--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปมปัญหาโลกยุคใหม่ : ความเหลื่อมล้ำ-ตลาดเสรี

ไมเคิล แซนเดล"นักปรัชญาการเมืองชื่อดัง ชาวอเมริกัน ชี้ความไม่เท่าเทียม-ตลาดเสรี ปมปัญหา"ใหญ่"ในโลกยุคใหม่

สุทธิชัย สัมภาษณ์ ไมเคิล แซนเดล นักปรัชญาการเมืองชื่อดัง ชาวอเมริกัน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและเป็นที่รู้จักกันจากคอร์ส "Justice" ที่เขาสอนมานาน 20 ปี รวมกันแล้วมีนักศึกษากว่า 15,000 คนที่เข้าเรียนคอร์สนี้ ทำให้เป็นคอร์สที่มีนักศึกษาเข้าเรียนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของฮาวาร์ด โดยคอร์สดังกล่าวมีการเผยแพร่ทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ยูทูบด้วย]

ผมติดตามการสอนของคุณทางยูทูบมาตลอด หนังสือเรื่อง What money can't buy ที่คุณแต่งก็มีเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก คุณมาไทยครั้งนี้เพื่อทำอะไร

มาร่วมพูดในงาน "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ซึ่งเวทีนี้ผมได้พูดคุยเกี่ยวกับแง่มุมของความยุติธรรม จริยธรรม และค่านิยม ซึ่งเราต้องเพิ่มเติมเข้าไปในการดำเนินชีวิต รวมถึงในสังคมประชาธิปไตย ผู้คนในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกมีความคับข้องใจอย่างมากจนเกิดพรรคการเมืองทางเลือกขึ้นมา ส่วนหนึ่งน่าจะเนื่องจากผู้คนต้องการเห็นความยุติธรรม คุณค่า และความเท่าเทียมกัน

สิ่งที่ขาดไปคือแง่มุมด้านจริยธรรม-คุณธรรมของการเมืองใช่ไหม

ใช่

หมายถึงในสหรัฐหรือเปล่า

ทำนองนั้น โดยเฉพาะในขณะนี้ที่หน่วยงานของรัฐบาลต้องปิดทำการ

ในสายตานักปรัชญาการเมือง มองการปิดหน่วยงานรัฐว่าอย่างไร

ผมว่าสิ่งดังกล่าวสะท้อนความล้มเหลวของระบบการเมือง สหรัฐหาทางออกเรื่องงบประมาณไม่ได้เพราะพรรครีพับลิกันยืนยันที่จะกำจัดกฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพ "โอบามาแคร์" โดยหากไม่ได้อย่างที่ต้องการก็จะไม่ยอมผ่านงบประมาณ จนต้องมีการปิดหน่วยงานรัฐในที่สุด และล่าสุดที่เป็นประเด็นคือการเพิ่มเพดานหนี้ ซึ่งเปรียบได้กับการนำการเมืองและเศรษฐกิจมาเป็นตัวประกัน ต่อรองกับวาระทางการเมืองของรีพับลิกัน

ผมคิดว่านี่ไม่ใช่แนวทางตามหลักประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยจะได้ผลเมื่อคนมาอภิปราย แลกเปลี่ยนความเห็นกัน หรือประนีประนอมกัน ซึ่งที่ผ่านมาพรรครีพับลิกันก็มีโอกาสในการคัดค้านกฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพแล้วในสภา ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนความล้มเหลวของระบบประชาธิปไตย

คุณคิดว่าประธานาธิบดีบารัก โอบามา ควรทำอย่างไรในตอนนี้

ผมเห็นด้วยกับที่ประธานาธิบดีโอบามาทำอยู่ขณะนี้ นั่นคือเสนอว่าทันทีที่หน่วยงานภาครัฐเปิดทำการได้อีกครั้งและมีการเพิ่มเพดานหนี้ จะนั่งเจรจาเรื่องงบประมาณระยะยาวรวมถึงการใช้จ่ายด้านสังคม บำนาญ สุขภาพ กับพรรครีพับลิกัน แต่ประธานาธิบดีโอบามาจะไม่ยอมเจรจาหากพรรครีพับลิกันยังเศรษฐกิจทั้งหมดมาเป็นตัวประกันหรือเครื่องต่อรอง

แต่การกระทำดังกล่าวก็เสี่ยงที่จะให้มีการผิดนัดชำระหนี้ หากตกลงกันไม่ได้ภายในวันที่ 17 ต.ค.

ประธานาธิบดีน่าจะกำลังหวังว่าคนอเมริกันจะบีบให้พรรครีพับลิกันต้องผ่อนปรนท่าที จริงๆ แล้วสมาชิกหลายคนของพรรครีพับลิกันก็ต้องการเห็นชอบให้มีการเพิ่มเพดานหนี้

คนอเมริกันทั่วไปคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

ผมคิดว่าคนอเมริกันรู้สึกคับข้องใจกับระบบการเมือง ผลการสำรวจระบุว่าคนจำนวนมากตำหนิว่าเป็นความผิดของพรรครีพับลิกันมากกว่าประธานาธิบดีโอบามา

คุณจะใช้เหตุการณ์นี้มาประกอบการสอนเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรมอย่างไร

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับการปะทะกันของหลักการและความเชื่อเกี่ยวกับระบบปฏิรูปประกันสุขภาพหรือระบบภาษี ซึ่งการมีความเห็นขัดแย้งกันถือเป็นเรื่องปกติในการอภิปรายทางการเมืองแบบประชาธิปไตยแต่คำถามคือจะจัดการกับความเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างไร แต่กลุ่มทีพาร์ตี (Tea Party) ในพรรครีพับลิกันไม่ได้โน้มเอียงไปทางการประนีประนอมหรืออภิปรายตามแนวทางประชาธิปไตยมากนัก และยืนกรานว่าหากไม่ได้ตามต้องการก็จะไม่ยอม

เหตุการณ์นี้เทียบเคียงกับเรื่องราวในหนังสือ What money can't buy ได้อย่างไรบ้าง ถือเป็นข้อจำกัดทางศีลธรรมในการเมืองได้หรือไม่

ถูกต้องเลย ผมคิดว่าปัญหาหนึ่งในระบบการเมืองของเราที่เกี่ยวเนื่องกับหนังสือเรื่อง What money can't buy คือเงินมีบทบาทและอิทธิพลมากเกินไปในการหาเสียง

เงินกำลังมีอิทธิพลมากในการเมืองทุกวันนี้อย่างนั้นหรือ

ใช่ในหลายประเทศ แต่บางประเทศในยุโรปและเอเชียจำกัดบทบาทของเงินในทางการเมืองได้อย่างประสบความสำเร็จมากกว่าในสหรัฐ ผ่านการจำกัดการบริจาคเงินเพื่อพรรคการเมือง โดยเฉพาะจากภาคธุรกิจ และผมคิดว่าเราปล่อยให้เงินมีบทบาทมากเกินไป

แล้วตอนนี้ทำอะไรได้บ้าง

ผมอยากให้มีกฎหมายจำกัดจำนวนเงินสำหรับช่วยในการหาเสียง เพราะปัจจุบันมีข้อจำกัดน้อยมาก ขณะที่หลายประเทศสามารถหาวิธีมาจำกัดบทบาทของเงินในการเลือกตั้ง บางประเทศก็เปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้ไปนำเสนอวิสัยทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์ และไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองซื้อเวลาหาเสียงทางโทรทัศน์อย่างไม่จำกัด

คงเป็นเรื่องยากมากที่คุณจะไปลอบบีให้มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะท้ายที่สุดนักการเมืองจะเป็นผู้ลงคะแนนเสียงว่าอยากเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนอะไร

ถูกต้อง

แล้วคุณจะออกจากวงจรชั่วร้ายนี้ได้อย่างไร

ทางเดียวคือการท้าทายให้ประชาชนและสถาบันต่างๆ ในภาคประชาสังคม ทำหน้าที่แกนนำของกลุ่มประชาชนที่สนใจในเรื่องนี้และเรียกร้องให้มีการปรับปรุงภาคการเมือง

ในฐานะอาจารย์ด้านปรัชญาการเมือง คุณสามารถผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน

ผมคิดว่าอิทธิพลของผมในฐานะอาจารย์ ผู้ให้การศึกษา และนักเขียน อาจเป็นในรูปแบบระยะยาวมากกว่า โดยในหนังสือที่ผมเขียน ผมพยายามเขียนให้ชัดเจนและเข้าใจได้สำหรับคนทั่วไป ไม่ใช่เขียนให้อ่านกันในแวดวงนักวิชาการ

จากการอ่านหนังสือของคุณ ผมสามารถเข้าใจในสิ่งที่คุณต้องการสื่อได้โดยไม่จำเป็นต้องศึกษาปรัชญาอย่างโสเครติส และผมก็ติดตามการสอนของคุณทางยูทูบมาตลอด วิธีการสอนของคุณสร้างแรงบันดาลใจได้มาก วิธีการสอนของคุณแตกต่างออกไปมากจากอาจารย์คนอื่นๆ คุณค้นพบวิธีการสอนแบบนี้จากไหน

ผมสอนและก็เชื้อเชิญ ท้าทายให้นักศึกษาตอบคำถามยากๆ เพื่อให้เด็กเรียนรู้จากการมีส่วนร่วม สมัยเป็นเด็กผมคิดว่าการสอนเป็นเรื่องน่าเบื่อ พอโตมาก็อยากใช้วิธีการสอนให้วิชาปรัชญาเป็นรูปธรรมและเชื่อมโยงกับทั้งโลก เป็นเหตุการณ์หรือปัญหาที่ประสบพบเจอกันในชีวิตประจำวัน นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเชื้อเชิญให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น หรือหาทางออกสำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจประสบพบเจอ

ผมสังเกตเห็นว่าบางคำถามที่คุณถามเด็กนั้น ยากมาก และเด็กก็ไม่แน่ใจว่าที่ตอบไปถูกหรือเปล่า

จริงๆ แล้วไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดไปหมดเสียทีเดียว เพราะบางคำถามเกี่ยวข้องกับจริยธรรมหรือค่านิยมที่นักปรัชญาถกเถียงกันมาเป็นร้อยปี สิ่งที่ผมทำคือพยายามตั้งคำถามให้เด็กเห็นปัญหาและแสดงความคิดเห็น

แล้วตอนให้คะแนนล่ะ ถ้าคำตอบมีหลากหลาย นักศึกษาจะทำคะแนนจากไหนเพราะไม่ได้ใช้การท่องจำแต่ตอบในเรื่องเกี่ยวกับการนำหลักการมาแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน

นักศึกษาจะได้คะแนนจากการเขียนว่าจะนำหลักการทางปรัชญาไปใช้กับเรื่องหรือประเด็นที่มีการถกเถียง หรือเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์หรือในชีวิตประจำวันอย่างไร การให้คะแนนไม่ได้ยึดจากจุดยืนของนักศึกษา แต่พิจารณาว่าคำตอบนั้นมีการเชื่อมโยงกับหลักการด้านปรัชญาหรือไม่ รวมถึงพิจารณาว่านักศึกษามีแนวทางชี้แจงหรือไม่ในกรณีที่มีคนเห็นต่าง เพราะนักปรัชญาหลายคนเรียนรู้ที่จะฟัง และอธิบายเหตุผลให้กับผู้เห็นต่าง ซึ่งสิ่งนี้เป็นทักษะที่จำเป็นมาก เพราะในชีวิตประจำวันนั้นมีหลายครั้งที่คนไม่ฟังความเห็นต่าง จึงมีภาพของการตะโกนใส่กันหรือขัดมากลางคัน

อะไรคือคำถามด้านปรัชญาที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้

การรับมือความไม่เท่าเทียมกันที่มากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนที่มีมากขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะหาทางกระจายความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างไร อีกอย่างคือเราต้องมานั่งหารือหรือถกกันเกี่ยวกับบทบาทของเงินและตลาดเสรี โดยต้องนำคำถามเรื่องจริยธรรมรวมเข้ามาด้วย ว่าตลาดสามารถตอบสนองความต้องการของสาธารณชนได้หรือไม่

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น