--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

รัฐบาลก้าวไม่ทันโลก นโยบายบิดเบี้ยว...ช่องว่างที่ต้องเติมเต็ม

ประชาชาติธุรกิจ

1 ปีของกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล (Policy watch) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเริ่มติดตามการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 จนถึงมิถุนายน 2553 ได้นำเสนอประเด็นทางนโยบาย 11 ข้อ กับอีกหนึ่งบทสรุปที่ได้จากการ จับตานโยบายรัฐบาล

"จากการจับตานโยบายรัฐบาลมาเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่ารัฐบาลยังก้าวช้ากว่าปัญหาหนึ่งก้าวเสมอ การทำงานเป็นเชิงตั้งรับมากกว่ามองไปข้างหน้าและป้องกันปัญหาที่จะ เกิดขึ้น" ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มจับตานโยบายรัฐบาลกล่าวในการแถลงครบรอบ 1 ปี ของกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ดร.ปัทมาวดีอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจสังคมไทย เศรษฐกิจโลก รวมถึงกติกาในประเทศและกติการะหว่างประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วจนภาคการเมืองและรัฐไทยก้าวตามไม่ทัน

ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มีลักษณะก้าวหน้าและสะท้อนภาพของสังคมในอุดมคติเกี่ยวกับสิทธิชุมชน สวัสดิการสังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังคาดหวังต่อบทบาทของรัฐที่พึงปรารถนาในการบริหารจัดการประเทศ แต่เมื่อรัฐไทยไม่สามารถปรับตัวก้าวตามได้ทัน การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 67 วรรค 2 จึงไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับ และมีจุดอ่อนในการกำกับดูแลจนเกิดปัญหากรณีมาบตาพุด

ช่องว่างนโยบายจึงเกิดขึ้นจากการที่รัฐไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ในขณะที่ปัญหาเก่าก็ยังสะสมเรื้อรังพร้อมที่จะปะทุขึ้นมาได้ ดังเช่นกรณีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นที่สนใจหลังวิกฤตการเมือง

ดร.ปัทมาวดีย้ำว่า ช่องว่างนโยบายเกิดจากปัญหาด้าน "ทิศทาง" คือเป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้องอันเกิดจากสมมติฐานผิด ข้อมูลไม่เป็นจริง การแสวงหาผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในนโยบาย การมองภาพย่อยไม่เห็นภาพรวม

นโยบายที่มีปัญหาด้าน "ขนาด" ของช่องว่างจะก้าวไม่ทันสถานการณ์ มีสาเหตุเกิดจากขาดการบริหารจัดการที่ดี มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ขาดหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบชัดเจน หน่วยงานขาดความรู้และขาดประสิทธิภาพ ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงาน และกฎกติกาที่ไม่ทันการ หรือกติกาทำให้เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติ รวมถึงขาดความต่อเนื่องของนโยบาย

ข้อสรุปข้างต้นของกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล ได้จากการจัดสัมมนา "วิเคราะห์ช่องว่างของนโยบายเศรษฐกิจไทย" หลังจากติดตามการดำเนินนโยบายรัฐบาลมาครบ 1 ปี ซึ่งจัดขึ้นช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2553

โดยมีนักวิจัยนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ภาคราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปปัญหาในการดำเนินนโยบายรัฐบาล 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจมหภาค ด้านการคลัง ด้านการศึกษาและสวัสดิการแรงงาน ด้านอุตสาหกรรม และด้านเกษตร ข้อสรุปโดยรวมของประเด็นปัญหาคือการดำเนินนโยบายมี "ช่องว่าง" ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ขณะเดียวกันในเวทีสัมมนามีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเพื่อปิดช่องว่างนโยบายดังนี้

ด้านมหภาค ควรปรับลดรายจ่ายประจำและรายจ่ายผูกพันระยะยาว เพื่อเป็นการรักษาวินัยการคลัง เนื่องจากไทยมีความเสี่ยงจะมีปัญหาหนี้สาธารณะหากไม่ระมัดระวังและยังทำให้สามารถจัดสรรงบประมาณร่ายจ่ายด้านอื่น ๆ ได้มากขึ้น ให้มีการจัดเรียงลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนอย่างเป็นระบบ และควรให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของรัฐและรัฐวิสาหกิจ

ด้านการคลัง มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มภาษี 1-2% ของจีดีพี โดยควรให้มีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้เพิ่มขึ้น การปรับปรุงด้านรายจ่ายรัฐบาลและ อปท. ตามแนวทางการเพิ่มพลังคนจน เช่น จัดสวัสดิการ และขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานที่ไม่เป็นทางการ สนับสนุนให้มีการวิจัยนโยบายสาธารณะอย่างจริงจัง เพื่อขยายพรมแดนความรู้ ช่วยให้เข้าใจว่าใครได้ใครเสีย

ด้านการศึกษา เสนอว่าควรประเมินความคุ้มค่าของการทุ่มเท งบประมาณเพื่อการศึกษาในเชิงปริมาณ และทบทวนคุณภาพการศึกษาอย่างเร่งด่วน โดยเร่งเสริมสร้างศักยภาพของครู และพัฒนาอุปกรณ์สื่อการสอน เช่น วิชาคณิตศาสตร์ รวมทั้งวางแผนการผลิตแรงงานอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และภาคธุรกิจ ที่สำคัญต้องศึกษาแนวทางจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพระหว่างการศึกษาในระดับชั้นและรูปแบบต่าง ๆ โดยมีโอกาสให้เอกชนรวมทั้ง อปท.เข้ามาร่วมจัดการการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

ด้านสวัสดิการ ควรรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมการออมและลงทุนในระยะยาว โดยรัฐต้องสร้างเครื่องมือหรือองค์กรเพื่อกำกับสถาบันการเงิน (กองทุน) ให้ดำเนินการอย่างเหมาะสม เตรียมพร้อมเพื่อการสร้างอาชีพและการสะสมทุนมนุษย์ หรือให้แรงงานมีโอกาสในการเปลี่ยนย้ายที่ทำงานได้ตามความเหมาะสมความรู้และสภาพร่างกายในวัยสูงอายุ ต้องหาแนวทางให้เศรษฐกิจนอกภาคทางการเข้ามาอยู่ในภาคทางการเพื่อเพิ่มภาษีและดูแลสวัสดิการได้ดีขึ้น รวมถึงการสร้างระบบหรือวัฒนธรรมการพึ่งพาตนเองมากที่สุดในการสร้างหลักประกันในยามเกษียณ เพราะสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในอีก 40 ปีโครงสร้างประชากรไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมากกว่าวัยแรงงาน

ด้านอุตสาหกรรม ต้องส่งเสริมให้เกิดสถาบันอุตสาหกรรมเฉพาะทาง รายสาขาให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงการผลิต การวิจัย และการพัฒนาตลาด มีการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และมองทิศทางเกี่ยวกับ "นโยบายอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน" ในอนาคต และ ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรและฐานทรัพยากรในท้องถิ่น ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) กับกิจการขนาดใหญ่อย่างเป็นธรรม

ด้านการเกษตร ควรจัดให้มีคลัสเตอร์ (cluster) หรือกลุ่มสินค้าในระดับนโยบาย เพื่อพิจารณาทั้งการผลิตและการตลาดจากต้นทางถึงปลายทางแบบครบวงจร และมีการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นก่อนกำหนดนโยบาย โดยกระทรวงพาณิชย์ต้องทำงานประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการเกษตรมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ ที่สำคัญการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรควรทำเท่าที่จำเป็น สำหรับทางออกในการระบายสต๊อกข้าว ควรนำข้าวในสต๊อกมาทำข้าวบรรจุถุงแจกให้กับคนยากจน นอกจากนี้การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา ควรเน้นเรื่องการประกันความเสี่ยงอย่างเดียว และควรครอบคลุมเกษตรกรทั้งหมดเพื่อความเป็นธรรม

ดร.ปัทมาวดีบอกว่า ถ้าให้จัดลำดับความสำคัญของนโยบายต้องทำเร่งด่วนเพื่อปิดช่องว่างนโยบาย มี 4 เรื่องพื้นฐาน ได้แก่ พื้นฐานอันดับแรกที่ต้องทำคือ "กติกา" โดยเฉพาะการจัดทำคู่มือประเมินโครงการและผลกระทบโครงการที่กำหนดแนวทางการประเมินตัวแปรและค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสม (เช่น อัตราคิดลด) เพื่อไม่ให้ผู้ประเมินมีความลำเอียงที่จะเลือกใช้ตัวแปรและพารามิเตอร์ที่จะส่งผลเป็นบวกหรือเป็นลบตามที่โครงการมีความต้องการ เช่น โครงการเขื่อนปากมูล หากมีการประเมินถึงประโยชน์และต้นทุนที่แท้จริงตรงไปตรงมาตามมาตรฐานหลักวิชาการ โครงการนี้อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ เป็นต้น

กลุ่มจับตานโยบายเสนอว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ควรเป็นหน่วยงานที่จัดทำคู่มือประเมินโครงการ ทั้งนี้ในการประเมินโครงการผู้ที่ทำการศึกษาส่วนใหญ่ คือ นักวิชาการ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีบางโครงการไม่เหมาะสมแต่ผ่านการประเมินให้ดำเนินการได้ สิ่งที่เกิดนี้ทำให้แวดวงนักวิชาการบางท่านเรียกสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์นี้ว่า "นักวิชาการขายตัว" ดังนั้นเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันจึงควรมีคู่มือประเมินโครงการ

นอกจากนี้ กติกาที่เร่งด่วนอีกเรื่อง คือ การกำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม การกำหนดมาตรฐานปลายทาง (Ambient standard) เพื่อไม่ให้ปล่อยมลพิษออกรวม ๆ กันแล้วมากเกินกว่าความสามารถที่ธรรมชาติจะรองรับและบำบัดได้ ซึ่งในบางประเทศมีการกำหนดแล้ว

พื้นฐานอันดับที่ 2 คือ เรื่องคุณภาพของคน ในส่วนนี้ต้องมุ่งไปที่เรื่องการศึกษาของไทยที่มีข้อด้อยเยอะมาก ที่ผ่านมายิ่งพัฒนายิ่งถดถอย เห็นได้จากการสอบ แข่งขันคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของไทยเทียบกับต่างประเทศในภูมิภาคเมื่อปี 2006 ได้คณิตศาสตร์ 417 คะแนน วิทยาศาสตร์ 421 คะแนน แต่พอ ปี 2007 ได้คณิตศาสตร์ 441 คะแนน วิทยาศาสตร์ 471 คะแนน

ดังนั้น ต้องปรับปรุงเรื่องการศึกษา เช่นควรทบทวนเรื่องเรียนฟรี 15 ปี เห็นว่าควรปรับลดระยะเวลาเรียนฟรีเหลือเพียง 12 ปี จากนั้นชั้นอุดมศึกษาก็ใช้ช่องทางต่าง ๆ ของรัฐบาลที่มีอยู่ เช่น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้เรื่องการศึกษาต้องทำควบคู่ไปกับเรื่องสวัสดิการและแรงงาน เนื่องจากเป็นเรื่องคุณภาพของคน เพราะคนที่มีคุณภาพจะเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาในอนาคต

พื้นฐานอันดับที่ 3 คือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร จะต้องมีสถาบันเฉพาะทางเป็นรายสาขามากขึ้น จากปัจจุบันยังมีจำนวนน้อยมาก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น

พื้นฐานอันดับที่ 4 คือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หากประเทศพัฒนาแบบรวมศูนย์ยากที่จะตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เพราะฉะนั้นแผนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างจริงจัง

สุดท้าย ดร.ปัทมาวดีย้ำว่า ช่วงติดตามนโยบายรัฐบาลมา 1 ปียังไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินนโยบายเท่าไร โดยทิศทางนโยบายส่วนใหญ่ยอมรับว่า เป็นทิศทางถูกต้อง เช่น การช่วยเหลือคนยากจน แต่การนำนโยบายไปปฏิบัติใช้หลาย ๆ ครั้ง "หมิ่นเหม่" ว่าเป็นประชานิยมหรือไม่ เช่น โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่มีคำขวัญว่า "บัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงิน"

โครงการนี้ดูเหมือนจะดี ช่วยเหลือคนระดับรากหญ้า แต่ ดร.ปัทมาวดีให้ข้อสังเกตจากประสบการณ์โครงการกองทุนหมู่บ้านที่มีโครงการคล้าย ๆ กัน คือ เมื่อผ่อนชำระครบตรงเวลาจะสามารถกู้เพิ่มได้ในอัตราดอกเบี้ยถูกลง ทำให้มีการกู้ยืมเงินนอกระบบเพื่อมา "หมุนหนี้" เพื่อจะได้มีเครดิตในการกู้ยืมครั้งต่อไปในอัตราดอกเบี้ยถูกลง ดังนั้นต้องระวังเรื่องนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะ กลายเป็นปัญหาซ้ำซาก

ที่สำคัญคำจำกัดความ "วินัยดี" แคบไป เน้นแต่เรื่องการลดหนี้ ซึ่งก็ถูก แต่ควรรวมถึงการออมเข้าไปด้วย โดยให้มีการเปิดบัญชีเงินออมควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะตอบโจทย์การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในระยะยาวได้มากกว่า

"การทำนโยบายช่วยเหลือคนยากจน หรือกลุ่มคนด้อยโอกาส รัฐบาลควรนำประเด็นเรื่องความยั่งยืนทำควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดนโยบายที่ยั่งยืนในระยะยาว"

*****************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น