--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เฟด ชะลอ QE ปั่น หุ้น-เงิน รอบใหม่ !!?

หุ้น-เงิน เอเชียทะยาน เงินทุนต่างชาติไหลกลับรอบใหม่ คลายกังวลเพดานหนี้ คาดเฟดชะลอลดคิวอียาวถึงต้นปีหน้า ธปท.เตือนระวังเงินทุนเคลื่อนย้าย

นักลงทุนคลายกังวลปัญหาการคลังสหรัฐและการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้น-เงินเอเชียทั่วภูมิภาค ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่คล้ายกับที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้

การตกลงแก้ปัญหาปิดหน่วยงานรัฐและขยายเพดานหนี้ของคองเกรสไปต้นปี ได้กระตุ้นนักลงทุนให้เกิดความเชื่อมั่น ตลอดจนท่าทีของเฟดยังไม่ลดคิวอีในการประชุมวันที่ 29-30 ต.ค.นี้ โดยตลาดคาดว่าเฟดอาจชะลอลดคิวอีไปจนถึงต้นปีหน้า

สกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น เป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีน และความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของการปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาได้กระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) ของจีนรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 3 ของปีนี้ โต 7.8% เทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ และสูงกว่าไตรมาส 2 ซึ่งอยู่ที่ 7.5% โดยไตรมาส 3 ถือเป็นไตรมาสที่มีการขยายตัวสูงสุดในปีนี้

เงินรูปีแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือนตามตลาดหุ้นที่ทะยานขึ้นมากกว่าตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค

ค่าเงินวอนแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 9 เดือน ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้นเกาหลีใต้ติดต่อกัน 36 วัน ซึ่งเป็นสถิติที่ยาวนานที่สุด

การคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดได้ส่งผลให้เงินของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียร่วงลงอย่างหนักตั้งแต่ต้นปีนี้ แต่กำลังฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง

นักวิเคราะห์กล่าวว่าสกุลเงินเอเชียมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นต่อไป ขณะที่นักลงทุนลดการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟด และเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ตลาดหุ้นเอเชียพุ่งทุบสถิติ

ตลาดหุ้นโตเกียวปิดตลาดอ่อนตัวลงในวานนี้จากแรงขายทำกำไรหลังจากดีดตัวขึ้น 7 วันติดต่อกัน ขณะที่นักลงทุนพิจารณาผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐจากการปิดทำการของหน่วยงานรัฐบาลนาน 16 วัน

ดัชนีนิกเคอิปิดตลาดลบ 24.97 จุด หรือ 0.17% มาที่ 14,561.54 หลังจากที่ดีดตัวขึ้น 7 วันติดต่อกันจนถึงเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นสถิติช่วงขาขึ้นที่ยาวนานที่สุดในรอบ 7 เดือนครึ่ง

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีนิกเคอิพุ่งขึ้น 1.1% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นสัปดาห์ ที่ 2 ติดต่อกัน

ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือน ในวันนี้ โดยได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้นของจีน และปริมาณเงินลงทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีคอมโพสิตปิดเพิ่มขึ้น 11.79 จุด หรือ 0.58% มาที่ 2,052.40 ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2554 ในสัปดาห์นี้ ดัชนีพุ่งขึ้น 1.4%

ตลาดหุ้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นและคาดว่าจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในสัปดาห์หน้า ขณะที่นักลงทุนซื้อหุ้นขนาดใหญ่ในภูมิภาค หลังการแถลงผลประกอบการรายไตรมาสที่สดใส และข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีนช่วยหนุนความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นเอเชีย

ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ปรับตัวขึ้น 0.3% และคาดว่าจะปรับตัวขึ้น 0.6% ในสัปดาห์นี้ หลังจากที่พุ่งขึ้น 1.3% ในสัปดาห์ที่แล้ว

ตลาดหุ้นไทยและฟิลิปปินส์พุ่งขึ้นมากกว่าตลาดอื่นในภูมิภาคโดยดัชนีหุ้นไทยปิดตลาดเที่ยงพุ่งขึ้น 0.9% และดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นมะนิลาปิดบวก 0.72% โดยดัชนีทั้งสองตลาดพุ่งขึ้นราว 1.7% แล้วในสัปดาห์นี้

ธปท.เตือนเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน

นายปฤษันต์ จันทน์หอม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าหลังจากที่สหรัฐขยายเพดานหนี้สหรัฐออกไป อาจส่งผลให้เงินทุนต่างชาติ ปรับสถานะและมีบางส่วนไหลออกจากประเทศไทยบ้าง แต่อยากให้นักลงทุนมองระยะยาวมากกว่า ซึ่งเม็ดเงินน่าจะมีทิศทางไหลกลับไปยังสหรัฐเพราะเงินที่ออกมาจากสหรัฐค่อนข้างมาก จึงต้องติดตามเม็ดเงินต่างชาติจะไหลกลับไปเมื่อไร

"ส่วนปัญหาเพดานหนี้สหรัฐ มีความยืดเยื้อในการขยายเพดานหนี้ เชื่อว่าที่ผ่านมาสหรัฐ อยู่ระหว่างรอความชัดเจนในภาพเศรษฐกิจสหรัฐเองด้วย เพราะสถานการณ์การคลังของสหรัฐ ก็ยังไม่มีความแน่นอน ซึ่งรอให้สถานการณ์ต่างๆ เริ่มนิ่ง และอยากให้รอดูการขยายเวลาเพดานหนี้ครั้งต่อไปในเดือนก.พ. ซึ่งทุกคนกลัวว่าเดือนก.พ. อาจมีปัญหาการขยายเพดานหนี้เหมือนในครั้งนี้อีก แต่เชื่อว่าสหรัฐจะสามารถแก้ไขปัญหาได้"

มั่นใจ ธปท.มีมาตรการรับบาทผันผวน

ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าไม่น่ามีปัญหา เพราะว่าธปท.มีเครื่องมือและมาตรการยืดหยุ่นในการดูแล

นายสมชัย กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (15 ต.ค.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ธปท. ได้ประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อมรับมือไว้แล้ว

"ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่มีสูงถึง 170,000 ล้านดอลลาร์ ถือว่าแข็งแกร่งเพียงพอ ที่จะรับมือกับเหตุการณ์ได้ และการแข็งค่าของเงินบาทขณะนี้เห็นว่ายังไม่มากจนทำให้ธปท.ต้องเข้าไปดูแล"

ต่างชาติซื้อบอนด์ยาว8.6พันล้าน

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (THAIBMA) กล่าวว่า หลังจากสหรัฐแก้ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐได้ในระยะสั้น ทำให้มีเงินลงทุนไหลกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างมาก โดยในวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อสุทธิประมาณ 11,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 7,700 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว 3,700 ล้านบาท

"ทำให้ผลตอบแทนบอนด์อายุ 10 ปี ปรับตัวลงมา 0.05% และวานนี้ (18 ต.ค.) ผลตอบแทนบอนด์ 10 ปี ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่องอีก 0.05-0.10% ซึ่งสะท้อนว่า ยังมีแรงซื้อเข้ามาในตราสารหนี้ของไทยต่อเนื่อง และมีปริมาณที่ไม่ได้น้อยไปกว่าวันที่ 17 ต.ค."

นางสาวอริยา กล่าวว่า ในเดือนต.ค. ต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 8,600 ล้านบาท เป็นการขายตราสารหนี้ระยะสั้น 1,100 ล้านบาท และ ตราสารหนี้ระยะยาว 9,800 ล้านบาท ส่งผลให้ต่างชาติมียอดถือครองสุทธิ ณ 11 ต.ค. รวม 760,000 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนระยะสั้น 25% และระยะยาว 75%

"สะท้อนว่าเงินลงทุนส่วนใหญ่ ยังเน้นเข้าลงทุนจริงๆ และการไหลกลับครั้งนี้ จะเป็นภาพเดียวกันทั่วภูมิภาคหลังตลาดคลายความกังวลลง"

นางสาวอริยา กล่าวว่าต่างประเทศเป็นปัจจัยหลัก ที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะการชะลอมาตรการคิวอี และแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐในอนาคต ต้นปีหน้าตลาดอาจกลับมากังวลในประเด็นเหล่านี้อีกครั้ง จะเห็นว่าเงินยังไหลกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ หากดูช่วง 9 เดือนแรก มีเงินไหลเข้า 62,300 ล้านบาท ถ้านับยอดซื้อสุทธิเดือนต.ค. อีก 8,600 ล้านบาท เงินไหลเข้าถึงปัจจุบัน 70,000 ล้านบาท ขณะที่เงินต่างชาติในตลาดหุ้นไทยยังขายสุทธิกว่า 1 แสนล้านบาท

เงินไหลเข้ากดผลตอบแทนลดลง

นางสาวอริยา กล่าวว่า ตลาดตราสารหนี้จนถึงสิ้นปีจะเห็นเงินลงทุนของต่างชาติไหลเข้าต่อเนื่อง และจะกดไม่ให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรตลาดปรับตัวขึ้นได้ จึงช่วยผลักดันให้เอกชนทยอยออกหุ้นกู้มากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี และจะทำให้ยอดออกหุ้นกู้ทะลุเป้าที่เคยวางไว้ปีนี้ 350,000 ล้านบาท เพราะนับถึงปัจจุบัน (17 ต.ค.) มียอดออกหุ้นกู้ 313,000 ล้านบาท

"ในปีหน้าการชะลอคิวอี ยังคงเป็นประเด็นที่กลับเข้ามากระทบตลาดตลอด จนแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐในอนาคต ย่อมส่งผลต่อเงินทุนไหลเข้าออกของต่างชาติ และหากมีการไหลออก ย่อมทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น ช่วงนี้จึงเป็นจังหวะดีในการออกหุ้นกู้ภาคเอกชน"

นางสาวอริยา กล่าวว่า สภาพคล่องในขณะนี้ไม่น่าเป็นกังวล เพราะยังรองรับการระดมทุนได้และหุ้นกู้ที่ออกมาก็ขายได้หมด

เฟดส่งสัญญาณเลื่อนหั่นคิวอี

นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก และนายริชาร์ด ฟิชเชอร์ ประธานเฟดสาขาดัลลัส กล่าวว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะเลื่อนการตัดสินใจปรับลดวงเงินในมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ออกไปอย่างน้อยจนกว่าจะถึงเดือนธ.ค.

ทั้งนี้ ความขัดแย้งด้านงบประมาณและการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐส่งผลให้หน่วยงานรัฐบาลต้องปิดทำการเป็นเวลานาน 16 วัน และทำให้รัฐบาลสหรัฐเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ และปัจจัยนี้ก็ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับความไม่แน่นอนในช่วงที่ผ่านมา

นายอีแวนส์ กล่าวว่า "เราต้องการข้อมูลเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีสภาพเป็นอย่างไรต่อไป และเราได้รับมือกับการปิดหน่วยงานรัฐบาลครั้งล่าสุดอย่างไร โดยผมคิดว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดที่เฟดจะยังคงประเมินเรื่องนี้ต่อไปในการประชุม 2-3 ครั้งข้างหน้า"

เฟดจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงินทุก 6 สัปดาห์ โดยการประชุมครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในวันที่ 29-30 ต.ค. และ 17-18 ธ.ค.

นักวิเคราะห์คาดเฟดหั่นคิวอีต้นปีหน้า

นักวิเคราะห์กล่าวว่า มีปัจจัยหลายประการที่เฟดจำเป็นต้องนำมาพิจารณาในการตัดสินใจว่าจะลดวงเงินคิวอีจากระดับ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนเมื่อใด โดยเฟดดำเนินคิวอีในปัจจุบันด้วยการเข้าซื้อ

พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในอัตรา 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนและเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองในอัตรา 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน

"เฟดไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดขนาดคิวอีในการประชุมเดือนต.ค. แต่เฟดมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดในเดือนธ.ค. อย่างไรก็ดี เฟดกำลังมีแนวโน้มน้อยลงเรื่อยๆ ที่จะทำเช่นนั้น ตอนนี้เฟดกำลังเลือกระหว่างการปรับลดคิวอีในการประชุมเดือนม.ค. 2557 หรือในเดือนมี.ค. 2557"

นายไมเคิล เฟโรลี นักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกน กล่าวว่าถ้าเฟดต้องการปรับลดคิวอีอย่างต่อเนื่อง เฟดก็จะไม่มีโอกาสเริ่มต้นทำสิ่งนี้จนกว่าจะถึงเดือนมี.ค. เพราะว่าเดือนมี.ค. จะเป็นโอกาสแรกสำหรับเฟด ในการได้ประเมินสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น