บทบรรณาธิการ
แม้ในด้านหนึ่งต้องถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยที่นอกเหนือไปจากการออกมาแถลงข่าว ให้ความเชื่อมั่นโดยบุคคลของรัฐบาล หรือหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทยอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับแนวโน้มที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2553 ที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นไปถึงระดับ 7% แล้ว องค์กรหรือสถาบันการจัดอันดับระดับนานาชาติ ก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ไทยมีศักยภาพและความเข้มแข็งด้านการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากในปีนี้
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้สูงกว่า 7% หรืออาจโตได้ราว 7.4% จากนั้นในปี 54 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 4-5% โดยฟิทช์จะมีการติดตามการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป หากมีการขยายตัวได้ดีขึ้นกว่านี้ และการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะที่ "มูดีส์" ก็ออกมายืนยันว่า ปรับอันดับเครดิตประเทศไทยภายในสิ้นปีนี้ หลังมีมุมมองเครดิตประเทศไทยในเชิงลบมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี เนื่องจากสภาวะหลายอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและการเงินที่ดีเกินกว่าที่คาดไว้มาก แต่ขณะเดียวกันก็มีความท้าทายหลายอย่างที่มีผลกระทบในระยะยาว เช่น เรื่องการเมืองที่ดูเหมือนไม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นนับตั้งแต่มีความขัดแย้งทางการเมืองมา
นอกจากประเด็นหลักเรื่องเดิมที่ยังเป็นคำถามสำคัญของประเทศไทยนั่นคือความผันผวนทางการเมืองแล้ว อีกด้านหนึ่งในท่ามกลางกระแสข่าวดีเกี่ยวกับอัตราการเติบโต การขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้น ดูเหมือนปัญหาเกี่ยวเนื่องทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจนที่ยังดำรงอยู่ในหลายกลุ่ม หลายพื้นที่ อันนำไปสู่ภาพสะท้อนจากปรากฏการณ์ทางสังคมซึ่งมีสถิติคดีอาชญากรรมเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชนคนไทยกลับเพิ่มสูงขึ้น หรือยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศ เมือง สังคม ที่ก้าวข้ามการพัฒนาด้านเศรษฐกิจไปพร้อมกับการดูแล ควบคุมปัญหาด้านสังคม อาชญากรรม ยาเสพติด ฯลฯ จนกลายเป็นประเทศหรือสังคมที่สมดุลทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสงบสุข มั่นคงในด้านสังคม
สอดคล้องกับข้อมูลของ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ซึ่งสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,237 คน แล้วพบว่า คนกรุงเทพฯ เห็นว่าตนเองมีความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตในระดับปานกลาง ความเสี่ยงด้านการเมืองยังคงมีคะแนนสูงที่สุดคือ 7.06 คะแนน รองลงมาคือความเสี่ยงด้านสุขภาพร่างกาย (6.51 คะแนน) ขณะที่ความเสี่ยงด้านชีวิตและทรัพย์สินและความเสี่ยงด้านการจราจรและการเดินทางมีคะแนนเท่ากัน (6.36 คะแนน) ตามลำดับ
อาจเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หยิบยกเอาประเด็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาสถิติคดีอาชญากรรมที่ซับซ้อนมากขึ้นควบคู่ไปกับสภาพการณ์ที่ดูเหมือนเศรษฐกิจไทยจะเติบโตมากขึ้น มาหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพียงแต่คำปรารภอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับการตั้งรับสถานการณ์ความซับซ้อนที่กำลังก้าวกระโดด ทั้งคดีอาชญากรรมทั่วไป คดีอาชญากรรมรุนแรง คดีก่อความไม่สงบ ไปจนถึงคดีฉ้อโกง หลอกลวง ที่กำลังปะทุรุนแรงมากขึ้น และเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องตระหนัก เร่งหามาตรการเพื่อให้สังคม ก้าวไปอย่างสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคมที่เข้มแข็งและปลอดภัย
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
***************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น