ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก้) จะตัดสินใจเลื่อนการพิจารณาในประเด็นรับรองแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารตามข้อเสนอของประเทศกัมพูชา ด้วยเหตุผลที่อยากให้ประเทศไทยและกัมพูชาได้พูดคุยกันก่อน หลังจากท่าทีของประเทศไทยยังยืนกรานที่จะคัดค้านแผนดังกล่าวอย่างแข็งขัน แต่ดูเหมือนอุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็ยังไม่ลดดีกรีลงสักเท่าไหร่
ส่วนหนึ่งของการตัดสินใจเลื่อนการพิจารณาออกไป อาจมาจากท่าทีของฝ่ายไทยที่มีการเคลื่อนไหวอย่างแข็งกร้าว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่รวมตัวกันไปชุมนุมหน้าสำนักงานยูเนสโก้ในประเทศไทย ยื่นหนังสือคัดค้าน ไปจนถึงขั้นประณามยูเนสโก้ ตลอดจนปฏิกิริยาจากรัฐบาลไทย ซึ่งมีมติ ครม.ออกมาอย่างชัดเจน โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในวันที่ 28 ก.ค. 2553 สั่งการให้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนของไทยดำเนินการ ตอบโต้ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการงดออกเสียง วอล์กเอาต์ ไปจนถึงขั้นถอนตัวจากภาคีของยูเนสโก้
อย่างไรก็ตาม การกำหนดท่าทีที่เข้มข้นในลักษณะดังกล่าว ก็ดูเหมือนจะเป็นกลยุทธ์ที่จะแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า เท่าที่พอทำได้เท่านั้น เพราะหากพิจารณาจากสถานะของไทยในกระบวนการพิจารณาตามกรอบที่คณะกรรมการมรดกโลกได้รับข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องนั้น กระทั่งนายสุวิทย์ก็ยอมรับว่าไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่มาก โดยเฉพาะกรณีที่ศาลโลกมีมติรับรองการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียวไปแล้ว นอกจากนี้ ประเทศที่เป็นสมาชิกในภาคี ก็มีท่าทีสนับสนุนกัมพูชาเป็นส่วนใหญ่
จุดสำคัญที่น่าจะนำกลับมาทบทวน เพื่อกำหนดแนวทาง หรือยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการแก้ไขปัญหา ก็คือ เพราะเหตุใด ในเวทีการเจรจาต่อรอง ภายใต้กฎ กติกาของคณะกรรมการมรดกโลก หรือบนเวทีระหว่างประเทศ ประเทศไทยจึงตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบมาโดยตลอด กลยุทธ์ในการดำเนินการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีจุดอ่อน หรือมีช่องโหว่อย่างไร ควรปรับปรุงในจุดไหน หรือต้องใช้กระบวนการล็อบบี้ในระยะยาวอย่างไร นั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายของไทยต้องกลับมาร่วมคิดมากกว่าที่จะเลือกวิธีแสดงจุดยืนอย่างแข็งกร้าว ตอบโต้อย่างรุนแรงกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับไทย จนอาจนำไปสู่ข้อขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน
การรักษาสิทธิ ข้อตกลงเรื่องเขตแดน อธิปไตย หรือผลประโยชน์ที่ต้องทำสัญญา ข้อตกลง ซึ่งรัฐบาล หรือองค์กรตัวแทนภาครัฐจะต้องกระทำภายใต้กติกาของสังคมโลกยังมีอีกมากมายหลายกรณี ไม่เฉพาะแต่เพียงเรื่องของพื้นที่เขาพระวิหารเท่านั้น ปัญหาที่ควรนำมาทบทวน กำหนดท่าที หรือเตรียมความพร้อมมากกว่า ก็คือ ทำอย่างไร จึงจะศึกษารายละเอียด พิจารณาข้อดีข้อเสียในสัญญา หรือข้อตกลงเหล่านั้นให้รอบคอบ รัดกุมมากที่สุด แทนที่จะต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการทำข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือระหว่างรัฐไทยกับองค์กรเอกชน ดังที่มีตัวอย่าง "ค่าโง่" ให้เห็นมาแล้วโดยตลอด
****************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น