ช่วง เวลาที่อุณหภูมิทางการเมืองเข้าโหมดร้อน อันเนื่องมาจากฝ่ายบริหารโดย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มเดินหน้าขับเคลื่อนงานการเมืองเรื่องร้อนๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือออกกฎหมายนิรโทษกรรม
แม้ก่อน หน้านี้รัฐบาลจะทำงานตามนโยบายอย่างมีอุปสรรคบ้างราบรื่นบ้าง แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นภัยต่อเสถียรภาพความมั่นคง เพราะไม่มีเรื่องการเมืองร้อนๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ถึงกระนั้นเรื่องต่างๆ ที่ทำก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ตามแนวคิดของพรรคเพื่อไทย (พท.) และมวลชนผู้สนับสนุน
เมื่อการเมืองเข้าโหมดร้อน รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลือกที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยใช้ช่วงเวลาที่หลายฝ่ายพูดถึงและวิพากษ์การเมืองอย่างเข้มข้น มาเป็นประตูเพื่อนำไปสู่ทางออกของปัญหาในอนาคต ด้วยการเดินหน้าแนวคิดสภาปฏิรูปประเทศ
พร้อมกับเชิญฝ่ายต่างๆ มาร่วมถกเถียง เสนอทางออกกับประเทศ
เวที ปฏิรูปอย่างเป็นทางการเริ่มขึ้นครั้งแรกในวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา มีบุคคลสำคัญระดับประเทศเข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่ง จะขาดก็แต่คู่ขัดแย้งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)
แต่ปัญหาหลักของ เมืองไทย คือความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาก่อนรัฐประหารปี 2549 ดังนั้น "นายกฯ ปู" จึงมอบหมายให้ นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งมีความอาวุโสและบารมีทางการเมือง เดินสายทาบทามคนอื่นๆ ที่ยังไม่เข้าร่วม ให้มาอยู่ในเวทีเดียวกันให้ได้
ถาม ว่าทำไมเป็นงานที่หนักหรือไม่ งานนี้หินแค่ไหน ก็ต้องตอบได้เลยว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ปชป. และพันธมิตรฯ ต่างมีจุดยืนที่อยู่คนละขั้วกับรัฐบาลเพื่อไทย (พท.)
ถามว่าที่ รัฐบาลเลือกใช้บริการ "บรรหาร" คำตอบคือ "เชื่อมือ" หมายถึงเชื่อว่าจากประสบการณ์ที่อยู่ในแวดวงการเมืองมาเกือบทั้งชีวิตจะทำ งานนี้ได้ดีกว่าใครเพื่อน อีกทั้งจะเห็นว่า "บรรหาร" สามารถเข้าได้กับทุกฝ่าย ที่สำคัญ เขาเป็นผู้ที่มีเครือข่ายคอนเน็กชั่นอย่างดีเยี่ยม
ดังนั้น นายกฯ จึงมอบความไว้ใจให้เต็มร้อย แม้ด้วยบุคลิกจะคล้ายเป็นคนพูดไม่เก่ง ไม่เหมาะกับการตอบโต้กับ ปชป. และพันธมิตรฯ แต่ทุกคนต่างมองข้ามเรื่องนี้อย่างไม่ต้องเหลียวหลัง
อย่าง ที่รู้กันว่า "บรรหาร" ผู้มีความอาวุโสทางการเมือง สามารถเข้านอกออกในได้อย่างทั่วถึง เมื่อใดก็ตามที่ปิดห้องคุยหรือพูดคุยเป็นการส่วนตัว ดีลในครั้งนั้นแทบจะลุล่วงเหมือนโปรยกลีบกุหลาบ
ทว่า งานประสานคู่ขัดแย้งทางการเมืองให้มาร่วมลงเรือปฏิรูปการเมืองลำเดียวกัน ของ "บรรหาร" ในครั้งนี้ถือว่าไม่ง่าย เพราะก่อนหน้านี้เดินสายเข้าหา "สนธิ ลิ้มทองกุล" และ "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" แห่งบ้านพระอาทิตย์ ก็มีคนปล่อยข่าวพร้อมโชว์ภาพว่าเป็นกิ๊กกับดาราสาว "มะนาว" น.ส.ศรศิลป์ มณีวรรณ์ แห่งวิก 7 สี ยังดีที่ "อาบรรหาร" และ "หลานมะนาว" ออกมาแจงได้ทันถ่วงที ไม่งั้นเรื่องนี้เห็นทีจะยาว
งานนี้เห็นได้ ชัดเจนว่ามีคนต้องการทำลายความชอบธรรม หรือดิสเครดิตการเดินหน้าในฐานะผู้ประสานงานเวทีปฏิรูปของ "บรรหาร" แต่ด้วยความที่เป็นคนตรงไปตรงมา บวกกับบารมีบุญเก่าจึงรอดตัวมาได้
แม้ การเดินหน้าเข้าหา ปชป. พันธมิตรฯ รวมถึง นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี จะไม่ได้รับการตอบรับ ซ้ำยังถูกสวนกลับอย่างรุนแรง แต่ก็ต้องนับถือน้ำใจของนายบรรหาร เพราะนี่เป็นงานหิน ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าผลรับจะออกมาแบบไหน แต่ก็ต้องทำด้วยความเต็มใจ
เพราะ เจ้าตัวรู้อยู่เต็มอกอยู่แล้วว่า ปชป. และพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงย่อมไม่ตอบรับการเข้าร่วมเวทีปฏิรูปกับรัฐบาลอย่าง เป็นแน่ เนื่องจากเห็นว่าฝ่ายบริหารกำลังสร้างความขัดแย้งเสียเอง เช่น การออกกฎหมายนิรโทษกรรม รวมถึงแก้รัฐธรรมนูญ
ไม่ร่วมด้วยเพราะยังไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาล ไม่ใช่ไม่เชื่อใจนายบรรหาร
งาน นี้ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล อย่าง "ปชป." นอกจากจะไม่เข้าร่วมแล้ว ยังผุดเวทีปฏิรูปของตัวเองขึ้นมาเป็นคู่ขนานอีก เหมือนกับเวทีผ่าความจริงที่เดินสายตามเวทีของเสื้อแดงอย่างไม่ผิดเพี้ยน
รวม ทั้งเพื่อนเก่าของเหล่าพันธมิตรฯ อย่าง "สุริยะใส กตะศิลา" พร้อมมิตรสหาย ร่วมกันเปิดตัวสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย 2556 หรือ สปท. ก็ถือเป็นคู่ขนานกับเวทีปฏิรูปของ "ยิ่งลักษณ์" อีกเวทีหนึ่ง
ดู อย่างไรก็มองไม่เห็นว่าแนวทางที่นายกฯ ต้องการจะเกิดขึ้นได้ จากเดิมที่รัฐบาลต้องการเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นแล้วนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ก็กลับกลายเป็นว่ามีเวทีคู่ขนานพูดคนละเรื่อง จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่าเวทีปฏิรูปของรัฐบาลจะไปไม่ถึงจุดหมายในที่สุด
แต่มังกรเมืองสุพรรณ อย่าง "บรรหาร" กลับบอกว่า "อยากให้ตั้งหลายๆ สภา และหลายๆ เวที เพื่อจะได้มีความเห็นที่หลากหลาย"
เขา เห็นว่า การที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่เกิด ขึ้นได้ในเร็ววัน จึงเป็นไปได้ที่ระหว่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในส่วนเวทีปฏิรูปของรัฐบาล ปชป. และ "สปท." จะเดินหน้าในแบบต่างคนต่างทำ ต่างดำเนินไปในรูปแบบของตัวเอง
รัฐบาลจะเฝ้าดูทั้ง 2 เวทีนี้อยู่เนืองๆ ขณะที่อีก 2 เวทีก็จะจับตาดูเวทีของรัฐบาลด้วยเช่นกัน
เชื่อ ว่าวันหนึ่ง เมื่อฝ่าย "ปชป." และ "สปท." มีมติออกมาแล้วรัฐบาลคิดว่า สามารถเดินเข้าไปพูดคุยกันต่อได้ วันนั้น "บรรหาร" คนเดิม จะถือธงนำหน้าเข้าหากลุ่มเหล่านี้อีกครั้ง
ที่สำคัญเวลานี้ "บรรหาร" ยังไม่ได้ใช้ความสามารถพิเศษอย่างเต็มขั้นในการดีลแบบลับๆ เลยแม้แต่น้อย ที่เห็นอยู่เป็นเพียงฉากหน้าที่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลจัดขึ้นมาเพื่อแสดงออก ผ่านสื่อเพียงเท่านั้น
และทั้ง ปชป. และพันธมิตรฯ ที่ต่างจับจ้องมายังรัฐบาลเพื่อเช็กว่า แผนการเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปนั้น จะออกมาหน้าตาอย่างไร แน่นอนหากออกมาดี แล้วกลุ่มดังกล่าวไม่เข้าร่วมก็ถือว่าตกขบวน
การตั้งเวทีคู่ขนานอย่างที่เป็นอยู่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดี นั่นคือ เป็นไปได้ที่ทุกฝ่ายจะได้มาร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิรูปประเทศในอนาคต
ส่วน ข้อเสีย ก็เป็นไปได้ที่เมื่อต่างฝ่ายต่างยืนยันในจุดยืนของตัวเอง ไม่ยอมผ่อนปรนยอมรับเงื่อนไขของอีกฝ่าย ย่อมเป็นการเพิ่มความขัดแย้ง และจะนำไปสู่ฉากจบของ "สภาปฏิรูปทางการเมือง" ไปในที่สุด
จากนี้ไปคง ต้องจับตาดูปฏิกิริยาของทุกฝ่าย และการเดินหน้าประสานสิบทิศในแบบฉบับจัดเต็มสไตล์ "บรรหาร" ว่าจะฝ่าด่านหินปฏิรูปการเมืองไปสู่ "ความปรองดอง" ได้จริงหรือไม่
ที่มา:มติชน
//////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น