--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

กิตติรัตน์ ชี้ลด EQ หนุนส่งออกไทย Kbank หั่นเป้าจีดีพีเหลือ 3.7% !!??

กิตติรัตน์.ชี้เฟดลดคิวอีสะท้อนเศรษฐกิจโลกฟื้น ช่วยส่งออกไทย "กสิกร"ลดเป้าจีดีพีปีนี้รอบ 4 เหลือ 3.7% ชี้หลายปัจจัยเสี่ยงพลิก สศค.ย้ำเงินเฟ้อต่ำ เอื้อ กนง.ลดดอกเบี้ย เชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงบาทอ่อน ยันแบงก์เข้มสินเชื่อ ช่วยคุมหนี้ครัวเรือน

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2556 เหลือ 3.7% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 4% ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งที่ 4 ในรอบปีนี้ เพราะมีหลายปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงมากทั้งคิวอี เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มถึงจุดต่ำสุด และกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้ายังมีโอกาสเติบโต 4.5% ซึ่งมาจากด้านส่งออกเป็นสำคัญ

นางพิมลวรรณกล่าวว่า ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย แม้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจะไม่สูง แต่การขึ้นดอกเบี้ยในสถานการณ์ที่เงินทุนไหลออก และประเทศอื่นในภูมิภาคเริ่มขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาเรื่องลดดอกเบี้ยยาก ซึ่งการลดดอกเบี้ยอาจมีผลต่อการไหลออกของเงินทุนและภาวะหนี้ครัวเรือน โดยมองว่าในครึ่งปีหลังของปีหน้า หากสหรัฐฟื้นและเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ดอกเบี้ยไทยอาจปรับขึ้นอีก 0.5%

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า แรงกดดันเงินเฟ้อที่ล่าสุดเดือนสิงหาคม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.75% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.59% นับเป็นช่องว่างให้สามารถดำเนินนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% กนง.สามารถปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีก โดย กนง.จะมีการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 16 ตุลาคมนี้

นายเอกนิติกล่าวว่า ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง จะยิ่งจูงใจให้คนกู้เงิน จนทำให้หนี้สินภาคครัวเรือนเร่งตัวขึ้นนั้น ขณะนี้สถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จนเริ่มเห็นแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อชะลอลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่บทความอินเตอร์เนชันแนล สปิลล์โอเวอร์ส ของการดำเนินและยุติมาตรการคิวอี (มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ) โดย น.ส.ธนภรณ์ หิรัญวงศ์ เศรษฐกรอาวุโส และนายวิทิต สินสัตยกูล เศรษฐกรฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน ธปท.ระบุว่า หากไทยสามารถรักษาบรรยากาศการลงทุนและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานของประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวของประเทศได้ จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดภาวะเงินทุนไหลออกอย่างฉับพลันจากปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยได้

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด กล่าวว่า แม้ว่าตลาดจะรับข่าวการลดคิวอีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ตลาดทุนโลกยังต้องรับมือกับความผันผวนต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ตามสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 31.60 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงเช้าของวันที่ 16 กันยายน หลังจากปิดตลาดที่ระดับ 31.88 บาทต่อดอลลาร์ในปลายสัปดาห์ก่อน และคาดว่าช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์ โดยค่าความผันผวนของเงินบาทในปัจจุบันอยู่ที่ 6% มากกว่าปีก่อนหน้าที่มีค่าความผันผวนอยู่ที่ 4%

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น