ธปท.ยันเงินในระบบมีพอทำโครงการ2ลล.
กระแสทุนเคลื่อนย้ายยังสมดุล
แนะไทยรับมือโลกเปลี่ยนแปลง
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถา หัวข้อการปรับเปลี่ยนประเทศไทย ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ ของนักเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นและสามารถส่งต่อด้านการผลิต ต่อเนื่องจนทำให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมีแนวโน้มใหญ่ 2 ประการคือ 1.โครงสร้างประชากร ที่กำลังเปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ปี 2555 ประชากรโลก เกิน 7,000 ล้านคน แล้วและมีสัดส่วนผู้สงอายุ 11% และในปี 2573 ยูเอ็น คาดว่าจะเพิ่มอีก 1,000 ล้านคน และมีสัดส่วนผู้สูงอายุ เพิ่มเป็น 16% แต่อัตราการเจริญพันธุ์ ปรับลดลงจาก 5 คน เหลือเพียง 2.5 คน ทำให้ประชากรวัยทำงานของโลกมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
และปัจจัยที่ 2 คือ การเข้าสู่สังคมเทคโนโลยีอัตโนมัติ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ที่ซับซ้อนแต่มีคุณภาพและความแม่นยำ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร และการเข้าสู่สังคมเทคโนโลยีอัตโนมัติ ส่งผลให้มีบางประเทศได้เปรียบการแข่งขัน และบางประเทศประสบอุปสรรคต่อการเติบโต
นายประสารกล่าวว่า กรณีของประเทศไทย อยู่ในกลุ่มประเทศ ที่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ด้านการผลิตโลกน่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับการเติบโต ดังนั้น เพื่อที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงนี้ไทยควรมีการปรับทัศนคติ 3 ด้านเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน 1.เลิกแข่งขันที่ราคาและปริมาณ แต่ต้องแข่งด้วยคุณภาพของสินค้าและบริการ เลิกหวังพึ่งแรงงานราคาถูก เป็นปัจจัยการผลิตอีกต่อไป 2.ต้องยอมรับการแข่งขันที่มากขึ้น เลิกกีดกันการแข่งขัน เพื่อรองรับการแข่งขันที่เสรีจากภายในและภายนอกให้มากขึ้น และ 3.ปรับทัศนคติ ที่ไม่ยอมรับการคอร์รัปชั่น เพราะการคอร์รัปชั่นเป็นต้นเหตุสำคัญของการบิดเบือนการจัดสรรทรัพยากร ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความสูญเปล่า สิ่งสำคัญที่เราต้องปรับ คือ ไม่ยอมรับคอร์รัปชั่น เลิกยอมรับการคอร์รัปชั่นถ้าเราได้ประโยชน์
นายประสารยังได้กล่าวอีกว่า ปัญหาในระยะสั้นที่ต้องติดตามในขณะนี้คือปัญหาการคลังของสหรัฐที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่มีการต่อรองทางการเมืองจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของสหรัฐไม่เป็นไปตามกำหนด แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว 2 พรรคการเมืองจะประนีประนอมขยายระยะเพดานหนี้ได้ในที่สุด แต่ต้องใช้เวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งเห็นได้จากปฏิกิริยาต่อตลาดหุ้นที่คึกคัก เพราะคาดว่าปัญหาด้านการคลังทำให้สหรัฐจะต้องชะลอการลดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) ออกไป
ขณะที่ตลาดการเงินมีทั้งการไหลเข้าและไหลออกของเงินทุน ซึ่งค่อนข้างเป็นไปอย่างสมดุล ทำให้ค่าเงินบาทแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบๆ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์การเคลื่อนย้ายของเงินทุน โดยเฉพาะกระแสเงินไหลออก หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดมาตรการคิวอีจะมีเงินไหลออกเร็วแค่ไหน ถ้าหากออกเร็วจะต้องมีการบริการจัดการ แต่มั่นใจว่าไทยจะสามารถรองรับปัญหาดังกล่าวได้
ส่วนสภาพคล่องในระบบการเงินไทยนั้น นายประสารยืนยันว่า มีเพียงพอต่อการกู้เงินในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทของภาครัฐ เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนระยะยาว 7 ปี และวงเงินที่กู้ต่อปีสูงสุดเพียงแค่ปีละ 300,000-400,000 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่สภาพคล่องส่วนเกินที่ ธปท. ดูแลอยู่มีถึง 4.4 ล้านล้านบาท และสภาพคล่องหมุนเวียนของธนาคารพาณิชย์ผ่านตลาดอัตราดอกเบี้ยข้ามคืนมีประมาณ 500,000-600,000 ล้านบาท ต่อวัน จึงมั่นใจว่าเพียงพอหากรัฐบาลจะเน้นกู้เงินในประเทศเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์
ส่วนปัญหาการเมืองในขณะนี้จากกระแสต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เชื่อว่าปัญหาการเมืองเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยที่จะต้องมีการทดสอบกำลังเป็นระยะ และทั้งสองฝ่ายต่างก็ศึกษาทัศนคติของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตาม
ที่มา.นสพ.แนวหน้า
---------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น