--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ข้อคิดสำหรับประเทศไทย จากโครงการ 2 ล้านล้าน (จบ)

โดย สันติธาร เสถียรไทย

หลายคนอาจมองว่า โครงการลงทุนปัจจัยพื้นฐาน 2 ล้านล้านของไทย เป็น "ไม้ตาย" ที่จะช่วยพลิกโฉมเศรษฐกิจของไทยเราได้ จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ อย่างไร มีบทเรียนจากโครงการ "2 ล้านล้าน" ของประเทศมาเลเซียมาให้พิจารณากัน ซึ่งบทความคราวที่แล้ว กล่าวถึง 4 ประเด็นใหญ่ ที่คนมาเลเซียเป็นห่วงในโครงการ 2 ล้านล้านของเขา ซึ่งใกล้เคียงกับของไทยเรา โดยห่วงแรก คือห่วงว่าโครงการต่าง ๆ ตอบโจทย์ของประเทศหรือไม่ ซึ่งผมได้อธิบายไปแล้ว คราวนี้ขอกล่าวถึงห่วงที่สอง

คลิก อ่าน 4 ข้อคิดสำหรับประเทศไทย จาก "โครงการ 2 ล้านล้าน" ของมาเลเซีย (1)

2.ห่วงเรื่องความโปร่งใสและการติดตามประเมินผล

แต่ละโครงการใน ETP โดยเฉพาะโครงการใหญ่ ๆ นั้นมี Target ของแต่ละปีค่อนข้างชัดเจน และทุกปีจะมีการประเมินผลครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลมาเลเซียจะเชิญทั้งภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น IMF, World Bank, Transparency International มาร่วมกันประเมินผล ว่าการดำเนินการเป็นอย่างไร และมีอะไรที่จะพัฒนาและปรับปรุงได้บ้าง และผลทั้งหมดจะถูกรวบรวมเป็นรายงานประจำปี สีสันสวยงาม เหมือนของบริษัทชั้นนำ ให้นักลงทุนและคนทั่วไปสามารถเห็นได้ว่าอะไรเป็นไปตามแผน อะไรที่ดูผิดเพี้ยนไป เช่น ต้นทุนที่อาจจะบานปลาย หรือรายละเอียดที่ปรับไปจากที่เคยประกาศไว้ เป็นต้น

เรื่องความโปร่งใสและการติดตามประเมินผลนี้ยิ่งสำคัญ หากโครงการนั้นอยู่นอกกรอบงบประมาณ นี่เป็นจุดสำคัญที่ต้องอธิบายให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจ เพราะเท่าที่ผมพบมา ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนในเอเชีย ยุโรป หรืออเมริกา ดูจะกังวลพอสมควร เมื่อได้ยินถึงจุดนี้ เพราะหลายคนเคยเห็นบทเรียนจากประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาอื่น ๆ ว่าถ้ารัฐบาลพยายามทำอะไรนอกกรอบงบประมาณ มันเป็นสัญญาณน่าเป็นห่วง เพราะมันอาจแสดงถึงความพยายามหลบกระบวนการตรวจสอบ หรือซ่อนปัญหาขาดดุลของรัฐบาล

ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียเองก็มีความพยายามทำโครงนอกกรอบงบรัฐบาลกลางอยู่ไม่น้อย (ตอนนี้มูลค่ารวมของโครงการเหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 15% ของจีดีพี) โดยรัฐบาลของเขาใช้วิธีออกการันตีหนี้ให้กับรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทที่รัฐบาลถือหุ้นและมีอำนาจบริหารอยู่ ให้ไปลงทุนแทนตน

นี่เองจึงเป็นเหตุหนึ่งที่ไม่นานมานี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ "ฟิทช์" (Fitch) ออกมาลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลมาเลเซียไปครึ่งขั้น (Negative Outlook) คาดว่าหากโครงการเขาขาดความโปร่งใสด้วย คงจะโดนหนักยิ่งกว่านี้

3.ห่วงว่าโครงการจะไม่เกิด หรือเกิดความล่าช้า

นอกจากจะมี Targets and Timetable หรือเป้าหมายและตารางเวลาของแต่ละโครงการระบุไว้อย่างชัดเจนแล้ว ETP ยังมีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะชื่อ Permandu อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี นำโดย นายอิดริส จาลา (Dato" Sri Idris Jala) ที่เคยอยู่ภาคเอกชนและมีชื่อด้านการผลักดันแผนต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นได้จริง โดยหน่วยงานนี้จะคอยสอดส่องดูว่าโครงการใดไม่เดินหน้าไปตามเป้าหมาย แล้วไปติดอยู่ที่กระทรวงไหน เพราะประเด็นอะไร แล้วรายงานตรงกับนายกรัฐมนตรีนาจิบ เพื่อจะได้สั่งงานข้ามกระทรวงให้มีการประสานงานแก้ปัญหาได้ โดยคนที่ทำงานใน Permandu นี้ หลายคนมีประสบการณ์การทำงานในภาคเอกชนมาก่อน และจะเป็นหน่วยงานที่คอยสื่อสารกับนักลงทุนโดยตรงอีกด้วย

สิ่งหนึ่งที่ชื่นชอบเวลาคุยกับคนของหน่วยงานนี้ คือเขาพูดกันอย่างตรงไปตรงมา จะบอกได้ว่าความเสี่ยงของโครงการนี้มีอะไร และทางเขามีแผนสำรอง หรือ Plan B อะไรบ้างคร่าว ๆ หากการดำเนินการบางโครงการไม่เป็นไปตามแผน แทนที่จะพูดแต่ว่ามั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนแน่นอน โดยส่วนตัวผมเห็นว่าการมี Plan B นี้สำคัญมาก สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ ตามที่ตั้งใจไว้

4.ห่วงเรื่องผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค

เรื่องนี้ยิ่งกลายเป็นประเด็นใหญ่ในยุคที่ QE กำลังจะหมดไป และเงินไม่ได้ไหลมาหาประเทศอาเซียนง่าย ๆ ดังแต่ก่อนอีกแล้ว มาเลเซียเองในช่วงที่ผ่านมาก็โดนแรงเทขายเงินริงกิตและพันธบัตรรัฐบาลเขาไปไม่น้อย เพราะนักลงทุนกังวลเรื่องดุลการคลังและดุลการค้าของเขา

โดยปัญหานี้หลัก ๆ เกิดจาก 2 นโยบายของรัฐบาล ส่วนแรก คือรัฐบาลมาเลเซียเองมีการอัด นโยบายประชานิยม เข้าไปก่อนการเลือกตั้งต้นปีนี้ ทั้งยืดการชดเชยราคาพลังงานที่มีต้นทุน 1-2% ของจีดีพีต่อปี ไม่แพ้ต้นทุนจำนำข้าวของบ้านเรา และยังมีลดแลกแจกแถมให้คูปองนักเรียนไปซื้อหนังสืออัพเกรดมือถือ เพิ่มเงินเดือนข้าราชการ และตั้งค่าแรงขั้นต่ำเป็นครั้งแรกอีกด้วย

แต่อีกนโยบายหนึ่งที่สร้างภาระต่อดุลการค้าและคลัง ก็คือการผลักดันโครงการลงทุนใหญ่ ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั่นเอง รายจ่ายการคลังด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลขาดดุลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency) ออกมาแสดงความกังวล ในขณะเดียวกัน โครงการเหล่านี้ก็ทำให้การนำเข้าสินค้าเครื่องจักรต่าง ๆ โตเร็วกว่าปกติ จนดุลการค้าที่เคยเกินดุลอย่างมากมายที่ผ่านมาลดลงอย่างฮวบฮาบ

นี่เป็นเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้ผมกังวลเรื่องค่าเงินริงกิต (Ringgit) แล้วเตือนนักลงทุนต่างชาติไว้ตั้งแต่ต้นปีที่ค่าเงินของเขายังบูมอยู่

แต่สุดท้ายเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี่เอง รัฐบาลมาเลเซียก็ออกมาแสดงความกล้าหาญในการเปลี่ยนทิศทางนโยบายเพื่อช่วยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วยการ "ขึ้นราคาน้ำมัน" ที่รัฐบาลช่วยพยุงมานาน และเปลี่ยนแปลงตารางเวลาของโครงการลงทุนใหญ่ ๆ โดยเลื่อนโครงการที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนและมีสัดส่วนการนำเข้าสูง (Import Content) ออกไปก่อน

สำหรับวิธีการดังกล่าวจะได้ผลอย่างไร แค่ไหน คงต้องรอดูกันต่อไปอีก แต่ก็ต้องชมที่รัฐบาลเขามีความกล้าที่จะลดนโยบายประชานิยม อย่างการชดเชยราคาน้ำมันในยามที่พรรคการมือง UMNO ของท่านนายกรัฐมนตรีนาจิบ กำลังจะมีการเลือกตั้งภายใน เพื่อเลือกผู้นำของพรรค

สุดท้ายต้องขอย้ำว่า ผมไม่ได้บอกว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ทำสิ่งที่ว่าทั้งหลายนี้ และสิ่งที่รัฐบาลมาเลเซียทำก็ไม่ได้หมายความว่าดีไปหมดและเหมาะกับบริบทของประเทศไทยเสมอไป แต่ไหน ๆ เรามักจะศึกษาดูตัวอย่างจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรปอยู่เสมอ ๆ

คราวนี้จึงอยากให้เปลี่ยนลองหันมาดูประเทศใกล้ตัวเราบ้างอย่างมาเลเซีย ว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราที่เผชิญโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มีปัญหาคล้ายเราหลายอย่าง เขามีวิธีแก้ปัญหากันอย่างไร และอาจจะเป็นข้อคิดที่ช่วยไขข้อกังวลที่ประชาชนคนไทยมีกับโครงการสร้างอนาคตไทยได้ไม่มากก็น้อย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น