--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กระดาษ 3 แผ่น เป้าหมายจุดประกายการศึกษาเรื่อง AEC.

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์
มหาวิทยาลัยสยาม

สิ่งที่บริษัทต้องการจากพนักงานระดับปริญญาตรี ไม่ใช่ทักษะการค้นหาข้อมูลจาก Google หากเป็น “กระบวนการคิด” ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัทมีชัยชนะเหนือคู่แข่ง

ผมไม่ได้น้อยเนื้อต่ำใจที่ต้องมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง แต่สิ่งที่สร้างความชอกช้ำให้ผมที่สุด ก็คือ การที่นักศึกษาถามผมว่า “การทำรายงาน ไม่ใช่การคัดลอกข้อมูลจาก Google มาส่งหรือคะ”

หลังจากตั้งสติได้ ผมก็เปิดใจยอมรับความจริงของชีวิต ผมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่ผิดพลาดมาหลายสิบปีได้ หน้าที่ของผมจึงมีเพียงสอนนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ที่ผมมีอำนาจในมือให้ดีที่สุด

ที่ชวนหดหู่กว่านั้นก็คือ แม้แต่วิชา “อาเซียน ในโลกยุคใหม่” ที่ผมรับผิดชอบ ผมก็ยังไม่มีอำนาจในมือที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเนื้อหาตามใจชอบ เพราะมีอาจารย์คนอื่นที่ร่วมสอนด้วยกำหนดไว้แล้วตั้งแต่อดีต ผมจึงทำได้เพียงสร้างโลกเล็กๆของผมขึ้นมา โดยเจียดเวลา 3 ครั้งจากทั้งหมด 15 ครั้งของการบรรยาย เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับชีวิตนักศึกษาที่รักของผม นั่นคือ การสั่งทำรายงานแบบพิเศษสุด โดยมีเนื้อหาเพียง 3 หน้ากระดาษ ไม่ต้องมีคำนำ ไม่ต้องมีสารบัญ ไม่ต้องใช้สแตนด์อิน



photo from aseansec.org

จุดประสงค์คือ การบีบบังคับให้นักศึกษาต้องใช้ความคิดว่าจะใส่อะไรลงไปในพื้นที่จำกัดเพียง 3 หน้า โดยไม่สามารถไปหยิบยืมข้อมูลจาก Google มาตัดแปะให้ดูรกรุงรัง เพื่อจะใช้กระดาษ 100 แผ่นในการกลบเกลื่อนเนื้อหาที่ตนเองเขียนแบบไม่ได้เรื่อง หรือยิ่งกว่านั้น ไม่ได้มีส่วนที่เป็นความคิดของตนเองเลย (Original) หากเป็นการนำขยะความรู้จากที่ต่างๆมากองสุมรวมกัน

ทุกคนคงอยากจะทราบ “ผลลัพธ์” ที่เกิดขึ้น หลังจากที่ผมได้เปลี่ยนเกมบางอย่างให้แตกต่างจากที่นักศึกษาเคยชิน ปฏิกิริยาของหนูทดลองทั้งหลายจะเป็นอย่างไร

บทเรียนแรก ก็คือ การที่นักศึกษานิยมลอกข้อมูลจาก Google ไม่ได้เกิดจากความมักง่ายเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นผลเนื่องมาจาก “วัฒนธรรมกลัวผิด” ที่ฝังหัวว่าสิ่งที่เราคิดเองมักจะไม่ดี แต่สิ่งที่อ้างอิงจากตำราหรือผู้เชี่ยวชาญจะมีความปลอดภัยสูงกว่า เพราะกลั่นกรองตรวจสอบมาเรียบร้อยแล้ว

นี่เป็นต้นตอตัวร้ายที่ทำให้การศึกษาไทยล้มเหลว เพราะเมื่อนักศึกษาเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองคิดโดยไม่ได้อ้างอิงมีโอกาสที่จะผิดพลาดสูงแล้ว นักเรียนก็ย่อมไม่กล้าคิด เพราะนอกจากไม่ได้รางวัลตอบแทนแล้ว ยังอาจถูกลงโทษอีกด้วย

วัฒนธรรมกลัวผิดนั้น นอกจากจะทำให้นักเรียนบางคนไม่กล้าคิดแล้ว ยังส่งผลเลวร้ายยิ่งกว่าด้วยการบังคับให้นักเรียนเลือกข้อมูลจาก Google เฉพาะในส่วนที่เป็น “ข้อมูลดิบ” หรือข้อมูลที่เป็นภววิสัย นั่นคือ จำนวนประชากรอาเซียนมีเท่าไร พื้นที่ของประเทศอินโดนีเซียมีกี่ตารางเมตร เพราะนี่เป็นข้อมูลที่ไม่มีวันผิดพลาด

โดยละเลยข้อมูลที่เป็นการวิเคราะห์เจาะลึกของผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ธุรกิจในการบุกเบิกตลาดอาเซียน การปรับตัวของโรงพยาบาลไทยในยุคอาเซียน เพราะแม้ว่าจะเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าน่าสนใจกว่า แต่ก็ยังมีโอกาสผิดพลาดได้สูงกว่าข้อมูลแบบภววิสัย

ดังนั้น วัฒนธรรมแบบกลัวผิดจึงเลวร้ายยิ่งกว่าวัฒนธรรมแบบมักง่าย เพราะการลอก Google ของคนมักง่าย ก็อาจมีนวัตกรรมได้ โดยเลือกหยิบข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอขาย ทำให้อาจารย์หลงเพลิดเพลินไปกับเนื้อหาสาระที่ดึงดูด โดยลืมจับผิดว่านักเรียนคิดเองหรือลอกคนอื่นมาที่สำคัญยังทำให้อาจารย์ได้คุณค่าจากการได้อ่านบทความดีๆ ที่นักศึกษาอุตส่าห์ไปสรรหามาประเคนให้โดยบังเอิญ

หากทว่า วัฒนธรรมกลัวผิด กลับทำให้การลอกที่น่ารังเกียจอยู่แล้วกลับยิ่งมีประสิทธิภาพต่ำต้อยลงไปอีก เพราะเต็มไปด้วยข้อมูลแบบกว้างๆ ครอบจักรวาล ซึ่งรู้ไปก็ไม่ได้อะไร เต็มไปด้วยตัวเลขที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่มีอะไรน่าสนใจให้ใช้ในการต่อยอดเลย

บทเรียนที่สอง ก็คือ นักศึกษาไทยไม่ใช่คนโง่ พวกเขามีศักยภาพในการคิดแบบล้นเหลือ เพียงแต่ไม่ได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม เนื่องจากระบบการศึกษาไทยยังไม่กล้าให้รางวัลกับการคิด เพราะการให้คะแนนกับความคิดจะมีความเป็นอัตวิสัยสูง เปิดช่องให้นักศึกษาฟ้องร้องอาจารย์ได้ว่าให้คะแนนไม่เป็นธรรม เพราะการตัดสินว่าความคิดของใครดีกว่าใคร ความคิดของใครถูกต้องกว่าใครเป็นเรื่องยาก

โชคดีที่คะแนนรายงานของวิชาอาเซียน รวมอยู่ในคะแนนเก็บ 40 คะแนน ผมจึงค่อนข้างมีอิสระในการให้คะแนนได้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม ผมได้เตรียมทางหนีทีไล่ไว้แล้ว หากว่าถูกฟ้องร้องแล้วต้องออกจากงาน จะหาอะไรเลี้ยงชีพได้บ้าง

เนื่องจากรายงานที่ผมให้ทำมีเพียง 3 หน้า ขณะที่สมาชิกในกลุ่มมีถึง 10 คน ดังนั้น ถึงแม้ว่าในตอนแรกนักศึกษาบางกลุ่มจะทำรายงานแบบลอก Google มาทั้งหมด หากทว่า ต้นทุนเวลาและแรงงานที่นักศึกษาต้องเสียให้กับรายงานจึงมีไม่สูงนัก ผมจึงสามารถให้นักศึกษานำรายงานกลับไปแก้ไขได้อีกหลายรอบ จนกว่าจะได้ผลงานที่น่าพึงใจ

สิ่งที่ผมค้นพบ ก็คือ นักศึกษาที่ส่งงานมาให้ผมก่อนกำหนดเส้นตาย 1 สัปดาห์ ซึ่งผมจะให้คะแนนพิเศษ 3 คะแนน นอกจากได้คะแนนจากความใส่ใจแล้ว ยังมีเวลามากกว่าคนอื่น 1 สัปดาห์ ในการรับฟังคำวิจารณ์จากผม และมีโอกาสกลับไปแก้ไขให้ดีได้มากกว่าเพื่อน

บางคนแก้ไขไปถึง 3 ครั้ง กว่าจะเข้าใจได้ว่า การทำรายงานที่ดีเป็นอย่างไร การเน้นจุดโฟกัสไปที่ประเด็นสำคัญเพียง 1 ประเด็น ไม่ใช่เหวี่ยงแหครอบคลุมตามแบบข้อมูลที่ได้จาก Google อย่างกระจัดกระจาย อย่างไรก็ตาม นักศึกษาจะมีโอกาสได้รับบทเรียนแบบนี้ได้ ก็ต้องมีกระบวนการให้คะแนนที่เหมาะสมด้วย นั่นคือ เกณฑ์ให้คะแนนที่ไม่ใช่การแข่งขันแบบยุติธรรม คือ ส่งงาน 1 ครั้ง ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องยอมรับ ไม่มีโอกาสแก้ตัว เพราะนี่เป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

หากทว่า การศึกษาไม่ใช่การแข่งขันในโลกธุรกิจ แต่คือการแสวงหาโอกาสในการพัฒนาตัวเองอย่างรอบด้าน ดังนั้น ผมไม่อาจใช้เกณฑ์วัดผลแบบปกติมาตัดสินรายงานได้ จึงต้องเปิดโอกาสให้นักศึกษาปรับแก้รายงาน 3-4 ครั้ง จนกว่าจะพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมย่อมมีแน่นอน เพราะคะแนนสอบกลางภาคและปลายภาคอีก 60 คะแนน ซึ่งเป็นข้อสอบปรนัย จะเป็นตัวตัดสินนักศึกษาอย่างเที่ยงธรรม



photo from dreamtimes.com

ยิ่งกว่านั้น ความยุติธรรมที่ผมมอบให้นักศึกษา คือ โอกาสในการปรับตัว โดยไม่จำเป็นต้องถูกต้องในครั้งแรก หากยังสามารถแก้ไขในครั้งต่อไปได้ แต่สำหรับนักศึกษาที่ไม่ค่อยใส่ใจ โดยกว่าจะส่งรายงานก็ล่าช้าไป 1 สัปดาห์ ให้ไปปรับแก้งานก็หายไป 2 อาทิตย์ ดังนั้น การที่นักศึกษากลุ่มนี้ได้โอกาสปรับแก้งานในจำนวนครั้งที่น้อยกว่าคนอื่น ก็ย่อมเป็นเรื่องยุติธรรมแล้ว

บทเรียนที่สาม ก็คือ นักศึกษาแต่ละคนมีศักยภาพและความถนัดที่แตกต่าง เราจึงควรเปิดกว้างและออกแบบกระบวนการพัฒนาความคิดให้เหมาะสมกับแต่ละคน

ผมไม่สนใจว่านักศึกษาจะรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับอาเซียน แต่ผมใส่ใจว่านักศึกษาจะมอบความรู้อะไรให้อาเซียนบ้าง

หากบอกว่า นักศึกษายังเยาว์วัยยากจะมอบคุณูปการอะไรให้อาเซียน ผมก็เห็นด้วยระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมต้องการจากนักศึกษาไม่ใช่ความรู้ที่เลิศเลอหรือความรู้ที่ไม่มีวันผิดพลาด

ผมต้องการเพียงความรู้หรือความคิดของนักศึกษาเกี่ยวกับเรื่องต่างๆในอาเซียน โดยไม่สนใจว่าจะผิดหรือถูก สิ่งสำคัญคือ การใส่มุมมองของตัวเองเข้าไป กล้าที่จะต่อยอดองค์ความรู้จากสิ่งที่มีอยู่แล้วใน Google

สิ่งที่ผมได้เจอก็คือ นิสิตบางคนเมื่อเข้าใจความต้องการของผมแล้ว ก็สามารถทำรายงานออกมาได้น่าสนใจ อย่างกรณีการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การปรับปรุงแหลมฉบังของไทยให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ท่าเรือน้ำลึกทวายของพม่า โดยมีคู่แข่งคือ การเป็นศูนย์กลางท่าเรือของประเทศสิงคโปร์ ทำให้ผมอดเป็นปลื้มไม่ได้ที่สามารถปลุกปั้นให้นักศึกษามีความกล้าแสดงออกและใส่มูลค่าเพิ่มทางความคิดเข้าไป โดยไม่ต้องสนใจถึงคุณวุฒิในการศึกษาและประสบการณ์ที่น้อยนิดของตน

อย่างไรก็ตาม มีนักศึกษาบางคนไม่สามารถวิเคราะห์ออกมาได้ดี ยังคงคัดลอกจาก Google มาเป็นแก่นหลัก ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนว่า การเน้นไปที่การวิเคราะห์อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย หากการใส่มูลค่าเพิ่มของตัวเองเข้าไปสามารถกระทำได้ผ่านการบอกเล่าประสบการณ์การท่องเที่ยวในอาเซียนของตนเอง แม้ว่าเราจะไปเยี่ยมชม “เจดีย์ชเวดากอง” เหมือนคนอีกหลายล้านคนในโลกใบนี้ แต่อัตลักษณ์ความเป็นตัวเรา ช่วงเวลาที่ไป และสถานการณ์ที่พบเจอ ก็อาจทำให้เรามีความรู้สึกที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับ Creative Economy มากกว่าความจริงแบบเครื่องจักรกล

ผลปรากฎว่า มีนักศึกษาบางคนสามารถพลิกเปลี่ยนตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพียงแค่เปลี่ยนเกณฑ์วัดคะแนนจากการวิเคราะห์มาเป็นศิลปะการเล่าเรื่อง เราก็จะได้ผลงานคุณภาพเพิ่มขึ้นอีก 1 ชิ้น โดยไม่แทบไม่ต้องลงแรงอะไรเลย

เมื่อมองไปสู่ห้วงอนาคต ผมก็ยังเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย หากทว่าการจะทำให้คนไทยปลดปล่อยพลังความสามารถออกมาให้ชาวโลกได้รับรู้นั้น เราจะต้องมีใจเปิดกว้างในการให้รางวัลกับความสามารถที่แตกต่างกันไป โดยไม่จำเป็นต้องวัดออกมาเป็นตัวเลขได้เหมือนในยุคเครื่องจักรกล

ที่มา.Siam Intelligence Unit
/////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น