--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

(Brother power in the world) บนความขัดแย้งของสากลนิยม !!?

โดย กิตติภัต แสนดี [randoma.wordpress.com]

อำนาจแบบพี่ในเวทีโลก กับความขัดแย้งของสากลนิยม และไม่นิยมสากล

บ้านพี่เมืองน้อง กลายเป็นวลีหยาบคายสำหรับแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยว่ามันก่อให้เกิดคำถามว่าใครเป็นพี่ ใครเป็นน้อง ต่แล้วในโลกก็ยังมีประเทศที่เป็นพี่ที่มีความหมายเหนือกว่าในด้านทรัพย์สิน และการใช้อำนาจอยู่ดี แม้ว่าเราพยายามหลีกเลี่ยงการใช้วลีนี้ก็ตาม

เหตุการณ์ก็เหมือนจะสั่นคลอนเมื่อประเทศที่เป็นพี่อย่างอเมริกากลับโชว์ฟอร์มเป๋ในเวทีโลกด้วยการปิดการทำงานของรัฐบาลกลางไปสัปดาห์ครึ่ง ส่งผลให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามาพลาดการประชุมสำคัญในเอเชีย และเปิดช่องว่างให้ผู้นำจากจีนโชว์เดี่ยว เข้าเจรจาหารือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค



photo from rightspeak.net

นอกจากเรื่องการเมืองแล้วความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลอเมริกาที่เชื่อกันว่าปลอดภัยที่สุดในโลกก็เริ่มจะไม่ปลอดภัยสมคำอ้างเมื่อสภาคอนเกรสเกือบพลาดโอกาสขยายเพดานหนี้และเกือบทำให้รัฐบาลอเมริกาผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

เหล่านี้ทำให้คำถามถึงความเหมาะสมของการใช้บทบาทความเป็นพี่ของอเมริกา ถูกเพิ่มเสียงให้ดังขึ้น

เป็นที่ทราบกันว่าประเทศนี้ ได้ใช้อำนาจในลักษณะยกเว้นหลักการทางกฎหมายระหว่างประเทศหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าบุก ให้ความช่วยเหลือกลุ่มต่อต้านรัฐบาล พร้อมจับกุมผู้นำในประเทศต่างๆ โดยไม่ได้รับมติจากสหประชาชาติ การกุมขังผู้ต้องสงสัยไว้เนิ่นนานโดยไม่มียื่นฟ้องกล่าวหาชัดเจน ฯลฯ ประธานาธิบดีเบลารุสได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2013 ว่าการใช้อำนาจแบบข้อยกเว้นของอเมริกา เข้าลักษณะแบบนาซีเข้าไปทุกที

ในแง่ปรัชญา ก็เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน

มีความคิดที่ว่า ความเป็นธรรมคือการใช้กฎเกณฑ์เดียวกันกับทุกคนอย่างเสมอภาค โดยกฎเกณฑ์นั้นต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นภายใต้จินตนาการว่าเราทุกคนยังไม่ได้ไปเกิดในโลกนี้ เราอาจจะเป็นใครก็ได้ในสังคม เช่นนี้ กฎเกณฑ์ที่มาจากจินตนาการแบบนี้ ย่อมมั่นใจได้ว่าเป็นธรรมกับทุกคนไม่เอนเอียงเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มใดโดยเฉพาะ

แม้ว่าจินตนาการแบบนี้ ค่อนข้างคิดยากสำหรับคนที่อยู่บนโลกและรู้ที่ทางตัวเองแล้ว แต่ก็แน่นอนว่าบุคคลในจินตนาการเหล่านั้นคงไม่กำหนดกฎเกณฑ์ว่า คนที่มีอำนาจอาจฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ข้อนั้นข้อนี้ได้ตามใจชอบแน่นอน เพราะต่างคนย่อมยังไม่รู้ว่าตนจะเกิดเป็นใครในสังคม จะเป็นคนมีอำนาจที่จะใช้ข้อยกเว้นนี้ได้หรือเปล่า หรือจะกลายเป็นคนที่ต้องทนเสียเปรียบจากการที่คนที่มีอำนาจใช้ข้อยกเว้นนั้นได้หรือเปล่า


โนม ชอมสกี้เป็นหนึ่งในขาประจำที่ออกมาโจมตีนโยบายของอเมริกาบ่อยครั้งด้วยหลักการนี้ เขากล่าวว่าเมื่อมีคนในรัฐบาลกลางบอกว่า “ทางเลือกทุกทางเลือกเป็นไปได้หมด นั่นคืออาชญากรรมโดยแท้ อเมริกาอาจส่งกองทัพ ไปจับตัวผู้นำในประเทศตะวันออกกลางได้ แต่หากประเทศใดส่งกองทัพมาจับรัฐมนตรีจอห์น เคอร์รี่ คงได้พบความวินาศสันตะโรแน่นอน”

หลักการสากลนิยมเป็นเรื่องเข้าใจง่าย หรือเหมือนจะเป็นสามัญสำนึกของทุกคน คือ ทุกคนอยู่ใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน แต่แล้วก็กลับมีบางเวลาที่ต้องหวั่นไหวกับหลักการข้อนี้ เหมือนตัวอย่างที่ใกล้ตัวเช่นเหตุการณ์วงเพลงหมอลำประท้วงการเก็บค่าลิขสิทธิ์การเล่นเพลงในงาน คิดเป็นมูลค่า 0.5% ของมูลค่างานที่จัด หรือแม้แต่ความลักลั่นลังเลใจของผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์สำหรับการสร้างสรรค์ ที่ต้องแอบใช้ Photoshop ของปลอมในเครื่องบ่อยครั้ง

ในขณะที่ผู้คนต่างเรียกร้องให้เคารพสิทธิ์ในการเรียกเก็บเงินของผู้สร้างสรรค์ผลงาน แต่เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดความกังวลว่าวัฒนธรรมพื้นบ้านอาจเสียหายเพราะวงหมอลำจะล้มหายตายจากไปด้วยรายจ่ายที่มากเกินกว่ารายรับ จึงอยากให้ “หยวนๆ” หรือบ้างก็อยากให้เก็บในราคาที่ถูกมากๆ ส่วนนักเรียน นักออกแบบรุ่นใหม่ อาจหมดโอกาสสร้างอนาคตเพราะเครื่องไม้เครื่องมือราคาแพงกว่ารายรับทั้งเดือนรวมกัน

ความหวั่นไหวนี้อาจเป็นตรรกะวิบัติสำหรับมุมมองของผู้ที่เชื่อมั่นในสากลนิยม แต่สำหรับนักคิดอีกกลุ่มหนึ่ง เชื่อว่านี่คือหลักฐานที่สำคัญว่าความคิดเรื่องกฎเกณฑ์ต้องใช้กับทุกคนเหมือนกันนั้นผิดพลาดโดยสิ้นเชิง


photo from westernfreepress.com

แทนที่เราจะคิดหลักการบังคับใช้กฎเกณฑ์จากพื้นฐานจินตนาการสภาพที่ไม่มีทางเกิดขึ้นจริงในโลกนี้ นักคิดกลุ่มนี้ชี้ชวนให้มองความเป็นจริงว่าเราต้องอยู่ในชุมชนที่เป็นคนจริงๆ เกิดมาแล้วบนโลกนี้ และในโลกก็ยังมีชุมชนอีกหลายชุมชน ที่มีความเชื่อและเป้าหมายแตกต่างกัน หลักการที่ใช้จึงไม่ควรปฎิเสธข้อเท็จจริงนี้

นักคิดกลุ่มนี้ ให้ความสำคัญกับเป้าหมายของสังคมที่อยากให้มีและเป็น พร้อมดำเนินการใดๆ เพื่อให้ไปถึงจุดมุ่งหมายนั้น เช่น อาจทำสงครามโดยไม่มีมติสหประชาชาติได้ ถ้าพบว่ามีการฝ่าฝืนหลักมนุษยธรรมร้ายแรงเกิดขึ้นจริงๆ และถ้าไม่รีบห้ามปรามแทรกแซง เหตุการณ์จะเลวร้ายขึ้น ขัดต่อเป้าหมายของการรักษาสันติภาพให้เกิดในชุมชนโลก ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะยับยั้งเหตุร้ายนี้ได้อีกแล้ว

แต่แล้วด้วยความคิดหลักการเดียวกันนี้เอง ยังสามารถใช้ต่อต้านการกระทำของอเมริกาได้ เมื่ออเมริกาพยายามส่งออกความคิดความเชื่อเรื่องการเมืองที่ดี ระบบการปกครองที่ดีมาสู่ประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย โดยใช้มาตรการกดดันต่างๆ ประธานาธิบดีลี กวน ยูของสิงคโปร์ เคยให้ข้อคิดเห็นที่ว่า “หลักการปกครองแบบเสรีนิยมนั้นไม่เหมาะสำหรับการปรับใช้ในประเทศ เพราะบางครั้งรัฐบาลอาจต้องออกนโยบายที่ไม่ถูกใจคนส่วนใหญ่ แต่จำเป็นต้องทำเพื่อให้สังคมบรรลุเป้าหมายเช่นกันด้วย ซึ่งหลักการเสรีภาพของอเมริกาย่อมไม่สนับสนุนให้ทำเช่นนี้แน่นอน”

แต่ข้าพเจ้ายังเชื่อว่าความคิดที่ว่า ตนมีข้อยกเว้นที่ดีสำหรับการฝ่าฝืนหลักการบางประการนั้น ก็ยังเป็นเรื่องอันตราย ไม่ว่าผู้ที่เชื่อเช่นนี้จะมีเจตนาอย่างไร ความอันตรายอาจไม่ได้เกิดจากการมีข้อยกเว้น แต่มันเกิดจากปัญหาในทางปฎิบัติเองที่ผู้ใช้อำนาจขอยกเว้น อาจไม่รู้ตัวว่าตนกำลังใช้ข้อยกเว้นตามหลักการโดยชอบแค่ไหน และหากใช้เกินจริงใครจะห้ามปรามได้

เหตุการณ์ที่เมื่อนำกฎเกณฑ์ไปใช้กับทุกคน แล้วเกิดผลลัพธ์ที่ขัดแย้งกับความเชื่อในเรื่องความยุติธรรมนั้น เรายังอาจมองได้ว่าเพราะกฎเกณฑ์นั้นๆ ต่างหาก ที่กำหนดไว้ไม่ดีพอ ไม่ครอบคลุมเหตุการณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละที่พอ หากเรากำหนดกฎเกณฑ์ที่สมบูรณ์แบบนี้ได้ เราก็ไม่ต้องกังวลอีกว่าจะมีใครขอยกเว้นผ่อนผันในเรื่องการบังคับใช้กฎเกณฑ์ ดังนั้นควรจึงทุ่มเทไปในการกำหนดหลักเกณฑ์มากกว่าการพึ่งอำนาจแบบพี่ชาย

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น