โดย : อนพัทย์ ดีช่วย, เสถียร วิริยะพรรณพงศา
40 ปี 14 ตุลาฯ 2516 นิยามในสีเสื้อ "เหลือง-แดง" อุดมการณ์ที่ต่าง
ใกล้ครบวาระ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จากวันนั้นจนถึงวันนี้ มีการจัดงานรำลึกขึ้นทุกปีโดยผู้จัดต่างก็เป็นผู้ที่ร่วมในเหตุการณ์ หรือที่เรียกกันว่า "คนเดือนตุลา"
แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไป สถานการณ์เมืองที่เปลี่ยนแปลงได้แบ่งแยก "คนเดือนตุลา"ออกจากกัน แม้จะผ่านการต่อสู้มาด้วยกันแต่ด้วยอุดมการณ์ที่ต่างกันทำให้วันนี้คนสองข้างอยู่ในลักษณะผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ ดังนั้น ณ โอกาสครบรอบปีที่ 40 เราจึงเห็นการจัดงานรำลึกโดยคนสองกลุ่ม และมองได้ไม่ยากว่าเป็นกลุ่มที่มีสีเสื้อเหลือง-แดง ครอบอยู่
กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่เรียกว่า "มูลนิธิ 14 ตุลา" ซึ่งกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นกลุ่มของ "เสื้อเหลือง" และในวันนี้มี "น.พ.วิชัย โชควิวัฒน์" เป็นประธานกรรมการ โดยกลุ่มนี้เป็นผู้จัดงานรำลึกเหตุการณ์มาโดยตลอด
ส่วนอีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมาใหม่ในปีนี้ โดยใช้ชื่อว่า "คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์" ซึ่งมี "จรัล ดิษฐาอภิชัย" เป็นประธานกรรมการ และฝั่งนี้นี่เองที่ถูกมองว่าเป็น "เสื้อแดง"
ทั้งสองต่างเลือกที่จะจัดงานในแบบของตนเอง โดย "คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์" จะจัดงานในวันที่ 6 ตุลาฯ และวันที่ 13 ตุลาฯ โดยทั้ง 2 วัน จะจัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีทั้งพิธีสงฆ์ พิธีรำลึก การปาฐกถา การเสวนา ที่สำคัญคือมีการปาฐกถาของ "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" หนึ่งในแกนนำนักศึกษาสมัยนั้น
นอกจากนี้ยังมีภาคบันเทิงที่เป็นการแสดงดนตรี ลิเกล้อการเมือง และ งิ้วล้อการเมือง
ขณะที่งานซึ่งจัดโดย "มูลนิธิ 14 ตุลา" จะจัดขึ้นในวันที่ 14-15 ต.ค. โดยมีจุดจัดงาน 2 แห่งคือ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพ) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รูปแบบงานที่ออกมาก็จะไม่ต่างนัก แต่ที่ดูจะเป็นไฮไลต์คือ การปาฐกถาของ "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" และ "ธีรยุทธ บุญมี" สองผู้ยิ่งใหญ่แห่งเหตุการณ์
แต่คำถามที่หลายคนคงสงสัยคือ เมื่อรูปแบบคล้ายกัน เหตุใดต้องแยกกันจัด และจะรวมกันได้หรือไม่
น.พ.วิชัย ได้เล่าให้ฟังว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา ก่อให้เกิดคุณูปการอย่างมากต่อสังคมไทย หลัง 14 ตุลา ได้มีกลุ่มทุนได้เข้ามาอยู่ในการเมืองมากขึ้น ทุกฝ่ายได้เรียกร้องสิทธิผลประโยชน์ เพื่ออยู่รอด กลุ่มทุนต่างๆ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและไม่ได้เชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจ ก็มีโอกาสที่เติบโตขึ้นมา โดยเดิมทีกลุ่มที่ผูกขาด ก็จะมีสิทธิประโยชน์ ทั้งอำนาจตามกฎหมาย และอำนาจแฝง ทำให้อีกฝ่ายซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ไม่สามารถแข่งขันได้ แต่ในเมื่อกลุ่มนี้ถูกสั่นคลอน กลุ่มอื่นจึงเติบโตขึ้นมาโดยธรรมชาติ และส่งคนเข้าไปในทุกเวทีทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ประชาชน
น.พ.วิชัย ยังระบุด้วยว่า หลัง 14 ตุลา เป็นการตื่นตัวของประชาชนครั้งใหญ่ที่ต้องการสิทธิเสรีภาพ มีส่วนมีเสียงในการปกครองประเทศ แล้วระบบการกุมอำนาจโดยเผด็จการทหารไม่สามารถอยู่ได้ต่อไป ฉะนั้นทางเลือกของประเทศไทยคือ การเลือกตั้ง แม้จะมีการยึดอำนาจต่อมาอีกหลายครั้ง ก็ไม่สามารถปิดกั้นกระแสที่จะมีการเลือกตั้งได้จนปัจจุบัน
"อย่างไรก็ตาม ระบบการเลือกตั้ง เป็นระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งไม่ใช่ระบบที่จะเป็นคำตอบในปัจจุบันได้ เพราะผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งขึ้นมา ไม่ใช่ตัวแทนที่จะมุ่งแก้ปัญหาของประเทศ แต่เป็นตัวแทนของการที่จะรักษาอำนาจไว้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนต่อไป อย่างที่เขาใช้คำศัพท์ว่า ประชาธิปไตยสามานย์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง" น.พ.วิชัย เริ่มเปิดมุมมองของประชาธิปไตยในรูปแบบของตัวเอง
เมื่อเจอกับคำถามที่ว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้วันนี้คน 14 ตุลา เชื่อในเจตนารมณ์ประชาธิปไตยต่างกัน น.พ.วิชัย ตอบว่า เป็นธรรมชาติของคนไทย แต่แม้มีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่จุดหมายเป็นจุดหมายเดียวกัน เพียงแต่วิธีการและความเชื่อมันแตกต่างกันไปในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน แต่เป้าหมายสุดท้ายเชื่อว่าทั้ง 2 กลุ่มมีเป้าหมายหลักเหมือนกัน คือทำอย่างไรที่จะให้ประเทศไทยมีความเจริญ เป็นแผ่นดินที่คนอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข และความเจริญมั่งคั่งแผ่กระจายออกไป รักษาความเอกลักษณ์ของคนไทยคือ การเป็นคนที่มีจิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่างๆ
นั่นคือสิ่งที่ตนเชื่อว่าทุกฝ่ายที่เคลื่อนไหวอยู่มีความเห็นตรงกัน แต่วิธีการคือกลุ่มหนึ่งอาจจะเห็นว่า ณ ขณะนี้ถือว่าเป็นภาวะที่น่าพอใจ เราควรที่จะไปทำงานกับกลุ่มที่มีอำนาจอยู่ในเวลานี้ และชักจูงกลุ่มผู้มีอำนาจไปสู่เป้าหมาย แต่อีกกลุ่มเห็นว่าสภาพปัจจุบันไม่น่าพอใจ สิ่งที่ผู้มีอำนาจทำอยู่ไม่ถูกครรลองครองธรรม ควรที่จะต้องต่อสู้ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของการต่อสู้ทางความคิด
ส่วนที่ทั้ง 2 กลุ่มจะสามารถร่วมกันจัดงาน 14 ตุลาในอนาคตได้หรือไม่นั้น น.พ. วิชัย ระบุว่า ทุกอย่างเป็นอนิจจังหมด ไม่มีอะไรเป็นถาวร ครั้งหนึ่งเราเป็นมิตรกัน สักระยะอาจเป็นปฏิปักษ์กัน อีกระยะอาจจะกลับมาร่วมมือกันก็ได้
ขณะที่ จรัล ดิษฐาอภิชัย ระบุว่า "40 ปี 14 ตุลานั้น จะเรียกว่าไม่นานก็ได้ถ้าคิดจากประวัติศาสตร์สังคมในทั่วประเทศ แต่จะว่านานก็ได้ โดย 40 ปีนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางทั้งดีและไม่ดี และคำขวัญของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ว่า "จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม" คำว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์คือทุกด้านทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งเจตนารมณ์ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันมีอย่างเดียวเท่านั้น คือ เสรีภาพ ถ้าไม่มีเสรีภาพ ผมไม่เชื่อว่าประชาชนจะมีเสรีภาพเหมือนเช่นปัจจุบัน ส่วนผลพวงอย่างอื่นนั้นค่อยๆ หายไป อย่างเช่นเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งหลังๆ คนค่อนประเทศไม่ฟังแล้ว"
เมื่อถูกตั้งคำถามว่า ทำไมวันนี้เสรีภาพจากคน 14 ตุลา ถึงถูกตีความต่างกัน จรัล ตอบว่า ในเรื่องเสรีภาพมีการตีความเหมือนกัน ซึ่งคนเดือนตุลา ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ว่าเหลือง แดง ก็ยังเสพดอกผลของ 14 ตุลา ในเรื่องเสรีภาพ โดยทีแรกมีคนคิดว่าจะมีการตีความในเรื่องประชาธิปไตยต่างกัน ฝ่ายหนึ่งบอกว่าเป็นฝ่ายรับใช้ทุนนิยม อีกฝ่ายบอกว่าประชาธิปไตย ที่ดำรงอยู่ทุกวันนี้ ดีกว่าเป็นอมาตยาธิปไตย
จรัล ชี้แจงต่อว่า ใหม่ๆ คนพูดกันว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นความขัดแย้งในความคิดเห็น ความต่อประชาธิปไตยต่างกัน แต่ที่สำรวจดูปรากฏว่า ทุกวันนี้มันเป็นเรื่องของความเชื่อหรือไม่เชื่อประชาธิปไตยแล้ว โดยฝ่ายหนึ่งยังเชื่ออยู่ แต่อีกฝ่ายหนึ่งเริ่มไม่เชื่อแล้ว
สำหรับตัวชี้วัดที่ไม่เชื่อคือ 1.เวลามีอะไรก็เรียกร้องทหารอยู่เรื่อย 2.พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ คิดเองไม่ได้จึงถูกซื้อเสียง ถูกชักจูงด้วยประชานิยม ซึ่งคนที่ไม่เชื่อรวมถึงในสภาด้วยซ้ำ ตนกล้าพูดเลย แต่ที่เข้ามาเป็นผู้แทนเพราะมีฐานะทางการเมือง และปกป้องแสวงหาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนตัวเอง ฉะนั้นตรรกะที่ว่าคนที่เข้าไปในสภาผู้แทนราษฎร เพราะเขาเชื่อประชาธิปไตยนั้นไม่จริง
ส่วนที่สุดแล้วเป็นไปได้หรือไม่ที่คนตุลาทั้งสองสีจะมาร่วมมือกัน หรืออย่างน้อยก็จัดงานรำลึกวันเดียวกันจะเป็นไปได้หรือไม่ จรัล ระบุว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่เชื่อเรื่องของกลุ่มคนเดือนตุลาแล้ว เนื่องจากความขัดแย้งครั้งนี้มันลึกลงไปถึงระดับครอบครัว ทุกบริษัท ทุกองค์กร ทุกส่วนราชการ
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น