ประชาชาติธุรกิจ
บทสรุปง่ายของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." จู่ ๆ ก็ยกสัมปทานให้บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด 15-20 ปี บริหารพื้นที่ลานจอดรถระยะยาว (long term parking) ในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิโซน A, B, C ขนาด 62,380.50 ตารางเมตร สร้างความตื่นตะลึงแก่วงการธุรกิจและผู้รับผิดชอบหลายแผนกที่เกี่ยวข้อง
ตรวจสอบมติของคณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.ที่มี "นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ลงนามเมื่อ 19 สิงหาคม 2553 เห็นชอบให้ ทอท.ทำสัญญากับบริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด เป็นเวลา 15-20 ปี
สัมปทานโครงการนี้เป็นซีรีส์มหัศจรรย์ ซึ่งเริ่มต้นจากให้เช่าพื้นที่แก่ผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่เสนอขอทำ "ธุรกิจศูนย์รถยนต์ครบวงจร" บริเวณลานจอดรถสาธารณะ ฝั่งทิศตะวันออก 6,000 ตารางเมตร จากนั้นก็ขยายผลทำมาสเตอร์แพลน 4 โปรเจ็กต์ ย้ายพื้นที่ไปทางฝั่งตรงข้ามศูนย์ขนส่งสุวรรณภูมิ และ แปลงร่างเฉพาะเจาะจงทำโครงการคอมมิวนิตี้มอลล์บริเวณลานจอดรถระยะยาว (long term parking) ก่อนจะลงเอยที่อภิมหาโปรเจ็กต์ "สุวรรณภูมิสแควร์" เต็มพื้นที่ 62,380.50 ตารางเมตร
จุดเริ่มจากเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2553 ผู้ได้สัมปทานได้ทำหนังสือแจ้งประธานคณะกรรมการรายได้และ ทอท.ว่า เดิมเคยใช้บริษัท คอน-พลัส พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ขอเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการด้านรถยนต์ในสุวรรณภูมิพื้นที่ขนาด 6,000 ตารางเมตร แต่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อใหม่แล้วเป็น บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด ซึ่งมีความประสงค์ขอเช่าพื้นที่ลานจอดรถระยะยาวใน สุวรรณภูมิเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาด 62,380.50 ตารางเมตร มูลค่าการลงทุน 350-450 ล้านบาท
จากนั้นเพียง 10 วัน ทอท.รีบอนุมัติให้บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด ระบุวันส่งมอบพื้นที่แบบเร่งด่วนภายในวันที่ 1 กันยายน 2553 เป็นต้นไป และ ทำสัญญาอย่างรวดเร็ว 15 ปี ระหว่าง 1 ธันวาคม 2553-30 พฤศจิกายน 2568
ฝ่ายพาณิชย์นำเสนอคณะกรรมการรายได้โดยอ้างถึงเรื่องเดิมตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 ว่า บริษัท คอน-พลัส พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด แจ้งความประสงค์ขอเช่าพื้นที่ว่างบริเวณด้านหลังลานจอดรถรับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่) ติดกับรั้วอาคาร บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด 6,360 ตารางเมตร ระยะเวลาประกอบการ 12 ปี เพื่อดำเนินการศูนย์ธุรกิจรถยนต์ครบวงจร ได้แก่ คาร์แคร์ ศูนย์ซ่อมรถยนต์ โชว์รูมรถยนต์ ร้านเครื่องเสียงและประดับยนต์ ร้านเปลี่ยนยางแม็ก โชว์รูมอุปกรณ์คาร์แคร์พร้อมสำนักงาน
จากนั้นคณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.ประชุมครั้งที่ 3/2552 เมื่อ 20 มีนาคม 2552 มีมติเห็นชอบทันทีให้บริษัท คอน-พลัสฯเช่าพื้นที่ดำเนินธุรกิจได้ ต่อมามีการประชุมฯครั้งที่ 5/2552 เมื่อ 28 เมษายน 2552 มีมติให้ฝ่ายพาณิชย์ทำหนังสือถึงบริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด ถ้าหากต้องการจะขยายพื้นที่ครัวการบินในอนาคตจะต้องไปเจรจากับผู้ดูแลพื้นที่รายใหม่คือ คอน-พลัสฯที่ได้สิทธิการเช่าทำศูนย์ธุรกิจรถยนต์ครบวงจรในพื้นที่ว่างเปล่าฝั่งทิศตะวันออก ทางผ่านเข้า-ออก ถนนลาดกระบัง ด้านหลังติดลานจอดรถแท็กซี่
มติคณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท. วันที่ 28 เมษายน 2552 ระบุเงื่อนไขให้คอน-พลัสฯได้สิทธิทำศูนย์ธุรกิจรถยนต์ ครบวงจร 10 ปี ต้องจ่าย ทอท.ทั้งหมด 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ค่าตอบแทน 15% ของรายได้ต่อเดือน ก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ปีแรกจ่ายค่าตอบแทนขั้นต่ำเดือนละ 111,780 บาท ปีต่อไปเพิ่มปีละ 10% ส่วนที่ 2 ค่าเช่าที่ดิน 60 บาท/ตร.ม./เดือน
ผ่านไป 3 เดือน คณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.ประชุมเมื่อ 14 กรกฎาคม 2552 แก้ไขมติแบบพลิกสุดขั้ว เปลี่ยนมติจากเดิม "อนุญาตให้บริษัท คอน-พลัส พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ดำเนินธุรกิจศูนย์รถยนต์ครบวงจร" ปรับมติใหม่เป็น "เปิดโดยวิธีประมูลทั่วไป" และให้ใช้พื้นที่แห่งใหม่บริเวณด้านทิศเหนือฝั่งตรงข้ามศูนย์ขนส่งสุวรรณภูมิ ขนาด 6,000 ตารางเมตร เพื่อทำโครงการศูนย์รถยนต์ครบวงจร โดยให้ฝ่ายพาณิชย์จัดทำมาสเตอร์แพลนพื้นที่ดังกล่าวเพื่อพัฒนาทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์
วันที่ 31 สิงหาคม 2552 ฝ่ายพาณิชย์ ทอท.เสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารายได้เกี่ยวกับมาสเตอร์แพลนพื้นที่ด้านทิศเหนือฝั่งตรงข้ามศูนย์ขนส่งสุวรรณภูมิทั้งหมด มติที่ประชุมเห็นชอบให้กำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ตามแผนธุรกิจมี 4 โครงการ คือ โครงการศูนย์ให้บริการรถยนต์ครบวงจร โครงการศูนย์กีฬา โครงการศูนย์ให้บริการด้านสุขภาพ โครงการศูนย์จำหน่ายสินค้าจากโรงงาน
แล้วจู่ ๆ ก็ยกการประชุมคณะกรรมการพิจารณารายได้ย้อนกลับไปเมื่อ 19 มกราคม 2552 อ้างวาระ 6.15 เรื่อง ขอเสนอโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณด้านหลังลานจอดรถสาธารณะ (แท็กซี่) เพื่อทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในสุวรรณภูมิ ครั้งนั้นมติที่ประชุมให้ดำเนินกิจกรรม "Community Mall" บริเวณลานจอดรถระยะยาว โดยคัดเลือกด้วยวิธีพิเศษ (shortlist) จากผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์เข้ามาทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในสุวรรณภูมิ
ระบุชัดว่า "ห้างหุ้นส่วนจำกัด บางนาอุปกรณ์ และสหกรณ์บริการวิสาหกิจชุมชนหนองปรือสมุทรปราการ" ได้รับสิทธิทำโครงการคอมมิวนิตี้ มอลล์ ในลานจอดรถระยะยาวสุวรรณภูมิ สัญญา 5 ปี จ่ายค่าตอบแทน 15% ของรายได้ต่อเดือน ก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ และปีต่อไปจ่ายเพิ่มปีละ 10% จ่ายค่าเช่าที่ดิน 60 บาท/ตารางเมตร/เดือน เปลี่ยน "ผู้เล่นใหม่" อีกครั้ง
จากนั้นที่ประชุมฯได้ยกมติวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 วาระ 3.3 เรื่อง การพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการโครงการคอมมิวนิตี้ มอลล์ คณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.มีมติให้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อโครงการ "การให้สิทธิประโยชน์โครงการคอมมิวนิตี้ มอลล์" เป็น "การให้สิทธิประกอบการเชิงพาณิชย์ บริเวณลานจอดรถระยะยาวในสุวรรณภูมิ" ขยายสัญญาจาก 5 เป็น 10 ปี ตัดคำว่าคอมมิวนิตี้ มอลล์ ออกไป โดยอ้างเหตุผลเป็นการเฉพาะเจาะจงรูปแบบบริการมากเกินไป
กระทั่งล่าสุดเมื่อ 19 สิงหาคม 2553 (ดูชาร์ตประกอบ) ทอท.ก็อนุมัติสัมปทานโครงการนี้ให้แก่ "บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด" มี "นายพีรยศ วงศ์วิทวัส" เป็นเจ้าของคนเดียวปรากฏอยู่ในอีก 2 บริษัท ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัดบางนาอุปกรณ์และบริษัท บางนาอุปกรณ์การค้า จำกัด ส่วนบริษัท คอน-พลัส พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด นั้น ตรวจสอบข้อมูลกับกรมทะเบียนธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ไม่มีชื่อและข้อมูลปรากฏอยู่แต่อย่างใด
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น