--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ดึง จีน ร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน !!??

ครม.อนุมัติร่างเอ็มโอยูไทย-จีน 3 ฉบับ "ยิ่งลักษณ์"พร้อมลงนามร่วม"หลี่ เค่อเฉียง"นายกฯจีน 11 ต.ค.ดึงจีนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (8 ต.ค.) รับทราบกำหนดการการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค. นี้ ขณะเดียวกันจะมีการหารือทวิภาคีร่วมกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 11 ต.ค.นี้
ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับสาธารณรัฐประชาชนจีน 3 ฉบับคือ 1.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ว่าด้วยความร่วมมือของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในไทย เชื่อมโยงกับการชำระค่าใช้จ่ายด้วยสินค้าเกษตร 2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยแผนระยะยาวในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-จีน และ 3.บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงศึกษาธิการไทยและกระทรวงศึกษาธิการจีน
สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจว่า ด้วยความร่วมมือของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในไทย ที่เชื่อมโยงกับการชำระค่าใช้จ่ายด้วย "สินค้าเกษตร" กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้ ครม.พิจารณา โดยมีสาระสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่

1.การบันทึกความเข้าใจจะจัดทำในรูปแบบสนธิสัญญาในระดับรัฐบาลกับรัฐบาล
จีนยอมไทยรับแลกสินค้าเกษตร

2.กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาหารือเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของจีน ในการพัฒนาโครงสร้างฐานของไทย การหารือดังกล่าว ต้องสอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบของแต่ละฝ่าย

3.กำหนดเงื่อนไขของการเจรจาเบื้องต้นว่า จีนจะยอมให้ไทยชำระค่าใช้จ่ายบางส่วนเป็นสินค้าเกษตรได้

4.ให้ทั้งสองประเทศจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อทำหน้าที่เจรจาในรายละเอียดต่างๆ ต่อไป

5.หากทั้งสองฝ่ายเจรจาการตกลงกันเกี่ยวกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย และการชำระเงินด้วยสินค้าเกษตรบางส่วนได้ จึงจะให้มีการจัดทำสัญญาในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อการดำเนินการในรายละเอียดต่อไป โดยให้จัดทำสัญญา เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบภายในของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ครม.ได้ให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว

สาระสำคัญความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างรัฐบาลไทย-จีน จะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือเป็นกรอบความร่วมมือกว้างๆ ครอบคลุมสาขาพลังงานต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินผลิตไฟฟ้าและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด การอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงพลังงาน เสนอให้ไทยและจีนจัดตั้งคณะทำงานเรื่องพลังงานร่วมกันเพื่อสร้างความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างทั้งสองประเทศต่อไปในอนาคต

ไทย-จีนลงนามร่วมพัฒนาวิทยาศาสตร์

รัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน จะลงนามข้อตกส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย และ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน 4 โครงการ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาระหว่าง 2 ประเทศ ได้แก่ 1.โครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วม เน้นการวิจัยโครงสร้างพื้นฐานระบบราง และวิจัยพัฒนารถไฟความเร็วสูง 2.โครงการศูนย์การให้บริการข้อมูลสำรวจดาวเทียมระยะไกล 3.โครงการร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 4.โครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ไทย-จีน ทั้งนี้ไทยและจีนจะร่วมกันผลักดันการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้ง 4 ด้าน และตั้งคณะทำงานระหว่าง 2 ประเทศ มีผู้ช่วยรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯ ของจีน และปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของไทย เป็นประธานร่วม

คมนาคม ถกจีนโครงสร้างพื้นฐาน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างหารือร่วมกับผู้แทนรัฐบาลจีน เพื่อเตรียมความพร้อมเจรจาความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน สำหรับความร่วมมือในส่วนของกระทรวงคมนาคม จะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากเอ็มโอยูเดิม ที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ เป็นความร่วมมือด้านเทคนิค

ในเอ็มโอยูดังกล่าว น่าจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย เพื่อพิจารณาว่า จะมีความร่วมมือใดๆ ได้บ้าง ซึ่งความร่วมมือในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ไม่ได้ระบุว่าเป็นเส้นทางสายใด เป็นการหารือในภาพรวมของโครงสร้างพื้นฐาน

เล็งบาร์เตอร์เทรดลงทุนรถไฟความเร็วสูง

ด้าน นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า การหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมจีนกับนายชัชชาติ ได้พูดคุยเกี่ยวกับการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-จีน หากจีนจะเข้ามาลงทุน ระบบรางในไทย ก็มีแนวคิดว่า จะนำสินค้าเกษตรบางส่วนของไทยแลกเปลี่ยน เป็นค่าซื้อขายอุปกรณ์ ในการใช้ดำเนินโครงการระบบราง แต่ยังไม่มีการหารือในรายละเอียดว่า จะมีลักษณะคล้ายกับบาร์เตอร์เทรดหรือไม่ คงต้องมาหารือต่อไป เพื่อความชัดเจนว่าจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องการนำสินค้าเกษตร แลกเปลี่ยนกับการลงทุนรถไฟความเร็วสูงนั้น รัฐบาลไทย-จีน จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาความเหมาะสม เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องคำนึงถึง ที่ผ่านมาการใช้วิธีบาร์เตอร์เทรดทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า

ปัญหาของวิธีบาร์เตอร์เทรด คือ สินค้าที่จะใช้แลกเปลี่ยนไม่ตรงกับความต้องการ ดังนั้นต้องสรุปร่วมกันก่อนว่า จีนต้องการลงทุนระบบรางในเส้นทางใด ไทยมีความต้องการนำสินค้าใดไปแลกเปลี่ยน ต้องเป็นความต้องการที่ตรงกันทั้งสองฝ่าย"แหล่งข่าวกล่าว

นักวิชาการค้านรัฐแลกสินค้าเกษตร

ด้าน นางอักษรศรี พานิชสาส์น รองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะใช้นโยบายแลกสินค้าเกษตรกับจีน ในการชำระเงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะจะเป็นการเปิดช่องให้มีผู้เข้าไปหาผลประโยชน์ได้มาก เพราะไม่มีการกำหนดเป็นมูลค่าที่ตายตัว อีกทั้งไทยจะไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดว่า จะต้องส่งสินค้าในปริมาณเท่าไร จะทำให้สินค้าการเกษตรไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ดังนั้น ควรกำหนดการจ่ายเป็นสกุลเงินดอลลาร์ หรือพัฒนาการค้าเงินหยวนกับบาทให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าที่จะให้มีการลงทุนร่วมระหว่างไทยกับจีนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน เพราะจะสร้างผลประโยชน์ให้กับทั้งสองฝ่าย ซึ่งจีนจะได้ในเรื่องของภาพลักษณ์ ส่วนไทยจะได้ในเรื่องของการลงทุน แต่ทั้งนี้ภาครัฐควรสงวนท่าทีในการต่อรองมากกว่านี้ เพื่อสร้างผลประโยชน์ เช่น เรื่องคุณภาพ เรื่องความปลอดภัย

กำหนดนายกฯ จีนเยือนไทย

สำหรับกำหนดการเดินทางเยือนประเทศของนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค. นั้น ในวันที่ 11 ต.ค. นายกรัฐมนตรีจีน จะหารือร่วมกับประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ประธานวุฒิสภา จากนั้นจะหารือร่วมกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมลงนามข้อตกลง 5 ฉบับ

ส่วนวันที่ 12 ต.ค. นางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นประธานเปิดนิทรรศการรถไฟความเร็วสูงและเยี่ยมชมนิทรรศการ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จากนั้นเวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรีจีน มีกำหนดการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนเวลา 11.00 น. จะเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จากนั้นจะเดินทางไปที่หอการค้าไทย-จีน ในเวลา 11.30 น. เพื่อพบปะกับชุมชนชาวจีนในไทย

สำหรับวันที่ 13 ต.ค. นายกรัฐมนตรีจีน มีภารกิจเยี่ยมชมโรงเรียนช่องฟ้า ซินเซิง วาณิชบำรุง และศูนย์จำหน่ายสินค้าโอท็อป จ.เชียงใหม่ จากนั้น เวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรีจีน จะออกเดินทางจากไทย ไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามต่อไป

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น