--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจ ต่ำรอบ 20 เดือน !?

ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจต่ำสุดในรอบ 20 เดือน ธปท.เตรียมหั่นเป้าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลง จากเดิมคาดขยายตัว4.2% เผยเงินไหลออก 4.6 พันล้านดอลลาร์

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือนส.ค. 2556 ดุลบัญชีเดินสะพัด เริ่มกลับมาเกินดุลอีกครั้งที่ 1,285 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นการเกินดุลครั้งแรกในรอบ 3 เดือน จากที่เดือนก่อนติดลบ 1,639 ล้านดอลลาร์

"ตัวเลขในเดือนส.ค. เริ่มมีสัญญาณทรงตัวขึ้นจากเดือนก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยนั้น ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว"

นายเมธี กล่าวว่า ในเดือนส.ค. การส่งออกปรับตัวดีขึ้น และดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชน ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 0.1% ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวขึ้น โดยภาพรวมในช่วงไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในภาวะที่ทรงตัว

นายเมธี กล่าวว่า แม้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล และอาจมีผลให้ดึงดูดเงินทุนต่างประเทศไหลกลับเข้ามาในไทยมากขึ้น แต่ภาวการณ์เศรษฐกิจโลกนั้น ยังคงมีปัญหาอยู่ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐที่มีปัญหาเรื่องเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐใกล้เต็มเพดาน

"เชื่อว่าสหรัฐจะผ่านปัญหานี้ไปได้ แต่อาจเป็นการตัดสินใจในนาทีสุดท้าย และเศรษฐกิจในยุโรปยังชะลอตัวอยู่ อาจทำให้เงินทุนยังไม่เคลื่อนย้ายกลับเข้ามาในไทยอย่างรวดเร็ว"

จ่อหั่นเป้าเศรษฐกิจลงต่ำ 4.2%

นายเมธี กล่าวอีกว่า การลงทุนภาครัฐนั้นเริ่มมีปัญหาในการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนด้านชลประทาน และคมนาคมค่อนข้างล่าช้า และมีความห่วงในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณจากโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทได้ล่าช้านั้น ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรกับเศรษฐกิจมากนัก เพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็มีการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าในหลายโครงการ แต่ก็มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีสัญญาณที่ทรงตัว แต่ ธปท.จะยังคงทบทวนประมาณการตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 4.2% ซึ่งการทบทวนครั้งต่อไปจะมีการปรับลดประมาณการลงแน่นอน แต่จะลดเท่าไรต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนก.ย.-ต.ค. อีกครั้ง โดย ธปท.จะมีการแถลงข่าวในกลางเดือนต.ค. นี้

เงินไหลออก 4.6 พันล้านดอลล์

ในเดือนส.ค. มีดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย มีเงินไหลออกสุทธิ 4,612 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ที่มีเงินไหลออก 674 ล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็นด้านสินทรัพย์ที่ไหลออกสุทธิ 1,799 ล้านดอลลาร์ และเป็นการไหลออกจากการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ การให้สินเชื่อการค้าของผู้ส่งออกที่มากขึ้นตามมูลค่าการส่งออก และการฝากเงินในต่างประเทศของสถาบันรับฝากเงิน และเงินเคลื่อนย้ายด้านหนี้สินที่ไหลออกสุทธิ 2,813 ล้านดอลลาร์

ส่วนใหญ่มาจากการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ และการขายตราสารหนี้ เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ จะปรับลดวงเงินการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ นอกจากนี้ดุลการชำระเงินยังขาดดุล 3,435 ล้านดอลลาร์

นายเมธี กล่าวว่า ในส่วนการส่งออกนั้นเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น จากอุปสงค์ด้านต่างประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกไม่รวมทองคำนั้น มีมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.4% จากเดือนก่อน โดยมาจากภาคอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการฟื้นตัวมากขึ้นตามความต้องการของเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

แต่ในส่วนที่ส่งออกได้ลดลง ยังคงเป็นสินค้าการเกษตร ทั้งข้าวและยางพารา รวมถึงการส่งออกกุ้งที่ชะลอตัวลงจากโรคระบาดที่ยังไม่ดีขึ้น โดยกลุ่มประเทศไทยมีการส่งออกฟื้นตัวอย่างชัดเจน คือ กลุ่มประเทศอาเซียน ที่ขยายตัว 17.3% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 8.6% และการส่งออกไปยังประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 14% จากเดือนก่อน ที่ 1.1%

ดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจต่ำสุดรอบ 20 เดือน

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เดือนส.ค. ที่ 47.5 ลดลงจาก 48.3 ในเดือนก.ค. และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 20 เดือน ตามความเชื่อมั่นที่ลดลงของผู้ประกอบการ

ดัชนีความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อ ที่ลดลงในเดือนส.ค. เป็นการลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ของทั้งคำสั่งซื้อภายในประเทศและต่างประเทศ ในเกือบทุกภาคธุรกิจ

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุน และการจ้างงาน ชี้ว่าประกอบการยังคงลงทุนและจ้างงานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ทิศทางของดัชนีทั้ง 2 ตัว มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องนับจากต้นปี สะท้อนภาวะการลงทุนและการจ้างงานของธุรกิจเอกชนที่ชะลอลง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งสำรวจในเดือนส.ค. อยู่ที่ 51.7 ลดลงจาก 53.3 ที่สำรวจเมื่อเดือนก.ค. และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน

ทั้งนี้ ทิศทางดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ในเกือบทุกองค์ประกอบ ลดลงต่อเนื่องนับจากช่วงต้นปี โดยเฉพาะด้านคำสั่งซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ สะท้อนความเชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจในอนาคตที่ลดลงเป็นลำดับ

สภาผู้ส่งออกหั่นเป้าเหลือ 2.5%

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ กล่าวว่า การส่งออกไทย เดือนส.ค. 2556 มีมูลค่า 20,467.9 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.92% ในรูปเงินบาท มีมูลค่า 152,836 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.03% โดยตัวเลขการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก หลังจากติดลบต่อเนื่องกันถึงสามเดือน

หากการส่งออกในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ สามารถทำได้โดยเฉลี่ยเดือนละ 20,500 ล้านดอลลาร์ ก็คาดว่าการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวได้ 2.5%

สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาดู ยังคงเป็นความผันผวนของตลาดเงินและอัตราแลกเปลี่ยน และอาจจะมีผลไปถึงปี 2557 รวมถึงความไม่แน่นอนของการเมืองในตะวันออกกลางที่มีผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และขีดความสามารถของไทยในหมวดสินค้าเกษตรที่ติดลบมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลกระทบจากต้นทุนค่าแรง 300 บาท และวัตถุดิบที่สูงขึ้น

"คาดว่าส่งออกปีนี้ อยู่ที่ 2.5% และจะมีผลทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ประมาณ 3-3.5% แต่ถ้าต้องการให้การส่งออกขยายตัวถึง 3% โดยเฉลี่ยแต่ละเดือน ต้องทำให้ได้ประมาณ 20,800 ล้านดอลลาร์ แต่คงเป็นไปได้ยาก โดยในไตรมาส 4 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เพราะว่าได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของคู่ค้าในตลาดหลัก ทั้ง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ สหภาพยุโรป และแรงหนุนจากราคาสั่งซื้อในช่วงปลายปีต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งจะส่งให้ยอดส่งออกในช่วงสุดท้ายของปีมีทิศทางสดใส"

นายนพพร กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกปี 2557 มีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 5-7% โดยมีเงื่อนไขว่าความผันผวนของตลาดเงินไม่มากนัก และอัตราแลกเปลี่ยนต้องสามารถแข่งขันกับภูมิภาคได้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น