ประชาชาติธุรกิจ
ชำแหละธุรกิจ "ลานจอดรถสุวรรณภูมิ" เอกชนทึ้งกันแหลก หลังยกสัมปทานพื้นที่ 1.6 แสนตารางเมตรให้ "บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด" คุมผลประโยชน์เก็บเงินสดค่าบริการปีละกว่า 300 ล้านบาท ผ่านมา 4 เดือน ทอท.ไม่ได้รับเงินสักแดง ต้องใช้วิธียื่นหนังสือถึงแบงก์กสิกรไทยหักเงินค้ำประกันได้แค 66 ล้านบาท แถมเป็นคดีความฟ้องร้องกันนัว
นายปิยะพันธุ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเมื่อ 6 กันยายน 2553 ให้ฝ่ายบริหารยกเลิกสัมปทานโครงการสุวรรณภูมิในพื้นที่ลานจอดรถระยะยาว (long term parking) สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิขนาด 62,380.50 ตารางเมตร รวมทั้งจะเร่งสะสางพื้นที่ทำรายได้กิจกรรมเชิงพาณิชย์บริเวณอื่นเป็นรายโครงการ และอาจพิจารณาไปถึงปัญหาบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด เจ้าของสัมปทานลานจอดรถอาคารเอและบีพื้นที่รวมกว่า 1.6 แสนตารางเมตร
หลังแต่งตั้งบอร์ด 2 คน คือ นายมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.แทนนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. โดยเพิ่มนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ เข้าไปเป็นกรรมการชุดนี้ด้วย มีผลทันที 7 กันยายน 2553 เป็นต้นไป
แหล่งข่าวระดับสูงจาก ทอท.เปิดเผยว่า ขุมทรัพย์ผลประโยชน์พื้นที่ลานจอดรถสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิขนาดใหญ่สุดปัจจุบันอยู่บริเวณอาคารเอและบีรวม 12 ชั้น พื้นที่ทั้งหมด 160,000 ตารางเมตร ช่วงเปิดสนามบินปีแรก ทอท.บริหารจัดการเองสามารถเก็บค่าบริการเป็นเงินสดได้เฉลี่ยวันละ 8 แสนบาท-1 ล้านบาท เดือนละ 28-30 ล้านบาท ปีละประมาณ 300-360 ล้านบาท แต่เมื่อกุมภาพันธ์ 2553 ได้เปิดประมูลให้สัมปทานแก่บริษัท วี ดับเบิ้ลยู ไอ เอน จำกัด เข้ามาบริหารจัดการลานจอดรถ ดังกล่าว เริ่ม 30 เมษายน 2553 เป็นต้นไป เป็นเวลา 5 ปี จ่ายผลตอบแทนเป็นค่าเช่าพื้นที่ 20 บาท/ตารางเมตร ประมาณเดือนละ 3.2 ล้านบาท และค่าส่วนแบ่งรายได้เฉลี่ยขั้นต่ำเดือนละ 15.7 ล้านบาท
ผลปรากฏว่าตั้งแต่ได้สัมปทานบริหารลานจอดรถอาคารเอและบีพื้นที่ 1.6 แสนตารางเมตร โดยบริษัท วี ดับเบิ้ลยู ไอ เอน จำกัด เข้ามาดำเนินธุรกิจเก็บเงินสดจากผู้โดยสารและพนักงานที่นำรถมาจอดในสุวรรณภูมิทุกวัน ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา พฤษภาคม-กันยายนนี้ยังไม่ได้จ่ายเงินค่าตอบแทนให้ ทอท.แม้แต่เดือนเดียว มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท สร้างความเสียหายแก่องค์กรเป็นอย่างมาก ทั้งฝ่ายบริหารและบอร์ดไม่ได้เข้าจัดการอย่างจริงจัง
ล่าสุดเมื่อ 26 สิงหาคม 2553 กรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทอท.ได้ทำหนังสือพร้อมกับแนบเอกสารร้องเรียนของนายธนกฤต เจตกิตติโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ส่งถึงปลัดกระทรวงคมนาคม (นาย สุพจน ทรัพย์ล้อม) อ้างได้สิทธิเป็นผู้ลงนามสัญญาในฐานะบริษัทเจ้าของสัมปทาน ลานจอดรถอาคารเอและบีในสุวรรณภูมิ แต่ถูกนายธรรศ พจนประพันธ์ กรรมการอีกคนนำบริษัท วี ดับเบิ้ลยู ไอ เอน จำกัด เข้ามาแย่งจัดเก็บค่าบริการลานจอดรถจากลูกค้า และบุกรุกเข้าไปยังสำนักงาน ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ ละเมิดสิทธิ์และสร้างความ เสียหาย จึงได้ยื่นฟ้องแพ่งเป็นเงิน 50 ล้านบาท เพราะตั้งแต่ 30 เมษายน-30 กรกฎาคม 2553 ได้ร้องเรียนไปยังนายนิรันดร์ ธีรนาทสิน ผู้อำนวยการสนามบินสุวรรณภูมิมาตลอด
พร้อมทั้งกล่าวหาว่า ระหว่างที่หุ้นส่วน 2 คนของบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด คือนายธนกฤต กับนายธรรศ พจนประพันธ์ มีเรื่องขัดแย้งกันถึงขั้นอีกฝ่ายพกพาอาวุธเข้าไปในพื้นที่เขตพิเศษของ ทอท. นายนิรันดร์ซึ่งมีหน้าที่แก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายกลับปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ละเมิดกันขึ้น เนื้อหาโดยสรุประบุเป็นเหตุให้จัดเก็บเงินส่ง ทอท.ไม่ได้
หลังจากนั้นนายธรรศ พจนประพันธ์ ยังได้ทำหนังสือขอให้นายนิรันดร์กับนางดวงใจ คอนดี รองผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ ระงับการจ่ายเงินค่าหลักประกันซอง 20 ล้านบาท ผู้บริหารทั้ง 2 คนกลับมีคำสั่ง เห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว ดังนั้นนายธนกฤตจึงฟ้องต่อศาลว่า นายนิรันดร์ ผอ.สุวรรณภูมิ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอีกประเด็น
จากนั้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2553 นายนิรันดร์ได้มีหนังสือไปถึงธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสยามสแควร์ แจ้งให้ธนาคารในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือเลขที่ 53-42-00008-0 ลงวันที่ 28 เมษายน 2553 ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกัน ทอท. ด้วยเหตุผลที่ว่า บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจ เมนท์ จำกัด ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามสัญญา ที่ได้สัมปทานบริหารจัดการลานจอดรถอาคารเอและบี วงเงินรวมประมาณ 64,789,921.47 บาท พร้อมค่าปรับผิดนัดชำระเงินอีก 2,138,389.36 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 66,928,310.83 บาท ต่อมาธนาคารกสิกรไทยได้นำเงินดังกล่าวไปชำระแก่ ทอท. เมื่อ 21 กรกฎาคม 2553
นายธนกฤตยังอ้างอีกว่า ทอท.ไม่มีอำนาจกระทำการดังกล่าวได้ เพราะสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการบริหารจัดการอาคารจอดรถเอและบีในสุวรรณภูมิ แต่ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนค้างชำระจากเงินค้ำประกันสัญญาดังกล่าวได้เลย พร้อมทั้งอ้างข้อกล่าวหาว่า นายนิรันดร์ถูกฟ้องจากตนถึงการกระทำโดยเจตนาทุจริตต่อกรณีดังกล่าว
รวมถึงได้ยกเหตุผลเรื่องที่นายนิรันดร์ทราบเป็นอย่างดีว่า ตั้งแต่ 30 เมษายน 2553 เป็นต้นมา บริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับ ทอท.แต่ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ที่ได้ทำสัญญาไว้ เพราะมีกลุ่มบุคคลบุกรุกเข้าไปในปาร์คกิ้งและ ทอท.ไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ด้วย จึงเข้าไปเก็บเงินไม่ได้เลย
ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทกับกรมทะเบียนธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นบริษัท วี ดับเบิ้ลยู ไอ เอ็น จำกัด กับบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด เป็น กลุ่มเดียวกัน มีผู้ถือหุ้นหลักคือ นายจุมพล ญาณวินิจฉัย กับ น.ส.ฤชอร จันทรศุภาวงศ์
บริษัท วี ดับเบิ้ลยู ไอ เอ็น จำกัด มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เปิดเมื่อ 22 กรกฎาคม 2545 ผลการดำเนินงานปี 2552 มีรายได้ 5,026,416.03 บาท กำไรสุทธิ 1,593,902.38 บาท ส่วนบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เปิดเมื่อ 31 มีนาคม 2553 จากนั้น เมื่อ 30 เมษายน 2553 ก็ลงนามเป็นคู่สัญญาได้สัมปทานเข้าบริหารลานจอดรถในสุวรรณภูมิจาก ทอท.
กรณีดังกล่าวมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณาอนุมัติสัมปทานลานจอดรถของ ทอท.ในสุวรรณภูมิซึ่งมี พื้นที่มหาศาลและเกี่ยวข้องกับเงินสดที่จัดเก็บจากผู้นำรถมาจอดคิดเป็นรายได้วันละเกือบ 1 ล้านบาทนั้น เพราะเหตุใดจึงเกิดข้อพิพาทและมีปัญหาซับซ้อนปรากฏ โดยที่ ทอท. เสียหายทั้งภาพลักษณ์และผลประกอบการอันเป็นผลมาจากการให้สัมปทานบริษัทที่มีปัญหาเข้ามาดำเนินการนานถึง 5 ปี
นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และนายนิรันดร์ ธีรนาถสิน ผู้อำนวยการสุวรรณภูมิ ตอบคำถามนี้หลายครั้ง โดยระบุเหตุผลเหมือนกันคือ จะดูแลบริษัทคู่สัญญาของ ทอท.เป็นหลัก ไม่ขอเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งภายใน 2 บริษัทนี้ ถึงแม้จะมีบริษัทหนึ่งเป็นคู่สัญญาที่สร้างความเสียหายก็ตาม
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้บริษัท ซันไชน์ คอร์ปอเรชั่น (SSE) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เคยระบุจะเข้ามาร่วมทุนกับบริษัท ปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด พร้อมทั้งจะเพิ่มทุนจาก 5 ล้านบาท เป็น 240 ล้านบาท ซึ่งก่อนและหลังเพิ่มทุนสัดส่วน ที่ร่วมถือหุ้นในบริษัทจะเปลี่ยนไป ได้แก่ บริษัท วี ดับเบิ้ลยู ไอ เอ็น 55% ต่อไปจะเหลือ 35% บริษัท สแตนดาร์ด พร้อมพ์ จำกัด 40% หลังเพิ่มทุนจะเหลือ 5% นาย ธนกฤต เจตกิตติโชค 5% มีผู้ถือรายใหม่ เข้ามาร่วมคือ บริษัท อควา จำกัด 16.67% บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง 16.67% ซันไชน์ คอร์ปอเรชั่น 12.5% นายธีรพงษ์ บุญศรี 12.5% ประกาศใช้เงินทุนหมุนเวียนชำระเงินทุนภายในกรกฎาคมที่ผ่านมา
****************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น