--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เปิดประตู ภูฏาน : เพื่อนสนิทนอกอาเซียน !!??

เมื่อกล่าวถึงภูฏาน ประชาชนคนไทยต่างชื่นชมยินดีในพระกิจวัตรอันงดงามของพระราชวงศ์และประชาชน ชาวภูฏาน ซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า "Land of Happiness" เป็นดินแดนที่คนไทยทุกคนใฝ่ฝันจะได้ไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ความสำคัญของภูฏานมิได้มีเพียงเท่านี้ แต่ภูฏานยังเป็นประเทศที่มีความสำคัญ ทางการค้าการลงทุนที่ประเทศไทย ไม่ควรมองข้าม เพราะรัฐบาลภูฏานมี นโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างมาก และยินดีต้อนรับนักลงทุนจากประเทศไทย

แม้ภูฏานจะไม่ใช่สมาชิกอาเซียน หรือเป็นภาคีกับกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ สำหรับไทยกลับมีความรู้สึกว่าภูฏานคือหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งไทยมีความรู้สึกคุ้นเคยมากกว่าประเทศในอาเซียนบางประเทศเสียอีก ซึ่งก็ไม่แน่ว่า ในอนาคตภูฏานอาจเข้ามาเป็นหนึ่งในภาคีของอาเซียนก็ได้

ที่ผ่านมา รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้พยายามกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ล่าสุด เมื่อต้นเดือน นี้ไทยได้จัดการประชุมร่วมกับภูฏานเพื่อจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ (Trade and Economic Cooperation Agreement between Thailand and Bhutan) จนประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นการเร่งขยาย การค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตนและคณะได้ร่วมการประชุมกับภูฏาน ซึ่งประกอบด้วย Mr. Sonam P. Wangdi รองปลัดกระทรวงเศรษฐการของภูฏาน เพื่อจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจร่วมกัน โดยมีสาระสำคัญของความตกลงฯ ครอบคลุมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า การท่องเที่ยว ก่อสร้าง สุขภาพและการรักษาพยาบาล การศึกษา พลังงาน ลอจิสติกส์ รวมทั้งการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก ตลอดจนมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee) เพื่อเป็นเวทีในการ ทบทวนพัฒนาการด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งหารือถึงแนวทางขยายการค้าระหว่างกัน โดยคาดว่าความตกลงฯ จะมีการลงนามภายในปลายปี 2556 หรือต้นปี 2557

นางพิรมล กล่าวอีกว่า ถึงแม้ภูฏานจะเป็นประเทศเล็ก ไม่มีทางออกทะเล แต่เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย มีการนำเข้าสินค้าไทยเป็น มูลค่าเฉลี่ยปีละ 150,000 เหรียญสหรัฐ และในปี 2556 การส่งออกจากไทยไปภูฏาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 98.97 นอกจากนั้นภูฏานยังเป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในหลายกิจการ รวม ถึงกิจการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การพัฒนาส่งออกพลังงานน้ำ ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ การพัฒนาศูนย์การศึกษาในประเทศ ศูนย์ผลิตพืชออ-แกนิค ศูนย์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภูฏานได้มีความตกลง FTA กับหลายประเทศ อาทิ อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน เป็นต้น เป็นสมาชิก ความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค เช่น SAARC และ BIMSTEC จึงนับว่าภูฏานเป็นประเทศที่ยังมีโอกาสให้นักลงทุนของไทยเข้าไปลงทุนและทำการค้ากับภูฏาน เพื่อส่งออกไปยังประเทศที่ภูฏานได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีเหล่านั้น

"โอกาสของประเทศไทย คือ การขยายการค้าการลงทุนไปตั้งในภูฏานเพื่อใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีตาม FTA ที่ภูฏานมีกับคู่เจรจาสำคัญๆ ในเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน ซึ่งจะง่ายกว่าการไปตั้งธุรกิจในประเทศเหล่านั้น นอกจากนี้ โครงการ ใหญ่ที่สำคัญกำลังจะเปิดรับนักลงทุนต่างชาติ คือ โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 10,000 เมกะวัตต์ และจะขยายเป็นอีก 3 เท่า ในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อส่งไปขยายต่อยังอินเดียและประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันมีอินเดียเป็นนักลงทุนรายใหญ่"

"โอกาสยังเปิดกว้างสำหรับธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไทยมีจุดแข็ง คือ ด้านดูแลสุขภาพ การศึกษา การท่องเที่ยว รีสอร์ต ร้านอาหาร และธุรกิจบริการในด้านอื่นๆ" นางพิรมล กล่าว

ในปี 2556 ภูฏานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 153 ของไทย ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) การค้ารวมเฉลี่ยมีมูลค่า 12.06 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 134 ของไทย มีมูลค่าเฉลี่ย (2551-2555) 11.94 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 180 ของไทย มีมูลค่าเฉลี่ย (2551-2555) 0.15 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ไทยมีศักยภาพ ในการส่งออกไปภูฏาน ได้แก่ สิ่งทอ รถยนต์ และอุปกรณ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผ้าผืน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น สินค้านำเข้าจากภูฏานที่สำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และสิ่งพิมพ์ เป็นต้น

ที่มา.สยามธุรกิจ
-------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น