ตระกูลการเมืองไทย ยิ่งยุบ (พรรค) ยิ่งโต...เจนเนอเรชั่น 2 พร้อมทำงาน
เป็นข่าวฮือฮาช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีสื่อบางแขนงเสนอผลวิจัยเรื่อง "ตระกูลการเมือง" ของนักการเมืองไทย โดยเฉพาะ ส.ส.ในสภา ซึ่งพบว่าผู้แทนของเรามีสัดส่วนของคนจาก "ตระกูลการเมือง" ที่ส่งต่อสืบทอดกันมากที่สุดในโลก!
อย่างไรก็ดี เมื่อตามไปดูงานวิจัยร้อนๆ ของ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ จากสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งแปรเป็นบทความชื่อ "สามทศวรรษตระกูลการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย" ก็ได้พบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ไม่ได้มีส่วนหนึ่งส่วนใดของงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าประเทศไทยมีตระกูลการเมือง หรือที่หลายคนเรียกอย่างค่อนแคะว่าเป็นการ "สืบทอดอำนาจ" หรือ "สมบัติผลัดกันชม" ของวงศ์วานว่านเครือในระดับมากที่สุดในโลก
แต่ถึงกระนั้นก็นับเป็นสัดส่วนที่สูงไม่น้อยทีเดียว...
จากการจับเข่าคุยกับ ดร.สติธร และพลิกดูงานวิจัยอย่างละเอียด ยังพบประเด็นน่าสนใจมากกว่าจำนวน นั่นก็คือสัดส่วนของตระกูลการเมืองที่ฝ่าด่านเลือกตั้งเข้าสภาได้ในการเลือกตั้งทั่วไปแต่ละครั้งกลับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งๆ ที่ผู้คนในบ้านเมืองรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากยิ่งขึ้น หนำซ้ำในปี 2550 และปี 2551 ยังมีการยุบพรรคการเมืองใหญ่ไปหลายพรรค จนหลายคนคิดว่านักการเมืองและตระกูลการเมืองผู้ทรงอิทธิพลอยู่เดิมจะ "สูญพันธุ์" แต่ความเป็นจริงกลับสวนทาง!
ตระกูลการเมืองอิทธิพลสูงจริงหรือ?
ดร.สติธร เล่าให้ฟังถึงความสนใจเรื่องตระกูลการเมืองไทยจนตัดสินใจทำงานวิจัยชิ้นนี้ว่า จากผลการเลือกตั้งปี 2554 นักวิชาการหลายคนวิเคราะห์ว่าบทบาทของตระกูลการเมืองลดลงไปหรือเปล่า เพราะมีหลายตระกูลพ่ายแพ้การเลือกตั้ง เช่น ตระกูลฉายแสง ตระกูลตันเจริญ จึงเกิดความสงสัยว่าเป็นจริงตามที่มีการวิเคราะห์หรือไม่ ประกอบกับเว็บไซต์ TCIJ (ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง) รายงานว่ามี 42 ตระกูลการเมืองที่ได้เข้าสภาในการเลือกตั้งปี 2554 จึงใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในการศึกษา
หลักเกณฑ์ของการกำหนดนิยามของคำว่า "ตระกูลการเมือง" ใช้ 2 เจนเนอเรชั่น หรือ 2 รุ่น ส่วนใหญ่เน้นไปที่นามสกุลเดียวกัน หรือมีความเป็นเครือญาติกัน หากเคยชนะเลือกตั้งเข้าสภาได้ 2 รุ่นก็นับเป็นตระกูลการเมืองแล้ว ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่ใช้ในต่างประเทศ แต่การวิจัยครั้งนี้ขีดกรอบเฉพาะนักการเมืองระดับชาติในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่ได้โยงไปถึงระดับท้องถิ่นหรือวุฒิสภา อย่างไรก็ดี ในส่วนของ ส.ส. 500 คนในสภาผู้แทนชุดปัจจุบันนั้น พิจารณาจากทั้ง ส.ส.ระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อ และศึกษาย้อนกลับไปถึงการเลือกตั้งเมื่อปี 2522 เลยทีเดียว
งานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งแสวงหาคำตอบว่า อิทธิพลของตระกูลการเมืองยังมีความสำคัญต่อการเมืองและการเลือกตั้งของไทยหรือไม่ ถ้ามี...อิทธิพลดังกล่าวมากน้อยเพียงใด เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตหรือไม่ อย่างไร?
เลือกตั้ง 3 ก.ค.54 มี 42 ตระกูล
ดร.สติธร อธิบายว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 มีพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งจำนวน 11 พรรค มีผู้ได้รับการเลือกตั้งที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติในลักษณะ พ่อ-แม่-ลูก, พี่-น้อง และสามี-ภรรยา จำนวน 42 ตระกูล รวม 90 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของ ส.ส.ทั้งหมด 500 คน (แบบแบ่งเขต 375 คน แบบบัญชีรายชื่อ 125 คน)
สำหรับตระกูลที่มีสมาชิกในตระกูลชนะเลือกตั้งมากที่สุด ได้แก่ "ตระกูลเทียนทอง" สังกัดพรรคเพื่อไทย 5 คน รองลงมาคือ "ตระกูลเทือกสุบรรณ" สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 4 คน และ "ตระกูลรัตนเศรษฐ" สังกัดพรรคเพื่อไทย 3 คน
นอกจากนั้นอีก 39 ตระกูล มีสมาชิกในตระกูลได้รับการเลือกตั้งจำนวน 2 คน กระจายไปในพรรคการเมืองต่างๆ จำนวน 5 พรรค และยังมีอีก 4 ตระกูลที่คนในตระกูลได้รับเลือกตั้งต่างพรรคกัน ได้แก่ ตระกูลไกรฤกษ์ (นายจุติ ไกรฤกษ์ ประชาธิปัตย์ นายชัยวัฒน์ ไกรฤกษ์ พรรครักประเทศไทย) ตระกูลจินตะเวช (นายปัญญา จินตะเวช เพื่อไทย นายตุ่น จินตะเวช ชาติไทยพัฒนา) ตระกูลใจสมุทร (นายธานินทร์ ใจสมุทร ชาติไทยพัฒนา นายศุภชัย ใจสมุทร ภูมิใจไทย) และตระกูลมุ่งเจริญพร (นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ภูมิใจไทย นางปิยะดา มุ่งเจริญพร เพื่อไทย)
เพื่อไทยแชมป์ 19 ตระกูล-ปชป.17
เมื่อพิจารณาจำนวนตระกูลแยกเป็นรายพรรค พบว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มีตระกูลนักการเมืองได้รับเลือกตั้งมากที่สุด รวม 19 ตระกูล รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ 17 ตระกูล พรรคภูมิใจไทย 4 ตระกูล พรรคชาติไทยพัฒนา 3 ตระกูล พรรคพลังชล 1 ตระกูล และพรรครักประเทศไทย 1 ตระกูล
แต่หากพิจารณาในแง่สัดส่วน (เทียบกับจำนวน ส.ส.ทั้งหมดของพรรค) พบว่า พรรคชาติไทยพัฒนามีสัดส่วน ส.ส.ที่เป็นคนในตระกูลเดียวกันที่ได้รับเลือกตั้งสูงที่สุด คือ ร้อยละ 31.6 รองลงมาคือพรรคพลังชล ร้อยละ 28.6 พรรครักประเทศไทย ร้อยละ 25 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 22 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 17.6 และพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 15.1
ตระกูลการเมืองเพิ่มตลอดไม่มีลด
ประเด็นที่น่าสนใจต่อมา คือ พัฒนาการการดำรงอยู่ของตระกูลการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรของไทย ตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบัน ดร.สติธร บอกว่า ส.ส.ที่มีความสัมพันธ์แบบตระกูลการเมืองมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่มีเพียงร้อยละ 3.1 ในปี 2522 เพิ่มเป็นร้อยละ 6.6 ในปี 2526 และเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ มา จนมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 10 เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2535 หรือการเลือกตั้งปี 2535/2 (ดูข้อมูลในกราฟฟิก)
จากนั้นการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วน ส.ส.ที่มีความสัมพันธ์แบบตระกูลการเมืองก็เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่มีการยกเครื่องระบบการเลือกตั้งครั้งใหญ่ มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเข้ามาเพิ่ม ผลก็คือทำให้สัดส่วนของ ส.ส.ที่มีความสัมพันธ์แบบตระกูลการเมืองเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.2 และ 14.4 ในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 ตามลำดับ
ยิ่งยุบพรรค ตระกูลการเมืองยิ่งโต
นอกจากนั้นยังเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการรัฐประหาร เมื่อ 19 ก.ย.2549 และนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนักการเมืองครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง คือการยุบพรรคไทยรักไทย ในปี 2550 และการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย กับพรรคมัชฌิมาธิปไตย ในปี 2551 นำไปสู่การเว้นวรรคทางการเมืองของนักการเมืองคนสำคัญ 111 คน กับ 109 คน เป็นเวลาถึง 5 ปี
แต่ปรากฏว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้กระทบหรือทำให้ตระกูลการเมือง "สูญพันธุ์" เพราะในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังจากนั้น คือในปี 2550 และปี 2554 ส.ส.ที่มีความสัมพันธ์แบบตระกูลการเมืองกลับได้รับเลือกตั้งเข้าสภาสูงขึ้น คือ ร้อยละ 17.9 และ ร้อยละ 18.0 ตามลำดับ
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า ตระกูลการเมืองใหญ่ของเมืองไทยไม่ได้ "สูญพันธุ์" ดังที่มีการคาดการณ์หรือวิเคราะห์กันช่วงหลังการยุบพรรค แต่กลับกลายเป็นตัวเร่งให้มีการส่งผ่านตำแหน่งทางการเมืองจากคนรุ่นหนึ่งซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง ไปสู่เครือญาติ ทั้งคู่สมรส ลูก หลาน และญาติพี่น้องเร็วกว่าเวลาอันควรด้วยซ้ำ
ระบบตระกูลมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย
ในแง่ของผลที่เกิดขึ้นจากบทบาทของตระกูลการเมือง ดร.สติธร มองว่า การที่อำนาจไปกระจุกอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีความสนิทชิดเชื้อกันในแง่ของสายเลือด แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการกำหนดนโยบายที่มีโอกาสอิงประโยชน์เฉพาะกลุ่มตนมากกว่าเพื่อคนส่วนใหญ่ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนสูง แต่หากมองในแง่ดีก็มีไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะการเตรียมคนรุ่นที่ 2 เข้าสู่เวทีการเมือง จะมีการตระเตรียมทั้งเรื่องการศึกษาที่ดี และส่งไปฝึกงานหรือทดลองงานกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคเดียวกัน ทำให้นักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ของตระกูลการเมืองเหล่านี้สามารถทำงานได้ทันทีที่ได้รับเลือกตั้ง
เห็นได้จากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคอื่นๆ ก็ตาม กลุ่ม ส.ส.รุ่นใหม่ที่เป็นคนหนุ่มสาว เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2 ของตระกูลการเมือง มักทำงานได้ดี
ฉะนั้นแม้ตระกูลการเมืองจะยังคงมีต่อไปในระบบการเมืองไทย แต่จากผลการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา พวกเขาก็ไม่ได้ชนะเลือกตั้งโดยอัตโนมัติ แต่มีปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขคือการทำงานในพื้นที่ และมีคุณสมบัติที่ดีพอที่ประชาชนจะลงคะแนนให้หรือไม่ ประกอบกับในแต่ละพื้นที่ก็มีหลายตระกูลแข่งขันกัน การเลือกตั้งบางครั้งตระกูลใหญ่แพ้ทั้งคู่ก็มี
ด้วยเหตุนี้การเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนรู้เท่าทันจึงเป็นสิ่งสำคัญ ใครที่มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ใครที่มีสายสัมพันธ์กับใคร ถ้าประชาชนรู้ ก็จะทำให้การผูกขาดหรือออกนโยบายที่อิงผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มทำได้ยากขึ้น และถึงที่สุดก็จะทำให้ความเป็นตระกูลการเมืองไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง แต่ผู้ที่มีอำนาจกำหนดเลือกผู้แทนที่แท้จริงคือประชาชน!
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////
เป็นข่าวฮือฮาช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีสื่อบางแขนงเสนอผลวิจัยเรื่อง "ตระกูลการเมือง" ของนักการเมืองไทย โดยเฉพาะ ส.ส.ในสภา ซึ่งพบว่าผู้แทนของเรามีสัดส่วนของคนจาก "ตระกูลการเมือง" ที่ส่งต่อสืบทอดกันมากที่สุดในโลก!
อย่างไรก็ดี เมื่อตามไปดูงานวิจัยร้อนๆ ของ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ จากสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งแปรเป็นบทความชื่อ "สามทศวรรษตระกูลการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย" ก็ได้พบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ไม่ได้มีส่วนหนึ่งส่วนใดของงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าประเทศไทยมีตระกูลการเมือง หรือที่หลายคนเรียกอย่างค่อนแคะว่าเป็นการ "สืบทอดอำนาจ" หรือ "สมบัติผลัดกันชม" ของวงศ์วานว่านเครือในระดับมากที่สุดในโลก
แต่ถึงกระนั้นก็นับเป็นสัดส่วนที่สูงไม่น้อยทีเดียว...
จากการจับเข่าคุยกับ ดร.สติธร และพลิกดูงานวิจัยอย่างละเอียด ยังพบประเด็นน่าสนใจมากกว่าจำนวน นั่นก็คือสัดส่วนของตระกูลการเมืองที่ฝ่าด่านเลือกตั้งเข้าสภาได้ในการเลือกตั้งทั่วไปแต่ละครั้งกลับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งๆ ที่ผู้คนในบ้านเมืองรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากยิ่งขึ้น หนำซ้ำในปี 2550 และปี 2551 ยังมีการยุบพรรคการเมืองใหญ่ไปหลายพรรค จนหลายคนคิดว่านักการเมืองและตระกูลการเมืองผู้ทรงอิทธิพลอยู่เดิมจะ "สูญพันธุ์" แต่ความเป็นจริงกลับสวนทาง!
ตระกูลการเมืองอิทธิพลสูงจริงหรือ?
ดร.สติธร เล่าให้ฟังถึงความสนใจเรื่องตระกูลการเมืองไทยจนตัดสินใจทำงานวิจัยชิ้นนี้ว่า จากผลการเลือกตั้งปี 2554 นักวิชาการหลายคนวิเคราะห์ว่าบทบาทของตระกูลการเมืองลดลงไปหรือเปล่า เพราะมีหลายตระกูลพ่ายแพ้การเลือกตั้ง เช่น ตระกูลฉายแสง ตระกูลตันเจริญ จึงเกิดความสงสัยว่าเป็นจริงตามที่มีการวิเคราะห์หรือไม่ ประกอบกับเว็บไซต์ TCIJ (ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง) รายงานว่ามี 42 ตระกูลการเมืองที่ได้เข้าสภาในการเลือกตั้งปี 2554 จึงใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในการศึกษา
หลักเกณฑ์ของการกำหนดนิยามของคำว่า "ตระกูลการเมือง" ใช้ 2 เจนเนอเรชั่น หรือ 2 รุ่น ส่วนใหญ่เน้นไปที่นามสกุลเดียวกัน หรือมีความเป็นเครือญาติกัน หากเคยชนะเลือกตั้งเข้าสภาได้ 2 รุ่นก็นับเป็นตระกูลการเมืองแล้ว ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่ใช้ในต่างประเทศ แต่การวิจัยครั้งนี้ขีดกรอบเฉพาะนักการเมืองระดับชาติในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่ได้โยงไปถึงระดับท้องถิ่นหรือวุฒิสภา อย่างไรก็ดี ในส่วนของ ส.ส. 500 คนในสภาผู้แทนชุดปัจจุบันนั้น พิจารณาจากทั้ง ส.ส.ระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อ และศึกษาย้อนกลับไปถึงการเลือกตั้งเมื่อปี 2522 เลยทีเดียว
งานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งแสวงหาคำตอบว่า อิทธิพลของตระกูลการเมืองยังมีความสำคัญต่อการเมืองและการเลือกตั้งของไทยหรือไม่ ถ้ามี...อิทธิพลดังกล่าวมากน้อยเพียงใด เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตหรือไม่ อย่างไร?
เลือกตั้ง 3 ก.ค.54 มี 42 ตระกูล
ดร.สติธร อธิบายว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 มีพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งจำนวน 11 พรรค มีผู้ได้รับการเลือกตั้งที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติในลักษณะ พ่อ-แม่-ลูก, พี่-น้อง และสามี-ภรรยา จำนวน 42 ตระกูล รวม 90 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของ ส.ส.ทั้งหมด 500 คน (แบบแบ่งเขต 375 คน แบบบัญชีรายชื่อ 125 คน)
สำหรับตระกูลที่มีสมาชิกในตระกูลชนะเลือกตั้งมากที่สุด ได้แก่ "ตระกูลเทียนทอง" สังกัดพรรคเพื่อไทย 5 คน รองลงมาคือ "ตระกูลเทือกสุบรรณ" สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 4 คน และ "ตระกูลรัตนเศรษฐ" สังกัดพรรคเพื่อไทย 3 คน
นอกจากนั้นอีก 39 ตระกูล มีสมาชิกในตระกูลได้รับการเลือกตั้งจำนวน 2 คน กระจายไปในพรรคการเมืองต่างๆ จำนวน 5 พรรค และยังมีอีก 4 ตระกูลที่คนในตระกูลได้รับเลือกตั้งต่างพรรคกัน ได้แก่ ตระกูลไกรฤกษ์ (นายจุติ ไกรฤกษ์ ประชาธิปัตย์ นายชัยวัฒน์ ไกรฤกษ์ พรรครักประเทศไทย) ตระกูลจินตะเวช (นายปัญญา จินตะเวช เพื่อไทย นายตุ่น จินตะเวช ชาติไทยพัฒนา) ตระกูลใจสมุทร (นายธานินทร์ ใจสมุทร ชาติไทยพัฒนา นายศุภชัย ใจสมุทร ภูมิใจไทย) และตระกูลมุ่งเจริญพร (นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ภูมิใจไทย นางปิยะดา มุ่งเจริญพร เพื่อไทย)
เพื่อไทยแชมป์ 19 ตระกูล-ปชป.17
เมื่อพิจารณาจำนวนตระกูลแยกเป็นรายพรรค พบว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มีตระกูลนักการเมืองได้รับเลือกตั้งมากที่สุด รวม 19 ตระกูล รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ 17 ตระกูล พรรคภูมิใจไทย 4 ตระกูล พรรคชาติไทยพัฒนา 3 ตระกูล พรรคพลังชล 1 ตระกูล และพรรครักประเทศไทย 1 ตระกูล
แต่หากพิจารณาในแง่สัดส่วน (เทียบกับจำนวน ส.ส.ทั้งหมดของพรรค) พบว่า พรรคชาติไทยพัฒนามีสัดส่วน ส.ส.ที่เป็นคนในตระกูลเดียวกันที่ได้รับเลือกตั้งสูงที่สุด คือ ร้อยละ 31.6 รองลงมาคือพรรคพลังชล ร้อยละ 28.6 พรรครักประเทศไทย ร้อยละ 25 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 22 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 17.6 และพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 15.1
ตระกูลการเมืองเพิ่มตลอดไม่มีลด
ประเด็นที่น่าสนใจต่อมา คือ พัฒนาการการดำรงอยู่ของตระกูลการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรของไทย ตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบัน ดร.สติธร บอกว่า ส.ส.ที่มีความสัมพันธ์แบบตระกูลการเมืองมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่มีเพียงร้อยละ 3.1 ในปี 2522 เพิ่มเป็นร้อยละ 6.6 ในปี 2526 และเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ มา จนมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 10 เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2535 หรือการเลือกตั้งปี 2535/2 (ดูข้อมูลในกราฟฟิก)
จากนั้นการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วน ส.ส.ที่มีความสัมพันธ์แบบตระกูลการเมืองก็เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่มีการยกเครื่องระบบการเลือกตั้งครั้งใหญ่ มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเข้ามาเพิ่ม ผลก็คือทำให้สัดส่วนของ ส.ส.ที่มีความสัมพันธ์แบบตระกูลการเมืองเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.2 และ 14.4 ในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 ตามลำดับ
ยิ่งยุบพรรค ตระกูลการเมืองยิ่งโต
นอกจากนั้นยังเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการรัฐประหาร เมื่อ 19 ก.ย.2549 และนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนักการเมืองครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง คือการยุบพรรคไทยรักไทย ในปี 2550 และการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย กับพรรคมัชฌิมาธิปไตย ในปี 2551 นำไปสู่การเว้นวรรคทางการเมืองของนักการเมืองคนสำคัญ 111 คน กับ 109 คน เป็นเวลาถึง 5 ปี
แต่ปรากฏว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้กระทบหรือทำให้ตระกูลการเมือง "สูญพันธุ์" เพราะในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังจากนั้น คือในปี 2550 และปี 2554 ส.ส.ที่มีความสัมพันธ์แบบตระกูลการเมืองกลับได้รับเลือกตั้งเข้าสภาสูงขึ้น คือ ร้อยละ 17.9 และ ร้อยละ 18.0 ตามลำดับ
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า ตระกูลการเมืองใหญ่ของเมืองไทยไม่ได้ "สูญพันธุ์" ดังที่มีการคาดการณ์หรือวิเคราะห์กันช่วงหลังการยุบพรรค แต่กลับกลายเป็นตัวเร่งให้มีการส่งผ่านตำแหน่งทางการเมืองจากคนรุ่นหนึ่งซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง ไปสู่เครือญาติ ทั้งคู่สมรส ลูก หลาน และญาติพี่น้องเร็วกว่าเวลาอันควรด้วยซ้ำ
ระบบตระกูลมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย
ในแง่ของผลที่เกิดขึ้นจากบทบาทของตระกูลการเมือง ดร.สติธร มองว่า การที่อำนาจไปกระจุกอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีความสนิทชิดเชื้อกันในแง่ของสายเลือด แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการกำหนดนโยบายที่มีโอกาสอิงประโยชน์เฉพาะกลุ่มตนมากกว่าเพื่อคนส่วนใหญ่ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนสูง แต่หากมองในแง่ดีก็มีไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะการเตรียมคนรุ่นที่ 2 เข้าสู่เวทีการเมือง จะมีการตระเตรียมทั้งเรื่องการศึกษาที่ดี และส่งไปฝึกงานหรือทดลองงานกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคเดียวกัน ทำให้นักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ของตระกูลการเมืองเหล่านี้สามารถทำงานได้ทันทีที่ได้รับเลือกตั้ง
เห็นได้จากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคอื่นๆ ก็ตาม กลุ่ม ส.ส.รุ่นใหม่ที่เป็นคนหนุ่มสาว เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2 ของตระกูลการเมือง มักทำงานได้ดี
ฉะนั้นแม้ตระกูลการเมืองจะยังคงมีต่อไปในระบบการเมืองไทย แต่จากผลการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา พวกเขาก็ไม่ได้ชนะเลือกตั้งโดยอัตโนมัติ แต่มีปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขคือการทำงานในพื้นที่ และมีคุณสมบัติที่ดีพอที่ประชาชนจะลงคะแนนให้หรือไม่ ประกอบกับในแต่ละพื้นที่ก็มีหลายตระกูลแข่งขันกัน การเลือกตั้งบางครั้งตระกูลใหญ่แพ้ทั้งคู่ก็มี
ด้วยเหตุนี้การเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนรู้เท่าทันจึงเป็นสิ่งสำคัญ ใครที่มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ใครที่มีสายสัมพันธ์กับใคร ถ้าประชาชนรู้ ก็จะทำให้การผูกขาดหรือออกนโยบายที่อิงผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มทำได้ยากขึ้น และถึงที่สุดก็จะทำให้ความเป็นตระกูลการเมืองไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง แต่ผู้ที่มีอำนาจกำหนดเลือกผู้แทนที่แท้จริงคือประชาชน!
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น