--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

ขวางศอฉ.ปิดสื่อจี้แจ้งดำเนินคดีกฎหมายปรกติ

จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

“องอาจ-สมาคมนักข่าวฯ” ขวาง ศอฉ. ใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไล่ปิดสื่อ ระบุทำไม่ได้เพราะขัดข้อกำหนดรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าผิดควรดำเนินคดีตามกฎหมายปรกติ เตือนหากยังให้ข่าวในลักษณะข่มขู่จะมีมาตรการตอบโต้แน่นอน “สุเทพ” ยืนยันไม่คิดปิดยักษ์ใหญ่ ทางไทยรัฐแค่ให้ชี้แจงการเสนอข่าวบางเรื่องที่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด แต่หนังสือพิมพ์เรดพาวเวอร์ของคนเสื้อแดงต้องถูกปิดแน่นอน อ้างเสนอข่าวบิดเบือนทำให้เกิดความแตกแยก

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จะสั่งปิดหนังสือพิมพ์เพิ่มเติม และเตือนหนังสือพิมพ์หัวสียักษ์ใหญ่ให้ระมัดระวังการเสนอข่าวที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า สื่อที่เป็นมืออาชีพ เสนอข่าวตรงไปตรงมา เราไม่เข้าไปยุ่งแน่นอน จะจัดการเฉพาะพวกที่แอบแฝงมาเป็นสื่อ ทำตัวให้เหมือนสื่อแต่ให้ข้อมูลข่าวสารบิดเบือน ประสงค์ให้เกิดความแตกแยกวุ่นวายก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และจะกำชับให้ตำรวจจับกุมมาดำเนินคดีให้ได้

“มันไม่ใช่เรื่องคุกคามสื่อ ในที่ประชุม ศอฉ. พิจารณาเห็นว่ามีสื่อฉบับหนึ่งที่พยายามทำตัวเป็นสื่อ แต่สิ่งที่นำเสนอไม่ใช่ข่าวสารทั่วไป เป็นการยุยงให้คนเกลียดกันจึงต้องดำเนินการตามกฎหมาย หากจำไม่ผิดคิดว่าจะเป็นเรดพาวเวอร์” นายสุเทพกล่าวและว่า ส่วนสื่อหัวสีคือไทยรัฐแต่ไม่ได้สั่งให้ปิด เพียงแต่ให้ ศอฉ. ไปชี้แจงกรณีเสนอข่าวการตายของคนเสื้อแดงในเชียงใหม่ที่ระบุว่ามีคนมีสีตั้งหน่วยไล่ล่า ซึ่งคนมีสีในประเทศไทยก็มีแค่ 2 สีคือทหารกับตำรวจ การเสนอข่าวแบบนี้อาจทำให้สังคมเข้าใจผิด จึงให้ ศอฉ. ไปชี้แจงไม่ได้สั่งปิด

นายสุเทพยืนยันว่า ไม่ได้ทำอะไรตามอำเภอใจหรือลุแก่อำนาจ เพราะสื่อที่ตามสัมภาษณ์อยู่ทุกวันก็มีความเห็นแตกต่างกันเยอะ บางคำถามฟังแล้วเจ็บ บางครั้งก็ทำให้ได้สติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่สื่อที่เจตนาร้ายต่อบ้านเมืองนั้นยอมรับไม่ได้

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายปิดสื่อ หากทำไม่ถูกต้องก็ต้องตักเตือนและดำเนินการไปตามกฎหมายปรกติ ถ้าจะถึงขั้นต้องสั่งปิดไม่เห็นด้วย

นายเสด็จ บุนนาค อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ศอฉ. ควรระบุออกมาให้ชัดเจนว่าสื่ออะไรมีพฤติกรรมอย่างไรที่ว่าเข้าข่ายกระทำความผิด หากเห็นว่ามีความผิดตามที่กล่าวอ้างจริงก็มีสิทธิดำเนินคดีได้ แต่ที่บอกว่าจะสั่งปิดนั้นไม่น่าจะทำได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรค 3 ที่ระบุว่าการสั่งปิดหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้ ทำได้เฉพาะการเซ็นเซอร์เนื้อหาในส่วนที่ขัดต่อกฎหมายเท่านั้น

“โฆษก ศอฉ. พูดคลุมเครือทำให้เกิดความรู้สึกว่า ศอฉ. มุ่งใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ ทั้งที่กฎหมายที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อได้ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว” นายเสด็จกล่าวและว่า หาก ศอฉ. ยังแถลงในลักษณะการข่มขู่ว่าจะใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินสั่งปิดหนังสือพิมพ์ในลักษณะที่ทำให้เกิดความสับสน คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจะหารือมาตรการที่จะดำเนินการร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนอื่นๆต่อไป

**********************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น