--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กุนซือ ปธ.วุฒิฯเมินนักวิชาการท้วง"หญิงเป็ด"พ้นเก้าอี้ผู้ว่า สตง.ชทพ.ติงละกิเลส รอ"กฤษฎีกา"เคาะ11ส.ค.

มติชนออนไลน์

ส.ว.สรรหาฝ่ายหนุนเมินเสียงนักวิชาการท้วง"จารุวรรณ"พ้นเก้าอี้ผู้ว่าการ สตง. กอดประกาศคปค.ฉบับ 29 ยืนกรานให้ทำหน้าที่ต่อ เรียก"พิศิษฐ์-กฤษฎีกา"แจง กมธ. 11 ส.ค.นี้ ชทพ.ติงสองฝ่ายละกิเลสส่วนตัวแก้ปัญหา

นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) แถลงที่พรรคชาติไทยพัฒนา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ถึงปัญหาการดำรงตำแหน่งของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถือว่าพ้นจากตำแหน่งเพราะอายุครบ 65 ปี ตามที่กฎหมายกำหนดนั้น แต่คุณหญิงจารุวรรณอ้างความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ว่าสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 พร้อมทำหนังสือเวียนถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในการกลับมาทำหน้าที่ผู้ว่าการ สตง.ไปพลางก่อน ขณะที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการ สตง. ทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าการ สตง. เห็นว่าคุณหญิงจารุวรรณพ้นตำแหน่งไปแล้วเมื่ออายุครบ 65 ปี และทำหนังสือเวียนถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่อาจเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ หากทำตามคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณ โดยให้รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน

นายวัชระกล่าวว่า ขณะนี้ยังคงมีปัญหาในแง่การตีความว่าใครที่เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการผู้ว่าการ สตง.อยู่ ดังนั้น อยากเรียกร้องว่าตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.เป็นตำแหน่งสำคัญเพราะเกี่ยวพันกับหน่วยงานต่างๆ จึงขอให้มีการเร่งหาข้อสรุปโดยเร็วต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าการ สตง. ดังนั้น ความขัดแย้งในตำแหน่งดังกล่าวนอกจากจะทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ยังทำให้เสียภาพลักษณ์ด้วย และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางออกโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ทราบว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง และอยากให้คุณหญิงจารุวรรณและผู้รักษาการผู้ว่าการ สตง. นึกถึงประเทศชาติเป็นสำคัญมากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัว โดยให้สองฝ่ายที่กำลังขัดแย้งในปมปัญหารักษาการผู้ว่าการ สตง.นี้ละกิเลสส่วนตัวด้วย

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เปิดเผยว่า ที่ประชุม กมธ. โดยน.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กมธ. ได้นำกรณีตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.เข้ามาให้ กมธ.พิจารณาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม เนื่องจากเห็นว่าฝ่ายผู้บริหารระดับสูงใน สตง.อาจมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล โดยมีบันทึกข้อความวันที่ 2 สิงหาคม จากสำนักงานกฎหมาย สตง. แจ้งเวียนส่วนราชการใน สตง.ว่าคณะผู้บริหาร สตง.นำโดยนายพิศิษฐ์ รองผู้ว่าการ สตง.และรักษาราชการแทนผู้ว่าการ สตง. ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของ สตง.หารือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนผู้ว่าการ สตง. เนื่องจากคุณหญิงจารุวรรณอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการ สตง.ได้หรือไม่ ซึ่งผลการหารือได้มีมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ว่าให้รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยยังคงให้รองผู้ว่าการ สตง.รักษาราชการแทนผู้ว่าการ สตง. ตามบันทึกข้อความของสำนักงานกฎหมาย สตง.วันที่ 2 กรกฎาคม

"กมธ.เห็นว่ามติดังกล่าวอาจไม่ถูกต้อง เพราะมีการอ้างความเห็นของฝ่ายกฤษฎีกา ซึ่งไม่ใช่ฝ่ายที่มีอำนาจชี้ขาด แต่ก็อ้างเพื่อแต่งตั้งให้รองผู้ว่าการ สตง.รักษาการผู้ว่าการ สตง. ทั้งที่ผู้ว่าการ สตง.คนเดิมคือคุณหญิงจารุวรณ ยังไม่ได้ลาออก ไม่มีการโปรดเกล้าฯให้พ้นจากตำแหน่ง รองผู้ว่าการ สตง.จึงต้องหยุดการรักษาการ แต่ก็ใช้มติผู้บริหารเสียงข้างมาก ซึ่งก็ไม่มีอำนาจอะไรรองรับ จึงอาจขัดหลักธรรมาภิบาล เพราะคุณหญิงจารุวรรณยังเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการ สตง.อยู่ตามประกาศ คปค.แม้บางฝ่ายจะอ้างว่าครบ 65 ปีแล้วก็ต้องรอศาลชี้ขาด ไม่ใช่ใช้มติเสียงข้างมากมาชี้ขาดกันเอง ฉะนั้น กมธ.จึงมีมติเชิญนายพิศิษฐ์ และตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าชี้แจงถึงอำนาจการวินิจฉัยชี้ขาดในวันที่ 11 สิงหาคมนี้" นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์ยังกล่าวถึงกรณีที่มีนักวิชาการและ ส.ว.ออกมาระบุว่า คุณหญิงจารุวรรณแม้จะรักษาการตามประกาศ คปค.ฉบับ 29 แต่เมื่ออายุครบ 65 ปี ถือเป็นเหตุอื่นให้พ้นจากตำแหน่งจึงไม่สามารถรักษาการต่อได้ว่า เมื่อคุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งไปตั้งแต่ 30 กันยายน 2550 จะพ้นจากตำแหน่งอีกไม่ได้ ก็ต้องรักษาการต่อไป เพราะเป็นเหตุสุดวิสัยทางกฎหมายจริงๆ ที่ไม่ได้เขียนทางออกเอาไว้ แต่ก็ยอมรับที่หลายฝ่ายจะมองประเด็นทางกฎหมาย แต่คนชี้ขาดสุดท้ายคือ ศาล หรือประธาน คตง. เพราะประธาน คตง.เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ประกอบฯ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มีอำนาจบริหารตีความวินิจฉัยชี้ขาดการบริหารสำนักงาน ซึ่งคุณหญิงจารุวรรณ ที่ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการ คตง.อยู่ด้วย ก็ชี้ขาดแล้วว่าตนเองในฐานะปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการ สตง. ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ทำให้ไม่ต้องมีใครมารักษาการแทนอีก

"หากใครไม่เห็นด้วยก็ต้องไปร้องศาล ซึ่งคุณหญิงจารุวรรณก็กล้าให้ศาลพิสูจน์ตัดสิน แต่ตอนนี้ที่ต้องทำหน้าที่ต่อไปพลางเพราะหากมีผู้รักษาการ จะทำได้แค่ดูแลเรื่องเรื่องธุรการเท่านั้น จึงกระทบต่อการแต่งตั้งซี 10 และการตรวจสอบต่างๆ ที่ต้องหยุดชะงัก" นายไพบูลย์กล่าว

*******************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น