและได้รับอิทธิพลมาจากแนวทางอนาธิปไตย (anarchism) กลุ่มเครือสหาย (Affinity Group) และหลายกลุ่มองค์กรในขบวนการสังคมใหม่ใช้วิธีการจัดตั้งแบบนี้ แต่ก็มีหลายองค์กรที่ยังใช้การจัดตั้งองค์กรแบบพีระมิด อย่างไรก็ดี การผนึกกำลังเป็นเครือข่ายของขบวนการสังคมใหม่จะใช้วิธีการจัดตั้งแนวระนาบเป็นหลัก
"วิถีระนาบ" ซึ่งเป็นแนวทางของขบวนการประชาชนหลายขบวนการที่ผุดขึ้นมาในประเทศอาร์เจนตินา ในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ค.ศ. 2001 "วิถีระนาบ" ของชาวอาร์เจนตินาไม่ได้เกิดมาจากลัทธิความคิดใดๆ ไม่ได้มาจากแนวทางอนาธิปไตยหรือแม้กระทั่งขบวนการซาปาติสตา ในประเทศเม็กซิโกแต่เกิดจากปฏิกิริยาโดยธรรมชาติที่ต้องการตอบโต้ต่อความล้มเหลวของระบบในประเทศรวมทั้งแสวงหาหนทางแก้ไขและข้ามพ้นระบบดังกล่าว
ในทางปฏิบัติ การจัดตั้งองค์กรและการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่เป็นขบวนการที่มักเรียกรวมๆ ว่าขบวนการอัตตาณัติ (autonomous movements)ซึ่งเป็นขบวนการประชาชนจำนวนมากที่เกิดขึ้นมาในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ขบวนการเหล่านี้ล้วนต้องการเป็นอิสระจากรัฐ
"วิถีระนาบ" จึงเป็นปฏิกิริยาตอบโต้โดยสัญชาตญาณเป็นการแสดงความผิดหวังต่อระบบผู้นำเดี่ยวรวมทั้งระบบเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย มีรูปแบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ มากกว่าวิธีการจัดตั้งองค์กรเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างเท่าเทียม โดยไม่ยอมตกอยู่ภายใต้กรอบของเงื่อนไขเดิมๆ มันเป็นวิธีการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันแบบประชาธิปไตยทางตรง และเชื่อมโยงขบวนการต่างๆ เป็นเครือข่าย จัดรูปแบบความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจใหม่ โดยปฏิเสธแนวคิดของ "อำนาจเหนือ" หันมาเน้นการมี "อำนาจร่วมกัน" มีเป้าหมายในการสร้างอำนาจให้สมาชิกและหมู่คณะ โดยเฉพาะอำนาจในการตัดสินใจไม่มุ่งยึดอำนาจรัฐแต่มุ่งสร้าง "อำนาจอีกแบบหนึ่ง" ขึ้นมาด้วยความสัมพันธ์ทางสังคม ยอมรับว่าสมาชิกแต่ละคนแตกต่างกัน มีความคิดแตกต่างกัน และมุ่งสร้างความเป็นหมู่คณะรองรับความเป็นอัตตาณัติ (autonomy)
ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด ที่เพิ่งออกจากการถูกควบคุมตัวข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำผ้าแดงมาผูกที่ป้ายสี่แยกราชประสงค์เพื่อไว้อาลัยให้ประชาชน 90 ศพ ที่ถูกสังหารในเหตุการณ์สลายการชุมนุมจากเวทีผ่านฟ้าถึงราชประสงค์ ร่วมเสวนากล่าวถึงการต่อสู้จากมวลชนจะต้องพึ่งแกนนำอยากให้เปลี่ยนมาเป็นแกนนอนจากสามเหลี่ยมแนวตั้งคว่ำให้กลับมาเป็นสามเหลี่ยมแนวนอนเคลื่อนไปในระนาบเดียวกันสามารถสลับกันขึ้นไปอยู่แถวหน้าได้ เพราะขณะนี้มวลชนที่อยู่ฐานล่างยังมีพลังอยู่มากพร้อมที่จะเคลื่อนต่อไปเพียงแค่สะดุดเพราะแกนนำถูกจับไป หากเปลี่ยนเป็นสามเหลี่ยนแนวนอนคนทั้งหมดจะเคลื่อนไปด้วยกันได้
นายสมบัติ ได้เสนอวิธีการเคลื่อนในแนวระนาบไว้ว่า ทุกคนต้องสะท้อนศักยภาพของตัวเองออกมาไม่ใช่การรอคำสั่งจากแกนนำเพื่อสั่งให้ไปนั่งเป็น 1 หน่วย ให้สันติบาลนับจำนวนเท่านั้น เปลี่ยนจากมวลชนเป็นผู้ปฏิบัติงาน รวมกลุ่ม 5-20 คน แล้วมาคุยกันมีความฝันร่วมกันวิเคราะห์ศักยภาพของตัวเองว่าทำอะไรได้บ้าง เพื่อหลุดพ้นจากอำนาจนิย คือ การแสวงหาผู้นำที่ดีมาปกครองทำตัวเป็นบ่าวแต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้มวลชนเป็นนายไม่ใช่การหาเจ้านายมาคุ้มกะบาล เช่น กวีบางคนพกปากกาเข้าไปในห้องน้ำแล้วเขียนบทกวีที่ประตูห้องน้ำ สภากาแฟที่ไม่ใช่แค่คุยโม้ให้คิดและปฏิบัติการ เชื่อว่าไม่น่าเกิน 3 เดือน รูปพระอาทิตย์จะขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง
"ผมหมดความหวังกับแกนนำแล้ว อยากเห็นวัฒนธรรมที่เห็นคนเป็นคน และคนมีอำนาจสูงสุด เพราะถ้าเรารู้สึกเป็นเจ้าของก็จะรู้สึกหวงแหนและปกป้อง ถึงวันนั้น การต่อสู้ถึงจะสำเร็จผล ลักษณะนี้เรียกว่า แกนนอน "
ด้านนายพันธุ์ศักดิ์ ศรีเทพ ผู้สูญเสียลูกชาย นายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ "สุรเฌอ" เด็กหนุ่มวัย 17 ปี เสียชีวิตในเหตุนองเลือดกลางเดือนพฤษภาคมที่กรุงเทพมหานคร ว่า กิจกรรมของคนเสื้อแดงที่พยายามแสดงออกเพื่อให้สังคมรับรู้ว่ามีคนตายด้วยการผูกผ้าแดง การตะโกนถูกจับหมด พอเห็นกลุ่มต่อต้านรวมตัวกันจากคนเล็กๆรัฐก็ไม่ละเว้นเข้ามาครอบงำด้วยอาวุธด้วยอำนาจ ดังนั้นกิจกรรมที่จะสื่อสารไปถึงคนภายนอกจึงถูกตีกรอบหมด จึงได้คิดวิธีการใหม่โดยใช้ร่างกาย คือ การนอนเป็นศพแต่มีข้อจำกัดคือไม่มีบทสนทนาจึงลองเปลี่ยนมาเป็นรณรงค์ให้คนไทยแต่งเป็น "ผี" ที่ออกไปหลอกหลอนความผิดปกติของระบบ
"จากประสบการณ์การแต่งผีไปเล่นกับตำรวจที่แยกราชประสงค์ถือว่าประสบความสำเร็จเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รู้จะจัดการอย่างไร ทำได้แค่ขอร้องให้เลิก ซึ่งถือว่าเป็นการข้อร้อง จากนี้ชีวิตไม่กลัวอะไรแล้ว เพราะลูกสอนให้ไม่กลัว การจัดการทางการเมืองคือการจัดการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอให้กลับมาปกติ แต่รัฐบาลกลับสร้างความกลัวขึ้นมาโดยการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สร้างความอาฆาตพยาบาทขึ้นมาอีกครั้ง ใช้โครงการ "ทูเกตเทอร์ วีแคน" คือการสร้างความแตกต่างให้คนด้วยกัน และการผลักคนอีกกลุ่มหนึ่งออกไปข้างนอก ฉะนั้นทุกคนต้องรู้จักการปฏิเสธ แล้วตั้งคำถามกลับ ทุกอย่างจะเป็นประเด็นคำถามต่อรัฐบาล พอรัฐบาลไม่มีคำตอบแสดงว่ารัฐบาลไม่มีทางแก้ไขความขัดแย้งได้"
Tewarit Bus Maneechay กล่าวว่า แนวทางการต่อสู้แบบแกนนอนนี้ยังมีข้อจำกัดเพราะไม่มีสื่อ แต่จะเป็นการต่อสู้ทางตรงที่อาจจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าโดยมีภาพประกอบและเป็นการสื่อสารจากคนหนึ่งถึงอีกคนหนึ่งโดยมีสื่ออินเตอร์เน็ต รัฐบาลจะทำให้คำว่าก่อการร้ายมีความศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจ แต่ถ้าเราสามารถสกรีนคำว่า "ก่อการร้าย" ลงบนเสื้อยืดแล้วใส่กัน จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของคำนี้ลดลง สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมการต่อสู้เชิง สัญลักษณ์และวัฒนธรรมจะทำให้ต้นทุนการต่อสู้ลดลงแต่มีปฏิกิริยาตอบรับสูง
นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็นถึงกรณีการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์มองว่า เริ่มแรกที่เห็นนายสมบัติไปผูกผ้าแดงที่แยกราชประสงค์ก็คิดว่าไม่น่าจะมีอะไร แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้กล้าแสดงออกกล้าใส่เสื้อแดง นับเป็นการต่อสู้ที่ไม่ต้องไปอิงกับแกนนำเหมือนกับบางคน เมื่อแกนนำเข้าคุกเหมือนเข้าคุกไปกับแกนนำด้วย แต่แนวทางการต่อสู้ของกลุ่มย่อยๆแบบนี้ทำให้รู้สึกว่าเป็นเสรีชนพร้อมที่จะเคลื่อนด้วยตัวเองแบบแกนนอน
อย่างไรก็ตามการเคลื่อนในแนวระนาบคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยจนสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแบบพีระมิดได้
ที่มา.มติชนออนไลน์
***************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น