--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ธุรกิจพระเครื่อง !!?

โดย สุรพร ถาวรพานิช
เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เจาะลึกความเป็นมาของธุรกิจพระเครื่อง

จากกรณีที่มีข่าวการลอบสังหารนายจักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม หรือ เอ็กซ์ จักกรฤษณ์ฯ อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย จนเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น ประเด็นเรื่องความขัดแย้งในวงการพระเครื่อง เป็นปมหนึ่งที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นสาเหตุที่นำมาสู่การลอบสังหารในครั้งนี้ แม้ล่าสุดปมดังกล่าวจะถูกสางออกไปภายหลังทางเจ้าหน้าที่เชิญเซียนพระให้มาช่วยตรวจสอบความจริงแท้ของพระเครื่องดังกล่าว

หลายคนอาจสงสัยว่าเพราะเหตุใด “ พระเครื่อง ” ถึงได้กลายเป็นปมสำคัญและเป็นธุรกิจที่มีผลประโยชน์มากมายขนาดนั้นในสังคมไทย ตามความเป็นจริง สังคมไทยกับพระเครื่องอยู่ด้วยกันมาอย่างยาวนานแล้ว ตั้งแต่เริ่มรับพระพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศไทย พระเครื่องเป็นสื่อสัญลักษณ์ของชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา และพระเครื่องยังเป็นทั้งตัวแทนในการระลึกถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมคำสั่งสอนของท่านอีกด้วย



ภาพประกอบจาก prakrueng.net

แต่ทว่าในอดีตความเชื่อในเรื่องพระเครื่องคือ พระเครื่องเป็นของที่ควรเคารพแบบอนุสาวรีย์ สร้างบรรจุไว้ตามกรุเจดีย์ เพื่อหวังที่จะเป็นอานิสงส์ให้ผู้สร้างรุ่งเรืองในชาติหน้า และจะได้เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป ดังนั้น พระเครื่องในอดีตจึงเป็นพระพิมพ์ที่สร้างบรรจุไว้ในเจดีย์ มิใช่สร้างอย่างพระเครื่องในปัจจุบันที่มีลักษณะออกไปในทางของขลัง

โดยก่อนที่พระเครื่องจะเป็นที่แพร่หลายในสังคมไทยปัจจุบัน “คนไทยได้นิยมนำเครื่องรางของขลังอื่นๆ เช่น ประเจียด ตะกรุด ผ้ายันต์ ว่าน ฯลฯ นำติดตัวอยู่แล้ว ต่อมาคนไทยได้มีการนำพระพิมพ์เช่น พระรอด พระลำพูนที่พบในภาคเหนือ และพระพิมพ์สมัยลพบุรี เช่น พระหูยาน พระนารายณ์ทรงปืน ติดตัวไปไหนมาไหนด้วย”

ในเรื่องนี้จากเอกสารทางวิชาการของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้อธิบายว่า “ความนิยมในพระพิมพ์ที่ผันแปรเป็นพระเครื่องติดตัวนี้ได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วจากพระพิมพ์แบบลพบุรี ลงมาถึงพระพิมพ์แบบอื่นๆที่พบตามวัดโบราณในท้องถิ่นทั่วประเทศ และเมื่อพระพิมพ์โบราณหายากขึ้น สิ่งที่เข้ามาแทนที่คือการเกิดขึ้นของพระเกจิอาจารย์ หลวงพ่อ หลวงปู่ ที่ประชาชนนับถือ

ให้ความศรัทธาเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติ มาสร้างพระให้เป็นเครื่องรางในรูปจำลองพระประธานสำคัญๆ หรือรูปหลวงพ่อที่คนเคารพนับถือทั้งที่เป็นเนื้อผงและโลหะชนิดต่างๆ ซึ่งพระเครื่องเหล่านี้เหมาะแก่การติดตัวไปยังสถานที่ต่างๆ เพราะเพียงแค่อธิษฐานจิต สวดขอความคุ้มครองก็เพียงพอ

หรืออาจกล่าวได้ว่า พระเครื่องทั้งหลายที่ผ่านการปลุกเสกมาแล้วนั้นเมื่อมาถึงมือประชาชน ก็อยู่ในลักษณะที่พร้อมใช้ ซึ่งดูเหมาะกับสังคมที่วุ่นวาย เร่งรีบ และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน”

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อในเรื่องของพุทธคุณและปาฏิหาริย์นี้ อาจเป็นเรื่องเหลวไหล เป็นลัทธิความเชื่อในด้านไสยศาสตร์มากกว่าที่จะเป็นเรื่องพุทธศาสนา และกลายเป็นข้อถกเถียงกันมาก เมื่อพลังความเชื่อเหล่านี้ก่อให้เกิดพุทธพาณิชย์ในเชิงการเช่า-ซื้อพระเครื่องเกิดขึ้น และมีการสร้างวัตถุมงคลขึ้นอย่างมากมาย รวมทั้งมีการโหมโฆษณาทางหน้าหนังสือพิมพ์อย่างคึกคักยิ่ง

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า พระเครื่องซึ่งแต่เดิมเรียกพระพิมพ์นั้น จุดประสงค์ในการสร้างไม่ได้เป็นไปเพื่อมีอำนาจ หรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาได้เกิดคติเชื่อกันว่าพระพิมพ์มีอำนาจเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามารถคุ้มครองภัยอันตราย หรืออาจบันดาลให้เกิดลาภยศ ตลอดจนทำให้เกิดเสน่ห์

ทำให้การสร้างพระเครื่องถูกหันเหความมุ่งหมายมาทำเป็นเครื่องรางของขลัง มีกำหนดอุปเท่ห์ (วิธีดำเนินการ) เป็นเรื่องเกี่ยวกับเนื้อวัสดุที่นำมาทำเป็นองค์พระ และมีพิธีปลุกเสกกันหลายกระบวนการเพื่อทำให้เกิดความขลัง ซึ่งพระเครื่องที่ได้สร้างกันในรุ่นหลังๆนี้ เชื่อว่าทำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยอาศัยรูปพระปฏิมาเป็นเครื่องมือในการประกาศเกียรติคุณของพระเกจิอาจารย์แต่ละท่าน

เราอาจกล่าวได้ว่า ความกลัวภัยต่างๆทำให้คนเราจำเป็นต้องหาและกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวพึ่งพาให้เกิดความปลอดภัย ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของตน ทั้งนี้ วัตถุมงคลต่างๆโดยเฉพาะพระบูชาและพระเครื่อง ซึ่งมีอำนาจของพุทธคุณที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยเชื่อว่าพระเครื่องนั้นสามารถคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของตนได้ ทำให้พระเครื่องเป็นที่นิยมของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ



ภาพจาก ตลาดนัดพระเครื่อง.sabuyblog.com

แม้ในปัจจุบันซึ่งไม่มีภาวะศึกสงครามอีกแล้ว แทนที่ความนิยมพระเครื่องจะลดน้อยลง พระเครื่องกลับได้รับความนิยมเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น และปัจจุบันหรือในยุคนี้เป็นที่น่าสนใจว่ามีสาเหตุอะไรที่ทำให้คนไทยหันไปยึดถือพระพุทธ พระสงฆ์ (เกจิอาจารย์) หรือวัตถุมงคล จนเป็นที่ต้องการของคนทุกชนชั้น

คำตอบที่สะท้อนออกมาคือ เพราะสังคมปัจจุบันอยู่ในภาวะรัดตัวต้องดิ้นรนขวนขวายมากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจที่บีบคั้น ภาวะการเมือง และปัญหาสังคมที่ไร้การเยียวยา ตลอดจนการไม่ได้รับความใส่ใจจากรัฐ ทำให้ประชาชนแทบทุกชนชั้นวรรณะเกิดความไม่มั่นคงในวิถีการดำเนินชีวิตของตัวเอง

ดังนั้นพระเครื่องจึงเป็นที่สนใจของทุกคน เป็นที่พึ่งและศรัทธาทางจิตใจ เป็นสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยจนถือเป็นวัฒนธรรมแห่งความเชื่อในอำนาจของพุทธคุณ

สำหรับเรื่องการครองความนิยมหรือของพระเครื่องนั้น หากเป็นพระเครื่องที่ปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์ที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าเชื่อถือ มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ค้นคว้าได้ชัดเจน หรืออาจมีเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และเกิดประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ชัดเจน ก็ทำให้เกิดการรับรู้ และได้รับความสนใจได้ไม่ยากนัก

ยกตัวอย่าง จากประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง มีการบันทึกเรื่องราวไว้ตั้งแต่สมัยที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปนั้น ได้มีการใช้ “พระคาถามงกุฎพระพุทธเจ้า” ของหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ในการปราบม้าพยศที่ทางราชสำนักฝรั่งเศสได้นำมาถวาย ทำให้พระองค์ท่านสามารถขี่ม้าพยศตัวนี้ได้อย่างปลอดภัย

หรือแม้แต่ประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อพริ้ง วัดบางประกอก ที่เป็นหนึ่งในอาจารย์ของเสด็จกรมหลวงชุมพรฯ เลื่อมใสศรัทธาต่อหลวงพ่อพริ้งอย่างมาก ถึงขนาดนำพระโอรสมาอุปสมบทเป็นสามเณรถึง 3 พระองค์ ด้วยเหตุนี้พระเครื่องทุกรุ่นที่ปลุกเสกโดยหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง และหลวงพ่อพริ้ง วัดบางประกอก จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากคนทั่วไปในวงการพระเครื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ในปัจจุบัน วงการพระเครื่องมีความเป็นธุรกิจมากขึ้น จะเห็นได้ว่า ในพระเครื่องบางรุ่น มีรูปแบบที่หลากหลายของการเผยแพร่ความเก่งของพระเกจิอาจารย์ที่ปลุกเสก เช่น การทำคลิปวิดีโอการลองใช้อาวุธปืนยิงไปที่พระเครื่องรุ่นนั้นๆ เผยแพร่ใน YouTube

หรือในช่วงที่มีการโฆษณาการจัดสร้างพระเครื่องรุ่นใหม่ ก็มีการเขียนเชียร์ถึงประสบการณ์พระเครื่องรุ่นที่ผ่านมาของพระเกจิอาจารย์ที่ปลุกเสกในนิตยสารสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับต่างๆ เพื่อให้เกิดกระแสความนิยมพระเครื่องรุ่นดังกล่าวในวงกว้าง

ในสังคมไทยก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความเชื่อที่คล้อยตามได้ง่ายกับเรื่องแบบนี้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วความนิยมที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งเพื่อให้เป็นความจริงขึ้นมา มักจะอยู่ได้ไม่นาน และยิ่งในยุคนี่ที่มีสื่อต่างๆ ที่เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ทำให้โอกาสในการค้นคว้าพิสูจน์ความจริงก็มีมากขึ้นเช่นเดียวกัน

เหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงสภาวะทางสังคมไทยที่ได้มีค่านิยม และให้การยอมรับมากขึ้นในการสะสมวัตถุมงคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเครื่องและพระบูชา ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามบทความเกี่ยวกับเรื่องพระเครื่องและพระบูชา รายการให้เช่าพระเครื่องและพระบูชา หรือข่าวสังคมความเคลื่อนไหวในวงการพระเครื่อง ได้จากหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารพระเครื่องต่างๆทั้งรายปักษ์และรายเดือนหลายฉบับ

จากค่านิยมในการสะสมพระเครื่องพระบูชาดังกล่าวนี้ ได้ก่อให้เกิดธุรกิจซื้อขายพระเครื่องและพระบูชา ซึ่งมักจะเรียกธุรกิจนี้กันโดยทั่วไปว่า “ตลาดพระ” ในอดีตธุรกิจนี้เป็นธุรกิจเล็กๆที่ยังไม่มีการดำเนินการเป็นระบบมากนัก เช่น แผงพระ หรือ ร้านค้าพระเล็กๆตามตรอกซอย

ต่อมา เมื่อสังคมไทยมีความนิยมในการสะสมพระเครื่องมากขึ้น ธุรกิจนี้จึงมีพัฒนาการอย่างเป็นลำดับ นำไปสู่การดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการก่อตั้งชมรมพระเครื่อง หรือศูนย์พระเครื่อง เพื่อดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ ทั้งที่ตั้งอยู่ในอาคารพาณิชย์ทั่วไป หรือตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ทั้งในกรุงเทพมหานครและตามหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งธุรกิจการซื้อขายพระเครื่องและพระบูชานี้ได้เป็นจุดกำเนิดให้มีธุรกิจต่อเนื่องอีกมากมาย เช่น ธุรกิจสิ่งพิมพ์ต่างๆ และธุรกิจเลี่ยมพระ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากจะพูดถึงหลักของตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า “หากผู้ผลิตสามารถทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าสินค้าของตนแตกต่างจากของผู้ผลิตรายอื่นได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มอำนาจผูกขาดได้มากเท่านั้น และผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง จึงจะสามารถตั้งราคาขายที่สูงได้” ซึ่งในหลักการนี้ทำให้สามารถสะท้อนมุมมองความเป็นจริงของวงการพระเครื่องได้เป็นอย่างดี



ภาพจาก ตลาดนัดพระเครื่อง.sabuyblog.com

เนื่องจากพระที่ติดรางวัลจากงานประกวดพระเครื่อง มักจะเป็นที่นิยมของผู้ที่สะสมพระเครื่องโดยทั่วไป มีผลทำให้พระเครื่องที่ติดรางวัลจากงานประกวดนั้นขายได้ง่าย และขายได้ในราคาที่สูงกว่าราคาโดยทั่วไปของพระเครื่องในรุ่นเดียวกัน เพราะถือว่าได้ผ่านการรับรองคุณภาพจากงานประกวดมาแล้ว

ยิ่งถ้าเป็นพระเครื่องที่ติดรางวัลจากงานประกวดที่เป็นงานใหญ่ๆหลายงาน ก็ยิ่งทำให้พระเครื่ององค์นั้นมีมูลค่าที่สูงมากขึ้นไปอีก แต่ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่าวงการพระเครื่องมีความเป็นธุรกิจที่ชัดเจนมากขึ้น มีการร่วมมือกันทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพรรคพวกมากขึ้น เห็นผลประโยชน์เป็นสำคัญ

ทำให้มีการไปจัดงานประกวดพระเครื่องที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อให้พระเก๊จะได้มีโอกาสติดรางวัลมากขึ้น จะได้ขายง่ายขึ้น

มีการนำพระมาชุบตัวในงานประกวด อีกทั้งยังมีการดันพระใหม่ที่เพิ่งสร้างมาแค่ไม่กี่ปี ให้เข้ามาอยู่ในรายการประกวดพระเครื่องด้วย ทำให้ประโยชน์ที่แท้จริงของงานประกวดพระเครื่อง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม

ส่วนใหญ่การแสวงหาผลประโยชน์แบบนี้ มักจะหาวิธีให้พระของตนและพรรคพวกได้รับการการันตีจากงานประกวดพระเครื่อง ว่าเป็นพระที่มีความสวยและแท้ตามหลักสากลนิยม มีผลทำให้ผู้ที่เช่าบูชาพระเครื่องที่ติดรางวัลจากงานประกวดรู้สึกสบายใจมากขึ้นว่าพระองค์นี้เป็นพระแท้

แต่ในความเป็นจริงนั้น พระเครื่องที่ติดรางวัลจากงานประกวด ก็ไม่ได้เป็นพระแท้เสมอไป เพราะบางครั้งมีการขอร้องหรือมีการใช้อิทธิพลข่มขู่ให้กรรมการบางคนรับพระองค์นั้นๆ ทั้งๆที่เป็นพระเก๊ เจ้าของพระจะได้สบายใจ คิดว่าพระองค์นี้เป็นพระแท้ แต่ถ้าเป็นกรรมการที่ดี มีจรรยาบรรณ การเจรจาต่อรองด้วยวิธีต่างๆก็ไม่มีผลทั้งนั้น กรรมการที่ดีจะดูแต่ความถูกต้องของพระเครื่องเพียงอย่างเดียว

ด้วยเหตุนี้พระเครื่องจึงได้กลายเป็นสินค้าที่มีคุณค่าทางพาณิชย์สูง มูลค่าของวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมของพระเครื่องกับมูลค่าทางการค้าของพระเครื่องมีความแตกต่างกันมากนัก จากเดิมพระเครื่องมีคุณค่าทางด้านศรัทธาที่ไม่สามารถตีราคาเป็นจำนวนเงินได้ แต่ในปัจจุบันคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจกลับเข้ามาตีราคาพระเครื่องเป็นจำนวนเงินเพิ่มขึ้นมาด้วย

จนกล่าวได้ว่า “พระเครื่อง” กลายเป็นวัตถุที่มีคุณค่าในเชิงพาณิชย์สูง และวงการพระเครื่องได้พัฒนากลายเป็น “ธุรกิจพระเครื่อง” นั่นเอง

ธุรกิจพระเครื่องจึงเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังที่ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้เคยระบุว่า..
มูลค่าของธุรกิจพระเครื่องขยายตัวต่อเนื่องจากในปี 2546 ที่มีมูลค่าสูงเกือบ 10,000 ล้านบาท
มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2548 ที่มีมูลค่าสูงเกือบ 20,000 ล้านบาท และ
ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องแบบทวีคูณในปี 2550 ทำให้ธุรกิจพระเครื่องมีมูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านบาท และ
คาดการณ์ว่าจะทรงตัวในปี 2551 โดยมีมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยที่ราคาของพระเครื่องรุ่นที่เป็นที่นิยมก็ยังคงมีการปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับ

ผลจากการที่สังคมไทยมีความนิยมในสะสมพระเครื่องมากขึ้น ทำให้ธุรกิจพระเครื่องนั้นมีเม็ดเงินหมุนเวียนในแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล โดยที่ผลวิจัยของทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ในวงการพระเครื่องมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากมายหลายประเภท ดังนี้
ธุรกิจสร้างพระ : ในกระบวนการสร้างพระเครื่องนั้น จะมีต้นทุนการผลิตแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัสดุมวลสาร ปริมาณการสร้างแต่ละครั้ง วิธีการสร้าง ขนาดของพระเครื่องที่จะสร้าง การประกอบพิธีพุทธาภิเษก และการโฆษณาประชาสัมพันธ์การสร้างพระเครื่องในแต่ละรุ่น


ธุรกิจแผงพระ : ปัจจุบันแผงพระและศูนย์พระเครื่องมีอยู่ถึงกว่า 5,000 แผงทั่วประเทศ โดยอยู่ในกรุงเทพมหานครกว่า 3,000 แผง ทั้งนี้เป็นแหล่งที่เป็นที่รู้จักได้แก่
ศูนย์พระเครื่องที่ท่าพระจันทร์
ศูนย์พระเครื่องวัดราชนัดดา
ศูนย์พระเครื่องสวนจตุจักร
ศูนย์พระเครื่องที่เดอะมอลล์ท่าพระ
ศูนย์พระเครื่องที่เดอะมอลล์บางกะปิ
ศูนย์พระเครื่องที่เดอะมอลล์บางแค
ศูนย์พระเครื่องที่โรงแรมมณเฑียร
ศูนย์พระเครื่องที่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่างามวงศ์วาน เป็นต้น


ธุรกิจแผงพระหรือศูนย์พระเครื่องในต่างประเทศ : ธุรกิจพระเครื่องนั้นไม่ได้เฟื่องฟูเฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์นั้นก็มีแผงพระเครื่องด้วย โดยในมาเลเซียมีแผงพระอยู่เกือบทุกรัฐ ในแต่ละรัฐจะมีแผงพระ 2-3 แผงเป็นอย่างน้อย ส่วนในสิงคโปร์มีแผงพระอยู่กว่า300แผง นอกจากนี้ในไต้หวัน ฮ่องกง หรือแม้แต่ในยุโรป และสหรัฐอเมริกา
โดยเฉพาะในแหล่งที่เป็นที่ชุมชนของคนเอเชียที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่มีแนวโน้มว่าจะมีการตั้งแผงพระ เนื่องจากพระเครื่องนั้นเป็นที่นิยมในกลุ่มคนต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ ซึ่งบางเว็บไซต์ก็เป็นภาษาอังกฤษ และการเผยแพร่ข้อมูลของหนังสือพระเครื่องที่มีอยู่กว่า 40 ฉบับในปัจจุบัน ทำให้ชาวต่างประเทศได้เข้าใจเรื่องราวของพระเครื่อง รวมทั้งชีวประวัติของบรรดาเกจิอาจารย์ดีขึ้น

ธุรกิจโฆษณา : วัดต่างๆที่สร้างพระเครื่องโดยมุ่งเน้นไปที่การหารายได้นำไปบำรุงพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น โบสถ์ วิหาร เป็นต้น โดยใช้สื่อทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มักจะนิยมเผยแพร่ข่าวสารโดยการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน และคาดว่าธุรกิจพระเครื่องจะก่อให้เกิดเม็ดเงินในวงการโฆษณาสูงถึง 100-200 ล้านบาทต่อปี
โดยแยกเป็นการโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันสัปดาห์ละกว่า 3 ล้านบาท และในหนังสือพระประมาณ 3 ล้านบาทต่อฉบับต่อปี

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจทำกรอบพระ (ราคาจำหน่ายกรอบละ 50-200 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ทำกรอบและขนาดของพระเครื่อง) ธุรกิจเลี่ยมพระ (ราคาประมาณองค์ละ 100-150 บาท)

ธุรกิจหนังสือพระ : ในปัจจุบันมีจำหน่ายประมาณ 40 ฉบับ โดยหนังสือพระเหล่านี้อยู่ได้ด้วยโฆษณาต่างๆเกี่ยวกับพระเครื่อง ซึ่งจากการสอบถามบรรดาผู้ที่อยู่ในวงการพระเครื่องแล้วปรากฏว่า
หนังสือพระนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ (1) หนังสือพระที่จะมีการนำเสนอราคากลางหรือราคาตลาดของพระเครื่องแต่ละรุ่น และ (2) หนังสือพระอีกประเภทหนึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับวิชาการด้านพระเครื่องโดยเฉพาะ

ธุรกิจรับถ่ายภาพพระเครื่อง : เริ่มเฟื่องฟูในช่วงระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา มีผู้รับถ่ายภาพพระเครื่องกระจายอยู่ตามศูนย์พระเครื่องต่างๆทั่วประเทศ ค่าบริการขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของช่างภาพและสถานที่เป็นหลัก (ราคาอยู่ในระหว่าง 40-50 บาทต่อภาพ)
ซึ่งภาพถ่ายพระเครื่องนั้นมีการนำไปใช้งานหลายด้าน เช่น ใช้เป็นภาพประกอบบทความ ใช้ประกอบในการเสนอให้เช่า (ขาย) พระเครื่อง และใช้ประกอบใบประกาศรางวัลของงานประกวดพระเครื่อง-พระบูชา เป็นต้น

ธุรกิจการจัดประกวดพระเครื่อง : นับว่าเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมา การจัดประกวดพระเครื่องนั้นมีการจัดเพียงเดือนละครั้ง แต่ในปัจจุบันมีการจัดกันแทบทุกอาทิตย์ และมีการพัฒนาโดยมีธุรกิจต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง
จำนวนรายการพระเครื่องที่เข้าประกวดก็เพิ่มขึ้นเป็นหลักพัน
จากที่เคยมีการส่งเข้าประกวดเพียง 20 – 30 รายการเท่านั้น โดยในช่วงแรกๆที่มีการจัดประกวดนั้นมีการจัดเก็บค่ารายการเพื่อบรรจุพระเครื่องเข้าประกวด แต่ปัจจุบันการจัดเก็บค่ารายการนั้นไม่ค่อยมีแล้ว แต่เป็นการคัดเลือกจากกลุ่มหรือคณะของผู้จัดการประกวดเป็นหลัก
ในปัจจุบันการประกวดพระเครื่องแต่ละครั้งมีพระเครื่องไม่น้อยกว่า 1,500 รายการ (บางงานอาจจะมากถึง 3,000 รายการ) และในแต่ละงานจะมีค่าส่งพระเครื่องเข้าประกวดประมาณองค์ละ 200-500 บาท ทั้งนี้เพื่อให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และเพื่อประกอบการพิจารณาในการขออนุญาตจัดงานประกวดพระเครื่องในครั้งต่อไป



ธุรกิจพระเครื่อง หนังสือพระเครื่อง

นอกจากจากนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการพระเครื่องและอยู่คู่กับวงการพระเครื่องมานานแล้ว คือ อุปกรณ์การสะสม เช่น ตลับใส่พระ สร้อยคอ แหนบแขวนพระ กล่องใส่พระ รวมทั้งร้านทองรูปพรรณต่างๆที่รับเลี่ยมพระ และจำหน่ายกรอบพระ ตลอดจนร้านจำหน่ายเครื่องเงินที่รับทำกรอบพระและตลับใส่พระเครื่อง หรือแม้แต่ช่างไม้ที่รับทำฐานรองพระบูชา ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ล้วนเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการพระเครื่องทั้งสิ้น และมีแนวโน้มเติบโตควบคู่ไปกับธุรกิจพระเครื่องด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า นิตยสารพระเครื่องหลายฉบับ มักจะนิยมเชิญบุคคลที่เป็นนักการเมือง ทหาร ตำรวจ มาเป็นคณะที่ปรึกษาของนิตยสารพระเครื่องเล่มนั้นๆ ทั้งที่บุคคลเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญการที่จะเป็นที่ปรึกษาเรื่องพระเครื่อง แต่เป็นเพราะว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ เป็นผู้ที่มีบารมีและมีชื่อเสียงในสังคมทำให้เกิดผลดีต่างๆตามมา

กล่าวคือ เป็นการสร้างเครดิตและความน่าเชื่อถือให้กับหัวหนังสือนั้นๆ ว่ามีคนใหญ่คนโตในวงการอื่นให้ความสำคัญ เหมือนกับร้านอาหาร ที่มักจะติดรูปของลูกค้าที่เป็นดารา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกัน มันเหมือนเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งว่านิตยสารเล่มนี้มีคุณภาพ ส่งผลต่อยอดขายที่ดีของนิตยสารอีกด้วย

อีกทั้งการมีคนหนุนหลังเป็นนักการเมือง ทหาร ตำรวจ มันทำให้รู้สึกอุ่นใจ เวลามีปัญหาอะไรกัน ก็ช่วยให้สามารถเคลียร์กันได้ง่ายขึ้น และเหมือนเป็นการอาศัยบารมีของคนเหล่านี้ เพื่อที่จะป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทบกระทั่งในการเผยแพร่ข้อมูลจากหนังสือเล่มนั้นในอนาคตอีกด้วย และจะสังเกตได้ว่าในนิตยสารพระเครื่อง บางครั้งก็จะมีภาพพระเครื่องของบุคคลที่เป็นที่ปรึกษา ที่บูชาจากเจ้าของหนังสือหรือเซียนใหญ่ๆมาลงตีพิมพ์

ในประเด็นนี้สามารถสื่อได้ว่า เพื่อที่จะประกาศให้สาธารณชนรู้ว่าพระเครื่ององค์นี้ เป็นพระที่มีความสวย แท้ มีคุณภาพระดับลงโชว์ในนิตยสารพระเครื่อง ถูกมองว่าเป็นพระองค์ดารา มูลค่าไม่เปิดเผย หรือถ้าหากจะมีการขายในอนาคต ก็สามารถขายในราคาที่สูงได้ และยังทำให้เจ้าของพระเครื่ององค์นั้นได้หน้าได้ตาอีกด้วย

แม้ว่าจะได้บุคคลที่เป็นนักการเมือง ทหาร ตำรวจ มาช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ แต่ในมุมของคนอ่านหนังสือนั้น ก็ควรที่จะพิจารณาถึงคุณภาพเนื้อหาโดยรวมของหนังสือด้วยว่าเป็นอย่างไร จะได้มีความชัดเจนมากขึ้นในการเลือกหนังสือพระเครื่องที่ดีมีคุณภาพ

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ได้แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจพระเครื่องเป็นธุรกิจที่อยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน และมีมูลค่าทางการตลาดโดยรวมในแต่ละปีสูงนับหมื่นล้าน จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีผลประโยชน์มากมายอยู่ในวงการพระเครื่อง

แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วประเด็นความขัดแย้งในวงการพระเครื่อง อาจจะไม่ใช่สาเหตุที่นำไปสู่การลอบสังหารนายจักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวงการพระเครื่องในปัจจุบันนี้ มีความเป็นธุรกิจที่ชัดเจนและมีการแสวงหาผลประโยชน์มากขึ้น

โดยวิธีการแสวงหาผลประโยชน์ก็มีทั้งแบบสุจริตและไม่สุจริต ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ คนในวงการพระเครื่องส่วนมากเข้าใจและเห็นภาพชัดเจนกันดี เพียงแต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะคบหากับบุคคลแบบไหนในวงการนี้

หากเปรียบการอยู่ในวงการพระเครื่องเหมือนการเดินป่า การที่เราได้นายพรานที่ดีเป็นเพื่อนคู่คิด ก็ทำให้เราถึงจุดหมายปลายทางของการเดินป่าได้อย่างไม่ลำบากมากนักนั่นเอง

ที่มา.Siam Intelligence Unit
///////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น