--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ชั่งไข่ ถึง เก็บภาษีรถยนต์เก่า ความเหมือนที่ ไม่แตกต่าง !!?

การตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองเข้าไปทำหน้าที่ในสภาอันทรงเกียรติ หากไม่นับการใช้อำนาจเงิน ความไม่ซื่อสัตย์และเหลี่ยมคูทางการเมืองแล้ว

ประชาชนควรจะได้เลือกผู้แทนโดยพิจารณาจากความแตกต่างของเนื้อหาสาระของนโยบายที่นำเสนอตามที่ตนเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง โดยนโยบายที่ใช้หาเสียงไม่ก่อให้เกิดความลักลั่นเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ส่วนรวมมากที่สุด

ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้นโยบาย "ชั่งไข่ขาย" เคยได้รับการขนานนามว่าเป็น "นวัตกรรม" ของการดำเนินนโยบายที่กลายเป็นประเด็นให้ผู้คนได้ตลกขบขันถึงความไม่เข้าท่าเข้าทาง แม้ว่าจะมีการท้วงติงจากบุคคลตั้งแต่ระดับนักวิชาการจนมาถึงประชาชนหาเช้ากินค่ำ ที่ต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ถูกนำเสนอขึ้นมา นอกจากนี้นโยบายที่จุดประกายดังกล่าวยังไม่อาจตอบสนองความเดือดร้อนตามที่ประชาชนเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจเข้าไปแก้ไข ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือจากภูมิปัญญาของรัฐบาล ทั้งนี้ เชื่อว่านโยบายที่นำเสนอนี้มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งในครั้งต่อมาแม้ว่าจะมีผลกระทบไม่มากนักก็ตาม

อย่างไรก็ตาม นโยบายในลักษณะแบบนี้ก็ไม่ได้ส่อให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของนักการเมืองที่ต้องการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ได้แต่อย่างใด แตกต่างจากนโยบายอื่นๆ ที่ดูไม่ประสีประสาหรือดูไร้เดียงสาอ่อนต่อโลกแต่สามารถนำมาใช้เป็นช่องทางสำหรับกอบโกยประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ โดยที่ประชาชนไม่รู้ตัวเลยก็ได้

เช่นเดียวกับการนำเสนอ "โครงการจำกัดอายุการใช้งานรถยนต์" ต่อรัฐบาล โดยระบุว่ารถยนต์ที่มีอายุเกิน 7-10 ปี ห้ามนำเข้ามาวิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งหากนำเข้ามาวิ่งจะต้องเสียภาษีเทียบเท่ารถใหม่ โดยอ้างถึงแนวความคิดของโครงการดังกล่าวได้มาจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือแก่โครงการ ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในประเทศญี่ปุ่นได้อย่างเห็นผล ทั้งที่แนวคิดนี้มองข้ามหรือไม่ได้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นที่มีความแตกต่างกันอย่างมากในการนำมาบังคับใช้กับบ้านเมืองและประชาชนที่มีเงื่อนไขและองค์ประกอบต่างๆ ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง แม้ว่าในเวลาต่อมาจะมีการถอนเรื่องนี้ออกไปอันเนื่องมาจากเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยของประชาชนจำนวนมากก็ตาม แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า หากนโยบายจำพวกนี้มีการนำมาบังคับใช้จะช่วยเหลือประชาชนได้สมตามเจตนามรณ์ของผู้คิดค้นนโยบายนี้จริงหรือไม่ รวมทั้งไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับการบังคับใช้นโยบายประเภทนี้

น่าแปลกใจที่พรรคการเมืองต่างก็มีบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถเป็นจำนวนมาก ไฉนจึงปล่อยให้มีนโยบายประเภท “จำอวด” หรือ “ปล่อยไก่” ออกมามากมายเช่นนี้ สร้างความอิดหนาระอาใจแก่ประชาชนที่มองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างความคิดแปลกๆ ทางการเมืองที่ถูกนำเสนอออกมาของพรรคการเมืองไทยที่มีให้ (จำใจ) เลือกอยู่ไม่มากนักในเวลานี้

ลำพังคิดด้วยสามัญสำนึกของคนธรรมดาทั่วไปก็ไม่เห็นว่าแนวคิดที่ว่านี้จะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ ไม่ต้องผ่านกระบวนการคิดพิจารณาโดยอาศัยหลัก "ตรรกะ" หรือด้วยเหตุผลทั้งที่เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (scientific method) อย่างใดก็ตาม ก็ยังไม่อาจมองเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง หรือไม่ก็เป็นนโยบายอ่อนหัดที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับความเป็นจริงและบริบทของสังคมไทย ทั้งที่ผู้คิดค้นนโยบายเหล่านี้ต่างก็เกิดและเติบโตในประเทศไทยอันศิวิไลซ์แห่งนี้ น่าจะทราบถึงความเป็นไปได้ของนโยบายที่นำเสนอว่าสามารถนำมาปรับใช้กับสังคมไทยได้จริงหรือไม่ … ภาษาวัยรุ่นเขาเรียกว่า “แค่คิดก็ผิดแล้ว” ขอรับท่านผู้ทรงเกียรติ

เรื่องราวทั้งหมดจึงย้อนกลับมาที่ประชาชนคนไทยที่เสียภาษีเพื่อเป็นค่าตอบแทนแก่ท่านผู้ทรงเกียรติเพื่อมาให้สรรสร้างนโยบายเพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีแก่ประชาชนตาดำๆ ต้องกลายเป็นผู้น่าสมเพชเวทนาที่ต้องกลายเป็น “หนูทดลองยา” เพื่อให้ท่านทั้งหลายประเคนนโยบายที่ไม่ทราบว่าทำเพื่อใครกันแน่มาบังคับใช้โดยไม่อาจปฏิเสธได้ ยิ่งกว่านั้นยังไม่อาจทราบได้ว่านโยบายเช่นนี้จะเกิดขึ้นมาเพื่อให้เกิดเป็นประเด็นทางสังคม หรือมีเลศนัยที่ต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากบางเรื่องราวที่รัฐบาลไม่ต้องการให้ประชาชนสนใจ (หรือไม่)

ต้องรอคอยต่อไปว่าในอนาคตจะมีนโยบายน่าสนใจแปลกใหม่ออกมา เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้มีเวทีลับสมองกันอีกบ้าง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น